แนะเทคนิคดูแลเส้นผมและหนังศีรษะช่วง Work from Home

ในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 หลาย ๆ ท่านที่นอกจากจะต้องทำงานอยู่ที่บ้านหรือที่เรียกว่า Work From Home (WFH) แล้ว ยังต้องดูแลเส้นผมและหนังศีรษะด้วยตัวเองอีกด้วย รศ.นพ.รัฐพล ตวงทอง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย มีคำแนะนำถึงวิธีที่จะดูแลเส้นผมและหนังศีรษะด้วยตนเองอย่างถูกวิธี ในกรณีที่ไม่สามารถไปพบแพทย์ได้ ดังนี้

1. ในการปฏิบัติตัวเพื่อให้ได้เส้นผมที่มีสุขภาพสวยงามในช่วง WFH ต้องประกอบไปด้วยการทำให้มีสุขภาพที่ดี ด้วยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอประมาณ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน และไม่ควรนอนดึกเกินประมาณ 5 ทุ่ม ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอประมาณ 150 นาทีต่อสัปดาห์ ถ้าสระผมตอนเย็นควรเป่าด้วยลมเย็นให้แห้งก่อนเข้านอน

2. หมั่นสังเกตอาการผมร่วงว่ามีจำนวนผมที่ร่วงต่อวันปกติหรือไม่ ตามปกติผมคนเราร่วงได้โดยปกติจะไม่เกิน 100 เส้นต่อวัน ในวันที่ไม่ได้สระผม ส่วนในวันที่สระผม สามารถร่วงเพิ่มได้ถึงวันละ 200 เส้นต่อวัน ดังนั้นในการนับเส้นผมจะนับทั้งหมด 5 ครั้ง โดยเก็บรวบรวมเส้นผมเวลา ตื่นเช้า สาย บ่าย เย็น และก่อนนอน รวบรวมใส่ถุงพลาสติก โดยทำประมาณ 1 สัปดาห์ ส่วนในวันที่สระผม สามารถรวบรวมได้โดยการสระผมในอ่างหรือภาชนะแล้วรวบรวมนับจำนวนเส้นผม ถ้ามีเส้นผมร่วงเกินค่าปกติ ก็ควรหาสาเหตุหรือปรึกษาแพทย์ทันที      

3. โรคเส้นผมแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ คือ โรคผมร่วงแบบไม่มีแผลเป็น และ แบบมีแผลเป็น โรคผมร่วงแบบไม่มีแผลเป็นพบได้บ่อยกว่าชนิดอื่น ๆ  เช่น โรคผมบางจากพันธุกรรมและฮอร์โมน  โรคผมร่วงเป็นหย่อม แต่โรคผมร่วงแบบมีแผลเป็น เป็นภาวะเร่งด่วน ควรได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยมีวิธีสังเกตอย่างง่าย ๆ ว่าเป็นโรคในกลุ่มนี้คือ ลองสังเกตที่บริเวณหนังศีรษะ มักจะมีอาการแดง ร้อน หรือมีลักษณะหนังศีรษะที่เป็นดานแข็ง ๆกว่าหนังศีรษะปกติ ถ้ามีอาการดังกล่าวควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาโดยเร็ว

4.ในช่วงสถานการณ์ที่มีการ Work From Home อาจเกิดความเครียดหรือนอนดึก ซึ่งความเครียดสามารถทำให้ผมร่วงได้โดยตรง และนอกจากนี้ยังสามารถทำให้เกิดภาวะหนังศีรษะอักเสบ (Seborrheic dermatitis) ซึ่งจะมีอาการคันที่หนังศีรษะ มีรังแค มีผื่นแดง มีขุย ผมร่วง ในเบื้องต้นการรักษาอาจจะใช้แชมพูกำจัดรังแค เช่น ketoconazole shampoo ควรสระผมอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ถ้าไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับยาต้านการอักเสบในกลุ่มสเตียรอยด์ ในระยะสั้น ๆ

5.ในบางท่านที่ไม่สบายติดเชื้อไวรัส COVID-19 ภายหลังจากการรักษา ถ้าหากอาการดีขึ้นแล้ว หลังจากที่หายประมาณ 3 เดือน สามารถเกิดภาวะผมร่วง Telogen effluvium หรือที่เราเรียกกันว่า  “จับไข้หัวโกร๋น” ได้ครับ ซึ่งอาการผมร่วงดังกล่าวจะเริ่มดีขึ้นและหายได้เองประมาณ 3 เดือนหลังจากเส้นผมเริ่มร่วง

ขอให้ทุกท่านลองใช้หลักปฏิบัติ 5 ประการ  เพื่อเป็นแนวทางเบื้องต้นในการดูแลสุขภาพเส้นผม และหนังศีรษะในช่วง Work From Home นะครับ ด้วยความปรารถนาดีจากสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย

#Workfromhome #เทคนิคดูแลเส้นผม #Covid19 #โควิด19

you might like

Scroll to Top