ผู้เขียนเป็น Lazy Girl Jobs ที่โคxรขยัน!
กำลังขมวดคิ้วเพราะข้อความกำกวมนี้อยู่ใช่ไหมคะ? อะไรคือ ‘Lazy Girl Jobs’ บทความนี้จะมาเล่าว่าชีวิตได้อะไรจากการทำงานแบบ ‘ผู้หญิงขี้เกียจ’ บ้างตลอดครึ่งปี
“ผู้เขียนอยากเป็นหัวหน้าหรือผู้จัดการเหมือนหลายๆ ท่าน” แต่นั่นในอดีตเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ในสมัยที่ทำงานใหม่ๆ ผู้เขียนรักในสายงานสื่อข่าวและคอนเทนต์ครีเอเตอร์มากๆ จนทำให้ 10 ปีที่ผ่านมาวนเวียนอยู่ในสายงานนี้และสัมผัสการทำงานของพนักงานระดับหัวหน้าหลายท่าน
อยู่มาวันหนึ่งชีวิตถึงอายุที่ต้องปรับเปลี่ยนเป็นตำแหน่งอาวุโส และองค์กรก็กางแผนการเติบโตให้ดูว่าที่หลังจากบรรลุภารกิจของตำแหน่งคอนเทนต์ครีเอเตอร์อาวุโสแล้ว ซึ่งได้แก่การให้คำแนะนำน้องๆ ในทีม การแก้ไขคอนเทนต์ลูกค้าที่ผิดพลาด การพัฒนาคอนเทนต์ให้ลูกค้าพึงพอใจ และก้าวเข้ามามีทีมของตัวเองจนกลายเป็นหัวหน้าทีมในที่สุด
Photo: wayhomestudio on Freepik
Yes, and?
“ดีใจค่ะที่องค์กรเห็นความสามารถ” แต่ปัญหาคือ “ไม่อยากเป็นแล้วค่ะ” แม้ได้เงินตอบแทนจำนวนมาก แต่แลกมาด้วยเวลาที่หายไปและความเครียดในเนื้องานที่หนักอึ้ง ไหนจะคุมลูกน้องที่มีความหลากหลายและเป้าหมายที่ต้องบรรลุให้ได้ในทุกปีอีกล้านแปด
“ผู้เขียนยังต้องการความสุขในด้านอื่นๆ ในชีวิต เช่น การทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่เครียด การได้เที่ยวบ้างเล็กน้อย การออกกำลังกายทุกเช้า การมีเวลาทำอาหารที่รัก ตลอดจนกิจกรรมและโปรเจกต์ส่วนตัวอื่นๆ ที่ไอเดียพรั่งพรูอยู่เสมอ”
และสิ่งที่นำพาความสุขต่างๆ เหล่านี้คือ ‘เวลาและการบาลานซ์ชีวิต’ ดังนั้นการไต่เต้าขึ้นไปรับตำแหน่งสูงๆ ไม่ใช่รูปแบบชีวิตที่อยากได้แม้แต่น้อย
Photo: Freepik
ทั้งๆ ที่งานเท่านี้ก็ดีอยู่แล้ว
ในเวลานี้กลับรู้สึกสนุกกับการทำงานในขอบเขตเท่านี้แล้วไม่ขาดไม่เกิน ผู้เขียนเป็นประเภทที่ว่างานใดที่รักและมีความสุขก็จะทำได้ดี และชัดเจนในตัวเองว่าหากต้องนั่งบริหารคนคงไม่ใช่ทาง นี่ไม่นับรวมขอบข่ายงานงอกอย่างอื่นที่ถูกเหมารวมให้ผู้จัดการทำราวกับเป็นแพ็กเกจแบบบุฟเฟต์
“ผู้เขียนตัดสินใจลาออกแบบอินดี้ไปเลย”
Lazy Girl Jobs ที่โคxรขยัน
การใช้ชีวิตแบบฟรีแลนซ์มีความตื่นเต้นเร้าใจในเรื่องเงินประมาณหนึ่ง เพราะรายได้ไม่ได้ถูกจ่ายทุกสิ้นเดือนเหมือนพนักงานประจำ และลุ้นระทึกเสมอว่าเดือนต่อไปฉันยังได้ทำงานนี้อยู่ไหม แต่ผู้เขียนแลกมาด้วยการใช้ชีวิตในแบบที่อยากได้อย่างที่ปรากฎในเทรนด์ดังใน TikTok เมื่อปลายปี ‘Lazy Girl Jobs’
หลังจากช่วงโควิดที่ผ่านมา ผู้คนได้ทำงานแบบ Remote Work ที่สามารถทำงานที่ใดก็ได้ทั่วทุกมุมโลก ซึ่งปรากฏว่าหลายคนชื่นชอบ จนเมื่อสถานการณ์โควิดทุเลาลงหลายคนยังโหยหาชีวิตเช่นนี้ โดยมองว่ามีอิสระในการทำงานและเหลือเวลาพัฒนาคุณค่าของชีวิตด้านอื่นที่นอกเหนือจากงาน พร้อมยังได้เงินหรือผลตอบแทนในระดับที่ยิ้มออก ซึ่งกลายมาเป็นรูปแบบชีวิตทำงานที่เจนวายและเจนซีใฝ่ฝันหา
Photo: Freepik
การทำงานแบบ Lazy Girl Jobs สรุปได้ดังนี้
- เป็นงานที่ทำที่ใดก็ได้บนโลกนี้ทั้งรูปแบบงานประจำและงานอิสระ
- พนักงานออกแบบเวลาและวิธีการทำงานได้เองโดยไม่ส่งผลกระทบกับคุณภาพงาน ซึ่งไม่ต่างกับการผลิตเนื้องานในออฟฟิศ
- เป็นงานที่ไม่หนักหรือส่งผลต่ออารมณ์หรือความเครียดมากเกินไป
- ให้ผลตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ
- ต้องไม่เบียดเบียนคุณภาพชีวิตหรือลดทอนความสุขในด้านอื่นๆ
และแม้ว่าจะให้คำจำกัดความว่า ‘Lazy Girl Jobs’ แต่ไม่ได้หมายถึงต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น จะเป็นผู้ชาย LGBTQ+ ยังไงก็ได้ เพียงแต่ผู้ที่ออกมาให้คำจำกัดความและสร้างเทรนด์นี้ครั้งแรกใน TikTok คือคุณกาเบรียล จัดจ์ ที่เป็นผู้หญิง
ทั้งนี้มีการรับชมคอนเทนต์ภายใต้แฮชแท็ก #LazyGirlJobs กว่า 23 ล้านครั้ง ซึ่งก็ไม่ได้ความว่าทุกคนที่อยากมีชีวิตแบบนี้คือคนขี้เกียจหรือหมดไฟ และผู้เขียนยืนยันได้ว่ารักการทำงานและผลิตงานเสร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในทุกครั้งอีกด้วย
Photo: Freepik
‘Lazy Girl Jobs’ ให้อะไรเรา
จากประสบการณ์ทำงานแบบ Lazy Girl Jobs มาครึ่งปีจึงอยากแบ่งปันกับผู้อ่านว่าชีวิตได้อะไรกลับมาบ้าง ดังนี้
- ได้อิสระในชีวิต สามารถกำหนดเวลาได้ว่าควรเริ่มทำงานกี่โมง สิ้นสุดกี่โมง ชีวิตมีความยืดหยุ่นสูง
- ผู้เขียนมีเวลาอยู่กับคนที่รักมากขึ้น ได้อยู่กับครอบครัว ได้อยู่กับแมว เป็นต้น
- มีเขียนมีเวลาปลดล็อกศักยภาพด้านอื่น เช่น ได้ทดลองทำอาหารตามสูตรในยูทูบหรือตำราต่างๆ
- ผู้เขียนได้ทดลองทำช่อง TikTok ของตัวเอง ได้พัฒนาทักษะการใช้ AI ทำภาพประกอบบทความ เป็นต้น
- มีเวลาออกกำลังกายเพิ่มขึ้น อ่านหนังสือเพิ่มขึ้น
- ผู้เขียนมีเวลาพัฒนากิจการขายขนมของครอบครัวมากขึ้น เกิดไอเดียต่อยอดพัฒนาสินค้าต่างๆ
ผู้เขียนได้ค้นพบรูปแบบการทำงานที่ได้ทำงานไปด้วยเที่ยวไปด้วยอย่าง ‘Workcation’ ที่เคยนำเสนอในบทความทำงานพร้อมไปเที่ยว! ชวน WORKCATION กางโน้ตบุ๊กทำงานริมทะเล อ่านบทความเพิ่มเติม : https://theoptimized.co/lifestyle/ทำงานพร้อมไปเที่ยว-ชวน-workcati/
Photo: Freepik
‘Lazy Girl Jobs’ ท้าทายอะไรเรา
ทุกอย่างมีข้อดีข้อเสีย ผู้เขียนจึงฝากให้พิจารณาหากผู้อ่านอยากมีรูปแบบทำงานแบบ Lazy Girl Jobs
- ไม่ใช่ทุกองค์กรเห็นด้วย เนื่องจากฝ่ายทรัพยากรบุคคลมองว่าการที่พนักงานแยกย้ายกันไปทำงานเกรงว่าจะไม่เต็มที่ (แม้จะทำเสร็จตามกำหนดส่งเป็นอย่างดี) และที่สำคัญพวกเขามองว่าเป็นการลดทอนความสามัคคีหรือทีมเวิร์กในบริษัท รูปแบบการทำงานแบบนี้อาจไม่สามารถทำได้ทุกคน
- คุณต้องมีวินัยในตนเองสูงมาก เพราะการที่ไม่มีกฎระเบียบ ไม่มีกล้องวงจรปิด ไม่มีเจ้านายมานั่งคุม คุณต้องแน่ใจว่างานที่ออกมาจะมีคุณภาพที่ดีและเสร็จสิ้นตามเวลา
- หากจัดเวลาพลาดจะส่งผลให้การทำงานไร้สมดุลทันที เพราะมีหลายคนที่ไม่ชอบการ Work from Home เนื่องจากกลางวันไม่ได้งานจึงต้องโหมงานในเวลากลางคืน ซึ่งส่งผลในนาฬิกาชีวิตรวน
- มีโอกาสที่คุณจะใช้เงินมากกว่าปกติ เช่นค่าน้ำ ค่าไฟ ในกรณีที่คุณเลือกทำงานอยู่บ้าน หรือค่ากาแฟ ค่าขนมเมื่อคุณทำการ Workcation เป็นต้น
Photo: Freepik
วันที่ HR ถามว่าสวัสดิการแบบใดที่ดึงดูดใจให้คนอยากทำงานต่อ
บทความนี้นอกจากอยากแบ่งปันให้ผู้ที่อยากทำงานแบบ Lazy Girl Jobs ได้เห็นข้อดีข้อเสียแล้ว ยังตั้งใจให้เหล่า HR มองเห็นอีกหนึ่งความต้องการของพนักงาน บางครั้งเราไม่ได้อยากได้สวัสดิการสวยหรู ฟิตเนสแพงๆ หรือประกันชั้นดี (ที่เราก็ทำไว้อยู่แล้ว) บางครั้งพวกเขาอยากได้สมดุลในชีวิตและความสุขด้านอื่นๆ ที่พึงมี
เราต่างรู้ดีว่า ‘เมื่อลาออกองค์กรก็หาคนมาแทนคุณได้เสมอ แต่การทุ่มเทเวลาให้องค์กรโดยไม่ได้ลงทุนอะไรในชีวิตเลย นั่นคือความผิดพลาด’ สัปดาห์สุดท้ายก่อนลาออก HR ถามว่ามีสวัสดิการแบบใดที่ทำให้คนอย่างคุณอยากอยู่ต่อ
Photo: wayhomestudio on Freepik
ผู้เขียนตอบอย่างนอบน้อมว่า “เรามาที่นี่เพราะเนื้องานที่คุยไว้น่าจะทำให้เรามีความสุข ถึงจุดหนึ่งเราไม่อยากก้าวขึ้นไปสูงๆ เพื่อถูกจำกัดการบาลานซ์ชีวิต เราไม่อยากได้การยอมรับใดๆ…เราแค่อยากตื่นมาทำสิ่งที่เรารักและสบายใจ แค่ได้โยคะกับแมวและวิ่งดูห่านว่ายน้ำในสวนสาธารณะทุกเช้า”
และสัปดาห์นั้นก็เป็นสัปดาห์สุดท้ายที่ HR ผู้นั้นทำงานที่องค์กรเช่นกัน
Words: Valentina S