หลังน้ำท่วมแม่สาย จ.เชียงราย ลดระดับลง ทิ้งกองดินโคลนเต็มพื้นที่ชุมชนถ้ำผาจม และชุมชนสายลมจอย สูงกว่า 80 เซนติเมตร…
หลังน้ำลด สิ่งที่ผุดขึ้นมานอกจากความเสียหายของชีวิตและทรัพย์สินแล้ว สิ่งที่ต้องใช้เวลาเยียวยานานเป็นเดือน หรืออาจจะหลายปี ก็คือความเสียหายทางจิตใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะพบเจอมากขึ้น เนื่องจากโลกรวนส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติบ่อยครั้งขึ้น และแต่ละครั้งจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
มีคณะวิจัยที่วิเคราะห์ผลการศึกษา 70 ชิ้น ในหัวข้อ ‘ผลกระทบของเหตุภัยธรรมชาติร้ายแรงที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของคนในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2000 จนถึง 20 มกราคม 2024 พบว่า เอเชียคือทวีปที่เกิดภัยธรรมชาติบ่อยที่สุด 44.4% จึงมีเหยื่อภัยธรรมชาติมากที่สุดในโลก 69.5% และมีมูลค่าความเสียหายสูงที่สุด 64.4%
ผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วมส่วนใหญ่เป็นพลเมืองในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ไทยเราเป็นส่วนหนึ่งนั้น “เปราะบางต่อการเกิดน้ำท่วมและล้มเหลวในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อต่อต้านน้ำท่วมเพื่อลดความเสียหายและความสูญเสียจากน้ำท่วม”
มวลน้ำสีน้ำตาลในจังหวัดเชียงราย ภาพถ่ายจากดาวเทียมโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
Photo: GISTDA
ทุกครั้งที่เกิดภัยธรรมชาติรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นพายุ น้ำท่วม ไฟป่า ฝุ่น ฯลฯ ได้เปิดเผยถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของคนในประเทศนั้นๆ คนรายได้น้อยมักได้รับผลกระทบหนักกว่า และฟื้นตัวยากกว่าคนรายได้สูง เหมือนในหนัง Parasite ที่คนรวยมองฝนตกอย่างโรแมนติก ส่วนคนจนในห้องเช่าต่ำกว่าถนนวิ่งพล่านหนีน้ำท่วม…อันนี้ผลการศึกษาไม่ได้เขียนไว้
Andreas Meyer-Lindenberg ประธานสมาคมจิตเวชศาสตร์ จิตบำบัดและจิตวิเคราะห์แห่งเยอรมนี ซึ่งเคยเป็นหน่วยหน้าในการให้ความช่วยเหลือทางจิตวิทยาแก่ผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์เฮอริเคนแคทรินถล่มเท็กซัสในปี 2005 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 1,390 ราย ก่อความเสียหายทางเศรษฐกิจ 125 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นภัยธรรมชาติที่ก่อความเสียหายมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา กล่าวถึงกุญแจฟื้นฟูสุขภาพจิตของเหยื่อภัยธรรมชาติ 5 ข้อ ได้แก่
1.ที่กิน-ที่นอน
สิ่งแรกที่ผู้รอดชีวิตต้องการคือ มีสถานที่ให้นอน อาหารให้กิน และน้ำสะอาดให้ดื่ม โดยไม่ต้องคิดถึงสิ่งอื่น ทำให้พวกเขาได้รับสิ่งพื้นฐานของชีวิตเหล่านี้เสียก่อน
2.มีคนรับฟัง
ผู้รอดชีวิตต้องมีคนที่พร้อมรับฟังความรู้สึกหากพวกเขาต้องการใครสักคนที่อยากพูดคุยด้วย และอย่าบังคับให้พวกเขาต้องฝืนใจพูดถึงเรื่องราวเลวร้ายที่เพิ่งเจอมา
3.ช่วยติดต่อหาญาติและครอบครัว
เมื่อมอบความรู้สึกปลอดภัยทางกายและใจแล้ว ควรช่วยติดต่อครอบครัวหรือญาติผู้รอดชีวิตให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะในเด็กที่ต้องได้เจอคนที่คุ้นเคยโดยเร็ว
4.กอบกู้ความสามารถในตัวเอง
เหยื่อภัยธรรมชาติจะฟื้นตัวได้เร็วขึ้นมากหากรู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถ รู้สึกมีส่วนร่วมในการทำให้สถานการณ์เลวร้ายดีขึ้น เช่น ลงมือลงแรงช่วยเหลือผู้ประสบภัยคนอื่นๆ หรือช่วยงานในศูนย์พักพิง เป็นต้น
5.จุดคบเพลิงความหวัง
จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำให้ผู้รอดชีวิตรู้สึกว่าชีวิตยังมีความหวัง ไม่ใช่ด้วยคำพูดเฝือๆ ที่พูดย้ำซ้ำเดิม เช่น สู้ๆ นะ ให้กำลังใจนะ ฯลฯ แต่จุดคบเพลิงความหวังทั้งคำพูดพร้อมการกระทำที่สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้รอดรู้สึกว่า เราจะผ่านช่วงเวลาอันยากลำบากนี้ไปด้วยกัน
ความเสียหายจากน้ำท่วมในจังหวัดเชียงรายที่กินอาณาบริเวณกว้างขวาง
Photo: X@ChetawanPPLE
หลังหายนะภัยอ่อนกำลังลง ทิ้งความเสียหายทางกายใจไว้มากมาย เช่น สึนามิในมหาสมุทรอินเดียเมื่อเดือนธันวาคม 2004 ภัยธรรมชาติร้ายแรงที่สุดอันดับ 6 ของโลก ได้คร่าชีวิตผู้คนในอาเซียนมากถึง 225,841 ราย และผลการศึกษาพบว่า ผู้รอดชีวิตในจังหวัดอาเจะฮ์ ประเทศอินโดนีเซียมีภาวะอารมณ์ทางลบ 83.6% และมีอาการซึมเศร้า 77.1%
ส่วนผลการศึกษาผลกระทบของไซโคลนอำพัน ที่โจมตีชายฝั่งบังกลาเทศในปี 2021 พบว่าเหยื่อพายุมีอาการทางสุขภาพจิตระดับกลางจนถึงรุนแรง และมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย 10.9%
น้ำท่วมยังเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพต่างๆ เช่น ทำให้เกิดอาการ PTSD (Post-traumatic stress disorder โรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ เป็นความผิดปกติทางจิตใจที่เกิดขึ้นหลังจากเผชิญกับเหตุการณ์คุกคามที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างรุนแรง) รวมไปถึงความเครียด อาการซึมเศร้า และความวิตกกังวล เนื่องจากผู้รอดชีวิตต้องเผชิญกับผลที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือนเสียหาย รถพัง เรือกสวนไร่นาล่มจม ขาดน้ำและอาหาร ต้องอพยพไปอยู่ที่ใหม่ รูปแบบการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป หรือสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก
ในผลการศึกษาหนึ่งพบว่า คนที่เจอน้ำท่วมรุนแรงมีความผิดปกติทางสุขภาพจิตในระยะยาวเพิ่มขึ้น 9 เท่า และแม้ผ่านไปหลายปีแล้วก็ตาม แต่บางรายเมื่อเจอฝนตกหนักก็มักรู้สึกวิตกกังวล เครียด นอนไม่หลับ เป็นแพนิก ไม่มีสมาธิทำกิจวัตรประจำวัน ฝันร้าย อ่อนเพลีย อารมณ์เปลี่ยนแปลง หรือก้าวร้าวขึ้น เนื่องจากเหตุการณ์รุนแรงเหล่านี้ไปเปิดปุ่ม ‘จะสู้หรือจะหนี’ ของเรา ทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลินและฮอร์โมนความเครียดอื่นๆ ออกมา เช่น คอร์ติซอล
ผลกระทบทางจิตใจที่เกิดจาก Climate Change ซึ่งส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติรุนแรงบ่อยขึ้น
Photo: www.sciencedirect.com
อาการทางสุขภาพจิตที่เกิดจากภัยธรรมชาติรุนแรงยังนิยามได้ด้วยศัพท์อื่นๆ อีก เช่น
-
Solastalgia – ความเจ็บปวดจากการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม
มีที่มาจาก ‘Solace’ (ปลอบประโลม) และ ‘desolation’ (ความโดดเดี่ยว) รวมกับ ‘algia’ (ความเจ็บปวด)
ความรู้สึกหวาดหวั่นว่าบ้านหรือที่อยู่อาศัยของเราจะถูกทำลายลงไป ความวิตกว่าที่ดินที่เราอาศัยจะตกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมเกินกว่าจะดำรงชีวิตอยู่ได้ และความกลัวว่าสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในอนาคตอาจทำให้วันใดวันหนึ่ง เราจะไม่สามารถอยู่อาศัยในบ้านของเราได้อีกต่อไป
-
Ecological grief – ความโศกเศร้าเชิงนิเวศ
ความรู้สึกสูญเสียที่เกิดจากสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม ความรู้สึกว่าพื้นที่ทำกินได้เสียหายไปจากน้ำมือมนุษย์ หรือไม่อาจรักษาแผ่นดินของบรรพบุรุษไว้ได้
-
Climate anxiety– ความวิตกกังวลต่อภาวะโลกรวน
มีการศึกษาเด็กและคนหนุ่มสาว 10,000 คนใน 10 ประเทศพบว่า 59% รู้สึกกังวลอย่างรุนแรงต่อผลกระทบของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป
หลังเผชิญภัยธรรมชาติร้ายแรง กิจวัตรประจำวันของผู้รอดชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงไป หลายคนไม่อาจกลับไปทำงานได้อีก บ้างก็ขาดการสนับสนุนจากชุมชนหรือสังคม บางคนสิ้นเนื้อประดาตัว ต้องแบกรับภาระทางการเงินในการซ่อมสร้างบ้านเรือน รวมไปถึงชีวิตตนเองและครอบครัว การประกอบสร้างชีวิตครั้งใหม่อาจกินเวลานาน หลายคนอาจต้องอยู่กับความรู้สึกไม่แน่นอน ไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย และความเครียดยาวนานเรื้อรัง จึงอาจหันไปพึ่งแอลกอฮอล์หรือสารเสพติด อันเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยให้รู้สึกว่าควบคุมชีวิตตนเองได้บ้าง ขณะที่บางคนก็อาจฟื้นฟูสภาพจิตใจได้เร็ว ไม่ได้ทนทุกข์ยาวนาน โดยเฉพาะในรายที่ได้รับความช่วยเหลือจากชุมชนหรือสังคม
Words: Sritala Supapong
ข้อมูลจาก
- https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0013935124003402
- https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S2212420923004156
- https://climate-adapt.eea.europa.eu/en/observatory/evidence/health-effects/mental-health-effects
- https://www.preventionweb.net/news/how-climate-change-affects-mental-health#:~:text=Extreme%20weather%20events%20and%20mental%20health&text=As%20a%20result%2C%20many%20people,depression%2C%20or%20substance%20use%20disorders.
- https://www.brainfacts.org/diseases-and-disorders/mental-health/2018/natural-disasters-take-a-toll-on-mental-health-062818
- https://www.dw.com/en/extreme-weather-is-a-cause-of-post-traumatic-stress/a-66634928
- https://www.brainfacts.org/diseases-and-disorders/mental-health/2018/natural-disasters-take-a-toll-on-mental-health-062818
- https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/563
- https://www.worldvision.org/disaster-relief-news-stories/2005-hurricane-katrina-facts#:~:text=The%20economic%20cost%20of%20Hurricane,natural%20disasters%20in%20U.S.%20history.