5 คำแนะนำเล็กๆ ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงยิ่งใหญ่จากการพบจิตแพทย์-นักจิตบำบัด

“เธอเป็นบ้านะ เธอควรไปหาหมอ”

นี่ไม่ใช่คำด่า ไม่ใช่คำแนะนำอันหวังดี แต่เป็นคำตัดสัมพันธ์

และนั่นคือการสิ้นสุดความเป็นเพื่อนสนิทและเพื่อนร่วมงานอันยาวนานไปในคราวเดียวกัน เหมือนยิงปืนนัดเดียวเสียนกสองตัว

วินาทีที่ได้ยินประโยคนี้ ภาพหน้าผาสูงถล่มวาบเข้ามาในห้วงคำนึง พอก้มลงมองก็เห็นภาพพื้นใต้เท้าตัวเองกร่อนสลายหายไปอย่างรวดเร็ว จนฉันเซไปจริงๆ

เป็นครั้งแรกที่ฉันมีอาการ ‘พื้นหาย’

ฉันผ่านการตัดสัมพันธ์กับเพื่อนกับคนที่รักและไว้ใจมาหลายครั้ง และนี่ก็เป็นอีกครั้ง ฉันบอกตัวเองอย่างนั้น พยายามรวบรวมสติสตังหางานใหม่โดยเร็ว เพราะไม่มีทางที่เราจะกลับมาเป็นเพื่อนร่วมงานกันได้อีก

แต่ในขณะขับรถกลับบ้าน ฉันมองกระจกหน้าและเห็นตัวเองร่วงหล่นจากท้องฟ้า ฉันจึงบอกตัวเองใหม่ว่านี่ไม่ใช่อาการพื้นหายเลเวลที่ฉันรับมือเองได้อีกต่อไป และเลี้ยวรถเข้าสู่เส้นทาง ‘ช้อปปิ้งจิตแพทย์-นักจิตบำบัด’ อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยมานับแต่นั้นจนถึงบัดนี้

ฉันทดลองหลากหลายทาง ตั้งแต่การบำบัดสไตล์เปิดไพ่มองหาความตระหนักรู้จากชุมชนในสก็อตแลนด์ เข้าคอร์สนักบำบัดลูกศิษย์คาร์ล ยุงจากอเมริกา พบจิตแพทย์ชื่อดังที่มีลูกเพจเป็นแสน ปรึกษานักบำบัดด้วยการเคลื่อนไหว พูดคุยกับนักจิตวิทยาบำบัดจบปริญญาเอกจากอังกฤษ ฯลฯ ประหนึ่ง ‘ช้อปปิ้งวิธีฮีลใจ’ เพราะมันเป็นเรื่องที่ต้องคลิกกันจริงๆ แต่ละคนมีวิธีการบำบัดรักษาและการสื่อสารต่างกันไป

7 ปีที่แสวงหาการฮีลสภาพจิตใจตัวเอง นี่คือ 5 คำแนะนำที่ฉันมักหยิบมาใช้เสมอเมื่ออาการ ‘พื้นหาย’ กลับมา ไม่ว่าจะด้วยเพราะหมาตาย แมวป่วย เครียดจากงาน ตามเงินลูกค้ายาก เพื่อนร่วมงาน toxic หรือกระทั่งตัวเองไป toxic ใส่คนอื่น ฯลฯ

Photo: Freepik

1.ให้รู้ไว้ว่าตัวเราใหญ่กว่าอารมณ์และสภาวะที่เราเป็น

การคอนเน็กต์กับตัวเองเป็นสิ่งแรกที่ควรทำเมื่อเราเจ็บปวดทางใจหรือรู้สึกเคว้ง ทำความเข้าใจว่ามันเป็นเพียงความรู้สึกและเป็นแค่สภาวะหนึ่งของตัวเรา ต่อให้เราจะไม่ชอบสภาวะนี้เลยก็ตาม แต่มันคือส่วนหนึ่งของประสบการณ์ที่เราเจอและมันจะผ่านไปในที่สุด ให้รู้ไว้ว่าตัวเราใหญ่กว่าอารมณ์และสภาวะนั้นๆ อย่าเห็นความเศร้าใหญ่กว่าตัวเอง เราดีลกับมันได้

วิธีง่ายที่สุดที่จะคอนเน็กต์กับตัวเองคือ เอามือจับแขนตัวเองว่าเรายังอยู่นะ เพราะจิตใจเรามักไม่อยู่กับเนื้อกับตัว รู้สึกได้ถึงพื้นที่เท้าของเรา สัมผัสผนังที่เราพิงอยู่ กลับไปคอนเน็กต์กับร่างกายและอยู่ ณ ปัจจุบันขณะ นั่นคือที่ที่เราจะอยู่ได้

Photo: Freepik

2.ถ้าไม่รู้จะปลอบอะไรก็แค่อยู่ข้างๆ อย่าบอกว่า ‘กอดๆ’ ‘สู้ๆ นะ’

ทุกครั้งที่ได้ยินสองคำนี้ ฉันรู้สึกแย่ลงมากอย่างหาสาเหตุไม่ได้ จนถึงกับเอาไปถามหมอ หมอจึงให้ไล่เรียงความรู้สึกของตัวเองว่าฟังแล้วรู้สึกอย่างไร ก่อนจะสรุปออกมาได้ว่า

คำพูดที่ทำให้คนจิตตกดิ่งลงได้อีกที่สุดก็คือ ‘กอดๆ’ เพราะมันบอกให้รู้ว่าคนพูดพูดแบบขอไปที ตัดบทเพราะจะไปทำอย่างอื่นแล้ว เขาไม่ได้อยู่ตรงนั้นกับเรา หรือเขาไม่ได้ ‘ฟัง’ เรา

อีกคำคือคำว่า ‘สู้ๆ นะ’ เวลาที่เราอยากให้กำลังใจใครอย่าใช้คำที่เป็นการเชียร์กีฬา เพราะกีฬามีเส้นชัยหรือจุดสิ้นสุดที่ชัดเจน มีกติกาแน่ชัด และเป็นเรื่องเกี่ยวกับร่างกายที่คนฟังสามารถประเมินได้ว่าต้องใช้แรงแบบไหนในการสู้ให้ถึงปลายทางนั้น ฉะนั้นเวลาให้กำลังใจใครด้วยการบอกว่า ‘สู้ๆนะ’ เขาจะรู้สึกว่าเขาก็สู้อยู่ทุกวันแล้ว แต่ไม่รู้ว่าต้องสู้ไปถึงไหน ไม่รู้จุดหมายปลายทางว่าจะสิ้นสุดเมื่อไร ต้องใช้แรงแค่ไหนจึงจะก้าวข้ามหล่มนี้ไปได้ ดังนั้น คำที่ใช้เชียร์กีฬาจึงไม่เหมาะกับคนที่อารมณ์ดิ่งหรือรู้สึกซึมเศร้า แม้ว่าคนพูดจะเจตนาดีมาก

แต่ทั้งนี้ให้รู้ไว้ว่า คนอื่นมีสิทธิ์จะพูดอะไรก็ได้ แต่อาจจะไม่ออกหรือนึกไม่ถึงว่าคำพูดของเราจะเซนซิทีฟแค่ไหนสำหรับคนฟังที่เราไม่รู้ว่าเขาต้องพานพบเรื่องอะไรมาบ้าง ในแต่ละวันที่เขาต้องพยายามตื่นขึ้นมา พยายามพาตัวเองออกมาพบเจอคนอื่นหรือใช้ชีวิตได้ เขาต้องใช้พละกำลังมากขนาดไหน

วิธีที่ดีที่สุดคือมองเห็นสภาพจิตใจของเขาโดยไม่ต้องพูดอะไรเสียยังดีกว่า

Photo: Freepik

3.อย่าเพิ่งบอกตัวเองว่าให้ทำอะไร ให้เฝ้าดูขบวนความคิดของตัวเองไปเรื่อยๆ

เวลารู้สึกดิ่ง จิตตก ซึมเศร้า อย่าเพิ่งโฟกัสที่ทางแก้ เช่น เราต้องไปหาหมอนะ เราต้องทำ 1 2 3 4 อย่าคิดลบ ให้คิดบวก คิดแต่เรื่องดีๆ แต่สิ่งที่เป็นยาถอนพิษอันวิเศษมากคือ ปล่อยให้ตัวเองคิดและรู้สึกใดๆ ได้เต็มที่และโดยไม่ตัดสินว่านั่นดีหรือไม่ดี ถูกหรือผิด ต่อให้เป็นความคิดที่เลวร้ายมากเพียงไรก็ตาม ถอยตัวเองออกมามองขบวนความคิดของตัวเองเหมือนคนนั่งมองขบวนรถไฟที่แล่นผ่านไป อย่าไปเบรกขบวนรถไฟนั้น แล้วภายในไม่กี่นาที ความรู้สึกแย่ๆ จะหายไปอย่างรวดเร็วมาก แต่หากพยายามไปสะกดกั้นหรือหันเหไปคิดเรื่องอื่น ความรู้สึกแย่ๆ จะถูกขังไว้ในตัวเรานานกว่า

ปัญหาทางความรู้สึกต้องใช้ความรู้สึกเข้าหา ไม่ใช่เอาวิธีแก้ 1 2 3 4 ไปสื่อสารกับตัวเองหรือคนอื่นที่รู้สึกดิ่ง

4.ตัวเราในปัจจุบันที่ฉลาดแล้วอย่าโทษตัวเราในอดีตว่าโง่

อย่ากล่าวโทษ อย่าเสียใจ อย่าเสียดายกับตัวเองในอดีต มันไม่แฟร์ เพราะตัวเราในอดีตได้ทำเต็มที่แล้วในปัจจัยที่มี ณ ขณะนั้น แน่นอนว่าตัวเราในปัจจุบันย่อมฉลาดขึ้นก็ต่อเมื่อเรามองย้อนกลับไปในอดีตเท่านั้น เพราะเราได้ผ่านเรื่องนั้นมาแล้ว ผ่านประสบการณ์ ผ่านการคิดทบทวน ผ่านการตระหนักรู้ ที่ได้ก่อเกิดเป็นปัญญาที่ทำให้เราฉลาดขึ้น ดังนั้น การกล่าวโทษตัวเองในอดีต หรือกระทั่งตั้งคำถามว่า ถูกหรือผิด ใช่หรือไม่ใช่ที่เราตัดสินใจทำเรื่องนั้นๆ ลงไปในตอนนั้น จึงไม่ยุติธรรมกับตัวเอง

5.ชีวิตเราประกอบด้วยสิ่งที่ควบคุมได้และสิ่งที่ควบคุมไม่ได้

ชีวิตเรามีสองส่วนที่ดำเนินคู่กันไปอยู่เสมอ คือส่วนที่เราควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ และมันเป็นเช่นนี้ในทุกๆ เรื่อง เช่น เรื่องการพรีเซนต์งาน สิ่งที่เราควบคุมไม่ได้คือไม่รู้ว่าหัวหน้าหรือลูกค้าจะคอมเมนต์อย่างไร จะซื้อหรือไม่ เราควบคุมไม่ได้ว่าวันนั้นเราจะป่วยหรือไม่ จะมีเหตุฉุกเฉินอะไรหรือเปล่า ดังนั้นมีปัจจัยมากมายที่เราควบคุมไม่ได้

แต่ในเรื่องเดียวกันก็มีเรื่องที่เราควบคุมได้ เช่น เราทำการบ้านมาดี เตรียมข้อมูลมาตอบ ซึ่งจะตรงกับสิ่งที่หัวหน้าหรือลูกค้าจะถามหรือไม่ก็ไม่รู้ละ ขอเตรียมตัวให้เต็มที่ไว้ก่อน ดูแลสุขภาพให้ดี พักผ่อนให้พอ ไม่กินของแปลกๆ ที่เสี่ยงท้องเสีย ฯลฯ

สุดท้ายผลลัพธ์ประกอบไปด้วยส่วนที่คุมได้และไม่ได้อยู่แล้ว แต่ก่อนจะไปถึงผลลัพธ์ ถ้าเราโฟกัสหรือให้พลังงานชีวิตไปกับเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้ เราจะเหนื่อยมาก

Photo: Freepik

การเลือกคนที่เราจะพูดคุยปรึกษา นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่เราควบคุมได้ทั้งหมด อย่างเราคุยกับเพื่อนหรือแฟน เขาอาจพูดไม่ถูกใจเราทุกเรื่อง ต่อให้เราไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา บางประเด็นฟังแล้วหงุดหงิด ทำไมเขาฟีดแบ็กเราแบบนี้ แต่อย่างน้อยส่วนที่ควบคุมได้คือเราเลือกคนที่เราไว้ใจอยากจะคุยด้วยได้มากกว่าการโพสต์ลงโซเชียลที่เป็นพื้นที่สาธารณะที่ใครก็ไม่รู้เข้ามาได้ ดังนั้นเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ และต้องยอมรับว่าโลกประกอบไปด้วยส่วนที่คุมได้และคุมไม่ได้

ปัญหาสุขภาพจิต-สำหรับฉันแล้ว จากที่เคยเป็นเรื่องน่าอับอาย โดยเฉพาะเมื่อโดนคนที่รักและไว้ใจมากพูดใส่หน้าว่า ‘เธอเป็นบ้า’ ตอนนี้มันได้กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาเหมือนเวลาบอกคนอื่นว่า “ฉันเป็นโควิด”

เพราะใครๆ ก็เป็นกันได้

Words: Sritala Supapong

 

you might like

Scroll to Top