The Optimized เคยเขียนถึงอดีตเอฟบีไอที่รับผิดชอบเรื่องเจรจาแลกตัวประกันกับผู้ก่อการร้ายมาแล้ว ในบทความนี้เราจะพาคนอ่านก้าวไปอีกขั้น ไปพบกับนักจิตวิทยาที่เป็นคนสอนเอฟบีไอให้กลายเป็นเครื่องจับโกหก โดยเทคนิคต่างๆ ที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อ้างอิง
David J. Lieberman, Ph.D คือนักจิตบำบัดชื่อดังที่เป็นแถวหน้าในด้านพฤติกรรมมนุษย์และสัมพันธภาพระหว่างบุคคล ซึ่งเขียนหนังสือขายดีมากมาย โดยเฉพาะเล่มที่คนไทยคุ้นเคยดีอย่าง คู่มือจับโกหก (NEVER BE LIED TO AGAIN) ที่แปลเป็นภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์วีเลิร์น
ในหนังสืออีกเล่มของดร. เดวิด ลีเบอร์แมน ‘จิตวิทยาอ่านใจคนขั้นสุด’ (MINDREADER) เขาได้เขียนไว้ว่า เทคนิคจับโกหกนั้นต้อง “จดจ่อไม่เฉพาะกับสิ่งที่เขาพูด แต่ต้องดูด้วยว่าเขาพูดอย่างไร แล้วคุณจะรู้ได้ว่าเขากำลังคิดอะไรอยู่ในหัว”
ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา ดร.เดวิดเป็นคนฝึกเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงต่างๆ ทั้งเอฟบีไอและซีเอไอ ให้กลายเป็นเครื่องจับโกหกในร่างมนุษย์
และนี่คือเทคนิคจับโกหก 7 ข้อที่จะเป็นประโยชน์กับเราทุกคน
1.คนโกหกจะพูดมาก
ลองเงี่ยหูฟังคำตอบของคน เวลาที่เราถามว่าเขาได้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้หรือเปล่า ดร.เดวิดกล่าวว่า โดยทั่วไปแล้ว คำตอบที่ซื่อสัตย์จริงใจจะสั้นและตรงไปตรงมา แต่คนโกหกจะทำตรงกันข้ามกันเลย คือจะตอบยืดยาว พรรณนาโวหาร เต็มไปด้วยคำพูดคำจาเหมือนเทศนาสั่งสอน อ้างอิงศีลธรรม คนโกหกจะทำให้คำตอบของตนเองดูดีด้วยการใส่ข้ออ้างหรือข้อแก้ตัวสารพัด เช่น “ฉันไม่ใช่คนแบบนั้นเสียหน่อย” หรือ “ก็อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่า” หลักๆ แล้วก็คือ คนโกหกจะพูดเรื่องร้อยแปดพันเก้าแทนที่จะตอบคำถามคุณตรงๆ
2.คนโกหกจะพยายาม ‘ขาย’ ความจริง
เมื่อใครสักคนพูดเรื่องจริง เขาจะไม่พยายามทำให้คุณเชื่อหรอก แค่อยากจะเล่าความจริงให้คุณฟังก็เท่านั้น แต่คนโกหกจะทุ่มเทพลังไปกับการขายอะไรสักอย่างให้คุณซื้อ เพราะเขาอยากทำให้คุณเชื่อ ซึ่งจะทำให้เขาดูพยายามขายความจริงมากจนเกินเหตุ เลยจุดที่คนที่พูดความจริงคงหยุดพูดไปนานแล้ว พูดง่ายๆ ก็คือคนโกหกจะพยายามอธิบายมากเกินไป
3.คนโกหกจะโล่งใจที่บทสนทนาจบลงเสียที
การโกหกสูบพลังเยอะมากกว่าการพูดความจริงอย่างมหาศาล จึงเป็นพฤติกรรมที่เหนื่อยอย่างแสนสาหัส ดังนั้น คนโกหกจึงจะโล่งใจมากหากบทสนทนาสิ้นสุดลง เขาจะได้เลิกปั้นเรื่องได้เสียที ซึ่งดร. เดวิดชี้ว่า อาการโล่งใจนี่ละคือสัญญาณเตือนภัยให้คุณจงระวังตัวให้ดีว่าอาจโดนลวงโลกเข้าแล้ว ลองเอาใจเขาไปใส่ใจเราดูสิว่า คุณเป็นคนที่พูดความจริง แต่ว่ากลับโดนป้ายสีว่าทำผิด พอจบบทสนทนาลง คุณจะออกอาการประมาณว่า “แป๊บนะ ฉันเพิ่งโดนกล่าวโทษในเรื่องที่ฉันไม่ได้ทำ ฉันโกรธ ไม่พอใจ อยากกรี๊ดออกมาเพราะมันอึดอัดใจ” แต่ไหงเขากลับรู้สึกโล่งใจแทนที่จะฟึดฟัดกันนะ อ๋อ ก็เขาโกหกไงล่ะ
Photo: Freepik
4.คนโกหกจะยิ้มแค่ปาก แต่ไม่ได้ยิ้มทั้งหน้า
ลองพูดหน้ากระจกคำว่า ‘say cheese’ หรือเวลาไปงานแต่งงานแล้วช่างภาพบอกบทว่า เอ้า! ยิ้ม เอ้า! ทำเป็นหัวเราะใส่กัน เอ้า! มีความสุขขขข นั่นคือช่วงเวลาที่คุณแค่ขยับกล้ามเนื้อให้คลี่ออกเป็นยิ้ม แต่ไม่ได้ยิ้มออกมาจากความรู้สึกจริงๆ ดร.เดวิดจึงกล่าวว่า คนโกหกจะยิ้มด้วยปาก แต่ไม่ได้ยิ้มด้วยใบหน้า รอยยิ้มคนโกหกจึงไม่ได้รวมไปถึงใบหน้าส่วนบน แค่ขยับใบหน้าส่วนล่าง และคนโกหกจะยิ้มปิดปาก ไม่เห็นฟัน ริมฝีปากปิดแน่น โดยไม่มีการเคลื่อนไหวช่วงหน้าผาก แต่ยิ้มที่จริงใจจะทำให้ทั้งใบหน้าสว่างสดใส
5.คนโกหกจะทำเป็นสงบนิ่ง
ดร.เดวิดกล่าวว่า เวลาใครสักคนแสร้งทำเป็นไร้เดียงสา เขาพยายามสร้างภาพว่าตนเองสงบ ดูนิ่ง สุขุม มั่นใจ แต่คนโกหกออกอาการพารานอยด์เป็นระยะ เพราะลึกๆ แล้วกำลังเซนซิทีฟสุดๆ เช่น ทำเป็นดึงเศษด้ายที่ไม่มีอยู่จริงออกจากกางเกง ทำเป็นยืดเส้นยืดสาย บิดตัวไปมา หรือหาว เป็นเพราะสามัญสำนึกกำลังบอกคนที่กำลังโกหกอยู่ว่า คนไร้เดียงสาก็คงทำท่าทางแบบนี้แหละ คือทำเป็นชิล แต่ถ้าคนโกหกหรือทำผิดเขาจะออกอาการวิตกกังวลกันต่างหากเล่า ซึ่งความเป็นจริงแล้วตรงกันข้ามเลย ดร.เดวิดกล่าวว่า คนที่ไม่ได้ทำอะไรผิด เขาจะไม่มัวมาทำเป็นสงบนิ่งอยู่หรอก แต่จะแสดงความไม่พอใจออกมาเลยถ้าโดนกล่าวหา แต่คนโกหกจะพยายามแสดงอารมณ์ที่ตัวเองไม่รู้สึกแบบนั้นจริงๆ ออกมาจนดูผิดธรรมชาติ
6.เรื่องราวของคนโกหกจะสมบูรณ์แบบเกินไป
คนเราเวลาพูดความจริงมักจะชอบยกตอนที่เป็นดราม่าขึ้นมาก่อน โดยไม่ได้เล่าตามลำดับเหตุการณ์ 1 2 3 4 แล้วจึงค่อยเติมส่วนที่เล่าข้ามไปข้ามมาทีหลัง
แต่คนที่แต่งเรื่องขึ้นมา พอเล่าตอนพีคที่เป็นเมนอีเวนต์ไปแล้วก็จะจบเรื่องเลย จะไม่เล่าเรื่องราวที่ดำเนินต่อไปหลังจากนั้น เพราะในหัวของคนโกหกจะคิดว่า ได้ขายสิ่งที่พยายามจะขายให้คนฟังไปเรียบร้อยแล้ว แต่คนที่เล่าเรื่องจริง หลังจากเล่าตอนพีคไปแล้วก็จะตามมาด้วยการพรั่งพรูระบายความรู้สึก
คนโกหกยังพยายามอุดช่องว่างด้วยรายละเอียดมากมาย จนฟังดูทุกอย่างเป็นเหตุเป็นผลไปเสียทุกอย่าง เป็นเรื่องที่ไม่มีช่องโหว่เลย เพอร์เฟกต์ไปหมด เป็นเพราะไม่ได้มีรายละเอียดจริงๆ นั่นเอง จึงพยายามสร้างเรื่องให้ฟังดูเป็นเหตุเป็นผล
Photo: Freepik
7.คนโกหกจะใช้สรรพนามที่ไม่ระบุตัวตน
ดร.เดวิดฝึกเอฟบีไอให้ใส่ใจฟังว่า คนพูดใช้สรรพนามแทนตัวเองว่าอะไร เพราะสรรพนามที่ใช้จะเป็นตัวเปิดเผยให้เรารู้ว่าคนคนนั้นพยายามแยกตัวเองออกห่างจากคำพูดของตัวเองหรือไม่ คนโกหกยังอาจจะไม่สบตา เสมองไปทางอื่น เพราะพยายามดึงตัวเองออกห่างจากเรื่องที่ออกปากอยู่ และหลีกเลี่ยงไม่ใช้สรรพนามว่า ฉัน ของฉัน หรืออะไรที่หมายถึงตัวเขาเอง จึงมักใช้สรรพนามบุคคลที่สอง คือ ‘คุณ’ หรือชอบอ้างอิงถึงคนอื่น ‘เขา’ ‘คนนั้น’ เพราะจิตใต้สำนึกของเขารู้สึกผิดที่กำลังโกหกจนไม่อาจพูดว่า ‘ฉัน’ ออกมาตรงๆ ได้
อย่างไรก็ตาม ดร.เดวิดเน้นย้ำว่า เทคนิคแต่ละข้อดังกล่าวอาจไม่ได้เป็นตัวพิสูจน์ว่า คนคนนั้นกำลังโกหก แต่เวลาจับโกหกใคร ให้ลองติ๊กดูว่าในหนึ่งประโยค คนคนนั้นเข้าข่ายว่ากำลังโกหกอยู่กี่ข้อ ยิ่งตรงมากก็แนวโน้มมากขึ้นว่าเขาพูดจริงหรือจ้อจี้
Words: Sritala Supapong
ข้อมูลจาก