เจ้านายติ ลูกค้าบ่น ที่ประชุมไม่เห็นด้วย ทำตัวอย่างไรกับคำวิจารณ์เชิงลบในที่ทำงาน

เป็นเรื่องปกติในการทำงานที่เราจะได้รับคำติชมอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะความคิดเห็นเชิงลบที่ฟังดูไม่น่าพิศมัยเท่าไรนัก แต่แท้จริงแล้วกระบวนการวิพากษ์วิจารณ์ในเนื้องานก่อให้เกิดผลดี เนื่องจากช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาหรือปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

แม้เราเข้าใจความจริงที่ว่านี้ แต่การเผชิญหน้ากับคำวิจารณ์เชิงลบก็เป็นสถานการณ์ที่กระอักกระอ่วนสำหรับใครหลายคน The Optimized จึงนำข้อคิดของออกทาเวีย กอเรเดมา ที่ปรึกษาทางด้านอาชีพและผู้แต่งหนังสือเสียง ‘How to Change Careers’ มาบอกเล่าแนวคิดที่จะทำให้ผู้อ่านกล้าเผชิญหน้ากับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในที่ทำงาน และสามารถเปลี่ยนเป็นความสำเร็จได้ไม่ยาก

Photo: Freepik

ปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อเผชิญหน้ากับผลตอบรับเชิงลบ

ตั้งแต่คำติชมจากหัวหน้างาน เพื่อนร่วมโปรเจกต์ที่มีการแสดงความคิดเห็นแตกต่าง ไปจนถึงลูกค้าที่กำลังหัวเสีย คุณสามารถรับมือกับสิ่งต่างๆ ด้วยวิธีเหล่านี้

1.อย่าใจร้อน ให้เวลากับสถานการณ์นี้สักครู่

อันดับแรกคือหยุดนิ่งแล้วสูดลมหายใจ ซึ่งผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารเชิงวิชาการ Frontiers in Psychology พบว่าการหายใจด้วยกล้ามเนื้อกระบังลม (การหายใจลึกๆ ยาวๆ ช้าๆ อย่างถูกต้อง) จะกระตุ้นให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย ช่วยให้คุณสงบและรีเซ็ตสมองให้พร้อมสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้าอย่างมีสติ

2.ตั้งใจฟัง

ไม่มีใครอยากฟังสิ่งลบๆ แต่การเมินหน้าหนีกลับแย่กว่า เพราะคุณควรเข้าใจในเนื้อความก่อนที่จะมีปฏิสัมพันธ์กลับไป ดังนั้นการตั้งใจฟังสิ่งที่อีกฝ่ายกำลังสื่อสารจะดีที่สุดในสถานการณ์นี้

Photo: Freepik

3.อย่าปล่อยให้สัญชาตญานการปกป้องตัวเองครอบงำ

“ฉันไม่ผิดนะ” “เวลามีน้อย ฉันเลยทำได้เท่านี้” “ทำไมเธอไม่ลองทำดู ถ้าทำได้ดีกว่า” อย่าเพิ่งลั่นวาจาในทันที สิ่งสำคัญคือแสดงความเป็นมืออาชีพให้มากที่สุด ออกทาเวียแนะนำว่าให้คุณประมวลความคิดต่างๆ ด้วยความรอบคอบ ก่อนที่จะตอบโต้ด้วยพฤติกรรมใดๆ

4.ถามในสิ่งที่คุณสงสัย

เมื่อคุณประมวลผลความคิดแล้ว ไม่จำเป็นต้องนิ่งเงียบไปตลอดหากคุณไม่เข้าใจว่าสิ่งที่คุณทำผิดพลาดตรงไหน คุณมีสิทธิที่จะถามอย่างใจเย็นเพื่อจะได้เข้าใจปัญหา

Photo: Freepik

5.แสดงความขอบคุณ

หากบุคคลนั้นเสนอแนะสิ่งที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ อย่าลืมพูดขอบคุณอย่างจริงใจ เพื่อแสดงว่าคุณเปิดใจที่จะรับข้อมูลเพื่อนำไปแก้ไขและปรับปรุง

6.คิดทบทวน

ช่วงเวลานี้สามารถปลดปล่อยความรู้สึกได้ หากคุณรู้สึกหรือมีอารมณ์ใดๆ ก็จงใช้เวลาอยู่กับตัวเองเพื่อคิดไตร่ตรองและปลดปล่อยอารมณ์ต่างๆ ไม่ผิดที่คุณยังหัวเสียและต้องการใครสักคนที่จะพูดคุย ออกทาเวียแนะนำว่าเป็นคนรักหรือเพื่อนนอกที่ทำงานจะดีที่สุด

Photo: Freepik

7.ยอมรับคำวิจารณ์

ถ้ามัวแต่มองว่าคำวิจารณ์เชิงลบเป็นเรื่องปวดใจ คุณก็จะเจ็บปวดเพราะมันตลอดไป แต่ถ้าคุณพิจารณาแล้วว่าทุกอย่างสมเหตุสมผลก็ให้ลองเปิดใจยอมรับ การก้าวผ่านครั้งนี้จะทำให้เห็นโอกาสปรับปรุงสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น

8.อย่าให้ความมั่นใจถูกทำลาย

อย่าให้ผลตอบรับเชิงลบมาทำลายความมั่นใจของคุณ “มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำทุกอย่างถูกต้องตลอดเวลา อะไรก็ตามที่ผิดพลาดจะไม่ใช่ตัวกำหนดชีวิตของคุณตลอดไป หากคุณปรับใช้มันอย่างสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์” ออกทาเวียกล่าว

Photo: Vecstock

6.ตอกย้ำในเรื่องดีๆ ของชีวิต

Self-Affirmation หรือกระบวนการคิดที่มองเห็นความสำคัญของตนเอง เป็นหนึ่งในแนวคิดที่ผู้ประสบความสำเร็จทั่วโลกมี เช่นเดียวกันหากวันนี้คุณได้รับผลตอบรับเชิงลบ ก็อย่าลืมมองหาจุดแกร่งอย่างอื่นที่คุณมี เพื่อคงระดับความมั่นใจ เช่น วันนี้โปรเจกต์ที่คุณนำเสนอล้มเหลว แต่อย่าลืมขอบคุณทักษะความคิดสร้างสรรค์ ความกล้าหาญในที่ประชุม และความพยายามที่คุณทุ่มเทลงไปด้วย

เปลี่ยนผลตอบรับเชิงลบให้เป็นความสำเร็จได้อย่างไร

หลังจากที่รับมือกับคำวิจารณ์ได้แล้ว ก็ถึงเวลาเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงเพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่า ซึ่งมีแนวทางการปฏิบัติดังนี้

1.ตั้งเป้าหมายที่นำไปปฏิบัััติได้จริง

นำคำติชมที่ได้รับมาวางเป้าหมายครั้งใหม่ จะดำเนินการไปในทิศทางใดต่อ ผลลัพธ์ควรเป็นแบบไหน การกำหนดโครงร่างคร่าวๆ จะช่วยให้จำกัดกรอบความคิด และเห็นทิศทางการทำงานให้ชัดเจนมากขึ้น

2.ติดตามความคืบหน้า

ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานและทบทวนแผนปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แน่ใจว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้นำไปสู่ผลลัพธ์ตามเป้าหมายที่วางไว้

Photo: Vecstock

3.ประเมินผลลัพธ์

ประเมินผลลัพธ์ที่ออกมาว่าเป็นไปตามเป้าที่เราตั้งขึ้นไว้ข้างต้นหรือไม่

4.พิจารณา ไตร่ตรอง และเรียนรู้

พิจารณาโดยละเอียดว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้สร้างผลกระทบอย่างไร จุดไหนที่เป็นสิ่งดีที่คงไว้ หรือมีจุดไหนก็ควรปรับปรุงอีกบ้าง

5.ขอคำแนะนำอีกครั้ง

กลับไปทบทวนกับผู้ให้คำแนะนำว่าสิ่งที่คุณปรับปรุงมีการพัฒนาอย่างไรบ้าง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคุณเปิดใจและมีความกระตือรือร้นที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ผลลัพธ์เชิงบวกอย่างแท้จริง

 

 

Words: Varichviralya Srisai

ข้อมูลจาก

you might like

Scroll to Top