คู่มือเปลี่ยนคน ‘หัวร้อนง่าย’ ให้กลายเป็นคน ‘ฉลาดทางอารมณ์’

ตอนเข้ามาทำงานใหม่ๆ ก็ยังใสๆ ว่าง่ายหัวอ่อน อยู่นานไปกลายเป็นคนพ่นไฟหัวร้อนง่าย ใครทำอะไรผิดใจโวยวายเป็นที่หนึ่ง หากอ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้วรู้สึกว่า “เอ๊ะ! นี่มันฉันนี่” หรือกำลังคิดว่าอีกไม่นาน ‘ภูเขาไฟ’ ในอกจะปะทุขึ้น วันนี้ The Optimized นำเทคนิคอย่างง่ายที่ช่วยให้จัดการกับอาการหัวร้อนในที่ทำงานมาฝาก

หายใจเข้าลึกๆ

การหายใจเข้าลึกๆ ช่วยกระตุ้นระบบประสาทพาราซิมพาเทติก ทำให้ร่างกายเกิดการผ่อนคลาย หัวใจเต้นช้าลง ลดความดันโลหิตและความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ ดังนั้นเมื่อคุณโกรธก่อนกระทำการใดๆ ลองหยุดนิ่งหายใจเข้าออกลึกๆ ก็จะรู้สึกสงบและสามารถจัดการอารมณ์ได้ดีขึ้น

Photo: Rawpixel.com on Freepik

ฝึกสติ

ขณะที่คุณโกรธไม่จำเป็นต้องบังคับตัวเองให้หายโกรธ เพียงแต่ฝึกสติ (Mindfulness) ให้ตั้งอยู่ในปัจจุบัน โดยไม่ต้องตัดสินว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้มันสิ่งที่ถูกหรือผิด เมื่อคุณรู้ว่าขณะนี้คุณโกรธก็จงรับรู้ว่านี่คือความโกรธ สังเกตดูดีๆ ว่าความรู้สึกหรืออารมณ์นี้ใหญ่ขึ้น ลดลง หรือไหลไปแบบไหนโดยปราศจากการตอบโต้แบบทันทีทันใด และไม่จำเป็นต้องยุบหนอพองหนอ นับลูกประคำกลางออฟฟิศ มีหลากหลายกิจกรรมที่ช่วยให้คุณฝึกสติเพื่อรู้เท่าทันอารมณ์โกรธได้ เช่น ลองหยุดนิ่ง หันไปจัดข้าวของเครื่องใช้บนโต๊ะทำงานอย่างช้าๆ หรือแม้กระทั่งละเมียดละไมกับเครื่องดื่มแก้วโปรดก็ไม่ว่ากัน

Photo: Rawpixel.com on Freepik

เจาะจงสิ่งที่กระตุ้นความโกรธ

ตั้งแต่คอมเมนต์ของลูกค้าไปจนถึงอีเมลของน้องฝึกงานที่เขียนแบบผิดๆ ถูกๆ ฯลฯ คุณไม่จำเป็นต้องเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ แต่ให้ระบุสิ่งต่างๆ เหล่านี้ให้ชัดเจนว่า “อะไรคือตัวกระตุ้นของอารมณ์โกรธที่แท้จริง” เมื่อคุณทราบสาเหตุที่แน่ชัดแล้ว จะนำพาไปสู่กระบวนการรับมืออย่างสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นการคาดการณ์ เตรียมพร้อมกลยุทธ์ ไปจนถึงปรับเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อปัญหาและการกล้าขอความช่วยเหลือหรือกำลังสนับสนุนในอนาคต

พูดกับตัวเองในเชิงบวก

ทุกครั้งที่เราเผชิญหน้ากับอารมณ์ด้านลบ ไม่ว่าจะเป็นโกรธ เศร้า เหงา ตื่นกลัว สมองเราพรั่งพรูความคิดลบๆ ออกมาได้โดยง่ายเช่นกัน อย่าลืมว่าโลกนี้มีสมดุลทั้งลบและบวก หากเหตุการณ์ลบเกิดขึ้นได้ ดังนั้นเหตุการณ์บวกก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน

จงอย่าลืมพูดกับตัวเองในเชิงบวกเมื่อเกิดอารมณ์โกรธ เช่น “ปัญหานี้เกิดขึ้นมา แต่ฉันเป็นมืออาชีพ ฉันแก้ไขมันได้แน่นอน เพียงแต่รอจังหวะและเวลา” “เป็นเรื่องปกติที่เหตุการณ์ไม่ได้ดั่งใจจะเกิดขึ้นและคนมีความสามารถอย่างเราจะจัดการกับมันได้ หรืออย่างน้อยก็อยู่กับมันได้ในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด” การพูดเชิงบวกกับตัวเองบ่อยๆ ไม่ใช่การโลกสวยอวยตัวเอง แต่เป็นการปรับกรอบและสร้างสมดุลความคิดกับเหตุการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างมีเหตุมีผล

Photo: Rawpixel.com on Freepik

ลงมือแก้ไขปัญหา

ความโกรธบางครั้งคือการหงุดหงิดกับปัญหาตรงหน้า กอปรกับทั้งเหนื่อย ทั้งล้า โทษตัวเองไปมาว่าทำไมต้องเป็นเรา แต่แทนที่จะจมกับปัญหา ให้ลองเปลี่ยนความสนใจไปที่วิธีการแก้ไข ปัญหาใดซับซ้อนก็แจกแจงออกเป็นลำดับ การแก้ไขปัญหาจะลดทอนพลังงานที่คุณใช้ในความโกรธมาเป็นการกระทำที่สร้างสรรค์

ตั้งความคาดหวังบนพื้นฐานของความเป็นจริง

เป็นธรรมดาของความคาดหวังที่มีทั้งความสมหวังและความผิดหวัง และความผิดหวังคือเชื้อเพลิงชั้นดีของอารมณ์โกรธ ดังนั้นการคาดหวังในผลลัพธ์ที่พอดีภายใต้เงื่อนไข ตลอดจนทรัพยากรและข้อจำกัดของสถานการณ์ จะช่วยให้คุณลดโอกาสการแบกรับความโกรธได้

Photo: Rawpixel.com on Freepik

ฝึกเห็นอกเห็นใจให้มากขึ้น

ต่อจากหัวข้อข้างต้น บางครั้งการคาดหวังในตัวคนอื่นและพบว่าผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่ต้องการจึงลงท้ายด้วยความโกรธ แม้ว่าคุณประเมินสถานการณ์เดียวกันนี้ ซึ่งหากเป็นคุณก็สามารถจัดการได้สบายมาก แต่อย่าลืมว่า ‘เขาไม่ใช่คุณ’ ทุกคนมีความแตกต่าง ถูกหล่อหลอมและมีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ลองสวมบทบาทของผู้อื่นและพยายามเข้าใจในมุมมองและความรู้สึกของพวกเขาบ้าง ก็จะเข้าใจมนุษย์มากขึ้น

หยุดพักและเอาตัวเองถอยออกมา

เมื่อคุณรู้ว่าสิ่งไหนคือต้นตอของอารมณ์โกรธ หากถอยออกมาได้ก็ควรลองดูสักตั้ง การถอยในที่นี้ไม่ใช่การยอมแพ้ แต่เป็นการเข้าใจสถานการณ์และเลือกตั้งรับอย่างมีสติจะช่วยให้ใจเย็นลง ไม่ต่างอะไรกับเวลาที่ร่างกายอ่อนล้าก็ควรหยุดพัก ซึ่งการหยุดพักก็จะช่วยทำให้คุณมีพลัง พร้อมเปิดรับมุมมองใหม่ๆ และรับมือกับปัญหาต่างๆ ด้วยสติที่มั่นคงกว่าเดิม

Photo: Rawpixel.com on Freepik

หาผู้สนับสนุนไปจนถึงขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ

แม้แต่ซูเปอร์ฮีโร่ยังต้องทำงานเป็นทีม ความโกรธที่คุณแบกรับบางครั้งก็ไม่ผิดที่จะหาคนข้างตัวมารับฟัง
การแบ่งปันความรู้สึกและข้อกังวลกับหัวหน้างานหรือเพื่อนที่เชื่อถือได้ สามารถให้มุมมองในอีกด้านที่เราอาจมองข้ามไป

รวมถึงวิธีการแก้ไขปัญหาที่คุณประเมินแล้วว่าเกินกำลังที่จะรับมือ จงอย่ามองว่าตัวเองอ่อนแอ คุณสามารถขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในส่วนของผู้รอบรู้ที่มีทักษะในการจัดการปัญหา ผู้ที่เคยมีประสบการณ์ รวมไปถึงขอเข้ารับการบำบัดหรือคำปรึกษาจากจิตแพทย์ เพื่อรับมือและจัดการกับอารมณ์โกรธได้อีกด้วย

Photo: Rawpixel.com on Freepik

ต่อไปนี้โกรธก็รู้เท่าทันอารมณ์โกรธ และไม่จำเป็นต้องโยนระเบิดในทันทีทันใด ลองนำวิธีเหล่านี้ไปปรับใช้เพื่อเปลี่ยนคนหัวร้อนง่ายให้กลายเป็นคนทำงานที่ฉลาดทางอารมณ์ ผลลัพธ์ดีกว่ากันตั้งเยอะ

 

Words: Varichviralya Srisai

ข้อมูลจาก

you might like

Scroll to Top