สงกรานต์เป็นวันหยุดที่หลายๆ ครอบครัวมีโอกาสอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา ซึ่งในสมัยก่อนที่ผู้เขียนยังทำงานเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ประจำออฟฟิศ ช่วงสงกรานต์เป็นโอกาสทองที่ได้กลับไปเยี่ยมคุณแม่ รวมถึงไปเจอญาติๆ สายอื่นอีกมากมาย ซึ่งผู้เขียนจึงได้มีประสบการณ์เจอะเจอกับคำถามสุดลำบากใจจากบรรดาคุณน้าๆ ป้าๆ ทั้งหลาย ที่หลายครั้งอยากจะใช้สิทธิเปลี่ยนคำถามราวกับอยู่ในรายการเกมเศรษฐีชิงรางวัลในสมัยก่อน
โชคดีหน่อยในวัย 36 ปี ที่ก้าวมาเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์เต็มตัว จึงกลับบ้านเมื่อไหร่ก็ได้ที่ใจอยากกลับ และค้นพบว่าบางทีการกลับไปเงียบๆ แบบไม่ต้องเผชิญหน้ากับคำถามร้อยแปดมันดีต่อใจมากกว่าด้วยซ้ำ
และด้วยวัยนี้ผู้เขียนกำลังก้าวเข้ามาเป็นคุณน้าและมีหลานจากสายต่างๆ มากมาย แต่ก็ไม่วายหลานสาวหลานชายก็กำลังถูกคำถามต่างๆ เหล่านี้เล่นงาน คนเป็นน้าเข้าใจในฐานะที่เคยนั่งเคลียร์คำถามเหล่านี้มาแล้ว เลยผุดบทความนี้หวังเป็นคัมภีร์ไม่ให้ผู้อ่านกลายเป็นมนุษย์ป้าที่หลานอยากวิ่งหนีกับ ‘9 คำถามทำลายความสัมพันธ์ในวันครอบครัว’
1.มีแฟนหรือแต่งงานหรือยัง?
อาจจะเนื่องด้วยค่านิยมที่มองว่าการแต่งงานคือรูปแบบชีวิตที่นำไปสู่ความสุขและความมั่นคง เลยทำให้ญาติผู้ใหญ่ทุกคนอยากรู้ประเด็นนี้ ในฐานะที่ผู้เขียนเป็น LGBTQ+ และโดนคำถามนี้มาตั้งแต่วัย 20 ต้นๆ ว่า “แต่งงานมีเมียหรือยังลูก” ผู้เขียนก็ได้แต่ยิ้มเจื่อนๆ
ยกตัวอย่างโดยไม่ต้องเป็นบริบทของชาว LGBTQ+ ก็ได้ กับบุคคลทั่วไป คำถามนี้แสดงให้เห็นถึงบรรทัดฐานทางสังคมที่กำลังถูกผลักไปครอบคนอื่นจนลืมมองไปว่าผู้คนอาจจะสบายใจที่จะโสด นั่นคือรูปแบบชีวิตที่เขาเลือกและเขาก็มีความสุขในแบบนี้ หรือแม้กระทั่งคนสองคนที่ตัดสินใจอยู่กินกันโดยไม่แต่งงานก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด นั่นก็เป็นทางเลือกที่พวกเขาเห็นดีเห็นงามในฐานะคนที่อยู่ด้วยกัน แล้วเราเป็นใครไปคาดหวังให้เขาลงเอยเรื่องชีวิตคู่แบบที่เราต้องการ
2.มีลูกหรือยัง?
พอผ่านด่านชีวิตคู่มาได้ก็มักจะเจอคำถามว่าเมื่อไหร่จะมีลูก? ปัจจุบันการมีลูกเป็นเรื่องที่คนสองคนต้องพูดคุยตกลงกันแบบลึกซึ้ง บางคนอาจจะพยายามที่จะมีแต่ไม่สามารถมีได้ ไปจนถึงบางคนไม่อยากมี เพราะความพร้อมทั้งทางกำลังทรัพย์ ทั้งเวลาและคุณภาพชีวิตเพื่อจะทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตมาอย่างมีคุณภาพ ดังนั้นถ้ายังไม่พร้อมก็ไม่มีต้องมี นี่สิคือความคิดที่สมเหตุสมผล
อย่าพยายามไปถามคำถามนี้กับใครเพราะมันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เช่นเดียวกันก็ไม่ควรไปพร่ำพูดอวยลูกอวยหลานตัวเองว่ามีแล้วดียังนั้นอย่างนี้ให้กับคนที่เขาตัดสินใจว่าไม่มีฟัง มันไม่ได้น่าชื่นชม มันเป็นกลายเป็นบทสนทนาที่สร้างความรำคาญ
3.เลิกกับแฟนคนเก่าแล้วหรอ?
คำถาม Toxic ในหมวดความสัมพันธ์ยังไม่หมด ทั้งๆ ที่ใครบางคนกำลังเริ่มต้นชีวิตรักครั้งใหม่ หรือกำลังคบหาดูใจกันอยู่ ก็ไม่วายจะเจอคำถามทำนองว่าเลิกกับแฟนคนเก่าแล้วเหรอ ผู้เขียนเคยเจอคำแซวจากเพื่อนของแฟนที่บังเอิญเจอกันในโรงหนัง และเป็นการพบกันครั้งแรกระหว่างเพื่อนคนนั้นกับผู้เขียนอีกด้วย เนื่องด้วยเขาเป็นคนติดตลก (แต่เราไม่ตลกด้วย) เพื่อนผู้นั้นพูดว่า “อ้าว คนที่พามาเดือนที่แล้วไม่ใช่คนนี้นี่” พร้อมปิดบทสนทนาด้วยการหัวเราะ ผู้เขียนรู้ว่าเป็นการพูดอำกันเล่น แต่วินาทีนั้นกลายเป็นความกระอักกระอ่วน และแฟนพยายามอธิบายว่าคำแซวนี้ไม่มีมูลความจริง ซึ่งถ้าหากเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องจริงก็ไม่เห็นเหตุสมควรอันใดที่ต้องขุดขึ้นมาเพื่อความคะนองปาก นั่นไม่ใช่ความเท่ นั่นคือความตื้นเขินอย่างยิ่งยวด
4.มีรายได้เท่าไหร่?
หากไม่ใช่ผู้ตรวจสอบบัญชีหรือไม่ได้ช่วยจ่ายภาษีให้ เราก็ไม่จำเป็นจะต้องไปอยากรู้ฐานเงินเดือนหรือรายได้คนอื่น เพราะคำตอบคงจะมีน้อยมากที่ออกมาเป็น “อุ๊ย! เท่ากันกับลูกป้าเลย ทั้งสองคนเก่งเท่ากันเลยนะ” ซึ่งคำตอบที่ออกมาก็จะมีทั้งมากกว่าและน้อยกว่า ซึ่งยังไงก็จะกลายเป็นบทสนทนาก็สร้างความรู้สึกไม่สบายใจให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เราจะแข่งกันมีมากกว่าเพื่อให้อีกฝ่ายน้อยใจหรืออิจฉาไปทำไม? ได้อะไรจากการนี้
5.ปีนี้ให้เงินทางบ้านกี่บาท?
เป็นเรื่องปกติที่คนทางบ้านจะดีใจเมื่อลูกหลานกลับมาเยี่ยมบ้านแล้วมีของฝากติดไม้ติดมือมาด้วย ซึ่งหากเรื่องราวมีเท่านี้ก็พอจะน่ารัก แต่กลายเป็นมักมีการเกทับกันเกิดขึ้นว่าลูกหลานบ้านนี้ให้เงินสดเท่านี้บ้านเราให้เท่าไหร่ บ้านนั้นให้ทองสองเส้น บ้านนี้ให้เท่าไหร่ เรียกได้ว่าสร้างความกดดันให้กับลูกหลานทุกผู้ทุกคน ผู้เขียนมองว่าในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้การทำงานเอาตัวรอดเลี้ยงดูตัวเองในแต่ละวันยังเลือดตาแทบกระเด็น ครั้นลูกหลานต้องแบกรับความกดดันเป็นเงินสดหรือสร้อยคอทองคำเห็นจะเกินไปหน่อย ดังนั้นหากจะมีบางบ้านที่ลูกหลานไม่สามารถนำเงินทองมาวางประหนึ่งว่าขันหมากได้ก็อย่าไปกดดัน อย่าไปถามซอกแซก จังหวะชีวิตของมนุษย์เราไม่ได้ขึ้นพร้อมกันทุกคน ทางที่ดีควรไม่คาดหวังอะไรเลยจะดีที่สุด ไม่งั้นบรรยากาศจะไม่ใช่บ้านจะกลายเป็นโรงคลัง โรงภาษีเอา
6.ออกจากงานที่นั่นทำไม?
ทุกการตัดสินใจของใครบางคนนั่นหมายถึงเขาคิดดีในบริบทและข้อจำกัดต่างๆ แล้ว จึงไม่มีกิจอันใดที่เราจะไปแสดงความเห็นในสิ่งที่มันผ่านมาแล้ว อย่างในคำถามที่ว่า “ออกจากงานที่นั่นทำไม” ผู้เขียนเคยทำงานในบริษัทสื่อยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งช่วงนั้นต้องแบกรับกับการวิ่งข่าวดึก ทำแบบนี้อยู่ประมาณ 2 ปี จนอยู่วันหนึ่งมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ความเครียดและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ผู้เขียนเลยตัดสินใจลาออก ซึ่งบรรดาผู้รู้(จัก)หลายคนต่างมาแสดงความเสียดายในการตัดสินใจครั้งนั้น ผู้คนเอาแต่มองเพียงความโก้หรูและเม็ดเงินตอบแทน แต่น้อยมากที่จะถามไถ่ว่าเหนื่อยไหม อยากพักผ่อนไหม ไหวไหม ดังนั้นอย่าไปอยากได้คำตอบจากใคร ถ้าคุณยังมองคนแค่มิติด้านเดียวของเขา
7.อ้วนขึ้นหรือผอมลงไหม?
อีกหนึ่งคำถามยอดฮิตที่หลายๆ คนพบเจอ ซึ่งในแต่ละปีการจะคงน้ำหนักให้เท่าเดิมไม่เปลี่ยนแปลงเป็นไปได้ยาก ทั้งงานเยอะ ออกกำลังกายน้อย การเผาพลาญที่น้อยลงด้วยวัยที่มากขึ้น บางครั้งการที่คนหนึ่งมีการเปลี่ยนแปลงทางรูปร่างที่ชัดเจนอาจจะเป็นเพราะปัญหาสุขภาพ การดูแลตัวเอง หรือเหตุผลใดๆ ก็แล้วแต่ ซึ่งดูเผินๆ คำถามว่าอ้วนขึ้นหรือผอมลง อาจจะเป็นบทสนทนาเอามันที่ใช้พูดคั่นเวลา แต่มันสามารถเปิดบาดแผลให้กับคนที่ถูกถามได้ ดังนั้นถ้าคันปากอยากพูดถึงหัวข้อนี้จริงๆ ล่ะก็…พูดว่า ‘ทำอะไรมาดูดีขึ้น’ ก็น่าจะพอ
8.ทำไมถึงแต่งตัวแบบนั้น?
แม้กระทั่งดีไซเนอร์ห้องเสื้อหรูยังไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจในผลงานได้ หรือแม้กระทั่งตัวผู้พูดเองก็ไม่สามารถแต่งตัวให้ทุกคนที่เจอนิยมชมชอบได้ไปเสียหมด แต่ที่ไม่มีใครทักเพราะเขามีมารยาทและเข้าใจมากพอว่าการแต่งตัว การเจาะหู การทำสีผม ฯลฯ เป็นรสนิยมส่วนบุคคล ดังนั้นไม่ควรไปยัดเยียดความชอบของตัวเองกับใครหรือไปกำกับใครว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นรสนิยมที่ไม่ดี ไม่สร้างสรรค์อย่างรุนแรง
9.ใส่ซองกี่บาท?
อันนี้ผู้เขียนขอแถม จากประสบการณ์ตรงเนื่องจากในเทศกาลสงกรานต์ เชื่อว่าหลายๆ บ้านจะมีประเพณีทำบุญนู่นนี่นั่นอยู่กลายๆ ซึ่งก็จะมีทั้งการถวายสังฆทาน ถวายข้าวของเครื่องใช้ตามกำลังศรัทธา การฝังลูกนิมิต ประเพณีบวชภาคฤดูร้อน ฯลฯ แต่แล้วหลายๆ บ้านมักมีเหตุการณ์ที่ใช้คำว่า ‘หน้าใหญ่ใจโต’ เพื่อการ ‘บุญหนักศักดิ์ใหญ่’ การที่กลับมาบ้านลูกหลานต้องควักแบงก์เทาใส่ซองถวายปัจจัยให้กับวัด ใส่ให้หนักกันใครเขาติฉินนินทา เลยเข้าอีหร็อบว่าหน้าใสอิ่มบุญไปตามๆ กัน แต่หลังจากนั้นลูกหลานต้องกลับมากินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพียวๆ อยู่แรมเดือน ดังนั้นอย่าไปคะยั้นคะยอหรือกดดันให้ใครทำอะไรเพื่อเอาหน้าเอาศักดิ์ โดยที่เขาต้องทุกข์ทรมาณ ถ้าเขาพร้อมเชื่อว่าหากมีจิตศรัทธาเขาจะทำของเขาเอง หรือจะไม่ทำเลยสักบาทก็ไม่ผิด
คำถามเหล่านี้เคยสร้างความเจ็บปวดให้กับเราขนาดไหน หากยังจำได้ก็อย่าไปคายตะขาบสร้างความลำบากใจให้ลูกหลานเป็นทอดๆ ให้มองว่าทุกคนคือมนุษย์ ลูกหลานก็คือคนหนึ่ง ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่จะใช้ชีวิตในแบบที่เขาชอบ และอะไรที่เขาทำแล้วเราเห็นต่างหรือเราไม่เห็นด้วย นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งนั้นผิด บริบท สภาพแวดล้อม และข้อจำกัดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เอาเป็นว่ามาทำให้ ‘บ้านเป็นบ้าน’ ให้บ้านเต็มไปด้วยความอบอุ่น อย่าทำให้บ้านกลายเป็นสถานที่แห่งความลำบากใจหรือพื้นที่สร้างความเจ็บปวดในหัวใจของใครอีกเลย
Words: Valentina S.