การเลือกปฏิบัติต่อ LGBTQ+ กระทบต่อเศรษฐกิจไทยปีละแสนล้านบาท

ประเทศไทยมีราคาที่ต้องจ่ายเท่าไรกับการปิดกั้น LGBTQ+ ตัวเลขจากผลวิจัยจะทำให้คุณต้องเสียดายว่าเมืองไทยสูญเสียโอกาสก้าวหน้าไปเพราะเรายังโอบรับความหลากหลายไม่มากพอ

หลิน-มาลิน ชระอนันต์ เป็นอินฟลูเอนเซอร์สายบิวตี้-แฟชั่น และซีอีโอแบรนด์สกินแคร์ Skinboss Thailand ที่ประสบความสำเร็จ และเมื่อประเดิมประกวดนางงามเวทีแรกก็มงลง ได้เป็นมิสแกรนด์ภูเก็ต 2024 พร้อมคว้ารางวัลขวัญใจช่างภาพสื่อมวลชน และกลายเป็นเจ้าของมงกุฎมิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2024

ล่าสุดหลินบินไปเก็บตัวการประกวด Miss Grand International 2024 ณ ประเทศกัมพูชา ก่อนจะขึ้นเวทีรอบตัดสินที่ประเทศไทยในวันที่ 25 ตุลาคม 2024 ที่ MGI HALL ชั้น 6 ศูนย์การค้า BRAVO BKK

หลิน มาลิน ในชุดนางอัปสราเขมรเป็นตัวแทนจากประเทศไทยไปประกวด Miss Grand International 2024 ณ ประเทศกัมพูชา

Photo: FB Miss Grand Thailand

หลินประสบความสำเร็จในอาชีพ ได้ทำตามแพสชั่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่งสำหรับเธอ หากอยากให้มี success story เช่นนี้อีกเยอะๆ ประเทศไทยจำเป็นต้องโอบรับความหลากหลายมากกว่านี้ เพราะมีผลการวิจัยที่เปิดตัวเลขว่า ประเทศไทยมีราคาที่ต้องจ่ายจากการสูญเสียทางเศรษฐกิจนับแสนล้านบาทต่อปีจากไทยปิดกั้น LGBTQ+

ราคาที่ต้องจ่ายไปเกิดจากอะไรบ้าง The Optimized จะเล่าให้ฟัง

Open for Business กลุ่มพันธมิตรของบริษัทชั้นนำระดับโลก ร่วมกับ Transtalents Consulting Group และสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ ได้เปิดตัวผลรายงานวิจัยฉบับใหม่ที่นำเสนอการวิเคราะห์เชิงเศรษฐกิจของการโอบรับความหลากหลายในประเทศไทย

ในด้านสุขภาพจิต จากข้อมูลของ Open for Business เปิดเผยว่า ภาวะซึมเศร้าในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการตีตรา การกีดกัน และความเครียดของคนชายขอบ ส่งผลให้ประเทศไทยสูญเสียเงินในระบบเศรษฐกิจประมาณ 5,000 ล้านบาทถึง 14,900 ล้านบาทต่อปี โดยร้อยละ 11 ของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะซึมเศร้าในระดับปานกลางถึงรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลิตภาพของแรงงานและผลผลิตทางเศรษฐกิจโดยรวม

ในส่วนของการสูญเสียเงินในระบบเศรษฐกิจด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการรับมือกับเอชไอวีและโรคเอดส์ มีมูลค่าระหว่าง 24,400 ล้านบาทถึง 73,200 ล้านบาท ความสูญเสียทางเศรษฐกิจเหล่านี้เกิดจากความพิการและการสูญเสียรายได้ของทรัพยากรบุคคล โดยการเพิ่มมาตรการและการป้องกันปัญหาทางสุขภายจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย

อินโฟกราฟิกจาก Open for Business

ปัญหาช่องว่างของค่าจ้างสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่องว่างของค่าจ้างที่มีอยู่ในประเทศไทยระหว่างกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และผู้ที่มีเพศวิถีและเพศสภาพตรงกับเพศกำเนิด ก่อให้เกิดการสูญเสียเงินในระบบเศรษฐกิจประมาณ 22,500 ล้านบาทถึง 33,700 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม

งานวิจัยจาก Boston Consulting Group ระบุว่า อีกหนึ่งปัญหาในภูมิภาคนี้คือการขาดการแก้ไข โปรแกรมในที่ทำงานที่สนับสนุนพนักงานที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศเติบโตในอัตราที่ช้ากว่าโปรแกรมสนับสนุนผู้หญิงและกลุ่มคนชายขอบอื่นๆ ถึงครึ่งหนึ่ง บ่งชี้ถึงการสูญเสียโอกาสในการแข่งขันและการเพิ่มผลิตภาพทางธุรกิจ

อินโฟกราฟิกจาก Open for Business

การเลือกปฏิบัติต่อ LGBTQ+ ยังส่งผลกระทบทางลบอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะทำให้ไม่น่าดึงดูดใจสำหรับคนทำงานที่มีความสามารถ มีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีในสายตานักท่องเที่ยว LGBTQ+ เนื่องจากประเทศที่มีชื่อเสียงในด้านดีด้านสิทธิของ LGBTQ+ จะได้รับโอกาสทางเศรษฐกิจมากกว่า เพราะนักท่องเที่ยวอยากเดินทางมาเยือน จึงมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากขึ้น สามารถดึงดูดแรงงานที่มีทักษะจากต่างประเทศ เพิ่มอิทธิพลของประเทศไทยเวทีสากล และการโอบรับ LGBTQ+ ยังเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศได้อีกทาง

แคมเปญสร้างชื่อว่าประเทศไทยเป็นมิตรกับกลุ่ม LGBTQ+ ได้รับทุนสนับสนุนจาก ททท. มาตั้งแต่ปี 2011 และไม่เคยโดนต่อต้านหรือมีข้อร้องเรียนใดๆ จึงเป็นแคมเปญที่ขยายตัวไปทั่วโลก และมีส่วนช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย ซึ่งเป็นกำลังหลักที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ

ดังนั้น การเลือกปฏิบัติต่อกลุ่ม LGBTQ+ ส่งผลกระทบต่อจีดีพีของประเทศได้ เนื่องจากทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสาธารณสุขและช่องว่างของค่าจ้าง

ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีกฎหมายห้ามการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในที่ทำงาน แต่โครงการที่สนับสนุน LGBTQ+ เติบโตช้าลง หากประเทศไทยพัฒนาส่วนนี้ได้ก็จะทำให้ไทยสามารถเพิ่มผลิตภาพทางเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันในเวทีนานาชาติได้มากขึ้น เนื่องจากองค์กรต่างๆ จะสร้างการมีส่วนร่วมกับพนักงานได้มากขึ้น รักษาพนักงานให้ทำงานกับองค์กรได้นานขึ้น เข้าถึงคนทำงานที่มีทักษะได้กว้างขึ้น และเพิ่มนวัตกรรมใหม่ๆ จากมุมมองที่หลากหลายขึ้นได้

การโอบรับความหลากหลายของ LGBTQ+ จึงหมายถึงโอกาสทางเศรษฐกิจและศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทยนั่นเอง

หลิน มาลิน เดินทางไปประกวด Miss Grand International 2024 ณ ประเทศกัมพูชา

Photo: FB Miss Grand Thailand

Words: Sritala Supapong

ข้อมูลจาก

you might like

Scroll to Top