อยู่ไปก็ไลฟ์บอย! เช็ก 8 สัญญาณเตือนที่บ่งชี้ว่าคุณควร ‘ลาออก’

ผู้คนพร่ำบ่นว่าหาเงินยาก แต่ในคอมมูนิตี้หางานกลับขอคำแนะนำเรื่อง ‘อยากลาออกจากงาน’ อยู่ทุกวัน อันที่จริงร่างทองของพนักงานออฟฟิศคือการกอดขาเก้าอี้กินเงินเดือนประจำไว้ ขณะเดียวกันก็หาเวลาฝึกทักษะหรือทำอาชีพเสริมอีกหนึ่งช่องทาง ราวกับรอวันที่ธุรกิจหรือจ๊อบเสริมของตัวเองแข็งแรงแล้วค่อยเซย์กู๊ดบาย

แต่ก็มีหลายคนที่ตัดสินใจลาออกไปตายเอาดาบหน้าด้วยเหตุผล 108 ดังนั้นผู้เขียนจะไม่มาเชียร์ใครให้ลาออก แต่ถ้าหากวันนี้ไม่ไหวแล้วหัวใจคุณเริ่มผุกร่อนจนใกล้จะพัง หรือคุณกำลังเสียพลังงานสมองอยู่ทุกวันว่าควรไปต่อหรือพอแค่นี้ เรามีเช็กลิสต์ให้คุณพิจารณากับ 8 สัญญาณเตือนภัยให้ ‘ลาออก’

Photo : Freepik

1.ไม่รู้จะเติบโตไปทางไหน

บ่ายแก่ๆ วันหนึ่งในหน้าร้อน ผู้เขียนนำกรรไกรตัดใบไม้แห้งของต้นเฟิร์นข้าหลวงทิ้ง เพราะพักหลังน้องโตเร็ว แตกกิ่งก้านสาขาออกมาจากกระถางเล็กๆ  รวมถึงผู้เขียนละเลยการใส่ปุ๋ยให้น้อง ทั้งๆ ที่ควรทำเป็นประจำทุกเดือน

ไม่ได้ตั้งใจจะพูดถึงต้นไม้หรอกค่ะ เพียงจะเปรียบให้เห็นว่า หากคุณเป็นพนักงานที่พร้อมจะเติบโตออกดอกผลิใบแต่กระถางที่คุณอาศัยอยู่เล็กเกินไป ยังไงในอนาคตก็ต้องเหี่ยวเฉาเป็นธรรมดา ยิ่งไม่ได้รับน้ำรับปุ๋ยที่ชื่อว่า ‘เงิน’ หรือ ‘สวัสดิการ’ เพียงพอด้วยละก็ ยังไงก็ยากที่จะยืนอย่างสง่างาม

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นระบบการจัดการคน อัตราการเติบโตตลอดจนผลตอบแทนต่างๆ หากสัมผัสได้ว่ายังไงก็ก้าวหน้าได้น้อย คุณอาจต้องพิจารณากระถางใบใหม่ได้แล้ว

Photo : Freepik

2.ขโมยเวลาส่วนอื่นไปจากชีวิต

การเป็นคนทุ่มเทเป็นสิ่งที่ดี คุณสามารถเติบโตได้จากการพัฒนาทักษะเพื่อเพิ่มพูนความชำนาญ แต่จงขีดเส้นให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้งานมากินเวลาในครอบครัว อย่าเชื่อข้อความที่ว่า “คนจะก้าวหน้าในการงานได้ เขาไม่มีเวลาดูเน็ตฟลิกซ์” ถ้าคุณมีเวลาส่วนตัวและอยากจะดูก็จงดู แต่ถ้าถึงเวลาที่ดูแล้วไลน์เด้งให้ไปเปิดคอมพ์แก้งานอันนี้คือความมั่วซั่ว ดังนั้นมนุษย์ใช้เวลาทำงาน 1 ใน 3 ของชีวิตก็เยอะมากพอแล้ว อย่าไปให้ใครเอาเปรียบอีกเลย แต่นี่ไม่นับรวมงานเสริมที่คุณตั้งใจรับมาทำเองเพราะอยากได้เงินเพิ่ม อันนี้คนละกรณี

Photo : Freepik

3.ไร้แรงจูงใจอีกต่อไป

ใจมนุษย์เปลี่ยนไปได้ไม่ใช่เรื่องแปลก ผู้ทรงอิทธิพลทางแฟชั่นหันไปทำสวน สาวออฟฟิศหันไปเอาดีด้านการขายน้ำปั่น และโปรดิวเซอร์มือทองตอนนี้บวชไม่ยอมสึก (สาธุ) ผู้คนต่างรู้ดีว่าคำถามจาก HR “คุณเห็นอะไรในอนาคต 5 ปี ต่อจากนี้” คำตอบของพวกเราก็ช่างประดิษฐ์นัก จะไปรู้ได้ยังไงว่า 5 ปีให้หลังจะเหมือนเดิมแค่ไหน

ถ้าวันหนึ่งคุณไม่ได้สัมผัสถึงแรงจูงใจในการทำงาน ฉันทำไปเพื่ออะไร ฉันได้อะไรจากการนี้ เช่นผู้เขียนที่ไม่อยากรู้เรื่องดาราแล้วหลังจากการเป็นนักข่าวบันเทิงมาประมาณหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ผิด จึงหันไปหาความตื่นเต้นครั้งใหม่ เปิดประตูอีกบานที่หมายถึงอย่าลืมปิดประตูบานที่เก่าที่หันหลังให้ด้วยละ

Photo : Freepik

4.ไม่คุ้มเหนื่อย

ระหว่างการขายของได้วันละ 1,000 บาทโดยใช้เวลาแค่ 3 ชั่วโมง แต่อีกที่ได้ 2,000 บาทโดยใช้เวลา 16 ชั่วโมง ข้อแม้คือทั้งวันคุณไม่ต้องทำงานอย่างอื่นอีก คุณจะเลือกทำธุรกิจไหน?

จริงๆ คำตอบไม่มีถูกหรือผิดเพราะขึ้นอยู่กับเป้าหมายของคุณ หลายคนคงจะเลือกงาน 2,000 เพราะยอมทุ่มแรงไปเยอะๆ เหนื่อยไม่เป็นไร แต่ผลลัพธ์คือได้เงินเยอะดี

ผู้เขียนจะไม่ตัดสินใดๆ ในบริบทที่แตกต่างของแต่ละคน แต่จะชี้ให้เห็นในอีกมุมหนึ่งว่า ทุกอย่างมีราคาที่ต้องจ่ายเสมอ คุณมีพลังงานที่เสียไป มีเวลาที่สูญหายและมีความสึกหรอในทุกวินาที อยากให้ลองหักลบกลบหนี้ดูว่าคุ้มค่าไหม ทุกอย่างถ้าพังลงก็มีค่าใช้จ่ายในการซ่อมสูงเช่นกัน ในทีนี้หมายถึงสุขภาพกาย สุขภาพจิตและความสัมพันธ์ เป็นต้น

ทั้งนี้ตรวจสอบดูว่าคุณมีหน้าที่อะไรบ้าง ในองค์กรหลายที่ชอบใช้ระบบงานงอก ซึ่งคุณมีสิทธิ์ที่จะแสดงความทุ่มเทเพื่อโอกาสต่างๆ แต่หักลบกลบกลบหนี้ดูว่าคุ้มค่าจริงไหม อย่ามองแต่ผลลัพธ์ตัวเลขเพียงอย่างเดียว

Photo : Freepik

5.จริยธรรมในวิชาชีพ

พนักงานตัวเล็กๆ ที่ไม่ได้ดูแลเรื่องเงินๆ ทองๆ จะต้องซีเรียสเรื่องจริยธรรมไปทำไม เช่นนี้ผู้เขียนจะเล่าให้ฟัง เมื่อครั้งเป็นครีเอทีฟรายการออนไลน์ในองค์กรใหญ่ที่ล่มสลายไปแล้วองค์กรหนึ่ง ผู้เขียนถูกหมายมั่นให้คิดรายการสายมูฯ 1 รายการเพื่อขายคู่กับรายการที่คนนอกนำมาเสนออีก 1 รายการ ภายใต้ชื่อเสียงของบริษัท

ด้วยเส้นสายคอนเนกชันของหัวหน้าทีม ทางหัวหน้าการันตีว่าโปรเจกต์ทั้งคู่นี้ขายผ่านแน่นอน แต่ปรากฎว่าวันประกาศผลจริงทางช่องซื้อเพียงแค่ 1 รายการเท่านั้น ซึ่งเป็นรายการที่คนนอกนำมาเสนอ จากนั้นปฏิบัติเขี่ยคนนอกทิ้งเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทเองจึงเริ่มต้นขึ้น

บริษัทตัดเครดิตคนนอกออกเพื่อรับผลกำไรแบบไม่แบ่งใคร ผู้เขียนเสียใจถึงขั้นร้องไห้หนักมากเพราะไม่ใครเจอองค์กรที่ไหนยืมมือเราฆ่าคนอื่นมาก่อน ผู้เขียนโกรธองค์กรและสงสารคนนอกผู้นั้นเพื่อพยายามทุ่มเทอย่างหนักเพื่อสร้างสรรค์ผลงาน

วินาทีนั้นหัวหน้าเดินเข้ามาพูดว่า “คุณรู้ใช่ไหมว่าสถานการณ์ในออฟฟิศตอนนี้แย่ เราขาดผลกำไร เราจำเป็นต้องทำ” หลังจากนั้นผู้เขียนไม่เคยมององค์กรในภาพลักษณ์ที่ดีเลย วันสุดท้ายที่ลาออกจากที่ทำงานแห่งนี้ผู้เขียนรู้สึกทำถูกต้องมาก คิดแบบจองหองถึงวันนี้ว่า ‘ไม่ควรไปเกลือกกลั้วกับฝูงแร้ง’

ดังนั้นหากคุณเริ่มสงสัยในมาตรวัดจริยธรรมขององค์กรแล้วละก็ หากมีอะไรที่ผิดทำนองคลองธรรมไปสัก 1 ครั้ง เชื่อเถอะครั้งที่ 2 เกิดขึ้นแน่ ถ้าอยากเติบโตในแบบที่ต้องใช้สมองไปทำเรื่องมืดบอดก็ไม่ห้าม แต่ระวังสิ่งต่างๆ ตอนสะท้อนกลับมาคิดบัญชีในวันที่หมดผลประโยชน์และเริ่มไม่น่าไว้วางใจ

แต่ถ้าคุณรู้ตัวว่าใจสะอาดมากเกินกว่าที่จะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ดังนั้นไปหาที่สะอาดๆ อยู่ คงไม่ใช่เรื่องผิด

Photo : Freepik

6.ส่งผลกระทบทางจิตใจอย่างต่อเนื่อง

คุณไม่จำเป็นต้องฟังใครทั้งนั้น หากค้นพบว่าสภาพแวดล้อมต่างๆ ส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจอย่างต่อเนื่อง และการที่คุณอดทนในเรื่องหนึ่งได้ต่ำกว่าคนอื่นก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ ผู้เขียนเคารพในการตัดสินใจของเพื่อนที่ลาออกจากงานเพราะน้ำท่วมสุขุมวิทบ่อยเกินไป การเดินทางในรถติดๆ ที่น้ำท่วมขังติดต่อกัน 1 ปี ส่งผลให้อารมณ์เสียอย่างต่อเนื่อง ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดดำดิ่งลงจนเกิดความเครียดสะสม

เช่นกันในการทำงานเราสามารถเผชิญภาวะกดดันหรือเครียดไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ถ้าความวิตกหรือซึมเศร้าเล่นงานอย่างต่อเนื่องยังไงสภาพจิตใจคุณสำคัญกว่าสิ่งอื่นใดแน่นอน แม้จะมีเสียงตะโกนบอกว่าแล้วภาระกับคนข้างหลังล่ะ อันนี้ก็พิจารณาเอา แต่หากคุณน็อกลงไปยังไงก็ไม่สามารถช่วยใครได้อยู่ดี รีบทำตัวเองให้แข็งแรงในพื้นที่ที่เหมาะสมได้แล้ว

Photo : Freepik

7.สังคมเป็นพิษ

เรื่องอันดับ 1 ของคนที่ลาออกไม่ใช่เพราะทักษะหรือเนื้องาน แต่เป็นเพราะ ‘คน’ ต่างหาก และไม่ใช่เรื่องแปลกหากองค์กรของคุณมีคนที่ไม่ค่อยทำงาน มีพวกชอบกดคนอื่น หรือมีพวกขโมยผลงาน ฯลฯ แต่สิ่งที่น่าเจ็บปวดคือการที่องค์กรหลับตาข้างเดียวแล้วปล่อยให้คนเหล่านั้นกวนสังคมให้เป็นน้ำเน่า เพียงเพราะองค์กรคิดว่าพวกเขาทำงานได้

คิดสภาพว่าเราอยู่ในบ้านหรูใจกลางเมืองที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน แต่ดันมีกลิ่นเหม็นเน่าอบอวลตลอดเวลา แรกๆ ก็พอทำใจได้ แต่นานๆ ไปสภาพจิตใจคงดิ่งลงเหว

จงเชื่อมั่นในกฎดึงดูด ผู้คนที่มีนิสัยคล้ายกันจะถูกดึงดูดมารวมกัน บางองค์กรเป็นพิษตั้งแต่ระดับสั่งการไปยังลูกน้อง หากคุณอยากอยู่ง่ายๆ ก็ต้องเออออห่อหมกปฏิบัติตามธรรมเนียมที่เคยทำ แต่ถ้าอึดอัดใจที่ต้องทำอะไรไม่ถูกไม่ควร ก็เพียงยื่นใบลาออกเพื่อตัดมะเร็งร้ายไปซะ

Photo : Freepik

8.สถานการณ์ทางการเงิน

ปลายทางสุดท้ายที่อยากให้พิจารณาคือ ‘คุณมีแผนสำรองหรือยัง’ ทั้งงานใหม่ที่กำลังหา หรือในกรณีที่ไม่ไหวแล้วอยากไปมากๆ คุณได้มีเงินเก็บฉุกเฉินอย่างน้อย 6 เดือน – 1 ปี หรือไม่ ระหว่างนี้หากพอทนได้ก็เร่งสะสมเก็บเงินก้อนนี้ซะ แล้วเริ่มเรียนรู้ทักษะใหม่ที่โลกกำลังต้องการอย่างการใช้ AI หรือเริ่มต้นมองหาธุรกิจเล็กๆ จากงานอดิเรกของคุณไปพลางๆ ก็ได้ เมื่อถึงเวลานั้น จะได้หนีไปแบบโบกมือยิ้มหวานๆ

Photo : Freepik

บทสรุปไม่มีอะไรมาก หยิบปากกาติ๊กถูกดูว่าตอนนี้ชีวิตการทำงานประสบพบเจอหัวข้อไหนบ้าง แล้ววางแผนให้ดีระหว่างเงินสำรอง ภาระและสภาพจิตใจ และอย่าปล่อยให้ตัวเองอดทนจนถึงวันสุดท้ายที่สติแตก จริงๆ หากเสียงสัญญาณต่างๆ เหล่านี้ดังขึ้น ก็จงเตรียมหากระถางใบไม้รอได้เลย

Words: Varichviralya Srisai

you might like

คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว เปิดตัวนวัตกรรมสุดล้ำพลิกโฉมวงการแพทย์แผนจีน”กระจกตรวจโรคอัจฉริยะ AI” และ” หุ่นยนต์ เสี่ยวคัง AI”  ครั้งแรกในประเทศไทยพร้อมประกาศจัดงาน “ก้าวล้ำ คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว พัฒนาการที่ไม่หยุดนิ่ง” ครั้งที่ 2

Scroll to Top