เบื่องาน แต่ไม่อยากลาออก! นักจิตบำบัดเติมไฟเมื่อขาดแรงจูงใจทำงาน

จำวันแรกที่เริ่มต้นในสายงานของตัวเองได้หรือไม่ วันที่ยังงกๆ เงิ่นๆ แต่ก็เปี่ยมไปด้วยความกระตือรือร้น วินาทีที่ยังทำอะไรไม่คล่อง แต่นั่นไม่ได้น่ากลัวเท่ากับความรู้สึกในปัจจุบันที่คุณอยู่กับงานจนชินชา ตั้งแต่หัวหน้าแผนกการขายที่เหนื่อยจะพูดกับใครสักคน จนไปถึงแม่บ้านที่มองว่าการลุกไปทำความสะอาดช่างเป็นเรื่องที่ยากเหลือเกิน

ทางออกที่ดีที่สุดคืออะไร หยุดทำ หยุดทำไปตลอดชีวิต ไปเที่ยว ไปซื้อความสุข ไปหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ…แต่ไม่ใช่อย่างนั้นสิ ในเมื่อเราก็ยังต้องทำงานเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง

ดังนั้น ถอยกลับมาแล้วขยันทำงานโดยสร้างแรงบันดาลใจมันตรงนี้เลย บทความนี้จะบอกว่าควรทำอย่างไรถึงจะเพิ่มแรงจูงใจให้การใช้ชีวิตตลอดจนการทำงานลื่นไหลเหมือนวันแรกๆ

Photo: Freepik

ทำตัวให้เหมือนมีแรงบันดาลใจ

ไม่ใช่คุณคนเดียวแต่เราด้วย ก่อนบทความนี้จะเสร็จ ผู้เขียนนั่งจมอยู่กับตัวเองเกือบหนึ่งชั่วโมง อยากอัดคาเฟอีนกระตุ้นร่างกายเหลือเกิน ได้แต่มองไปที่กาน้ำร้อนก็รู้สึกถึงความยุ่งยากแม้จะแค่ลุกไปเสียบปลั๊กไฟ โชคดีคว้ามือถือค้นเจอบทความหนึ่งในเว็บไซต์ Verywellmind ของเอมี มอริน นักสังคมสงเคราะห์คลินิกที่ได้รับใบอนุญาต นักจิตบำบัดและผู้แต่งหนังสือ 13 Things Mentally Strong People Don’t Do ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ กว่า 40 ภาษา ได้ออกมาแนะนำวิธีการเพิ่มแรงจูงใจในการทำงานเบื้องต้น

ซึ่งเอมีแนะนำว่า ลองใช้พฤติกรรมนำทาง พฤติกรรมที่คุณจะทำในตอนที่คุณมีแรงบันดาลใจโดยไม่ต้องคิดอะไรเยอะ แทนที่จะนอนเขี่ยมือถือในชุดนอน ก็ลองลุกขึ้นไปแต่งตัวสวยๆ หรือในกรณีของเราคือหยิบกุญแจรถไปซื้อกาแฟร้านข้างบ้านเลย เลือกเมนูที่กินแล้วอารมณ์ดีสักแก้ว แม้จะใช้พลังงานกว่ากว่าลุกขึ้นไปเสียบปลั๊กก็เถอะ แต่มันได้ผล จบประเด็นวาระการกินกาแฟดีหรือไม่หลังจากนั่งทะเลาะกับสมองตัวเองอยู่เป็นชั่วโมง

ดังนั้น ตั้งคำถามกับตัวเองเวลาที่จะทำเริ่มทำอะไรสักอย่าง แล้วรู้สึกยากเหลือเกินว่า “ฉันจะทำอะไรในกรณีนี้ หากฉันมีแรงบันดาลใจ” ใส่ชุดแบบไหน แต่งหน้าแบบไหน หรือกินเมนูอร่อยอะไรอยู่ แล้วก็เอาตัวไปหาสิ่งนั้น

Photo: pvproductions on Freepik

หาเหตุผลเชิงบวกมาหักล้างความคิดเชิงลบ

ขณะที่ยังไม่เริ่มลงมือทำงาน บ่อยครั้งสมองเราจะมีเหตุผลร้อยแปดที่ล้วนแล้วแต่เป็นการฉุดรั้งตัวเอง เช่น งานนี้ยากเกินไป ฉันทำมันไม่สำเร็จหรอก ซึ่งกับดักประเภทนี้เกิดขึ้นได้กับทุกคน การมองเหตุการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้ง 2 ด้าน จะทำให้เกิดทัศนคติที่สมดุลมากขึ้น หากคุณคิดว่าจะล้มเหลวให้มองดูอีกแง่หนึ่งว่าทำไมคุณถึงประสบความสำเร็จในงานนี้ได้ แล้วคุณจะมีแรงบันดาลใจมากขึ้นและอยากเริ่มทำมัน

เห็นอกเห็นใจตัวเองให้มากขึ้น

บางครั้งเราคิดว่าการเข้มงวดกับตัวเองจะช่วยกระตุ้นแรงบันดาลใจและประสิทธิภาพในการทำงานได้ แต่ Self-Compassion หรือการเห็นอกเห็นใจตัวเอง ที่หมายถึงการยอมรับในความผิดพลาดของตัวเองว่าเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ และการเข้าใจว่าความไม่สมบูรณ์แบบเป็นเรื่องปกติ การมีมุมมองกับตัวเองเช่นนี้วิจัยชี้ว่าสามารถสร้างแรงกระตุ้นในการทำงานได้มากกว่า

ในปี 2011 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียพบว่าการเห็นอกเห็นใจตัวเอง ช่วยให้สลัดความคิดจมปักกับความผิดพลาด โดยทดลองกับนักเรียนที่สอบไม่ผ่าน ผลคือพวกเขามองตัวเองอย่างเห็นอกเห็นใจ ทำให้ใช้เวลาตั้งใจเรียนให้มากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าการมี Self-Acceptance หรือการยอมรับในตัวเอง ยอมในสิ่งที่ตัวเองมีหรือในสิ่งที่ตัวเองเป็น ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นพลังใจให้ก้าวผ่านจุดอ่อนของตัวเองได้

Photo: Freepik

กฎ 10 นาที

หลายครั้งผู้เขียนเคยพยายามใช้เวลาหนึ่งวันให้ถึงเป้าหมายมากที่สุด โดยตื่นเช้าล้างหน้า แปรงฟัน ตามด้วยออกกำลังกาย ทำอาหารเช้าสุขภาพ จากนั้นจึงจะมานั่งเขียนงาน  แต่ไม่ต้องถามเลยว่าประสิทธิภาพของงานในวันนั้นเป็นอย่างไร เพราะผู้เขียนสะดุดตั้งแต่การเริ่มออกกำลังกายแล้ว ในวันที่ปล่อยให้ความขี้เกียจเข้าครอบงำ มักมีความคิดว่า “1 ชั่วโมงเลยเหรอ มีออกกำลังกายแบบไหนบ้างไหม ที่เสร็จเร็วๆ” แล้ววันนั้นคุณภาพชีวิตดีๆ ที่ควรจะได้รับก็พังครืนลง

กฎ 10 นาทีช่วยได้เยอะ เอมีแนะนำว่าหากคุณกลัวหรือขาดแรงบันดาลใจที่จะทำอะไรบางอย่าง ลองตัดสินใจทำเลย เริ่มต้นทำแค่ 10 นาที ซึ่งสมองจะมองว่าเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ไม่เหลือบ่ากว่าแรง เมื่อครบ 10 นาทีแล้ว ลองถามตัวเองว่าอยากจะทำสิ่งนี้ต่อหรือไม่ ถ้าใช่ ขอแสดงความยินดีด้วย คุณเอาชนะตัวเองได้ แต่ถ้าไม่ คุณก็แค่หยุดกิจกรรมนั้นได้โดยไม่ต้องรู้สึกกดดันใดใดเลย

Photo: Freepik

เดินกินลมชมวิว

การเปลี่ยนบรรยากาศไปเดินเล่น ชมนกชมไม้ ไปจนถึงการออกกำลังกายเล็กๆ น้อยๆ สามารถเพิ่มแรงจูงใจให้กับคุณได้ ผลการศึกษาในปี 2013 ที่ตีพิมพ์ใน British Journal of Sports Medicine พบว่าการออกไปเดินเล่นประมาณครึ่งไมล์ สามารถลดความเหนื่อยล้าของสมองได้ ซึ่งการได้สัมผัสธรรมชาติจะช่วยให้สมองสงบลงและพร้อมจะรับมือกับงานที่ยากๆ ได้

จับคู่งานที่แสนจะยุ่งเหยิงเข้ากับสิ่งที่ชอบ

ผู้เขียนเคยเห็นน้องสาวที่เรียนภาควิชาคหกรรม พยายามแกะสูตรขนมเพื่อใช้ในการสอบพร้อมกับฟังพอดแคสต์เรื่องผีจากรายการดัง ตลอดจนขณะที่เขียนบทความนี้ผู้เขียนก็เอาแมวมานอนขยำพุงข้างๆ คุณเคยสังเกตุตัวเองไหมว่าการออกกำลังกายจะง่ายขึ้นหากมีอัลบั้มเพลงโปรดในมือถือ และไม่แปลกใจเลยว่าเทรนด์ออกกำลังกายแบบ Cozy Cardio ที่เคยฮิตใน TikTok ที่ทำให้การคาร์ดิโอเป็นเรื่องง่ายขึ้น หากทำไปด้วย จิบเวย์โปรตีนรสชาติโปรด สวมถุงเท้าลายโปรด และดูภาพยนตร์ทางเน็ตฟลิกซ์ไปด้วย

นั่นเป็นเพราะ ‘อารมณ์’ ที่มีส่วนช่วยกระตุ้นแรงจูงใจในการทำงานเป็นอย่างมาก หากคุณอารมณ์ดี การทำงานก็จะลื่นไหลได้ง่าย ในทางตรงข้ามเมื่อรู้สึกโกรธ เศร้า หรือวิตก คุณจะพบว่างานในลักษณะเดียวกันจะทำได้ยากขึ้น

ลองจับคู่กิจกรรมที่คุณโปรดปรานเข้ากับงานที่ยุ่งยากดู เช่น โทรคุยกับเพื่อนขณะทำงานบ้าน จุดเทียนหอมขณะนั่งพิมพ์งาน หรือดื่มเครื่องดื่มรสชาติโปรดระหว่างชั่วโมงเขียนแผนธุรกิจ เป็นต้น แต่ก็ต้องระวังกิจกรรมที่อาจจะผลลบต่อสมาธิในการทำงานด้วย

Photo: Freepik

จัดรายการที่ต้องทำของวัน

การมีงานที่ต้องทำในหนึ่งวันมากเกินไปทำให้หมดกำลังใจได้ ลองเขียนรายการงานทั้งหมดดู แล้วจัดลำดับความสำคัญ ว่างานใดที่ควรทำให้เสร็จภายในวันนี้ งานใดสามารถทำเสร็จในวันถัดไป วิธีนี้จะทำให้กำจัดงานที่ไม่เร่งรีบออกไป ช่วยให้เห็นภาพความสำเร็จลางๆ เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้อยากเริ่มต้นทำงานได้

เริ่มต้นจากการดูแลตัวเอง

จริงๆ แล้วการดูแลตัวเองเป็นพื้นฐานในทุกๆ เรื่อง กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย ดื่มน้ำและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงควรมีการพักผ่อนระหว่างชั่วโมงทำงานด้วย เมื่อสุขภาพกายสุขภาพจิตดี แรงบันดาลใจในการทำงานจะเกิดขึ้นได้โดยง่าย

Photo: Freepik

ให้รางวัลตัวเอง

หากชั่วโมงการทำงานช่างยาวนาน ลองให้รางวัลตัวเองเช่น พิมพ์งานครบ 500 คำ พัก 10 นาที หรือทำเอกสารที่ประชุมได้ 10 หน้าแล้วไปทำกิจกรรมอย่างอื่นที่คุณชื่นชอบ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้คุณฮึดและมีพลังใจในการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย โปรดอย่าลืมว่ารางวัลของคุณจะต้องไม่เป็นตัวบั่นทอนความสำเร็จ อย่างอนุญาตให้กินขนมหวานหากออกกำลังกายเสร็จเป็นต้น

ขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ และแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

บางครั้งการขาดแรงจูงใจเป็นอาการเริ่มต้นของปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น เช่น คุณอาจจะเป็น Perfectionist หรือผู้ที่ชื่นชอบความสมบูรณ์แบบ จนไม่อาจเริ่มทำงานได้เนื่องจากกลัวผลลัพธ์ที่ออกมามีจุดผิดพลาด ไปจนถึงการหลีกเลี่ยงงานเนื่องจากชอบอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยของตนเอง เป็นต้น ดังนั้น คุณอาจจะต้องพิจารณาถึงสาเหตุหลักของการขาดแรงจูงใจครั้งนี้ว่าคืออะไร

แต่สุดท้ายหากพบว่าขาดแรงจูงใจเกินสองสัปดาห์ขึ้นไป เช่น ไม่อยากตื่นไปทำงาน ประสิทธิภาพในการทำงานแย่ลง ไม่อยากพบปะเสวนากับใคร คุณควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างแพทย์หรือจิตแพทย์ เพราะนี่อาจจะเป็นสัญญาณเตือนของสุขภาพกายและสุขภาพจิต ที่อาจเกี่ยวพันกับอาการซึมเศร้าหรืออื่นๆ เป็นต้น

การขาดแรงจูงใจในการทำงานและในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน บทความนี้เป็นวิธีรับมือเบื้องต้นที่จะช่วยให้คุณมีแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้น ยังไงลองนำไปปรับใช้ดู ข้อไหนเวิร์ก ไม่เวิร์ก แวะอินบอกซ์มาบอก The Optimized บ้างนะ

 

Words: Varichviralya Srisai

ข้อมูลจาก

you might like

Scroll to Top