OOCA (อูก้า) สตาร์ตอัปไทยพลิกปัญหาสุขภาพจิตเป็นธุรกิจที่ผู้ใช้งานนับแสน  

ประเทศไทยเป็นเมดิคัลฮับที่ได้รับการจัดอันดับจาก Medical  Tourism Association ในปี 2020-2021 เป็นอันดับ 17  มีจุดเด่นที่ Medical Tourism Industry อยู่ในอันดับ 5

รายรับค่ารักษาพยาบาลจากชาวต่างชาติในไทยอยู่ที่ประมาณ 11,903 ล้านบาท คาดว่าปี 2047 อุตสาหกรรมการแพทย์จะสร้างรายได้เข้าประเทศถึง 8 แสนล้านบาท

5 อันดับกลุ่มโรคที่ผู้ป่วยเข้ามารักษามากสุด ได้แก่ การตรวจสุขภาพ กระดูกและข้อ ระบบหัวใจและหลอดเลือด เมตาบอลิก และทันตกรรม

5 อันดับกลุ่มโรคที่สร้างรายได้มากที่สุด ได้แก่ หัวใจและหลอดเลือด เมตาบอลิก มะเร็ง กระดูกและข้อ และระบบประสาทวิทยา

ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ แต่ไม่ได้รวมถึงการแพทย์แขนงหนึ่งที่มีผู้ป่วยมากถึง 10 ล้านคน นั่นก็คือ ‘สุขภาพจิต’

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตพบว่า มีผู้ป่วยจิตเวชเข้ารับบริการเพิ่มขึ้นจาก 1.3 ล้านคน ในปี 2015 เป็น 2.9 ล้านคน ในปี 2023 พบประเด็นที่น่ากังวล ดังนี้

Photo: ooca.co

1) ประเทศไทยมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา 2.9 ล้านคน แต่ผู้มีปัญหาอาจมากถึง 10 ล้านคน สัดส่วนผู้มีปัญหาสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลก และสะท้อนให้เห็นว่ายังมีที่ไม่ได้เข้ารับรักษาเป็นจำนวนมาก

2) ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2023 – 22 เมษายน 2024 พบผู้มีความเครียดสูงถึงร้อยละ 15.48 เสี่ยงซึมเศร้าร้อยละ 17.20 และเสี่ยงฆ่าตัวตายร้อยละ 10.63 ซึ่งแย่ลงกว่าในช่วงปีที่ผ่านมา

3) องค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลของประชากรทั่วโลก ทำให้วันทำงานหายไปประมาณ 12,000 ล้านวัน สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

4) สภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีความกดดันส่งผลให้คนไทยเป็นโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลมากขึ้น ในปี 2023 พบสัดส่วนผู้ป่วยกลุ่มโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้าสูงเป็น 2 อันดับแรก สูงกว่าผู้ป่วยติดยาบ้าและยาเสพติดอื่นๆ รวมกัน

5) การฆ่าตัวตายสูงใกล้เคียงกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ในปี 2023 พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 7.94 ต่อประชากรแสนคน ใกล้เคียงช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง (8.59 ต่อประชากรแสนคน)

6) จากการศึกษาในประเทศอังกฤษ พบว่า มลพิษทางอากาศส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าในเยาวชน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ซึ่งไทยต้องเฝ้าระวังเนื่องจากกำลังประสบปัญหาฝุ่น PM 2.5 สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

หากมองในแง่ธุรกิจ สุขภาพจิตคือตลาดใหญ่ที่มีผู้ป่วย 10 ล้าน จะแปรข้อมูลนี้ให้เป็นธุรกิจได้อย่างไร

ทพญ.กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ หรือหมออิ๊ก เป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามาอย่างยาวนาน ช่วงวัยรุ่นเคยโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต เคยเปลี่ยหมอมาหลายคน และเคยรับราชการในโรงพยาบาลรัฐ จึงมองเห็น pain point ในการเข้าถึงการรักษาที่ยาก คิวที่แออัด กว่าคนไข้จะได้คุยกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาก็ต้องรอคิวนานหลายเดือน

และปัญหาสุขภาพจิตต้องได้รับการรักษาต่อเนื่อง บางราย บางโรค อาจต้องรักษากันนานเป็น 10 ปี

หมออิ๊กจึงก่อตั้ง อูก้า (ooca) แอปพลิเคชันปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาออนไลน์เพื่อแก้ paint point เหล่านี้

อูก้ายังแก้ปัญหาทางฝั่งผู้ให้บริการ ก็คือจิตแพทย์และนักจิตวิทยาให้ได้มีพื้นที่ทำงาน มีรายได้ที่เป็นธรรม โดยจิตแพทย์และนักจิตวิทยากำหนดเรตค่ารักษาได้เอง วิน-วินทั้งคนไข้ หมอ และคนทำธุรกิจ

Photo: ooca.co

อูก้าเป็นสตาร์ตอัปเฮลท์เทครายแรกในประเทศไทยที่ริเริ่มใช้ Telemedicine เข้ามาช่วยในการปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาผ่านทางแอปพลิเคชัน ซึ่งช่วยเพิ่มการเข้าถึงการรักษาได้มากและสะดวกขึ้น วิดีโอคอลล์กับจิตแพทย์และนักจิตวิทยาได้เลย ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล หรือนั่งรอคิวนานๆ

การแก้ paint point ที่ตรงจุด ทำให้อูก้ามีผู้ใช้บริการมากกว่า 180,000 คนทั่วประเทศ

Photo: ooca.co

ล่าสุดยังเป็นผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิตไม่กี่แห่งในไทยที่นำเข้า เครื่อง dTMS (Deep Transcranial Magnetic Stimulation) ที่ส่งกระแสแม่เหล็กไฟฟ้าไปกระตุ้นสมอง ช่วยรักษาอาการทางจิตเวชได้หลายอย่าง เช่น ซึมเศร้า ย้ำคิดย้ำทำ ฯลฯ เป็นเครื่องมือการแพทย์ที่ผ่านการรับรองจาก FDA หรืออย.ของสหรัฐอเมริกา นำมาใช้ที่คลินิกอูก้าที่เกษรเซ็นเตอร์ชั้น 5 ซึ่งมีจิตแพทย์และนักจิตวิทยาหลากหลายสาขา

ตามข้อมูลของกรมสุขภาพจิต วัยรุ่นก็เป็นวัยที่มีปัญหาสุขภาพจิตมาก หมออิ๊กจึงริเริ่มทำ โครงการกำแพงพักใจ (Wall of Sharing) ที่เปิดให้นักศึกษาใช้บริการอูก้าได้ฟรีผ่านระบบบริจาค

Photo: ooca.co

ปีนี้เป็นปีแรกที่ Wall of Sharing ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ กรมสุขภาพจิต และสปสช. กทม. ช่วยให้เยาวชนอายุ 15-25 ปีที่พำนักในกรุงเทพฯ สามารถใช้อูก้าได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

เมื่อต้นปี 2023 อูก้ายังเป็นสตาร์ตอัปเฮลท์เทคไม่กี่รายในไทยที่ระดมทุน Series A ได้จากบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (BDMS) ซึ่งก็คือเครือโรงพยาบาลกรุงเทพนั่นเอง

เป็นก้าวใหม่ของอูก้าที่ดำเนินการมา 8 ปี เพราะ Series A เป็นรอบการระดมทุนที่สตาร์ตอัปต้องการจะออกผลิตภัณฑ์หรือขยายการกระจายตัวเข้าสู่ฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น ขยายตัวไปสู่ตลาดใหม่ หรือปรับรูปแบบทางธุรกิจเพื่อให้เหมาะสมกับตลาดที่กว้างขึ้น

การได้รับทุนสนับสนุนจาก BDMS จะช่วยพัฒนาเฮลท์เทคของประเทศไทย สร้างโดยคนไทย เพื่อคนไทย

เพื่อให้สุขภาพจิตเป็นเรื่องที่ทุกคนพูดถึงได้และเข้าถึง ตามความตั้งใจแรกของหมออิ๊ก

ซึ่งปัจจุบันหายจากอาการซึมเศร้าแล้ว

Words: Sritala Supapong

ข้อมูลจาก

you might like

Scroll to Top