คุณเคยคิดบ้างไหมว่า คุณไม่พึงพอใจกับงานที่ทำอยู่ หรืองานที่ทำนั้นไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของคุณ ถ้าตอบว่า “ใช่” คุณก็คงไม่ใช่คนแปลกอะไรเพราะผลสำรวจใน 160 ประเทศทั่วโลกเมื่อไม่นานมานี้พบว่า มีเพียงแค่ 15% เท่านั้นที่รู้สึกผูกพันกับงานที่ตนทำอยู่
แต่ดูเหมือนสถานการณ์จะย่ำแย่เข้าไปอีกเมื่อโรคโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก เพราะเจ้าไวรัสตัวร้ายนี้ได้ทำให้ความฝันของใครหลายๆคนต้องหยุดชะงักลง เพราะสิ่งที่ทุกคนต้องทำ ณ ขณะนี้คือ ทำงานอะไรก็ได้เพื่อรอดผ่านวิกฤตโควิด เฉกเช่นเดียวกับประเทศไทย อย่างอาชีพกัปตันสายการบินต่างๆ ที่ทุกคนมองว่า เป็นอาชีพที่มั่นคงและให้ผลตอบแทนอย่างงดงาม ทว่า งานที่ดูโก้หรูนี้จบอย่างไม่เป็นท่า เมื่อสายการบินต่างๆประกาศหยุดบินตามนโยบายปิดน่านฟ้าของประเทศ เหล่าบรรดากัปตันทั้งหลายที่มีเงินเดือนเป็นแสนและมีชีวิตสุขสบาย ต้องมองหาอาชีพใหม่เพื่อเลี้ยงชีพ บ้างก็ขายก๋วยเตี๋ยว บ้างก็ขับแกร็บคาร์ งานที่ทุกคนไม่เคยคิดว่าจะได้ทำในชีวิตนี้
คำถามที่ตามมาจากนี้คือว่า เมื่อสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้และพวกเราจะต้องอยู่กับโควิด-19 ไปอีกนาน แล้วจะทำงานอย่างไรให้มีความสุขได้ เพราะในแต่ละวัน เราต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่กับงานมากกว่าอยู่กับครอบครัวเสียอีก หากไม่ชอบงานที่ทำ ชีวิตของคุณก็พลอยจะไม่มีความสุขไปด้วย
เรียนรู้ที่จะรักงานที่ทำ
ไม่ว่าจะเป็นงานอะไร หากคุณเรียนรู้ที่จะรักและรักที่จะทำ ชีวิตของคุณก็มีความสุขได้ James Molluso ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างนั้น เขาอยู่ในกลุ่ม 15% ของผลการสำรวจ มีความสุขกับงานกำจัดสัตว์รบกวนไม่ว่าหนูหรือแมลงสาบให้กับลูกค้าในมหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐฯ แม้ว่าหลายๆคนมองว่าเป็นงานที่ไม่น่าทำสักเท่าไร เขาบอกกับสำนักข่าวบีบีซีว่า เขามีความสุขกับงานที่ทำแบบสุดๆและไม่คิดจะเปลี่ยนงานที่ทำเลย
หนุ่มอเมริกันคนนี้ทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์และบางครั้งต้องทำงานในเวลากลางคืน เขาต้องคลานเข้าไปที่คับแคบเพื่อจะกำจัดหนูและแมลงสาบให้ลูกค้า โดยไม่รู้ว่าจะเจออะไรข้างหน้า ก่อนหน้าที่จะมาทำอาชีพนี้ เขาเคยฝันที่จะเป็นตำรวจและเกือบได้งานที่หน่วยดับเพลิงในกรุงนิวยอร์ก เนื่องจากมองว่า เป็นอาชีพที่มั่นคง มีเงินบำนาญกิน และเป็นงานที่น่าผจญภัย แต่ที่สุดก็ตัดสินใจเข้าสู่อาชีพกำจัดสัตว์รบกวนเพราะเห็นว่าไม่มีใครอยากจะทำหรือไม่มีใครทำได้ ทุกวันนี้ คำขอบคุณลูกค้าที่มีให้ กลายเป็นพลังที่ทำให้เขามีแรงตื่นขึ้นมาทุกเช้าเพื่อลุยงานต่อ
Laurie Santos ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเยลกล่าวว่า ยังมีความคิดที่แตกต่างกันอย่างมากของคนในสังคมที่ว่า อะไรที่คุณให้คุณค่ากับอาชีพที่คุณทำกับอาชีพที่คุณทำแล้วมีความสุข
“พวกเราคิดแต่เรื่องความร่ำรวย เกียรติยศ และดีกรีที่แขวนไว้ฝาผนัง” ศาสตราจารย์คนเดิมกล่าว ขณะที่ John Bowe ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Gig: American Talk About Their Jobs โดยเขาได้พูดคุยกับพนักงานมากกว่า 100 คน “ดูเหมือนว่าบรรดาคนที่มีความสุขมากที่สุดคือ คนที่ทำงานที่มีความรู้สึกมั่นคงกับสถานที่ทำงานนั้นๆและมีบทบาทกับชุมชนนั้นๆ” ต่างกับพวกที่ทำงานให้กับองค์กรใหญ่ๆ จริงอยู่เขาได้เงินเดือนมากมาย แต่พวกเขาก็ไม่มีความสุขเพราะทำงานไปวันๆอย่างไร้ความหมาย
เงินสำคัญไหม
แล้วเงินสำคัญไหม ถ้าสำคัญ แล้วเท่าไรละที่คุณได้แล้วจะมีความสุข?
จากการศึกษาของสองนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล Angus Deaton และ Daniel Kahneman บอกว่า ตัวเลขมหัศจรรย์นี้น่าจะอยู่ที่ 75,000 เหรียญสหรัฐ เมื่อได้มาก เงินก็ช่วยเติมเต็มความพึงพอใจของชีวิตผ่านการจับจ่ายใช้สอยที่มากขึ้น และนักเศรษฐศาสตร์ทั้งสองได้พบว่า “สิ่งนี้ไม่ได้ช่วยสร้างความสุขทางอารมณ์ให้ดีขึ้นเลย”
ศาสตราจารย์ Laurie Santos จากมหาวิทยาลัยเยล อธิบายเพิ่มว่า การได้เงินมากขึ้นก็จะทำให้คุณมีความสุขมากขึ้น แต่ความสุขนั้นก็ไม่ได้ยาวนาน นี่เป็นสูตรแห่งความเศร้าเพราะทุกๆครั้งที่คุณก้าวขึ้นรับเงินเดือนใหม่ เป้าเหมายเงินเดือนของคุณก็จะสูงขึ้นไปอีก
ทำงานที่ใช่ แล้วจะสุขเอง
Mark Simmonds ชาวอังกฤษเข้าใจดีกับความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน หนุ่มวัย 58 ปีเคยประสบกับความเครียดและความกังวลอย่างมากขณะเริ่มก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ความเครียดที่ได้สะสมมากขึ้นเรื่อยๆทำให้เขาไม่สามารถควบคุมตนเองให้เป็นปกติได้ จนวันหนึ่งขณะนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ เขาทำอะไรไม่ได้เลย เนื่องจากตัวของเขาไม่สามารถขยับเขยื้อนได้
ด้วยประสบการณ์อันเลวร้ายนี้ Mark จึงต้องประเมินการทำงานในอาชีพของเขาใหม่ จากเดิมที่เป็นคนเก็บเงียบ ไม่สนใจอะไรเป็นพิเศษและไม่ปฏิสัมพันธ์กับสังคม เขาได้ค้นพบหนทางแห่งการทำงานใหม่ ที่เขารู้สึกสบายใจขึ้น เขาบอกว่า เมื่อตอนเป็นหนุ่ม เขาคิดมากกับความคิดของคนรอบข้าง ต่อมาก็พบว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ทำงานที่ตรงกับบุคลิกของตัวเองและสามารถตอบโจทย์ความต้องการของงานนั้นๆ ถ้าคุณค้นพบสองสิ่งนี้ได้ ความเครียดของคุณน่าจะลดน้อยลงแบบอัตโนมัติ
Margaret Heffernan ศาสตราจารย์ด้านการจัดการจากมหาวิทยาลัยบาธ (University of Bath) บอกว่า พวกเราได้เรียนรู้ว่าศักยภาพในการทำงานของมนุษย์ตั้งแต่ปี 2431 โดยมีจำนวนชั่วโมงทำงานอยู่ที่ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หากมากกว่านั้น สมองของคุณจะเหนื่อยล้าและเริ่มจะทำงานผิดพลาด ดังนั้น หากคุณให้พนักงานของคุณทำงานด้วยชั่วโมงยาวนานขึ้นเพื่อให้เสร็จทันกับวันที่กำหนดไว้ เมื่อทำบ่อยเข้า พวกเขาจะเริ่มเครียดและเริ่มปล่อยงานที่ทำเพราะต้องรักษาพลังงานที่เหลือของเขาไว้ ภาวะต่อมาก็คือ เขาจะเริ่มไม่ปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่เขารักและเริ่มที่จะทำตัวแปลกแยกออกไป
ดังนั้น หากคุณอยากจะมีความสุขกับงาน ลองปรับมุมมองกับงานที่คุณทำใหม่ ค่อยๆปรับไป ไม่แน่นะ คุณอาจจะพบกับความสุขที่คุณไม่เคยเจอมาก่อนก็เป็นได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: https://www.bbc.com/news/business-56346504
บรรยายใต้ภาพ
ขอบคุณภาพจาก unsplash
Happy job 1: ใบปริญญาสำคัญไฉน
Happy job 2: ปริญญาใบแบกทาง
Happy job 4: ไม่ว่างานอะไรก็มีคุณค่าในตัวมัน
Happy job 3: James Molluso ในชุดเตรียมปฏิบัติงาน
ที่มา: Facebook ของ James Molluso