ไม่ใช่ครั้งแรกที่พบเห็นคนร้องไห้ฟูมฟายและทุกครั้งก็มีก้อนอารมณ์ที่ผสมระหว่างการเห็นใจและทำตัวไม่ถูกเกิดขึ้นเสมอ
เหตุเกิดที่ร้านถ่ายเอกสารที่ผู้เขียนต่อคิวใช้บริการอยู่ โดยหญิงสาวก่อนหน้านั้นทำการพิมพ์เอกสารทั้งหมดรวมมูลค่า 480 บาท เมื่อเจ้าของร้านพูดด้วยท่าทีเป็นมิตรว่า “เอกสารหลายแผ่นเลย เดี๋ยวแถมซองใสใส่เอกสารให้นะคะ” จากนั้นเธอก็ร้องไห้ออกมาเสียงดังราวกับเด็กน้อย พร้อมพรั่งพรูว่าตนกำลังนำเอกสารไปแจ้งความหลังโดนแก๊งมิจฉาชีพหลอกให้โอนเงิน 3 หมื่นบาทเพื่อมัดจำก่อนทำการกู้เงินก้อนใหญ่
Photo: Freepik
ผู้เขียนไม่ได้อยู่ในฐานะผู้ตัดสินว่าพฤติกรรมของเธอนั้นถูกหรือผิด และพยายามอย่างยิ่งที่รักษาความเห็นใจในระดับที่พอดี จึงรีบหยิบกระดาษทิชชูที่วางบริเวณเคาน์เตอร์ยื่นให้ แล้วพูดเบาๆ ว่า “ที่ผ่านมาพี่คงหนักใจกับเรื่องนี้มาก และพี่กล้าหาญมากที่เลือกที่จะสู้ วันนี้ร้องไห้ได้ตามสบาย เชื่อว่าไม่นานพี่จะจัดการสถานการณ์นี้ได้”
ไม่รู้ว่าพูดเยอะไปไหมแต่ทั้งนี้ผู้เขียนไม่อยากให้เธอรู้สึกผิดหลังร้องไห้ที่มักจะเป็นวังวน โดยเริ่มจากความรู้สึกท่วมท้น โทษตัวเองในเหตุการณ์ จากนั้นเริ่มร้องไห้ แล้วกลับมาควบคุมอารมณ์ได้ ตามด้วยความรู้สึกผิดและอับอายที่ตัวเองร้องไห้ ทำการขอโทษขอโพย แล้วก็โทษตัวเองต่อ
Photo: Freepik
คุณเคยมีซีนอารมณ์ซีนใหญ่บ้างไหม?
“ใช่แล้วค่ะ…ผู้เขียนเคยร้องไห้ในที่สาธารณะ แล้วก็รู้สึกอายเสมอ” มีตั้งแต่สถานการณ์ที่เข้าใจได้อย่างเช่นการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก วันที่โกรธเพราะโดนขโมยโปรเจกต์ วันที่เงินจ๊อบไม่ยอมออก ไปจนถึงปาดน้ำตาหลังจากอ่านข่าวหมาแมวโดนทารุณกรรม เป็นต้น ทั้งนี้เมื่อใจเย็นลงก็จะแบกรับความรู้สึกอับอายมาแทน อายเพราะกลัวคนมองว่าอ่อนแอ
แท้จริงแล้วการปล่อยให้น้ำตาไหลออกมาดีกว่ากล้ำกลืนความรู้สึกให้จุกอก โดยบทความของ Psychologs นำเสนอจิตวิทยาเบื้องหลังการร้องไห้ว่า หลังจากที่เราร้องไห้เราจะจัดการอารมณ์ได้ดีขึ้น ช่วยทำให้เราทบทวนและเข้าใจสถานการณ์ได้ดีขึ้น นั่นหมายถึงดีต่อสุขภาพจิต
Photo: Freepik
การร้องไห้ส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจเราอย่างไร
1.ช่วยลดความตึงเครียด
ขณะที่เราร้องไห้ ฮอร์โมนออกซิโทซินจะถูกปล่อยออกมาช่วยทำให้จิตใจสงบและสร้างความผูกพัน โดยฮอร์โมนดังกล่าวยังช่วยลดความเครียดและช่วยให้มนุษย์รู้สึกเชื่อมโยงต่อกันมากขึ้นอีกด้วย รวมถึงการร้องไห้ยังช่วยกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งเอนดอร์ฟิน ฮอร์โมนแห่งความสุข ที่จะทำให้เรารู้สึกดีขึ้นหลังจากนั้น
2.ทำให้ควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น
อะไรที่มันเอ่อล้นเกินไปก็ถึงเวลาที่ต้องระบายออก การร้องไห้ช่วยระบายความรู้สึกสุดโต่งที่ครอบงำเรา ทำให้เราสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น และมีสติจัดการกับเหตุการณ์หรืออุปสรรคต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น
3.ทำให้เราสามารถยืดหยุ่นกับชีวิต
หลังจากร้องไห้ให้กับประสบการณ์ที่ยากลำบาก มนุษย์จะประมวลผลและเรียนรู้ ทำให้สามารถรับมือในวิธีการที่ยืดหยุ่นมากขึ้น
Photo: Freepik
และการร้องไห้ในที่สาธารณะช่วยอะไรเรา
1.สร้างความสัมพันธ์ให้แข็งแกร่งมากขึ้น
การที่มนุษย์แสดงความเปราะบางออกมาในรูปแบบน้ำตาสามารถแสดงให้เห็นว่าเราเชื่อใจและพร้อมเปิดรับให้บุคคลต่างๆ เข้าถึงอารมณ์ เป็นการสร้างสายใยความผูกพันธ์ทางสังคมวิธีการหนึ่ง
2.เพิ่มความเห็นอกเห็นใจ
การพบเห็นผู้คนที่ร้องไห้สามารถทำให้สมองมนุษย์เกิดความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจและเชื่อมโยงทางอารมณ์กับบุคคลดังกล่าวได้มากขึ้น
Photo: Freepik
เราควรทำอย่างไรหากกำลังจะร้องไห้ในที่สาธารณะ
1.โปรดอย่าตกใจ
สะอึกสะอื้นอย่างสงบและไม่ต้องกังวลกับสายตาใคร เราไม่โกหกว่าขณะนี้สายตาหลายคู่ต่างจับจ้องมาที่คุณอยู่แล้ว เพียงแต่พวกเขาไม่ได้คิดลบเหมือนอย่างที่คุณกังวล เขาไม่ได้มองแล้วเย้ยหยันว่าคุณอ่อนแอ พวกเขาไม่ได้โกรธหรือรำคาญ บางครั้งเขากำลังสงสัยและรู้สึกอยากปลอบประโลมคุณด้วยซ้ำ ดังนั้นอย่าตกใจไป
2.สูดหายใจลึกๆ
วิธีที่ง่ายสุดคือการสูดลมหายใจเข้าออกลึกๆ ช้าๆ แล้วคุณจะพบว่าคุณควบคุมสถานการณ์ได้ดีขึ้น
3.ถามหาบริเวณส่วนตัว
หากคุณประหม่าเกินไป คุณสามารถขอร้องผู้คนที่เกี่ยวข้องให้ช่วยหามุมเงียบๆ สงบๆ เพื่อให้คุณได้ปลดปล่อยอารมณ์ได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นห้องรับรองลูกค้าในธนาคาร โซนมุมสุดของร้านอาหาร เป็นต้น
Photo: Freepik
4.พาตัวเองไปอยู่ในที่ฮีลใจ
ไม่ว่าจะมีแผนทำกิจกรรมสักกี่อย่าง แต่วันนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือการเซฟหัวใจตัวเอง อย่างอาบน้ำอุ่นกับครีมอาบน้ำกลิ่นโปรด นอนดูเน็ตฟลิกซ์พร้อมเพลิดเพลินกับเมนูที่คุณชอบ เป็นต้น
5.ไม่ผิดที่ร้องไห้
คุณไม่สามารถพยากรณ์วันร้องไห้ได้แม่นยำเท่ากับการพยากรณ์อากาศด้วยซ้ำ ถ้ามันเกิดก็ปล่อยให้มันเกิด จงอย่าอาย อย่าโทษตัวเอง บางครั้งมุมมองที่ว่า “ฉันล้มเหลวที่นั่งร้องไห้บนบีทีเอส” ควรถูกแทนที่ด้วยแนวคิด “วันนี้ฉันมีอารมณ์ท่วมท้นบนบีทีเอสและมันเกิดขึ้นได้ เพียงแต่วันนี้มันไม่ใช่ที่บ้าน แค่นั้นเอง”
Photo: Freepik
เชื่อเถอะค่ะว่าไม่ใช่คุณคนแรกที่นั่งร้องไห้ในร้านอาหาร ไม่ใช่คุณคนแรกที่เดินร้องไห้ในห้าง และทุกเรื่องก็สมเหตุสมผลที่ควรจะปลดปล่อยน้ำตาออกมา อย่างที่ผู้เขียนเคยน้ำตาไหลขณะพักเที่ยง เพราะมังกร CG ในเรื่อง Game of Thrones ถูกแทงจนตาย ดังนั้น ถ้าการอั้นไว้แล้วมันไม่ดีกับสุขภาพ โนสน โนแคร์ แล้วมาอยู่ในชมรมคนเจ้าน้ำตาด้วยกันนะคะ
Words: Varichviralya Srisai
ข้อมูลจาก
- https://www.youngminds.org.uk/young-person/blog/what-to-do-if-you-cry-in-public-and-why-it-s-okay/
- https://www.psychologytoday.com/us/blog/a-different-kind-of-therapy/202310/people-who-cry-are-happier