Mark Manson เป็นนักเขียนหนังสือแนวพัฒนาตนเองชาวอเมริกันที่หนังสือ 4 เล่มของเขาขายได้ราวๆ 20 ล้านเล่ม ถูกแปล 65 ภาษา เช่น The Subtle Art of Not Giving a F*ck ชีวิตติดปีก ด้วยศิลปะแห่งการ ‘ช่างแม่ง’ และ Everything is F*cked คู่มือแห่งความหวังในโลกสุดเฮงซวย
เอะอะก็เขียนหนังสือถึง F*cked ใช่แล้ว มาร์ก แมนสันคือเจ้าแห่งความช่างแม่ง
ครั้งหนึ่งเขาโพสต์ในเฟซบุ๊กว่า 3 คำถามที่กำหนด 99% ของความสุขของคุณ ซึ่งกลายเป็นโพสต์ที่มีคนคอมเมนต์และแชร์มากที่สุด
3 คำถามนี้มีอะไรบ้าง The Optimized ชวนหาคำถามไปด้วยกัน
#1 ฉันดูแลตัวเองอย่างไร และทำไมจึงปฏิบัติเช่นนั้นต่อตัวเอง
การดูแลตัวเองในที่นี้ไม่ใช่เพื่อให้ดูดี ไม่เกี่ยวกับรูปลักษณ์ภายนอก แต่หมายถึงการดูแลใส่ใจสุขภาพ เพราะวิธีที่เราปฏิบัติต่อตัวเองส่งผลโดยตรงต่อความอยู่ดีมีสุขทางจิตใจไปด้วย แม้การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพเล็กๆ น้อยๆ อาจส่งผลมากมายต่ออารมณ์ ความรู้ พลังงาน และความสุขโดยรวมของตัวเรา
การดูแลใส่ใจตัวเองไม่จำเป็นต้องลงทุนลงแรงมากมาย แต่เป็นไปกฎ 80/20 แค่ลงมือทำ 20 แต่ได้ผลมากถึง 80 ดังที่มีงานวิจัยที่ชี้ว่า คนที่เป็นโรคซึมเศร้า หากลุกขึ้นมาขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวเบาๆ เช่น เดินยามเช้า จะช่วยเยียวยาภาวะซึมเศร้าได้มากอย่างน่าทึ่ง
Photo: Freepik
เราต้องถามตนเองด้วยว่า เราวิ่ง 10 กิโลเมตรได้ทุกวันหรือไม่ ถ้าไม่ได้ เราวิ่งได้กี่กิโล กี่วัน จุดสมดุลคือทำอะไรก็ตามที่ทำได้สม่ำเสมอไปตลอดชีวิต เพราะหากไฟแรงโหมทำก็ทำได้แค่ไม่กี่วันแล้วจะเหนื่อย บาดเจ็บ หรือรู้สึกว่ามันยาก จนล้มเลิกไปในเร็ววัน แต่เราอาจเดินวันละ 15 นาทีหรือลุกจากเก้าอี้ทำงานมายืดเส้นยืดสายทุกครึ่งชั่วโมงได้
เราอาจเลิกกินอาหารแปรรูป พวกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไส้กรอก น้ำอัดลม ไอศกรีม ฯลฯ ไม่ได้ แต่ลดปริมาณลงได้
เริ่มทำจากก้าวเล็กๆ แต่ทำสม่ำเสมอ แล้วเราจะค่อยๆ ก้าวไปสู่จุดที่ทำได้อย่างไม่ฝืน กลายเป็นนิสัย ซึ่งนั่นละ เรามาถึงจุดที่มีความเคารพตนเองแล้ว
การตอบคำถามที่ว่า “คุณดูแลตัวเองอย่างไร” บังคับให้เราหยุดไตร่ตรองพฤติกรรมทางกายและสภาวะจิตใจ เป็นกระบวนการที่สะท้อนว่าเราให้ค่าต่อตัวเองมากน้อยแค่ไหน หากเราดูแลสุขภาพร่างกายตัวเองอย่าเสมอต้นเสมอปลายก็เท่ากับได้ลงทุนเติมความสุขให้ตัวเองในระยะยาว
ลองค้นหาว่า ทำอะไรแล้วดีต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตของเราบ้าง
#2 คุณใช้เวลากับใคร และทำไมจึงเป็นคนคนนั้น หรือคนเหล่านั้น
คุณเป็นเหมือนคน 5 คนที่คุณใช้เวลาด้วยมากที่สุด
เป็นคำพูดเกร่อๆ เฝือๆ แต่ว่าจริง
คนใกล้ตัวมีส่วนประกอบสร้างความคิดอ่าน ทัศนคติ นิสัย พฤติกรรม และแน่นอนว่ารวมถึงความสุขของเราด้วย
ถ้าคนใกล้ตัวเป็นแนวส่งเสริมเกื้อกูลกันไปในทางบวก คุณก็จะเป็นคนแบบนั้น แต่ถ้าแวดล้อมตัวเองด้วยคนคิดลบพ่นพิษไม่ได้หยุด พวกเขาจะปล่อยพลังที่ทำให้เราดิ่ง สงสัยในตัวเอง เห็นผิดเป็นชอบ บิดเบือนความจริง ท้ายที่สุดคือทำให้ชีวิตเราท็อกซิกสุดๆ
ความสัมพันธ์ท็อกซิกไม่ได้ทำให้เรารู้สึกแย่ต่อตัวเองหรือต่อโลกแค่ชั่วครู่ชั่วยาม แต่มันอาจกลายเป็นเลนส์แว่นที่คุณใช้มองโลก
ยกตัวอย่าง มาร์กเคยไปพบชายคนหนึ่งในเมืองหนึ่งที่เป็นคนไม่กล้าทำอะไร เพราะกลัวคนอื่นจะว่า มาร์กจึงให้ชายคนนั้นใส่ชุดไก่แล้วออกไปเดินตามถนน เพื่อพิสูจน์ว่า จริงๆ แล้วคนอื่นไม่ได้แคร์เรามากอย่างที่เราคิดหรอก
ปรากฏว่ามาร์กได้รับคอมเมนต์จากทางบ้านมากมายที่เห็นด้วย และคอมเมนต์มากพอๆ กันที่บอกว่า ฉันไม่มีทางใส่ชุดไก่ไปเดินถนนแน่ คนแถวบ้าน/เพื่อน/ใครมาเห็นเข้าได้นินทาตายเลย
เมื่อซักถามลงลึกมากเข้าว่า คนแถวบ้าน/เพื่อน/ใครที่มาเห็นเข้า มีกี่คน หลายคนเลยที่ตอบว่า 2-3 คน น่าสนใจที่เราใช้คนแค่หยิบมือนี้มาชี้วัดวิธีการที่เรามองโลกซึ่งเต็มไปด้วยคนเป็นพันๆ ล้าน
Photo: Freepik
คำถามที่มาร์กชวนให้คิดคือ ถ้าเราทำสิ่งที่น่าอายหรือทำผิดพลาด คนคนนี้ที่เรานึกถึง เขาจะมีปฏิกิริยาอย่างไร เขาจะไม่ถือสา ให้กำลังใจ ปลอบประโลม ตบไหล่ เยาะเย้ย ด่าซ้ำ เหยียบย่ำ กล่าวโทษ พูดจาทิ่มแทง เอาไปเม้าต่อ ฯลฯ
แล้วเราจะรู้ได้เองว่า คนแบบไหนบ้างที่เราปล่อยให้มาแวดล้อมรอบตัวเราอยู่
คนที่เราอนุญาตให้เข้ามาสนิทชิดเชื้อในชีวิตส่งอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อสุขภาวะทางจิตใจและอารมณ์ของเรา ถ้าอยากจะมีความสุขจริงๆ แล้วละก็ พาตัวเองไปอยู่ใกล้ๆ คนที่เกื้อกูล หนุนนำ ให้กำลังใจ บันดาลใจ หรือท้าทายให้เราเติบโตขึ้น แล้วถอยห่างจากคนที่ดูดพลังชีวิตไปจากเรา อยู่ใกล้แล้วอะไรๆ ก็ยากไปหมด
หรืออยู่ใกล้คนที่ทำให้เราหมดเปลืองเวลา พลังงาน และเงินไปมากมาย…เขาอาจเป็นแม่ข่ายก็ได้
#3 งานแบบไหนที่ฉันกำลังทำอยู่ พร้อมเหตุผล
‘งาน’ ในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นงานที่ได้เงินหรืออาชีพ เพราะแน่ละว่าไม่ใช่ทุกคนจะได้ทำงานที่ชอบ ได้ทำอาชีพในฝัน ดังนั้น งานจึงอาจเป็นสิ่งที่ทำแล้วรู้สึกเติมเต็ม มีคุณค่าทางใจ หรือเป็นสิ่งที่ทำแล้วส่งผลทางบวกต่อชีวิตตนเองและผู้อื่น
พี่เบ๊นซ์ทำงานที่หนัก…หลายสิบกิโลจริงๆ
Photo: FB ขาหมู แอนด์เดอะแก๊ง
นอกจากต้องตอบคำถามตัวเองว่า งานแบบไหนที่กำลังทำอยู่ เราต้องตอบคำถามที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ ทำไมเราจึงทำงานนั้นๆ
เราอาจตอบตัวเอง ทำงานเพราะทำแล้วได้เงิน ซึ่งไม่มีอะไรผิดเลย เพราะงานที่ใช่ไม่ได้เริ่มต้นจากแพสชันเสมอไป แต่อาจเริ่มจากสิ่งที่คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์หรือเจนเอ็กซ์ถูกพร่ำสอนกันว่า ปากท้องต้องมาก่อน ทำงานอะไรก็ที่ได้เงิน นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ไม่เลวเลย (ถ้าทำแล้วไม่เดือดร้อนใคร) ลองสำรวจว่าเราทำอะไรได้ดี แล้วตั้งใจทำสิ่งนั้นต่อไป เมื่อเราทำสักอย่างได้ดี เราจะรู้สึกมั่นใจ แล้วแพสชั่น ความหมาย ความเติมเต็ม ความพึงพอใจ และความสุขจะตามมาเอง แถมระหว่างนี้ยังได้เงินด้วยนะ
ไม่มีงานอะไรที่มอบความหมายให้เรา เราต่างหากที่ต้องเป็นคนให้ความหมายต่องานนั้นๆ เพราะต่อให้เราทำงานที่ชอบ ได้ทำอาชีพในฝันก็ใช่ว่าทุกวินาทีจะเต็มไปด้วยความสุขสนุกสนาน เราต้องเจอวันแย่ๆ ขั้นตอนที่ไม่ชอบใจ เรื่องขัดใจ หรือทำงานที่ชอบมากเกินไปจนไม่ได้กินได้นอนก็ตายได้เหมือนกัน จึงจำเป็นมากที่เราต้องหา ‘why’ ที่อยู่เบื้องหลังงานที่เราทำ ว่าเราทำงานนั้นๆ ไปทำไม แล้วเราพบเหตุผลแล้ว เราจะพบความเปลี่ยนแปลง
เราอาจพบว่า เรามีศักยภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ เราสามารถทำอะไรอื่นได้อีกมาก หรือแม้แต่รู้สึกว่า งานนี้ทำให้เราเสียเวลาชีวิต เราอาจได้รู้ว่าถึงเวลาไปทำสิ่งที่สอดคล้องกับคุณค่าหรือเป้าหมายขณะที่เลี้ยงปากท้องตัวเอง ครอบครัว หรือสิ่งที่เราอยากปกป้องได้ไปพร้อมกัน
การตอบคำถามนี้จึงอาจทำให้เราปลดปล่อยตัวเองจากวัฏจักรการทำงานที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนติดกับ แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการยอมรับที่จริงใจ ไม่ว่าเราทำงานก็เพราะมันต้องทำ หรืออาจทำให้เราตระหนักได้ว่า นี่เรากำลังทำงานในฝันอยู่นี่นา แม้ไม่ใช่อาชีพที่เราใฝ่ฝัน แต่เนื้องานและคุณค่ามันตรงกับสิ่งที่เราต้องการก็เป็นได้
แม้จะโดนสวบทุกวัน แถมตัวหนักและดื้อขึ้นเรื่อยๆ แต่การดูแลเด้งให้มีความสุขได้นำความสุขมาให้พี่เบ๊นซ์ ซึ่งพลอยทำให้คนทั่วโลกมีความสุขไปด้วย
Photo: FB ขาหมู แอนด์เดอะแก๊ง
แต่มาร์กใส่ดอกจันตัวโตไว้ด้วยว่า ไม่จำเป็นเสมอไปที่เราต้องพยายามหาเงินจากทุกงานที่ทำ งานแต่ละอย่างมีหน้าที่และประโยชน์ของมัน บางงานอาจะเป็นแพสชันโปรเจกต์ล้วนๆ ทำเอามัน ไม่ได้ตังค์ก็ไม่เป็นไร บางงานได้ช่วยเหลือคนอื่น มันคืองานที่ดีต่อใจ บางงานทำแล้วได้พัฒนาตัวเอง เป็นต้น
คำตอบ 3 ข้อของคุณคืออะไรบ้าง
Words: Sritala Supapong
ข้อมูลจาก
- https://www.youtube.com/watch?v=rLPyyy8XnyQ