6 หลุมดำทางอารมณ์ที่ต้องระวัง เพื่อช่วยดึงสติ กรองปัญหา

เวลาจิตตกแล้วรู้สึกว่าโลกมืดลง มองทางไหนก็ไม่สดใส เห็นอะไรก็ไม่สดชื่น แล้วเราก็จะเอฟของ ช้อปปิ้งกระจุย ไล่ดูหนังดูซีรีส์ไปเรื่อยๆ ไถฟีดโซเชียล กินจังก์ฟู้ด กินเหล้า ฯลฯ เพื่อให้รู้สึกชินชา ไม่รู้สึกรู้สา หรืออย่างน้อยได้พาตัวเองหนีไปจากห้วงอารมณ์จมดิ่งอย่างเร็วที่สุด

แน่ละว่าวิธีการเหล่านั้นช่วยให้หายจิตตกได้ไวสมใจอยาก เพียงแต่ว่าครั้งหน้าที่จิตตก อารมณ์ของคุณจะดิ่งลงหนักกว่าเก่า และต้องการตัวช่วยดึงอารมณ์ที่แรงขึ้นกว่าเดิม

สุดท้าย คุณจะตกอยู่ในวงจรอุบาทว์และเสพติดอารมณ์ลบ

สมองนั้นรักเราเสมอ มันจะพยายามหาทางให้เราเสียพลังงานน้อยที่สุด ดังนั้น เมื่อสมองจับสัญญาณได้ว่าคุณจิตตก มันจะสอดส่ายหาทางให้เรารู้สึกชาด้านหรือเบี่ยงเบนความสนใจ เราจะได้รู้สึกดีขึ้นแบบทันทีทันใด (instant relief) ซึ่งวิธีการแก้เซ็งทันใจราวกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เล่นมือถือ กินอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล ดื่มเหล้ากินเบียร์ ฯลฯ เราจะทำพฤติกรรมเช่นนี้ไปเรื่อยๆจนกว่าเราจะวางมือถือ หรือสร่างเมาแล้ว

Photo: Freepik

แล้วเพื่อนเก่าของเราก็จะกลับมา “สวัสดี เจ้าอารมณ์ดิ่ง คุณจิตตก”

แต่ละครั้งที่เราวนเวียนกลับเข้าสู่วงจรนี้ คือจิตตกแล้วช้อปปิ้ง ดูหนัง ฟังเพลง เล่นมือถือ กินแป้ง โซ้ยน้ำตาล ดื่มเหล้า ฯลฯ

สิ่งที่น่ากลัวคือ เมื่ออาการจิตตกกลับมา มันจะรุนแรงกว่าเดิม เราจะดิ่งไปสู่ห้วงอารมณ์และความคิดลบลึกลงไปเรื่อยๆ ส่งผลให้เราต้องช้อปปิ้งหนักขึ้น เล่นมือถือนานขึ้น กินเค้กเยอะขึ้น ดื่มเหล้ามากขึ้น ดูซีรีส์นานขึ้น ฯลฯ

แต่รู้อะไรไหม ความคิดลบๆนั่นไม่ใช่ตัวเรา อารมณ์ดิ่งที่รู้สึกก็ไม่ใช่ข้อเท็จจริง

อารมณ์คือข้อมูล เมื่อข้อมูลนั้นเข้มข้น ทรงพลังและเสียงดังมาก อารมณ์ก็ยิ่งเข้มข้นทรงพลังมากขึ้น ทำให้เรายิ่งรู้สึกเปราะบางตามไปด้วย

แทนที่จะทำให้ตัวเองด้านชาหรือเบี่ยงเบนความสนใจไปเรื่อยๆ เพราะไม่อยากจิตตกอีกแล้ว ลองหาทางเอาตัวเองออกจากวงจรอุบาทว์นี้ด้วยวิธีการที่อาจไม่เห็นผลไว แถมต้องใช้เวลา อาศัยความพยายาม แต่ถ้ารู้หลักการแล้ว มันจะช่วยป้องกันไม่ให้จิตตกถลำลึกจนเราอาจตัดสินใจสิ่งที่เราอาจต้องเสียใจไปตลอดชีวิตก็ได้

Photo: Freepik

6 อคติทางความคิด กับดักทางอารมณ์ที่ควรเลี่ยง

1.การอ่านใจ: Mind reading

การสันนิษฐานว่าคนอื่นคิดและรู้สึกอย่างไร

เช่น “ส่งไลน์เข้ากรุ๊ปไปตั้งนานแล้ว ลูกน้องยังไม่อ่าน คงแอบรวมหัวทำจ๊อบกันอยู่แน่ๆ”

2.คิดแบบเหมารวม: Overgeneralization

ใช้หนึ่งหรือไม่กี่เหตุการณ์เป็นตัวตั้ง แล้วเหมารวมว่าทุกเหตุการณ์ต้องได้ผลลัพธ์แบบเดียวกับหนึ่งหรือไม่กี่เหตุการณ์นี้

เช่น “เดือนนี้ลูกค้ามากินที่ร้านลดลง เดือนต่อๆลูกค้าคงน้อยลงไปเรื่อยๆ”

3.การคิดโดยยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง: Egocentric thinking

ตั้งสมมติฐานว่าคนอื่นจะมีมุมมองและค่านิยมแบบเดียวกับตนเอง จึงด่วนตัดสินพฤติกรรมของคนอื่นจากมุมมองของตนเอง

เช่น “นัดผู้รับเหมามาคุยงาน แต่มาช้าไปตั้งชั่วโมง เป็นฉันนะไม่มีทางทำแบบนี้หรอก”

4.ปักใจเชื่อตามความรู้สึก: Emotional reasoning

คิดว่าความรู้สึกของตนเองคือความเป็นจริง ฉันรู้สึกได้ ดังนั้นมันน่าจะจริงแหละ

เช่น “รู้สึกแย่มากที่โดนลูกค้าแก้งาน ฉันมันคนห่วยแตก หาดีไม่ได้เลยสักอย่าง”

5.คาดหวังไว้สูงจนทำไม่ได้จริง Musts and shoulds

การคาดหวังแบบหยาบๆ และไม่ยึดโยงกับความเป็นจริง จนกลายเป็นสารตั้งต้นของความรู้สึกว่าตนเองล้มเหลว ทำผิดพลาดทุกเมื่อเชื่อวัน

เช่น “ฉันเคยเป็นที่หนึ่งของห้อง เป็นนักเรียนที่ครูชมมาตลอด ฉันต้องทุ่มเททำงาน 101% ทุกงาน จะไม่มีงานไหนที่ฉันไม่ได้คำชมจากหัวหน้าและลูกค้าเป็นอันขาด”

6.คิดสุดขั้ว: All-or-nothing thinking

การคิดแบบสุดขั้วไปข้างใดข้างหนึ่ง ไม่ขาวก็ดำ ไม่มีสีเทา ไม่มีตรงกลาง ได้ก็ต้องได้ทั้งหมด ถ้าไม่ได้ทั้งหมดก็ไม่เอาเลย

เช่น “ถ้าเธอ pitch งานนี้ไม่ได้ ก็กลับมายื่นใบลาออกซะ”

Photo: Freepik

วิธีหลบเลี่ยงหลุมดำทางอารมณ์
  • เมื่ออาการจิตตกเหล่านี้หายไปแล้ว ก่อนที่มันจะกลับมาใหม่ เลือกมาสักเหตุการณ์หนึ่ง แล้วจดบันทึกว่ามีอะไรที่เป็นตัวกระตุ้นให้รู้สึกจิตตกแบบนี้ คิดทบทวนว่าตอนที่จิตตก คุณคิดอะไรบ้าง รู้สึกอย่างไร ร่างกายมีปฏิกิริยาอย่างไร (เช่น ใจเต้นเร็วขึ้น หน้าร้อนวูบขึ้นมา มือเย็น ขาสั่น พูดไม่ออก เวียนหัว เดินถอยหลังแบบไม่รู้ตัว ฯลฯ)
  • ย้อมกลับไปอ่านบันทึก แล้วสังเกตว่าตนเองมีอคติทางความคิดแบบไหน ณ เหตุการณ์นั้นๆ
  • พาตัวเองถอยออกมา แล้วมองเหตุการณ์นั้นในฐานะคนนอก แล้วคุณจะเห็นสิ่งต่างๆชัดเจนขึ้นว่า “ความคิดไม่ใช่ข้อเท็จจริง อารมณ์ก็ไม่ใช่ความเป็นจริงเช่นกัน”
  • ครั้งหน้าที่เจอตัวกระตุ้นให้รู้สึกจิตตก รู้ตัวเองให้ไวว่าคุณกำลังเจอสถานการณ์ที่อาจทำให้อารมณ์ดิ่งได้ แล้วเปลี่ยนคำพูดในหัวที่รักษาระยะห่างจากความคิดและอารมณ์ดิ่งเหล่านั้น เช่น “ฉันกำลังมีความคิดว่า…” “ฉันกำลังสังเกตเห็นปฏิกิริยาทางร่างกาย…” เพื่อให้คุณถอยออกมาจากอคติทางความคิด และรับรู้มันในฐานะประสบการณ์ชั่วขณะหนึ่งที่เกิดขึ้นกับคุณ มากกว่าจะมองว่ามันคือความจริงแท้ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้

Photo: Freepik

  • หากมีคนที่รับฟังคุณและคุณไว้วางใจได้จริงๆ เล่าอคติทางความคิดที่คุณมี เพื่อที่เขาจะได้เตือนสติและดึงคุณออกมาได้เวลาสังเกตเห็นว่าคุณเริ่มมีอาการจิตตกหรืออารมณ์ดิ่ง
  • ฝึกทำสมาธิ บริหารสติและความรู้เท่าทันความคิด อารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง แม้ว่าอาการจิตตกอาจจะไม่หายไปตลอดกาล แต่ครั้งต่อไปที่มันจะกลับมา คุณจะสังเกตเห็นมันได้เร็วขึ้น รู้เท่าทันกลเกมของมันได้ดีขึ้นว่า ถ้าปล่อยให้มันครอบงำคุณก็รังแต่จะดึงคุณให้ดำดิ่งลงไปเรื่อยๆ
  • คุณไม่ต้องหาทางกำจัดอาการจิตตก แต่การมีสติรู้เท่าทันจะช่วยให้คุณสลัดมือออก และถอยออกมานั่งมองมันจากวงนอกโดยไม่ตัดสินใดๆ เมื่อคุณไม่ให้พลังกับมัน เจ้าตัวจิตตกก็จะอ่อนแรงลงและเดินจากไปอย่างเงียบๆเอง

ในแต่ละวันคนเรามีความคิดวูบขึ้นมาได้เกือบแสนอย่าง ไม่ต้องปลีกวิเวกไปนั่งสมาธิที่ไหน แต่ลองใช้แต่ละวันเป็นสนามจริงให้คุณได้ฝึกรับมือกับเจ้าอาการจิตตก

และพึงระลึกไว้ว่า สติก็เหมือนกล้ามเนื้อที่ยิ่งฝึกฝนมากก็จะยิ่งแข็งแรง

Words: Sritala Supapong

ข้อมูลจาก

  • Why Has Nobody Told Me This Before? โดย Julie Smith, Penguin Random House UK

you might like

Scroll to Top