มะเร็งรังไข่ เป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับแปดในผู้หญิงทั่วโลก และพบเป็นอันดับสองรองลงมาจากมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงไทย[1] โดยในปี 2563 มีผู้ป่วยรายใหม่ทั่วโลกที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งรังไข่กว่า 314,000 ราย และเสียชีวิตเกือบ 207,000 ราย โดยคาดว่าภายในปี 2583 จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นถึง 42% เป็นผู้ป่วยรายใหม่ที่ได้รับการวินิจฉัย 445,000 ราย และเสียชีวิตถึง 314,000 ราย1-2 เนื่องจากส่วนใหญ่ผู้ป่วยมะเร็งรังไข่จะได้รับการวินิจฉัยครั้งแรกคือประมาณ 7 เดือน1 หลังเริ่มแสดงอาการ ซึ่งหมายความว่า มีผู้หญิงจำนวนมากที่เข้าพบแพทย์ในระยะท้ายที่มะเร็งลุกลามมากแล้ว2 เนื่องจากขาดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาการต่างๆ ที่เป็นสัญญาณเตือนเบื้องต้น จึงคิดว่าเป็นอาการผิดปกติที่ไม่รุนแรง3-4
เนื่องในโอกาสวันมะเร็งรังไข่สากล (World Ovarian Cancer Day) โครงการ We Care โดย แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย จึงได้นำเสนอความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งรังไข่และปัจจัยเสี่ยง รวมถึงเน้นย้ำ 3 เรื่องที่ผู้หญิงไม่ควรมองข้าม เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม เพื่อผลลัพธ์ในการรักษาที่มีประสิทธิภาพ เพราะมะเร็งรู้เร็ว รักษาได้
อย่ามองข้ามอาการบ่งชี้และสัญญาณเตือนมะเร็งรังไข่
อาการที่เป็นสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งรังไข่ ได้แก่ อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง[1] จากการที่ในท้องมีน้ำหรือก้อนเนื้องอกขนาดใหญ่ อาการปวดท้องน้อย และมีประจำเดือนผิดปกติ อาการปวดท้อง อิ่มเร็ว เบื่ออาหาร ปัสสาวะบ่อย อั้นปัสสาวะไม่อยู่7-9 หรือท้องผูก ซึ่งเกิดจากการที่ก้อนมะเร็งอาจไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ ลำไส้เล็กหรือลำไส้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอาการดังกล่าวไม่จำเพาะกับโรคใดโรคหนึ่ง จึงทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจยังไม่ตัดสินใจเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินเพิ่มเติม จนได้รับการรักษาล่าช้าในท้ายที่สุด ซึ่งนำไปสู่การที่ภาวะมะเร็งลุกลามมากขึ้น หรือในผู้ป่วยบางรายอาจไม่แสดงอาการของโรคเลย นอกจากจะตรวจพบความผิดปกติจากการตรวจภายใน หรือการตรวจร่างกายทั่วไป[2]
อย่ามองข้ามปัจจัยเสี่ยงมะเร็งรังไข่
หากใครที่มีสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคมะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม มะเร็งตับอ่อน หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก[3] ถือว่ามีปัจจัยเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป โดยโรคมะเร็งรังไข่นั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในผู้หญิงที่มีอายุมากเท่านั้น แต่หากผู้ป่วยมีประวัติเป็นโรคมะเร็งเต้านมก่อนอายุ 40 ปี หรือสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งที่กล่าวมาข้างต้นก่อนอายุ 50 ปี ควรเข้ารับการปรึกษากับสูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ให้คำปรึกษาทางพันธุศาสตร์
นอกจากนี้ การมีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปีหรือเร็วกว่าปกติ ผู้ที่ยังไม่เคยตั้งครรภ์ คลอดบุตร หรืออยู่ในภาวะมีบุตรยาก ผู้ที่คลอดบุตรคนแรกหลังอายุ 30 ปี ผู้ที่หมดประจำเดือนช้ากว่า 55 ปี ก็นับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน
อย่ามองข้ามความสำคัญของการเข้ารับการวินิจฉัยมะเร็งรังไข่ตั้งแต่แรกเริ่ม
มะเร็ง รู้ไว รักษาได้ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการหมั่นสังเกตอาการบ่งชี้หรือสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งรังไข่อย่างสม่ำเสมอ หากเกิดอาการสักระยะหนึ่งแล้ว และเกิดขึ้นมากกว่า 12 ครั้งต่อเดือน ควรรีบพบแพทย์ พร้อมทั้งแจ้งประวัติครอบครัวที่อาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งรังไข่ เพื่อให้แน่ใจได้ว่าจะได้รับการวินิจฉัยอย่างรวดเร็วและสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ หากได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะเริ่มต้น[4] ก็จะมีอัตราการรอดชีวิตสูงขึ้น
ทั้งนี้ การตรวจสุขภาพประจำปีโดยเฉพาะทางด้านนรีเวชถือเป็นสิ่งที่สำคัญ ในการช่วยลดความเสี่ยงการตรวจพบโรคมะเร็งรังไข่ในระยะรุนแรงได้ นอกจากนี้การเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ
โครงการ “We Care เพราะเราแคร์คุณ” ก่อตั้งขึ้นเพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งที่พบบ่อยในสตรี ได้แก่ มะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งที่พบบ่อยในบุรุษ ได้แก่ มะเร็งต่อมลูกหมาก พร้อมทั้งแบ่งปันความรู้เรื่องโรคโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อให้ผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปเกิดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค การวินิจฉัย ทางเลือกในการรักษาที่มีอยู่ในปัจจุบัน และการดูแลตนเองเพื่อให้อยู่กับโรคมะเร็งได้อย่างไร้กังวล
แอสตร้าเซนเนก้า เล็งเห็นถึงความสำคัญของการตรวจคัดกรองโรคในระยะเริ่มต้น รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคและการเข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพที่ดี โดยมีเป้าหมายในการขยายการเข้าถึงการรักษาและคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นให้แก่ประชาชนคนไทย เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน (People) ชุมชน (Society) และโลก (Planet) อย่างยั่งยืน
[1] https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7953678/
[2] https://www.rama.mahidol.ac.th/cancer_center/th/knowledge/gyne/ovary
[3] https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/lecturestopics/topic-review/6705/
[4] https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/18057523/
[1] https://www.rama.mahidol.ac.th/cancer_center/th/knowledge/gyne/ovary