คุณจะเลือกอะไร ระหว่าง ‘โดนไฟช็อต’หรือ ‘นั่งเฉยๆ’ อยู่กับความคิดของตัวเอง

โดนไฟช็อต หรือ นั่งเฉยๆ อยู่กับความคิดของตัวเอง

เป็นคุณจะเลือกอะไร?

The Optimized พบผลการศึกษาที่ให้ผลลัพธ์สุดเซอร์ไพรส์ แม้แต่ทีมนักวิจัยเองยังเกาหัวแกรกกับพฤติกรรมมนุษย์

ในปี 2014 Timothy Wilson และคณะนักวิจัยจากคณะจิตวิทยาแห่ง University of Virginia และ Harvard ทำการศึกษา 11 ชิ้น  และพบว่า ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ไม่อยากนั่งเฉยๆ 6 – 11 นาทีในห้องโดยไม่ทำอะไร แต่เลือกจะทำอะไรอย่างอื่นเพื่อหันเหความสนใจไปจากการอยู่กับตัวเอง

67% ของผู้เข้าร่วมชายจึงขอโดนไฟช็อตสักครั้งในช่วงที่ให้นั่งเฉยๆ 15 นาที และมีผู้เข้าร่วมบางคนเลือกโดนไฟช็อต 190 ครั้งใน 15 นาที ส่วนผู้หญิงที่ขอโดนช็อตมี 25%

คณะวิจัยยังให้ผู้เข้าร่วมให้คะแนนความในช่วงที่ต้องนั่งเฉยๆ และพบว่า คนส่วนใหญ่ให้คะแนนว่านั่งเฉยๆ แล้วเพลินดีต่ำที่ 1 กว่าๆ เท่านั้น พอๆ กับคะแนนที่ให้เรื่องการมีสมาธิซึ่งอยู่ที่ประมาณ 2

ส่วนคะแนนที่นำโด่งคือนั่งเฉยๆ แล้วใจลอยอยู่ที่ 5-6

ผลการศึกษาเขียนสรุปไว้ว่า การนั่งเฉยๆ เป็นกิจกรรมที่ทำยากและไม่น่าพิสมัย เพราะคนเราจะอดคิดถึงข้อเสียของตัวเองไม่ได้ และคิดฟุ้งซ่านเรื่องลบๆ มากมาย เป็นเรื่องยากที่คนเราจะควบคุมความคิดให้คิดถึงแต่เรื่องดีๆ จึงเลือกทำอะไรก็ได้ที่เบี่ยงเบนความสนใจให้พ้นไปจากความคิดของตัวเอง

คนส่วนใหญ่เลือกโดนช็อตไฟฟ้ามากกว่าจะนั่งเฉยๆ อยู่กับความคิดของตัวเอง

ช่างเข้ากับชื่อผลการศึกษาที่ตั้งชื่อว่า Just think: The challenges of the disengaged mind หรือ ให้คิดเฉยๆ มันยากไป เพราะใจมันแกว่ง

Photo: Freepik

ต่อมาในปี 2022 Andreas B. Eder และคณาจารย์จากคณะจิตวิทยาแห่ง University of Würzburg ในเยอรมัน ทำการศึกษาซ้ำอีกครั้ง เพื่อหาคำตอบว่า ทำไมคนเราจึงเลือกโดนไฟช็อตมากกว่าจะอยากนั่งเฉยๆ

คราวนี้กลายเป็นว่า มีผู้เข้าร่วมที่เลือกโดนไฟฟ้าช็อตเพิ่มขึ้นจากการศึกษาเดิมในปี 2014 เสียอีก คือของเดิม 43% เพิ่มเป็น 63-89%

คณะวิจัยเองยังงงกับผลลัพธ์ใหม่ที่ได้ เพราะกระแสไฟฟ้าที่ผู้เข้าร่วมโดนช็อตครั้งนี้แรงกว่าการศึกษาเดิม ตอนแรกคณะวิจัยสันนิษฐานว่า อาจเป็นเหมือนผลการศึกษาเดิมที่คนอยากหันเหความสนใจดีกว่าให้นั่งอยู่กับความคิดตัวเอง แต่เมื่อสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมหลังโดนช็อตแล้วพบว่า คนส่วนใหญ่ขอโดนช็อตแรงสุดมากกว่าโดนช็อตแบบกลางๆ ในกรณีที่มีระดับกระแสไฟฟ้าให้เลือก

เหตุผลที่อธิบายพฤติกรรมสุดประหลาดนี้ก็คือ พวกเขาไม่ได้ทำให้ตัวเองเจ็บปวด แต่ที่เลือกโดนไฟฟ้าช็อตเพราะได้คิดจินตนาการฟุ้งไปว่า ถ้าโดนช็อตแล้วจะเป็นอย่างไร จะรู้สึกอย่างไร จะเจ็บหรือเปล่า หรือเจ็บมากน้อยแค่ไหน ตัวเองจะมีปฏิกิริยาอย่างไร ซึ่งทั้งหมดนี้ดูเป็นความคิดที่บันเทิงกว่าให้นั่งเฉยๆ

Photo: Freepik

สิ่งที่มายืนยันคำอธิบายนี้ก็คือ ผู้เข้าร่วมขอโดนไฟช็อตในช่วงแรกๆ ที่ให้นั่งเฉยๆ และเรียกร้องขอโดนช็อตน้อยครั้งลงไปเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป หมายความว่า พอได้ข้อมูลมาว่า ให้เลือกระหว่างโดนไฟช็อตกับนั่งเฉยๆ ผู้เข้าร่วมจะรู้สึกตื่นเต้นเร้าใจไปกับกิจกรรมใหม่ๆ อย่างโดนไฟช็อต

คณะวิจัยยังตั้งคำถามต่อไปว่า ทำไมคนเราจึงถูกดึงดูดด้วยการทำร้ายตัวเองให้เจ็บปวด? เนื่องจากผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ขอโดนไฟช็อตทั้ง 4 ระดับ ตั้งแต่น้อยสุดไปจนถึงแรงสุด

เหตุผลคือ ผู้เข้าร่วมอยากรู้อยากเห็น อยากรู้ว่าการช็อตแต่ละระดับจะรุนแรงแค่ไหน ให้ความรู้สึกต่างกันอย่างไร บางคนที่ขอโดนช็อตนับร้อยครั้ง เพราะอยากทดสอบว่าตนเองจะทนความเจ็บปวดได้แค่ไหน

ผลการศึกษาล่าสุดในปี 2022 จึงได้ข้อสรุปว่า ที่คนเราเลือกโดนไฟช็อตมากกว่าจะให้นั่งเฉยๆ ไม่ใช่เพราะการอยู่กับความคิดตัวเองนั้นน่าเบื่อ ยาก ควบคุมความคิดตัวเองให้คิดเรื่องดีๆ ไม่ได้ อย่างที่ผลการศึกษาในปี 2014 ได้สรุปไว้ แต่เป็นเพราะการโดนไฟช็อตนั้น สำหรับผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ไม่ได้มองว่าเป็นกิจกรรมที่ไม่น่าพิสมัย แต่มองว่าเป็นกิจกรรมที่น่าดึงดูดมากกว่าการนั่งเฉยๆ และตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่อยากรู้อยากลองแม้ต้องเสี่ยงก็ตาม

คนเราจึงชอบเสพข่าวอาชญากรรม ฆาตกรรม ความรุนแรง หรือหนังสยองขวัญ ซึ่งมีผลการศึกษาเรื่องการสร้างภาพในสมองที่พบว่า สมองส่วนที่ควบคุมความอยากรู้อยากเห็นของคนจะทำงาน และได้ผลลัพธ์เป็นความพึงพอใจเมื่อรับรู้ความเจ็บปวดหรือความรุนแรง

บทสรุปสุดท้ายที่ผลการศึกษาใหม่เขียนไว้ก็คือ จริงๆ แล้ว คนเราอยากลุกจากพื้นที่ปลอดภัย แล้วก้าวออกไปสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ มากกว่าจะอยู่ในคอมฟอร์ตโซนของตัวเองไปนานๆ

วันนี้คุณโดนไฟช็อตแล้วหรือยัง?

Words: Sritala Supapong

ข้อมูลจาก

you might like

ททท. เปิดตัวโครงการ “สุขทันที ปลายปีเที่ยวไทย” ดึง 4 เซเลบริตี้ต่าง Gen รุกประชาสัมพันธ์สร้างกระแสการเดินทางของกลุ่มนักท่องเที่ยวศักยภาพ กระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวช่วงปลายปี 

คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว เปิดตัวนวัตกรรมสุดล้ำพลิกโฉมวงการแพทย์แผนจีน”กระจกตรวจโรคอัจฉริยะ AI” และ” หุ่นยนต์ เสี่ยวคัง AI”  ครั้งแรกในประเทศไทยพร้อมประกาศจัดงาน “ก้าวล้ำ คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว พัฒนาการที่ไม่หยุดนิ่ง” ครั้งที่ 2

Scroll to Top