How to บอกหัวหน้า เมื่องานกร่อนเซาะบ่อนทำลายสุขภาพจิต

เคยคิดไหมว่าวันหนึ่งสภาพแวดล้อมในงานจะบั่นทอนสุขภาพจิต ระหว่างความสำเร็จกับความสบายใจคุณจะเลือกอะไร อย่างกรณีของ นาโอมิ โอซากะ แชมป์นักเทนนิสหญิงมือวางอันดับ 2 ของโลกที่กำลังเผชิญหน้ากับโรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นจากแรงกดดันในวงการแข่งขันเทนนิส แท้จริงแล้วไม่ใช่ตัวกีฬาที่ทำให้เข็ดขยาด แต่เป็นการสัมภาษณ์ออกสื่อต่างหากที่เธอเป็นกังวล เธอมีอาการวิตกเวลาเข้าสังคมถึงขั้นโพสต์ร่ายยาวในไอจีว่า รู้สึกอ่อนแอเพราะการแถลงข่าวทำให้รู้สึกมี ‘มวลคลื่นความวิตกขนาดยักษ์’ อยู่ในใจ ตามที่เธอนิยาม

Photo: Freepik

เรื่องราวแตกหักเห็นทีจะเป็นกรณีการแข่งขันกับแพทริเซีย มาเรีย ทิจ โดยที่นาโอมิเอาชนะไป 2-0 เซต และแน่นอน เธอปฏิเสธการให้สัมภาษณ์สื่อในทันที จึงทำให้โดนปรับเงินเป็นจำนวน 15,000 ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากในการแข่งขันมีกฎว่านักกีฬาต้องให้สัมภาษณ์สื่อทุกครั้ง

และความโชคร้ายคือเหล่าเจ้าหัวเจ้านายผู้นำการแข่งขันแกรนด์สแลมทั้ง 4 รายการ ได้แก่ ออสเตรเลียน โอเพน, เฟรนช์ โอเพน, วิมเบิลดัน และยูเอส โอเพน กลับเชิญให้เธอออกจากการแข่งขันเฟรนช์ โอเพน จนในที่สุดนาโอมิก็เป็นฝ่ายประกาศถอนตัวจากการแข่งขันดังกล่าวแทน

“ฉันทรมานกับภาวะซึมเศร้ามานานนับตั้งแต่การแข่งขันยูเอส โอเพน ในปี 2018 มันเกินกว่าในการรับมือได้” เธอโพสต์ในโซเชียลมีเดีย

นาโอมิเลือกที่จะโอบอุ้มจิตใจของตัวเองก่อน เพราะเธอเห็นว่าเมื่อสุขภาพจิตแข็งแรงจึงค่อยกลับมาตามความฝันเมื่อพร้อม โดยเลือกหันหลังให้กับการคาดหวังของสังคม

ตัดภาพมาที่คนทำงานอย่างเราๆ เคสของนาโอมิสามารถเกิดขึ้นได้เมื่องานเริ่มก่อให้เกิดความไม่สบายใจจนกลายเป็นระเบิดเวลาลูกหย่อมๆ การเลือกเก็บปัญหาไว้กับตัวเองโดยไม่บอกใครก็ยากเกินจะรับไหว ส่วนการเดินดุ่มๆ ไปแจ้งกับเจ้านายก็รู้สึกกระอักกระอ่วน ไม่รู้จะออกหัวออกก้อยแบบนาโอมิหรือเปล่า

ทำอย่างไรองค์กรถึงเข้าใจภาวะดังกล่าวแบบละมุนละม่อม The Optimized มีคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญมาฝาก

Photo: Freepik

การแจ้งปัญหาสุขภาพจิตไม่ได้แตกต่างจากการแจ้งปัญหาสุขภาพ

อย่างไรก็ดีควรจะแจ้งใครสักคนให้รับทราบ! แต่ก่อนอื่นต้องปรับทัศนคติของตัวคุณเองก่อน แอชลีย์ โลเว ซิมมอนส์ นักสังคมสงเคราะห์คลินิกและนักบำบัดที่ได้รับใบอนุญาตกล่าวผ่านเว็บไซต์ Insider ว่าผู้คนมักไม่ยอมแจ้งปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นเนื่องจากเกรงทัศนคติทางสังคม และยังพบว่ามีประชากรกว่า 15% ที่มองว่าผู้มีปัญหาสุขภาพจิตเป็นภาระทางสังคม

พอล แมคลาเรน จิตแพทย์ที่ปรึกษาจาก Priory ผู้ให้บริการดูแลสุขภาพจิตในสหราชอาณาจักร มองว่าการแจ้งปัญหาสุขภาพจิตนั้นแทบจะไม่มีอะไรแตกต่างกับการแจ้งปัญหาสุขภาพกาย เป็นเพียงความรู้สึกที่คิดไปเอง “เมื่อเรารู้สึกหดหู่ เรามักละอายและหลบหลีกซ่อนตัว ทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีกในการทำงานและบริบทอื่นๆ”

เขียนอธิบายความรู้สึกของคุณ

หากการสนทนาในหัวข้อดังกล่าวเป็นเรื่องยาก ให้คุณลองหยิบปากกากับสมุดขึ้นมาแล้วพรรณนาสิ่งที่คุณรู้สึกลงไป การเขียนจะช่วยให้คุณมีเวลาคิดตกผลึกอาการและความรู้สึกได้อย่างถูกต้อง และถ้าหากยากที่จะสนทนา ลองเขียนเป็นอีเมลแทนก็เป็นทางออกที่เหมาะสม

Photo: Freepik

ชี้ให้เห็นว่าสุขภาพจิตส่งผลต่อประสิทธิภาพงานได้อย่างไร

ในบทสนทนานอกเหนือจากพูดความรู้สึก คุณควรอธิบายว่าปัญหาดังกล่าวสามารถส่งผลต่อประสิทธิภาพและผลลัพธ์ในการทำงานอย่างไรบ้าง และการช่วยเหลือจากองค์กรสามารถทำให้สถานการณ์ต่างๆ นี้ดีขึ้นได้ “นายจ้างอยากช่วยคุณเต็มกำลัง เพราะมันย่อมดีในแง่ธุรกิจ” พอลกล่าว

คุณมีสิทธิพูดคำว่า ‘ไม่’

หากคุณได้รับมอบหมายงานที่เกินกำลังและคุณแน่ใจว่าไม่สามารถทำได้ คุณมีสิทธิที่จะบอกปฏิเสธ แม้ว่าสถานการณ์นี้จะน่ากระอักกระอ่วนและเสี่ยงต่อการตกงาน หากจะต้องเป็นกรณีนี้จริงๆ ให้ยอมรับว่างานนี้อาจจะไม่เหมาะกับคุณ จงนำพาทักษะความสามารถของคุณไปหางานที่คุณรักและสบายใจจะดีที่สุด

Photo: Freepik

ขอบคุณคนที่ช่วยรับฟัง

ตั้งแต่เพื่อนคนสนิทที่ไว้ใจไปจนถึงหัวหน้างาน อย่าลืมขอบคุณและอธิบายความรู้สึกว่าคุณรู้สึกประทับใจอย่างไรที่พวกเขาเข้าใจสถานการณ์ที่คุณเป็นอยู่

คุณมีสิทธิที่จะเจาะลึกในรายละเอียดหรือไม่ก็ได้

ตั้งแต่สาเหตุที่ทำให้คุณได้รับผลกระทบทางอารมณ์เช่น ชีวิตครอบครัว แรงกดดันทางการเงิน ระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทาง ฯลฯ คุณสามารถเล่าได้ในส่วนที่คุณสบายใจ แต่หากเป็นเหตุผลที่สร้างข้อกังขาในความสามารถ คุณก็ไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดลึก

Photo: Freepik

หากเจ้านายไม่ใช่คำตอบ

ลองพิจารณาคนกลางที่คุณไว้ใจและเชื่อถือได้ ที่มีตั้งแต่คนในองค์กรอย่างเพื่อนร่วมงานคนสนิท เจ้าหน้าที่แผนกทรัพยากรมนุษย์ ไปจนถึงคนนอกองค์กรอย่างตัวแทนสหภาพแรงงาน เป็นต้น

ใช้วิธีสื่อสารแบบ Sandwich Method

Sandwich Method หรือ Sandwich Feedback คือการสื่อสารแบบเริ่มจากชั้นขนมปังที่เสมือนเป็นตัวแทนคำชมและคำพูดในแง่บวก จากนั้นก็เข้าสู่ชั้นเนื้อในที่เป็นข้อความที่คุณเรียกร้อง หรือปรารถนาให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แล้วปิดท้ายด้วยชั้นขนมปังซึ่งเป็นคำชมและคำพูดในแง่บวกอีกที

ยกตัวอย่างในกรณีที่คุณได้รับผลกระทบจากการทำงานหนักมากจนไม่มีเวลาพักผ่อน คุณอาจจะเปิดบทสนทนากับหัวหน้างานว่า

“(เปิดด้วยชั้นขนมปัง) ผม/ดิฉัน รู้สึกประทับใจที่ได้ร่วมงานกับทีมงานที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจอย่างหนักจนพิสูจน์ผ่านผลงานที่น่าชื่นชม (เข้าสู่ชั้นไส้แซนวิช) อย่างไรก็ดี จากการทุ่มเทเป็นระยะเวลานาน ผม/ดิฉัน อยากขอเวลาหยุดพักในสัปดาห์หน้าเพื่อจัดระบบความคิดตัวเองและจุดประกายไอเดียสักเล็กน้อย การขอพักจากโปรเจกต์นี้สักหนึ่งสัปดาห์จะช่วยให้กลับมาพร้อมประสิทธิภาพในการทำงานที่มากขึ้นกว่าเดิม

“(ปิดท้ายด้วยชั้นขนมปัง) ขอบคุณหัวหน้าที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนทีมในแผนกจนสามารถบรรลุเป้าหมายไตรมาสนี้เป็นอย่างดี รู้สึกประทับใจเป็นอย่างมากที่ได้เรียนรู้และเป็นส่วนหนึ่งของทีม” เป็นต้น

Photo: Freepik

หัวหน้าของคุณอาจเข้าใจมากกว่าที่คิด

ปัญหาสุขภาพจิตคือสาเหตุอันดับต้นๆ ของการลาป่วย พบว่าคนกว่า 1 ใน 5 มีการขอความช่วยเหลือจากองค์กรเนื่องด้วยจากภาวะซึมเศร้า ดังนั้น โอกาสที่หัวหน้างานจะได้รับการร้องขอในเรื่องดังกล่าวจึงมีสูงมาก และพวกเขาน่าจะมีประสบการณ์ในการรับมือ

ลองดูว่าที่ทำงานมีการสนับสนุนอย่างไรบ้าง

ในปัจจุบันสถานที่ทำงานหลายๆ แห่งให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตของพนักงาน เช่น คอร์สอบรมพัฒนาสุขภาพจิตในการทำงานออนไลน์ ไปจนถึงสวัสดิการปรึกษาจิตแพทย์ส่วนตัว ทั้งนี้อย่าลืมตรวจสอบองค์กรของคุณว่ามีสวัสดิการช่วยเหลือทางด้านนี้หรือไม่

Photo: Freepik

ให้ข้อเสนอแนะ

หากองค์กรของคุณยินดีที่จะช่วยเหลือ และกำลังมองหาทางออกที่ดีที่สุด คุณอาจจะแจ้งให้พวกเขาทราบว่าอยากได้ทางออกแบบใด อะไรที่เป็นประโยชน์กับกรณีนี้ที่สุด เป็นต้น

เป็นกระบอกเสียงให้ตัวเองและคนอื่น

ไม่ใช่ว่าทุกเสียงที่ส่งไปจะได้รับผลตอบรับที่ตรงใจร้อยเปอร์เซ็นต์ กรณีที่ดีที่สุดเจ้านายและองค์กรจะเห็นอกเห็นใจ และเรียกร้องให้มีการเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดีในการทำงาน แต่หากกรณีที่แย่กว่านั้นพวกเขาจะตั้งคำถามและตามติดผลการปฏิบัติมากมายจนทำให้คุณรู้สึกไม่สบายใจได้ อย่างไรก็ดีควรคำนึงถึงความจริงในข้อนี้

แต่ถ้าคุณแข็งแกร่งและพร้อมจะขับเคลื่อนไปสู่สิ่งที่ดีกว่า คุณสามารถเป็นกระบอกเสียงเพื่อช่วยทั้งตัวเอง บริษัทของคุณและพนักงานที่อาจประสบปัญหาเหล่านี้ได้ในอนาคต

Photo: Freepik

ปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดจากการทำงานสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และการสื่อสารว่าคุณประสบปัญหาต่างๆ นั้นเรื่องปกติ ลองนำเทคนิคที่ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้แนะนำเพื่อใช้สื่อสารกับคนใกล้ชิด หัวหน้างาน หรือองค์กร เพื่อให้คุณภาพชีวิตของคนทำงานดีขึ้นได้

 

Words: Varichviralya Srisai

ข้อมูลจาก

you might like

Scroll to Top