หลังจากที่กองแม่ TPN GLOBAL และแบรนด์จิเวลรีชื่อดัง MOUAWAD เปิดตัวมงกุฎ Mouawad Starlight ประจำตำแหน่ง Miss Universe Thailand 2024 ที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘ดาวเหนือ’ โดยตัวเรือนมงกุฎประดับด้วยเพชรขาวจำนวน 133 เม็ด น้ำหนักรวม 7.54 กะรัต และไฮไลต์อยู่ที่เพชรขาวรูปดาวบริเวณยอดที่เคียงด้วยอัญมณีสีขาวจำนวน 2,500 เม็ด น้ำหนักรวม ถึง 176.76 กะรัต
มงกุฎ Mouawad Starlight ประจำตำแหน่ง Miss Universe Thailand 2024
Photo: Facebook Miss Universe Thailand
Photo: Facebook Miss Universe Thailand
Ignite The Night
หลังจากเปิดตัวไปในงาน ‘Ignite the Night’ จึงเรียกกระแสแฟนนางงามกลับมาอีกครั้ง โดยพวกเขาต่างจับจ้องและวิพากษ์วิจารณ์ผลงานมงกุฎชิ้นนี้โดยเสียงแตกออกเป็นของฝ่าย ความคิดเห็นส่วนหนึ่งมองว่าศิลปะชิ้นนี้ ‘ย้อนเวลามากเกินไป’ โดยมองว่า ‘ดาว’ เป็นตัวแทนของนางงามยุค 80 ขณะเดียวกันอีกส่วนหนึ่งก็ปลื้มปริ่มที่มงกุฎมีความคลาสสิกเหนือกาลเวลา
Photo: Facebook Miss Universe Thailand
เปิดประเด็นมาด้วย ‘ความเก่า’ เราจึงอยากพาผู้อ่านไปสัมผัสมงกุฎเก่าแต่เก๋า มงกุฎที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และไม่เคยหยุดเปล่งประกาย แสงแห่งอำนาจ ยศฐาและความสง่างามยังคงลุกโชนเสมอ วันนี้เราจะเปิดพิพิธภัณฑ์ไปดู 10 อันดับมงกุฎเก่าแก่ที่สุดในโลกแต่ยังคงเสน่ห์และความขลังแบบไม่มีวันดับมอด
อันดับ 10 The Helmet of Skanderbeg
ช่วงเวลาที่ผลิต: ปี 1460
มุงกุฎแห่งประเทศ: แอลเบเนีย
สถานะและการจัดเก็บ: พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ศิลปะ Kunsthistorisches
วัสดุที่ใช้ : เหล็ก ทอง ทองสำริดและทองแดง
Photo: Oldest.org
The Helmet of Skanderbeg เป็นหมวกโลหะหนักราวๆ 3 กิโลกรัมที่ตัวหมวกมีลักษณะเป็นโลหะสีขาวคาดด้วยแถบสีทอง โดยมีจุดเด่นอยู่ที่สัญลักษณ์หัวแพะที่ทำมาจากทองสัมฤทธิ์ซึ่งที่บริเวณเขาหุ้มด้วยทองคำ มงกุฎหัวแพะชิ้นนี้เป็นของเจร์จ กัสตรีออตี หรือที่รู้จักกันในนามว่าสเกินเดร์เบอู ขุนนางแอลเบเนียผู้นำกบฏมีชัยต่อจักรวรรดิออตโตมัน
มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือมีการสลักพระปรมาภิไธยเป็นอักษรย่อ JN * PE * RA * TO * RE * BT หมายถึง “Jesus of Nazareth bless you, Prince of Mat, King of Albania, Terror of the Ottomans and King of Epirus. – พระเยซูแห่งนาซาเร็ธทรงอวยพระพรท่าน เจ้าชายแห่งแคว้นมัท กษัตริย์แห่งแอลเบเนีย ผู้ทรงเป็นความหวาดกลัวของชาวออตโตมัน และผู้เป็นกษัตริย์แห่งเอพิรุส”
โดยหลังจากสิ้นยุคล่าอาณานิคมของจักรวรรดิโรมัน มงกุฎถูกขโมยและได้ผลัดเปลี่ยนมือไป จนในที่สุดถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ศิลปะ Kunsthistorisches ในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียจวบจนปัจจุบัน
อันดับ 9 Monomakh’s Cap
ช่วงเวลาที่ผลิต: ปลายศตวรรษที่ 13 ถึงศตวรรษที่ 14
มุงกุฎแห่งประเทศ: รัสเซีย
สถานะและการจัดเก็บ: พิพิธภัณฑ์พระคลังเพชร Kremlin Armory Chamber ภายในพระราชวังเคลมลิน
วัสดุที่ใช้ : ทองคำ ไข่มุก ทับทิม และมรกต
Photo: Oldest.org
Cap of Monomakh เป็นมุงกุฎสัญลักษณ์แห่งระบบการปกคองแบบอัตตาธิปไตยของรัสเซีย โดยสันนิษฐานว่าเป็นของกำนัลจากจักรพรรดิแห่งไบแซนไทน์ถึงกษัตริย์วลาดิมีร์ที่ 1 โดยตัวมงกุฎมีลักษณะเป็นทองคำที่ถูกแบ่งเป็นแปดส่วนด้วยแถบสีทองพร้อมฝังทับทิม มรกตและไข่มุก จากนั้นขลิบด้วยเส้นสีดำและครอบปิดด้วยไม้กางเขนสีทอง โดยมีไข่มุกอยู่ที่ปลายแต่ละด้าน ปัจจุบันมุงกุฎชิ้นนี้จัดเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์พระคลังเพชร Kremlin Armory Chamber ภายในพระราชวังเคลมลิน แห่งประเทศรัสเซีย
อันดับ 8 The Crown of Saint Wenceslas
ช่วงเวลาที่ผลิต: ปี 1347
มุงกุฎแห่งประเทศ: ราชอาณาจักรโบฮีเมีย (สาธารณรัฐเช็กในปัจจุบัน)
สถานะและการจัดเก็บ: ปราสาทปราก
วัสดุที่ใช้ : ทองคำและอัญมณีหลากหลาย
Photo: Oldest.org
The Crown of Saint Wenceslas หรือมงกุฎแห่งนักบุญเวนเซสลาสชิ้นนี้ สืบทอดมาจากเหล่าผู้ปกครองแห่งราชอาณาจักรโบฮีเมียในศตวรรษที่ 11 และจักรพรรดิคาร์ลที่ 4 แห่งราชวงศ์ลักเซมเบิร์ก โดยพระราชทานให้กับนักบุญเวนเซสลาส ซึ่งเป็นนักบุญอุปถัมภ์คนแรกของราชอาณาจักร โดยมงกุฎแห่งนักบุญเวนเซสลาสประกอบด้วยอัญมณีล้ำค่าถึง 91 เม็ดและไข่มุก 20 เม็ด พร้อมประดับด้วยทองคำราวๆ 22 กะรัต จุดเด่นอยู่ที่ลักษณะของมงกุฎเป็นห่วงไขว้ 2 ห่วงประดับด้วยอัญมณีเม็ดมะยม 2 น้ำหนักกิโลกรัมครึ่ง ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่ปราสาทปราก สาธารณรัฐเช็ก
ราวกับคำสาป! จากความเชื่อและเรื่องเล่าโบราณของเช็ก มงกุฎนี้จะเลือกผู้สวมใส่ โดยต้องเป็นพระมหากษัตริย์และเชื้อพระวงศ์แห่งราชอาณาจักรโบฮีเมียโดยชอบธรรมเท่านั้นถึงสวมใส่ได้ หากเป็นบุคคลอื่นจะต้องล้มหายตายจากไปภายใน 1 ปี
อันดับ 7 Queen’s Crown
ช่วงเวลาที่ผลิต: ปี 1320
มุงกุฎแห่งประเทศ: โปแลนด์
สถานะและการจัดเก็บ: ถูกทำลายในปี 1809
วัสดุที่ใช้ : ทองคำ
Photo: Oldest.org
มงกุฎ Queen’s Crown นี้เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของราชินีแห่งโปแลนด์ Jadwiga of Kalisz (ราชินียัดวีกาแห่งกาลิช) ที่สถาปนาในปี 1320 โดยมงกุฎถูกใช้ในพิธีราชาภิเษกสมรสของพระนาง และใช้ต่อเนื่องมาถึงปลายศตวรรษที่ 17
โดยมุงกุฎดังกล่าวเป็นศิลปะแบบกอธิคที่รังสรรค์จากทองคำบริสุทธิ์ทั้งหมด โดยประกอบด้วยชิ้นส่วนทั้ง 10 ชิ้นร้อยเรียงเข้ากับสัญลักษณ์ดอกไม้ประจำตระกูล พร้อมประดับอัญมณีล้ำค่าอย่างเพชร แซปไฟร์ มรกต ไข่มุก และอัญมณีอื่นๆ จำนวน 474 เม็ด
ต่อมากองกำลังปรัสเซียได้บุกโจมตีปราสาทและขโมยมงกุฎไป และมงกุฎได้ตกอยู่ในตระกูลขุนนางในเบอร์ลิน และถูกทำลายในปี 1809 ภายหลัง
อันดับ 6 The Crown of Charlemagne
ช่วงเวลาที่ผลิต: ศตวรรษที่ 10 ถึง 11
มุงกุฎแห่งประเทศ: ฝรั่งเศส
สถานะและการจัดเก็บ: ถูกทำลายในปี 1793
วัสดุที่ใช้ : ทองคำและเหล็ก
Photo: Oldest.org
The Crown of Charlemagne หรือมงกุฏแห่งชาร์เลอมาญชิ้นนี้สร้างขึ้นสำหรับพิธีราชาภิเษกของจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในศตวรรษที่ 10 โดยชื่อมงกุฎนี้ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่พระเจ้าชาร์เลอมาญ จักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์พระองค์แรก โดยจุดเด่นอยู่ที่เป็นศิลปะแบบไบแซนไทน์ที่มีแผ่นทองคำทรงโค้งแปดแผ่นประกอบเข้าด้วยกันพร้อมลงยาอย่างประณีตและประดับด้วยอัญมณีล้ำค่ามากมาย
อันดับ 5 Zvonimir’s Crown
ช่วงเวลาที่ผลิต: ปี 1075
มุงกุฎแห่งประเทศ: โครเอเชีย
สถานะและการจัดเก็บ: สูญหาย
วัสดุที่ใช้ : ทองคำและเหล็ก
Photo: Oldest.org
Zvonimir’s Crown หรือมงกุฎแห่งซโวนิมีร์เป็นของกษัตริย์เดเมตริอุส ซโวนิมีร์แห่งโครเอเชีย โดยในปี 1075 ผู้แทนของสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 7 ได้มอบให้พระองค์ที่โบสถ์ Basilica of Saint Peter and Moses (ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อโบสถ์ Hollow Church) ที่เมืองซาโลนา ประเทศโครเอเชีย สันนิษฐานว่ามงกุฎชิ้นนี้สูญหายไปครั้งเมื่อพวกเติร์กออตโตมันบุกทำลายเมืองในช่วงทศวรรษที่ 1520
อันดับ 4 The Crown of Boleslaw I the Brave
ช่วงเวลาที่ผลิต: คริสตศักราชที่ 1000
มุงกุฎแห่งประเทศ: โปแลนด์
สถานะและการจัดเก็บ: จัดเก็บในพิพิธภัณฑ์ Wawel Royal Castle-State Art Collection
วัสดุที่ใช้ : ทองคำ
Photo: Oldest.org
มงกุฎ The Crown of Boleslaw I the Brave รู้จักกันในนามว่า Corona Privilegiata ซึ่งเป็นมงกุฎทองคำใช้ในพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์โปแลนด์ ซึ่งเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่จักรพรรดิออตโตที่ 3 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์มอบให้กับพระเจ้าโบเลสวับผู้กล้าที่หนึ่ง (Bolesław I the Brave) มีหลักฐานบ่งชี้ว่ามงกุฎตัวจริงได้ถูกขโมยไปในปี 1794 โดยกองกำลังปรัสเซียน จากนั้นจึงได้สร้างมงกุฎจำลองขึ้นใหม่ระหว่างปี 2001 – 2003 เพื่อใช้กับพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์โปแลนด์แทน โดยปัจจุบันจัดเก็บในพิพิธภัณฑ์ Wawel Royal Castle-State Art Collection ประเทศโปแลนด์
อันดับ 3 Crowns of Silla
ช่วงเวลาที่ผลิต: ศตวรรษที่ 5 ถึง ศตวรรษที่ 7
มุงกุฎแห่งประเทศ: เกาหลีใต้
สถานะและการจัดเก็บ: รักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติคยองจู
วัสดุที่ใช้ : ทองคำ
Photo: Oldest.org
Crowns of Silla หรือมงกุฎชิลลาถูกค้นพบในสุสานของเมืองคยองจู ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าของอาณาจักรชิลลาของประเทศเกาหลีใต้ โดยรูปลักษณ์ของมงกุฎชิ้นนี้มีลักษณะที่โดดเด่นเป็นรูปกรวยสูงเป็นฉลุทำขึ้นมาจากทองคำ บ่งบอกถึงวัฒนธรรมของชาวซากา (อิหร่านตะวันออก) ที่เข้ามามีอิทธิพลกับอาณาจักรในยุคนั้น ปัจจุบันมงกุฎชิ้นนี้เป็นสมบัติประจำชาติของเกาหลีใต้ เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติคยองจู
อันดับ 2 The Iron Crown of Lombardy
ช่วงเวลาที่ผลิต: ศตวรรษที่ 4 ถึง ศตวรรษที่ 5
มุงกุฎแห่งประเทศ: อิตาลี
สถานะและการจัดเก็บ: รักษาไว้ในมหาวิหารมอนซา
วัสดุที่ใช้ : ทองคำ
Photo: Oldest.org
The Iron Crown of Lombardy หรือมงกุฎเหล็กแห่งลอมบาร์เดียเป็นหนึ่งในเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งราชวงศ์ที่เก่าแก่ที่สุดของคริสต์ศาสนจักร โดยสร้างขึ้นในยุคกลางราวทศวรรษที่ 4 งานศิลปะชิ้นนี้ประกอบด้วยวงแหวนสร้างด้วยทองคำครอบทับแถบเงินและประดับด้วยอัญมณีอีก 22 ชิ้น ซึ่งตามตำนานเล่าว่ามงกุฎชิ้นนี้ถูกสร้างขึ้นจากตะปูไม้กางเขนที่ตรึงพระเยซูหรือ True Cross โดยปัจจุบันมงกุฎจัดเก็บไว้ที่มหาวิหารมอนซา
อันดับ 1 Copper-Age Crown
ช่วงเวลาที่ผลิต: 4,000–3300 ปีก่อนคริสตกาล
มุงกุฎแห่งประเทศ: ไม่ปรากฎ
สถานะและการจัดเก็บ: รักษาไว้ในมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก
วัสดุที่ใช้ : ทองแดง
Photo: Oldest.org
มงกุฎที่เก่าแก่ที่สุดในโลกซึ่งนับว่าเป็นมงกุฎชิ้นแรกบนโลกที่ค้นพบได้ นั่นคือ Copper-Age Crown หรือมงกุฎแห่งยุคทองแดง โดยในปี 1961 สมบัติชิ้นนี้ถูกค้นพบอยู่ที่บริเวณถ้ำในทะเลทรายยูเดียนของประเทศอิสราเอล โดยมงกุฎมีรูปร่างเป็นวงแหวนทองแดงหนาๆ ที่บริเวณด้านบนเป็นรูปประตูและนกแร้ง
ไม่ว่ายุคใดสมัยใด มุงกุฎยังคงแสดงอำนาจและความสง่างามในตัวของมันเอง แล้วผู้อ่านชอบมงกุฎแบบใดกันบ้าง มงกุฎยุคทองสำริด มงกุฎแห่งเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ หรือมงกุฎนางงาม ฯลฯ อย่าลืมแวะคอมเมนต์กับบอกเล่ากันบ้างในเฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ (X) นะคะ
Words: Varichviralya Srisai
ข้อมูลจาก:
– https://www.oldest.org/culture/oldest-crowns-in-the-world/
– https://en.wikipedia.org/wiki/Monomakh’s_Cap
– https://russiaglobal.omeka.fas.harvard.edu/items/show/244
– https://en.wikipedia.org/wiki/Crown_of_Zvonimir