แพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพใช้ดัชนีมวลกาย Body Mass Index (BMI) เป็นตัวชี้วัดสุขภาพกันมานาน แต่ล่าสุดมีดัชนีตัวใหม่มาแรงที่ว่ากันว่าชี้วัดไขมันและความเสี่ยงสุขภาพได้ดีกว่าเก่า
หยิบสายวัด ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง แล้วทำความรู้จักกับ ‘BRI ดัชนีวัดความกลมของร่างกาย’ ไปกับ The Optimized
BMI คืออะไร
สายเฮลตี้คุ้นเคยกันดีกับ ค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI (Body Mass Index) ตัวชี้วัดมาตรฐานแสดงสภาวะความสมดุลของร่างกาย ซึ่งคำนวณได้โดยใช้สูตร
ดัชนีมวลกาย (BMI) = น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) / ส่วนสูง (เมตร) x ส่วนสูง (เมตร)
เกณฑ์การแปลผลค่า BMI
ค่า BMI < 18.5 อยู่ในเกณฑ์น้ำหนักน้อยหรือผอม
ค่า BMI 18.5 – 22.90 อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ค่า BMI 23 – 24.90 น้ำหนักเกิน
ค่า BMI 25 – 29.90 โรคอ้วนระดับที่ 1
ค่า BMI 30 ขึ้นไป โรคอ้วนระดับที่ 2
ถ้า BMI เกินกว่า 25 ก็แปลว่าคุณเข้าสู่เรดโซน มีภาวะโรคอ้วน (Obesity) มีปริมาณไขมันสะสมตามอวัยวะส่วนต่างๆ เกินมาตรฐาน ถือว่าร่างกายผิดปกติ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องลดน้ำหนัก ควบคุมปริมาณ น้ำตาล คาร์โบไฮเดรต และไขมัน เพราะมีความเสี่ยงสูงต่อโรคต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง ระดับโคเลสเตอรอลและระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี โรคข้อเข่าเสื่อม ภาวะการหยุดหายใจขณะหลับหรือปัญหาในการหายใจ และโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ
ไขมันแบบไหนร้ายที่สุด
แม้จะใช้ BMI วัดดัชนีมวลกายกันมานาน แต่ก็มีช่องโหว่ตรงที่คำนวณหาไขมันในร่างกายโดยอ้างอิงจากส่วนสูงและน้ำหนักตัว โดยไม่ได้แยกความแตกต่างระหว่างกล้ามเนื้อและไขมัน ซึ่งอาจทำให้ตีค่าผิดไปได้ เช่น นักกีฬา นักเพาะกายที่มีมวลกล้ามเนื้อสูง และผู้ป่วยโรคตับ โรคไตที่มีภาวะบวมน้ำอาจมีค่า BMI สูงได้โดยที่ไม่ได้มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วนก็ได้ หรือผู้สูงอายุที่มีกล้ามเนื้อน้อยแต่ไขมันมากอาจมีค่า BMI ต่ำ แต่อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะมีปัญหาสุขภาพต่างๆ
นอกจากนี้ยังมีวิธีคำนวณอื่นๆ เช่น ใช้ค่า BMI ร่วมกับเส้นรอบเอว waist circumference (WC) และอัตราส่วนรอบเอวต่อรอบสะโพก waist to hip ratio (WHpR) เป็นค่าที่นิยมใช้ประกอบการวินิจฉัยโรคอ้วนลงพุง (metabolic syndrome) ซึ่งเป็นกลุ่มความผิดปกติที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ก็เป็นวิธีที่ดีกว่าที่ช่วยชี้วัดความเสี่ยงสุขภาพต่างๆ
Photo: Freepik
แต่ผลการศึกษาหลายชิ้นชี้ว่า BRI นั้นแม่นยำกว่าทุกวิธีการที่กล่าวมา โดยผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน JAMA Network Open พบว่า BRI คือวิธีที่ดีกว่าในการประเมินความเสี่ยงสุขภาพ โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวกับโรคอ้วนหรือภาวะน้ำหนักเกิน โดย BRI จะใช้เส้นรอบเอวและสะโพกมาคำนวณร่วมด้วย จึงช่วยให้เห็นภาพไขมันที่กระจายตามส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ดีขึ้น เพราะรอบเอวและสะโพกคือแหล่งสะสมของ Visceral Fat (ภาวะไขมันในช่องท้อง) ไขมันตัวร้ายอันตรายที่สุด
Visceral Fat (ภาวะไขมันในช่องท้อง) เกิดจากร่างกายรับและสะสมสารอาหารประเภทไขมันเข้าสู่ร่างกายมากเกินไป จนไม่สามารถเผาผลาญได้หมดในแต่ละวัน โดยอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลที่ได้รับมากเกินจะเปลี่ยนรูปเป็นไขมัน ซึ่งจะไปเกาะติดอยู่ภายในอวัยวะต่างๆ รวมถึงกล้ามเนื้อหน้าท้อง นานวันเข้าไขมันเหล่านี้จะแข็งตัวมากขึ้น และดันหน้าท้องให้ยื่นออกมา แม้แต่คนผอมก็ลงพุงได้เพราะเหตุนี้
นอกจากกินแป้งและน้ำตาลมากเกินไป สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะไขมันในช่องท้องก็คือ ไม่ชอบออกกำลังกาย ไม่ชอบเคลื่อนไหว แม้ในรายที่กินน้อยก็อาจพบภาวะไขมันในช่องท้องได้
Photo: Freepik
BRI ดีกว่าอย่างไร
BRI คือแนวคิดของ Diana M. Thomas อาจารย์ด้านคณิตศาสตร์จาก United States Military Academy West Point โดยการคำนวณ BRI จะช่วยให้เห็นภาพร่างกายเป็นทรงกระบอก แต่เห็นเป็นวงรี ซึ่งจะช่วยให้เห็นความแตกต่างของคนได้มากขึ้น ทำให้ BRI เป็นการวัดสุขภาพที่เจาะจงรายบุคคลมากกว่าเดิมด้วย
แล้วจะคำนวณค่า BRI อย่างไร?
การหาค่า BRI ทำได้ง่ายมากใน 3 ขั้นตอน ดังนี้
- วัดส่วนสูง ยืนหลังพิงผนังโดยไม่สวมรองเท้า ใช้สายวัดวัดจากพื้นถึงกลางศีรษะ
- วัดเส้นรอบเอว หาจุดที่แคบที่สุดของเอว ปกติจะอยู่เหนือสะดือเล็กน้อย
- วัดเส้นรอบสะโพก หาส่วนที่กว้างที่สุดของสะโพก
กรอกส่วนสูง เส้นรอบเอว เส้นรอบสะโพก และน้ำหนักตัวในลิงค์นี้ https://webfce.com/bri-calculator/
หรือคำนวณตามสูตรนี้
Photo: Strait Times
ค่า BRI จะอยู่ระหว่าง 1 ถึง 16 โดยตีค่าได้ดังนี้
ค่า BRI ต่ำ (ใกล้เคียงกับ 1) บ่งชี้ว่าร่างกายมีไขมันน้อย และมีสัดส่วนร่างกายที่มีสุขภาพดี แต่อย่างไรก็ตาม ค่า BRI ต่ำก็อาจหมายถึงว่าคุณน้ำหนักน้อยเกินไป ซึ่งเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพได้เช่นกัน
ค่า BRI ปานกลาง บ่งชี้ว่าสัดส่วนร่างกายโดยรวมสมดุลดี มีไขมันปานกลาง มักเป็นค่าที่บ่งบอกถึงการมีสุขภาพดีที่สุด
ค่า BRI สูง (ใกล้เคียงกับ 16) บ่งชี้ว่าร่างกายมีไขมันสูง โดยเฉพาะมีภาวะไขมันช่องท้องอยู่มาก สุ่มเสี่ยงต่อโรคภัยต่างๆ เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และภาวะอื่นๆ ที่เกี่ยวกับโรคอ้วน
Photo: bri-calculator.online
ผลการศึกษาเรื่อง BRI ที่ตีพิมพ์ใน JAMA Network Open ในเดือนมิถุนายน 2024 ทำการวัดค่า BRI ของคน 33,000 รายเป็นเวลา 20 ปี และพบว่า ค่า BRI สูงมีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะเมแทบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome) หรือภาวะที่เกิดจากการเผาผลาญอาหารของร่างกายผิดปกติ ส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันสูง ซึ่งส่งผลให้มีปัญหาต่อหลอดเลือดและหัวใจ อาจเกิดหัวใจขาดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาตได้ มักพบในคนที่มีไขมันช่องท้องสูง
Photo: Freepik
ค่า BRI ยังฉายภาพให้เห็นว่า รูปร่างของแต่ละคนแตกต่างกันอย่างไร มีความเป็นวงรีมากน้อยต่างกันชัดเจนกว่าการวัดด้วย BMI จึงทำให้ประเมินสุขภาพได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ BRI ยังเข้าถึงได้ง่ายกว่า แค่วัดส่วนสูง น้ำหนัก เอว สะโพก แล้วกรอกข้อมูลในเว็บไซต์ที่จะคำนวณค่า BRI ให้ได้ทันทีโดนไม่ต้องใช้อุปกรณ์พิเศษหรือต้องไปพบผู้เชี่ยวชาญ
อย่างไรก็ตาม BRI คือพัฒนาการของการประเมินสุขภาพ แต่ไม่ใช่เครื่องมือที่สมบูรณ์แบบ เพราะไม่ได้วัดมวลกล้ามเนื้อ ซึ่งสำคัญมากต่อสุขภาพโดยรวม แต่ BRI ก็เป็นการก้าวไปสู่ทิศทางที่ถูกต้องในการทำความเข้าใจและจัดการน้ำหนักตัวและความเสี่ยงสุขภาพต่างๆ
วันนี้ค่าความกลมของคุณอยู่ที่เท่าไร?
Words: Sritala Supapong
ข้อมูลจาก
- https://www.webefit.com/Calculators/Calc_BRI.html
- https://www.straitstimes.com/singapore/health/height-and-weight-versus-height-and-waist-to-gauge-how-healthy-you-are-experts-weigh-in
- https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5/
- https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1361
- https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/news_week_full.php?id=1175
- https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1489#:~:text=Visceral%20Fat%20(%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%82%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87),-%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%82%E0%B8%B6%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81&text=%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%94,%E0%B9%84%E0%B8%82%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89