ผู้ป่วยจิตเวชแชร์กิจกรรมที่คุณสามารถใช้ทำเวลาเครียดหรือวิตก

เมื่อผู้คนกำลังเผชิญกับความเครียด ความวิตก ไปจนถึงภาวะซึมเศร้า ฯลฯ โดยพยายามหาทางออกของปัญหา และจิตแพทย์คือบุคลากรที่สมเหตุสมผลที่สุดในการพูดคุยตลอดจนหาหนทางเยียวยา แต่ถึงกระนั้นช่วงเวลาที่เราอยู่กับตัวเองกลับเปิดประตูใจเข้าสู่หลุมดำ

บทความนี้พยายามพาทุกคนออกจากความมืดมิดด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์ที่สามารถทำได้ง่ายๆ ไม่ว่าวันนี้คุณจะเผชิญกับภาวะซึมเศร้าอย่างรุนแรง หรือรู้สึกไม่มั่นคงทางอารมณ์เพียงเล็กน้อยก็ตาม ลองหยิบไปทำตามพร้อมเปิดรับพลังบวกได้ทันที

Photo: Freepik

ฟื้นฟูด้วยกิจกรรมฮีลใจ


วิกตอเรีย แม็กซ์เวลล์
นักเขียนบทละครและนักแสดง ผู้เผชิญกับโรคไบโพลาร์ โรควิตกกังวลและภาวะจิตหลงผิดซึ่งอยู่ในช่วงฟื้นตัว เขียนบอกเล่าประสบการณ์ก้าวข้ามหลุมดำในจิตใจโดยอาศัยกิจกรรมสุดสร้างสรรค์ ที่เธอนิยามว่า ‘ค่อนข้างแหวกแนว’ แต่ทั้งน่าสนุกและปฏิบัติได้จริง

ก่อนอื่นเลยวิคตอเรียชี้ให้เห็นถึงไอเทมสามัญประจำบ้านที่ผู้ป่วยต้องใช้อยู่เป็นประจำ ซึ่งได้แก่

  • ยาที่จ่ายโดยจิตแพทย์
  • อาหารสุขภาพที่ครบถ้วนตามโภชนาการ
  • การมีเครือข่ายสังคมที่เข้มแข็ง อย่างเพื่อนหรือครอบครัวที่เข้าใจ
  • การออกกำลังกาย ในที่นี้เธอเลือกการ ‘Sloging’ ที่หมายถึง Slow Jogging (การวิ่งช้าๆ)
  • การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอโดยเฉลี่ย 7-8 ชั่วโมงต่อวัน
  • โคมไฟบำบัด เพื่อช่วยฮีลใจจากภาวะ SAD หรือภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาล
  • พบจิตแพทย์ นักบำบัด หรือผู้เชี่ยวชาญตามนัดเสมอ

Photo: Freepik

ซึ่งนอกจากนั้นช่วงเวลาที่เธออยู่กับตัวเอง เธอมักมีกิจกรรมฮีลใจต่างๆ ดังนี้

1.เตาผิงเอฟเฟกต์

ช่วงหนึ่งเธอเคยอาศัยอยู่กับเพื่อนที่มีเตาผิง และค้นพบว่าเปลวไฟและแสงสว่างทำให้จิตใจของเธอสงบลงได้ ซึ่งมีวิจัยแสดงให้เห็นว่าเตาผิงหรือเตาผิงไฟฟ้าสามารถลดความเครียดได้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เรียกว่า Fireplace Effect เธอจึงซื้อเตาผิงไฟฟ้ามาใช้และเปิดมันบ่อยๆ ไม่ว่าวันนั้นจะมืดครึ้มหรือมีแสงจ้าก็ตาม

2.โต๊ะลู่วิ่ง

มีประโยคที่ว่า ‘Sitting Is the New Smoking’ หรือการนั่งนานๆ ไม่ดีต่อสุขภาพซึ่งไม่ได้ต่างอะไรจากการสูบบุหรี่ ด้วยเหตุนี้เธอจึงซื้อโต๊ะลู่วิ่งที่มีลักษณะเป็นลู่วิ่งเล็กๆ ที่เชื่อมต่อกับโต๊ะวางของมาใช้ ซึ่งก่อนหน้านั้นเธอใช้เวลานั่งจมอยู่บนเก้าอี้นานมาก ซึ่งไม่ต่างอะไรจากคนสูบบุหรี่วันละ 2 ซอง เมื่อเธอรู้ตัวจึงกางโต๊ะ เปิดสวิตช์ลู่วิ่งเพื่อเดินเบาๆ ทุกเที่ยง สิ่งนี้ช่วยดึงเธอออกจากความคิดในหัวและโฟกัสในร่างกายมากขึ้น เธอมักใช้เวลาประมาณ 30-60 นาที ก็สัมผัสได้ว่าร่างกายเบาขึ้น และจิตใจรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น

Photo: Freepik

3.สมาธิเป็นยา

การทำสมาธิแบบ Vedic Meditation เหมาะกับเธอ เป็นเทคนิคทำสมาธิแบบโบราณตามหลักคัมภีร์พระเวท ที่จะพาคุณออกจากเรื่องฟุ้งซ่านต่างๆ ไปสู่ความสงบของจิตใจโดยอาศัยการท่องวลีหรือมนต์เฉพาะบุคคล ซึ่งวิธีนี้ช่วยให้เธอผ่อนคลายได้ทั้งร่างกายและจิตใจ และผลลัพธ์ที่ก็น่าทึ่งเพราะเห็นผลตั้งแต่ทำครั้งแรก จากนั้นเธอจึงทำต่อเนื่อง 2 ครั้งต่อวัน ครั้งละ 20 นาที

4.สุริยนมัสการ

ในทุกๆ วันเมื่อพระอาทิตย์ขึ้น เธอจะตื่นมาเพื่อทำโยคะท่า Sun Salutation หรือไหว้พระอาทิตย์ สิ่งนี้ช่วยปลอบประโลมจิตใจและมอบแรงบันดาลใจให้กับชีวิต นอกเหนือประโยชน์ของโยคะในเรื่องความยืดหยุ่นและความสงบแล้ว เธอค้นพบว่ามันช่วยให้เข้านอนเร็วและนอนหลับได้ดีขึ้น

5.เครื่องให้อาหารนก

เธอได้ไอเดียนี้เมื่อครั้งไปเดินสวนสาธารณะสแตนลีย์พาร์ก ่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดากับคุณพ่อ เธอกำอาหารนกแล้วยืดสุดแขนแบมือให้พวกนกมารุมกินอาหาร ซึ่งเมื่อเธอค้นพบว่ากิจกรรมนี้ฮีลใจ เธอจึงซื้อทั้งเครื่องให้อาหารนกฮัมมิงเบิร์ดและเครื่องให้อาหารนกแบบตะแกรง โดยคอยเฝ้ามองพวกมาบินมากินอาหารอย่างมีความสุข

Photo: Freepik

นี่เป็น 5 ไอเดียสุดสร้างสรรค์ที่คุณสามารถทำได้อย่างสนุกสนานเพื่อกู้ตัวเองยามที่รู้สึกว่าอารมณ์ไม่มั่นคง

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมฮีลใจต่างๆ มากมาย ที่ผู้เขียนอยากแนะนำ เช่น

  • สมุดจนบันทึกอารมณ์ที่คุณสามารถหยิบขึ้นมาขีดเขียนบรรยายก้อนอารมณ์ต่างๆ ที่คุณรู้สึก
  • วาดภาพบำบัด ที่ปัจจุบันมีคาเฟ่มากมายที่คุณสามารถเข้าไปวาดภาพได้ง่ายๆ
  • การทำเบเกอรี ทำให้ผู้เขียนเลิกโฟกัสกับความคิดฟุ้งซ่านต่างๆ ได้ดี เพราะใช้สมาธิสูงมาก
  • การถ่ายรูป ที่ผู้เขียนจะบันทึกภาพสัตว์และทิวทัศน์ธรรมชาติ ซึ่งขณะถ่ายจะต้องใช้สมาธิและใช้ความคิดสร้างสรรค์สูงเช่นกัน

Photo: Freepik

อย่าลืมเอาไอเดียกิจกรรมเหล่านี้ไปปรับใช้ ทั้งสนุก ฮีลใจ และคลายเครียดไปในตัวด้วยค่ะ เจอกันครั้งหน้าขอให้ผู้อ่านทุกท่านเบิกบานและมีจิตใจที่แจ่มใสแข็งแรงนะคะ ด้วยรัก

Words: Varichviralya Srisai

ข้อมูลจาก

  • https://www.psychologytoday.com/us/blog/crazy-for-life/202406/do-you-know-these-5-unconventional-tools-to-reduce-anxiety

you might like

Scroll to Top