หากรับบท ‘เดอะแบก’ คุณอาจเผชิญหน้ากับปม ‘พี่สาวคนโต’

คุณเป็นคนหนึ่งหรือเปล่าที่ยกมือเป็นผู้นำในโปรเจกต์ ทำพรีเซนเทชันให้ดี ประสานงานกับทุกฝ่าย ไปจนถึงเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยเมื่อเกิดข้อผิดพลาด ขอแสดงความยินดี คุณคือ ‘เดอะแบก’ ที่ The Optimized จะพาไปสางปมในใจคุณให้เบาขึ้น

แต่ก่อนจะฟันธง มาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ใน 2 กรณีนี้มองได้ 2 มุม อย่างแรกคือปัญหาเกิดจากทางออฟฟิศที่ไม่เป็นระบบ อันนี้ก็ต้องหาวิธีแก้ไขโดยเฉพาะ แต่กรณีที่ 2 การที่คุณ ‘แบก’ เพราะรู้สึกว่าไม่ไว้ใจที่จะให้คนอื่นทำ จนไปถึงเกิดความรู้สึกผิดว่างานนี้ควรจะเป็นคุณจัดการเท่านั้นในฐานะผู้นำ ทั้งๆ ที่เป็นงานส่วนรวม ไม่แน่ว่าคุณกำลังเข้าข่าย Eldest Daughter Syndrome หรือปมพี่สาวคนโตอยู่หรือเปล่า

Photo: Freepik

ปม Eldest Daughter Syndrome ในภาพยนตร์เรื่อง 7 เป็น 7 ตาย

SPOILED ALERT!

อยากอธิบายปมพี่สาวคนโตให้อรรถรสมากขึ้นผ่านภาพยนตร์ระทึกขวัญแนวดิสโทเปีย เรื่อง 7 เป็น 7 ตาย (What Happened to Monday) ของผู้กำกับทอมมี เวียน์โกลา ซึ่งเนื้อเรื่องเล่าถึงยุคอนาคตที่ทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัดและทุกครอบครัวมีสิทธิมีลูกได้แค่1คน หากมากกว่านั้นจะต้องนำเด็กไปเข้าแคปซูลที่สามารถหยุดการพัฒนาเซลล์ ก่อนออกมาใช้ชีวิตอีกครั้งหลังโลกผ่านกลียุค ซึ่งเรื่องเฉลยทีหลังว่าแคปซูลดังกล่าวไม่ได้แช่แข็งมนุษย์เพื่อรอวันเป็นอิสระอย่างที่กล่าวอ้างแต่เป็นการระเบิดเผาร่างให้เป็นจุณต่างหาก

Courtesy of Vendôme Pictures

เรื่องราวโกลาหลเริ่มต้นขึ้นเมื่อครอบครัวตัวเอกคลอดเด็กออกมาเป็นแฝด 7 คน ซึ่งตั้งชื่อตามวันเรียงกันไปตั้งแต่ Monday ถึง Sunday และทุกคนจะออกไปใช้ชีวิตได้ตามวันที่ตรงกับชื่อของตนเท่านั้น โดยต้องแต่งตัวแต่งหน้าและแสดงอากัปกิริยาให้เหมือนกันเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้คน

หนังแสดงให้เห็นว่าแม้จะเป็นแฝด 7 แต่การที่เธอใช้ชีวิตในวันที่แตกต่าง ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนกันทำให้มีบุคลิกภาพส่วนตัวแตกต่างกันด้วย เช่น Monday เธอเปรียบเสมือน ‘พี่สาวคนโต’ เธอเป็นผู้ที่ต้องตื่นเช้ามาเผชิญหน้ากับวันจันทร์ ต้องเป็นผู้นำเริ่มต้นใช้ชีวิต เริ่มต้นแบกรับภาระงาน เป็นผู้กำหนดเส้นทางชีวิตให้น้องๆ คนอื่นให้เดินตามเส้นทาง ซึ่งแตกต่างจากน้องคนอื่นๆ เช่น Saturday ที่ชอบหนีไปปาร์ตี้เพราะเธอได้ใช้ชีวิตในวันหยุด เป็นต้น

Courtesy of Vendôme Pictures

วันหนึ่ง Monday หายตัวไป น้องๆ ทั้ง 6 คนจึงพยายามตามหาแบบระเบิดภูเขาเผากระท่อม แต่แล้วเรื่องก็เฉลยว่า Monday ตั้งครรภ์ เธอจึงร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อวางแผนกำจัดเหล่าน้องสาวของตัวเองทั้งหมดเพราะเธออยากใช้ชีวิตอย่างเป็นอิสระ เธออยากมีครอบครัวตามความฝัน อยากเลิกเป็นคนที่ริเริ่มจัดการวางแผนทุกอย่าง และมองเห็นน้องๆ ที่ไม่เป็นโล้เป็นพายทำมันพัง ก่อนจะปิดท้ายด้วยการที่เธอมาตามเช็ดตามล้างในวันจันทร์ถัดไป
คำถามคือ เราควรจะโกรธตัวละครนี้ที่วางแผนเพื่อกำจัดพี่น้องตัวเอง ถูกไหม? แต่กลับกลายเป็นว่าคนดูหลายคนเข้าใจและสงสารเธอในฐานะ ‘พี่สาวคนผู้แบกรับ’ หากเพียงแต่วิธีที่เธอใช้สุดโต่งไปหน่อย แต่เข้าใจได้ภายใต้สถานการณ์กึ่งบังคับ

Courtesy of Vendôme Pictures

ปมพี่สาวคนโตคืออะไร?
จริงๆ แล้วเรื่องราวของ Monday ถ้าตัดการวางแผนฆ่าน้องๆ ออกไป ก็ไม่ต่างอะไรกับค่านิยมของสังคมไทยที่คาดหวังว่าลูกสาวคนโตจะต้องทำหน้าที่แบ่งเบาภาระของพ่อแม่ เช่นช่วยเลี้ยงน้อง ทำงานบ้าน ทำอาหาร ขับรถพาน้องไปส่งที่โรงเรียน เป็นต้น แม้เราตะโกนเรื่องความหลากหลายและความเท่าเทียมแต่ก็ยังพบว่าหน้าที่บางอย่างถูกกำหนดด้วยบทบาททางเพศจากสังคม ดังนั้น การเป็นลูกสาวคนโตมักจะถูกเลี้ยงดูอยางเข้มงวดและแบกรับความคาดหวังของพ่อแม่อยู่มาก
ลูกสาวคนโตต้องเสียสละช่วงเวลาในวัยเด็กและมีภาวะความเป็นผู้นำสูง ทำให้ลึกๆ แล้ว รู้สึกว่าต้องรับผิดต่อคนอื่นๆ ทั้งหมด และจะรู้สึกผิดเพิ่มขึ้นหากไม่สามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของทุกคนได้ รวมถึงการเติบโตมาในภาวะที่ปราศจากการช่วยเหลือจากบุคคลอื่นและทำทุกอย่างด้วยตัวเองส่งผลให้คุ้นชินกับพฤติกรรมการเป็น ‘เดอะแบก’ ทั้งๆ ที่คุณมีสิทธิจะขอความช่วยเหลือจากคนอื่นในทีม

Photo: Freepik

สัญญาณของปมพี่สาวคนโต
นอกเหนือจากพฤติกรรมการเป็นเดอะแบก และการกลัวว่าคนอื่นจะไม่รักเพราะสนองตอบต่อความต้องการนั้นๆ ไม่ได้ พบว่าผู้ที่มีภาวะ Eldest Daughter Syndrome มีความเป็น Perfectionist สูง การเติบโตมาพร้อมกับการคาดหวังของพ่อแม่ จากสังคม จากเพื่อนร่วมงาน ทำให้เหล่าพี่สาวคนโตทำงานโดยตั้งเป้าหมายต่อตัวเองไว้สูงมาก ซึ่งถ้าพิจารณาในคุณภาพงานอาจจะเป็นเรื่องที่ดี แต่มักพบว่ากุมความเหนื่อยล้าไว้ในหัวใจ (อย่างตัวละคร Monday)

Photo: Creative Art on Freepik

นอกจากนี้ยังพบพฤติกรรมชอบควบคุมสถานการณ์และควบคุมผู้อื่นอยู่เสมอ เนื่องจากพวกเธอคุ้นเคยกับการวางแผนและแก้ไขปัญหาตามแผนการตั้งแต่ยังเด็ก เธอจะรู้สึกวิตกกังวลหากสถานการณ์เหล่านี้ไม่เป็นไปตามแผน
ผู้ที่มีภาวะ Eldest Daughter Syndrome มักดึงดูดให้ผู้ที่ปัญหาและความขัดแย้งอื่นๆ เข้ามา เพราะพวกเธอเชี่ยวชาญในการไกล่เกลี่ยและแก้ไขปัญหาตั้งแต่เด็ก บางครั้งถามใจตัวเองดูว่าคุณสบายใจหรือไม่ที่ต้องมาแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ นี้ เพราะทุกปัญหาสอนให้คนเก่งขึ้นก็จริงแต่ก็สูบพลังงานชีวิตไปมากโข

Photo: Freepik

โอบกอดพี่สาวคนโต

วันนี้เราไม่ได้เชี่ยวชาญที่จะชี้ว่าการหลุดพ้นจากภาวะ Eldest Daughter Syndrome ต้องทำอย่างไร นอกจากแนะนำว่าลองปรึกษาและขอคำแนะนำจากจิตแพทย์ แต่เราจะพาคุณมาทำความรู้จักทั้งพี่สาวคนโตที่กำลังนั่งเหนื่อยอยู่ในใจ

ถ้าเข้าใจเธอแล้วก็เข้าไปโอบกอดเธอบ่อยๆ พาเธอไปหาความสุขบ้าง รวมถึงอยากให้เข้าใจพี่สาวคนโตคนอื่นๆ ที่กำลังนั่งอยู่ในใจเพื่อนร่วมงาน เมื่อเราเข้าใจ เราจะรู้วิธีปฏิบัติได้อย่างละมุนละม่อมขึ้น และอยู่ในโลกแบบฉบับพี่สาวน้องสาวได้ง่ายขึ้นด้วย

 

Words: Varichviralya Srisai

ข้อมูลจาก

you might like

ททท. เปิดตัวโครงการ “สุขทันที ปลายปีเที่ยวไทย” ดึง 4 เซเลบริตี้ต่าง Gen รุกประชาสัมพันธ์สร้างกระแสการเดินทางของกลุ่มนักท่องเที่ยวศักยภาพ กระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวช่วงปลายปี 

Scroll to Top