6 วิธีคิดฉุดตัวเองจากลูปเดิม แล้วเริ่มต้นใหม่ให้ดีกว่าเก่า

ไม่ว่าเรื่องงาน ความสัมพันธ์หรืออุปนิสัยส่วนตัว บางครั้งเราเห็นจุดที่ควรค่าแก่การเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาชีวิต แต่การเปลี่ยนรูปแบบกิจวัตรที่เคยทำจนเคยชินไม่ใช่เรื่องง่าย การเริ่มต้นสิ่งใหม่ต้องอาศัยพลังใจมากโข ดังนั้น The Optimized จึงนำแนวคิดเพื่อช่วยให้คุณกล้าเปลี่ยนแปลงเพื่อไปสู่สิ่งใหม่สิ่งที่ดีกว่าโดยผ่านกระบวนการคิดเป็นระบบดังนี้

Photo: Freepik

1.ไตร่ตรองตัวเอง

ก่อนจะเปลี่ยนแปลงอะไรในชีวิตขอให้คุณเข้าใจตัวเองก่อน ไม่แปลกที่การมีสติอยู่กับตัวเองทำได้ยากกว่าการปล่อยใจให้ฟุ้งซ่าน แต่ก็พึงกระทำ ควรหาเวลาสำรวจจิตใจ สังเกตเห็นอะไรในชีวิต ได้รับผลกระทบอะไรบ้าง อยากเห็นตัวเองเป็นแบบไหนในอนาคต ฯลฯ คุณอาจจะเขียนเป็นบันทึกเพื่อรวบรวมความคิดที่กำลังกระจัดกระจายให้มีระบบมากขึ้น ซึ่งนี่จะเป็นขั้นตอนแรกที่นำพาชีวิตไปในทางที่ถูกที่ควร

2.ตระหนักถึงคุณค่าในสิ่งต่างๆ

คุณค่าหรือค่านิยมบางอย่างที่คุณเคยยึดถือ บางครั้งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามเวลาขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่างในชีวิต ด้วยภาระหน้าที่ที่เพิ่มขึ้น ความรับผิดชอบ ประสบการณ์ อายุ หรือการมองโลกที่เปลี่ยนไปจากเดิม ฯลฯ งานที่คุณเคยรู้สึกมีคุณค่าวันนี้อาจรู้สึกเลื่อนลอยไม่รู้ทำไปเพื่ออะไร ความสัมพันธ์บางอย่างที่เคยรู้สึกลึกซึ้งวันนี้กลับกลายเป็นเฉยเมย เป็นต้น

ดังนั้นเมื่อคุณเริ่มสับสนในชีวิต จงย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นแล้วสำรวจดูว่าคุณค่าที่แท้จริงในชีวิตคืออะไร คุณยึดถือแนวคิดแบบไหน และอะไรที่เผลอทำหายไปจากชีวิต รวมไปถึงสิ่งต่างๆ ที่คุณอยากเปลี่ยนแปลง แท้จริงแล้วคุณต้องการเปลี่ยนมันจริงหรือไม่

Photo: Freepik

3.ทบทวนเป้าหมายในชีวิต

เป็นเรื่องที่ดีที่คุณเขียนเป้าหมายชีวิตลงในกระดาษ แต่เมื่อเวลาผ่านไปความตั้งมั่นตั้งใจอาจสั่นคลอน จงใช้เวลาเพื่อสำรวจดูความตั้งใจดังกล่าวว่าคุณเดินไปสู่ทิศทางที่ถูกต้องหรือไม่

แม้ว่าเป้าหมายใหญ่ยังไม่บรรลุแต่หากมีการขับเคลื่อนด้วยพฤติกรรมเล็กๆ ประหนึ่งว่าเป็นเป้าหมายย่อยที่สามารถบรรลุได้ง่ายขึ้น ก็สามารถสร้างพลังใจเพื่อขยับขยายไปสู่สิ่งที่ใหญ่กว่าในอนาคต

เช่น คุณเคยตั้งมั่นว่าจะกินอาหารเพื่อสุขภาพตลอดทั้งปี หากแต่ระหว่างทางคุณรู้สึกอยากกลับไปหาเบอร์เกอร์ ไก่ทอด หรือขนมแปรรูป ให้คุณกลับมาทบทวนเป้าหมายของคุณอีกครั้ง แล้วเลือกขับเคลื่อนด้วยพฤติกรรมเล็กๆ เช่น ตั้งมั่นว่าจะทำสลัดกินสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ซึ่งเป้าหมายย่อยจะทำให้บรรลุได้ง่ายขึ้น แต่สุดท้ายจะนำไปสู่การบริโภคโภชนาการที่ดีและมีสุขภาพที่ดีขึ้น ตลอดจนช่วยลดขยะอาหารให้กับโลกอีกด้วย

ลองใช้วิธีซอยเป้าหมายใหญ่ออกเป็นเป้าหมายย่อยและอย่าลืมว่าควรจะปฏิบัติได้จริงและวัดผลได้ เพื่อจะได้ให้รางวัลตัวเองได้ยามสำเร็จ

Photo: Freepik

4จงกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง

เมื่อคุณตระหนักถึงคุณค่าและเป้าหมายอย่างชัดเจนแล้ว จากนั้นถึงเวลารวบรวมความกล้าเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง ซึ่งในขั้นตอนนี้ทัศนคติและการปรับเปลี่ยนมุมมองสำคัญมาก จงเชื่อมั่นและพูดกับตัวเองในแง่บวกทุกๆ วันเพื่อเป็นการสร้างกำลังใจ จำไว้เสมอว่าคุณคือผู้กำหนดชีวิตตัวเอง แม้ว่าไม่สามารถควบคุมทุกปัจจัยที่รายล้อมได้ แต่คุณสามารถเลือกวิธีที่ดีที่สุดในตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้

5.เอาตัวไปอยู่ท่ามกลางคนที่สนับสนุนคุณ

ตั้งแต่ครอบครัว พี่น้อง กูรูผู้รู้จริง ไปจนถึงคอมมูนิตี้ออนไลน์ที่สามารถผลักดันคุณไปถึงฝั่งฝัน หรือชุมชนที่ช่วยสนับสนุนทั้งองค์ความรู้และพลังใจ อย่างผู้เขียนเองอยากทำช่องท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมมานาน ชอบดูรายการเที่ยวต่างๆ ทางยูทูบ และไปเที่ยวงานประเพณีอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นเวลากว่า 2 ปีที่นั่งใฝ่ฝันว่าจะทำแต่ไม่มีโอกาสเนื่องด้วยกลัวเรื่องการถ่ายวิดีโอให้มีคุณภาพ การเป็นครีเอทีฟรายการมาก่อนมักมีช่างภาพวิดีโอประกบอยู่ตลอดเวลาทำให้ไม่มีโอกาสถ่ายวิดีโอด้วยตัวเองมากนัก อีกทั้งผู้เขียนกลัวเรื่องดูระบบหลังบ้านเพราะไม่เคยทำ รู้สึกว่ายากและซับซ้อน

จนวันหนึ่งเอาตัวเองไปอยู่ในคอมมูนิตี้โชว์ผลงานถ่ายวิดีโอของมือใหม่และคอมมูนิตี้แบรนด์กล้องถ่ายวิดีโอที่จะมาสอนเคล็ดลับถ่าย Vlog ให้สนุก รวมไปถึงพูดคุยกับเพื่อนๆ ที่มีหน้าที่ซื้อโฆษณาบ่อยๆ แล้วจึงค่อยๆ ซึมซับสิ่งต่างๆ

แม้ว่าวันนี้จะไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่ก็สามารถเปิดช่องตัวเอง ถ่ายคลิป Vlog เอง ตัดต่อ ลงเสียงเอง รวมไปถึงสามารถยิงโฆษณาทาง TikTok Ads Manager อย่างง่ายๆ ได้ และปีนี้เป็นปีที่ผู้เขียนปลดล็อกตัวเองมาก รู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เริ่มมาจากการเอาตัวเองไปอยู่ในชุมชนที่ทุกคนล้วนแล้วแต่ใจดีและให้การสนับสนุน

Photo: Freepik

6.หมั่นตรวจสอบตัวเอง

หมั่นตรวจสอบทุกการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แม้ว่าระหว่างทางหรือผลลัพธ์จะออกมาผิดจากที่คาดไว้ก็ไม่เป็นไร เราสามารถเริ่มใหม่ได้เสมอ และถ้าหากสำเร็จก็อย่าลืมขอบคุณตัวเอง ให้ความสำคัญกับ Self-Care หรือการดูแลสุขภาพกาย สุขภาพจิตแบบครบองค์ รวมถึงฝึก Self-Compassion หรือการเห็นอกเห็นใจตัวเอง และอย่าลืมว่าทุกการผิดพลาดจะทำให้เราได้บทเรียนบทใหม่เสมอ

Photo: Freepik

พฤติกรรมเดิมๆ จะส่งผลลัพธ์แบบเดิมๆ ดังนั้น อย่ากลัวการเปลี่ยนแปลงหากคุณคาดหวังผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ที่สำคัญการเริ่มใหม่แม้จะไม่ได้การันตีผลลัพธ์แบบขาวเป็นขาวดำเป็นดำ แต่มนุษย์ทุกคนมีจังหวะของตัวเองซึ่งถ้ามันผิดแปลกไปบ้าง ก็แค่เริ่มใหม่อีกครั้ง แต่คราวนี้เริ่มแบบผู้รู้ ผู้มีปัญญา จริงไหม

 

Words: Varichviralya Srisai

ข้อมูลจาก

you might like

Scroll to Top