ธุรกิจเงินล้านในงานวัด พระเครื่อง รถพุ่มพวง ในแผนโปรโมตคอนเสิร์ต ‘ปาล์มมี่’  

คัมแบ็กจัดคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกในรอบ 12 ปี PALMY มิตร Universe Concert ปาล์มมี่โปรโมตแบบปังทรงพลังด้วยป้ายสไตล์งานวัด แปะโปสเตอร์ข้างรถพุ่มพวงขายกับข้าว ทำแผนผังที่นั่งพระเครื่องเลี่ยมทอง แต่ละอย่างที่พี่มี่ชีชอบ ‘งานวัด รถพุ่มพวง พระเครื่อง’ นี่ละคือธุรกิจไทยบ้านเงินล้าน

เมื่อ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา ปาล์มมี่โพสต์โซเชียลถามแฟนๆ ว่า

Photo: FB: PALMY

ปรากฏว่ามีแฟนคลับกดไลค์ใน FB ถึง 2.4 แสน คอมเมนต์ 3 หมื่น ส่วนในอินสตาแกรมมียอดไลค์ราว 9 หมื่นกว่า ทำให้ปาล์มมี่กะจำนวนคนดูและสถานที่ได้อย่างเหมาะสม จนตามมาด้วยโพสต์ในเวลาต่อมาว่า

Photo: FB: PALMY

PALMY มิตร Universe Concert จะระเบิดความมันให้แฟนๆ ได้ดิ้นไปกับดนตรีและมุขหน้านิ่งของปาล์มมี่กันในวันที่ 7 และ 8 กันยายนนี้ ก่อนจะถึงวันจัดงานก็อยู่ในช่วงที่ปาล์มมี่เรียกว่า ‘ช่วงประชาสัมพันธ์’ โดยกลยุทธ์ของปาล์มมี่และทีมงาน GMM GRAMMY ก็ดึงมาจากตัวตนและรสนิยมความชอบของตัวศิลปินล้วนๆ จากที่เห็นตามคอนเสิร์ตและงานต่างๆ ว่าแฟนๆ มักจะหอบผักสด แหนม พวงมาลัยห้อยถุงลูกอมโบตั๋นยาสีฟันคอลเกต ตาลปัตรเงินสด แม้กระทั่งข้องใส่ปลา! และของบ้านๆ มากมายไปให้เธอถึงขอบเวที

แผนโปรโมตคอนเสิร์ตใหญ่ของปาล์มมี่จึงใช้ป้ายโปรโมตสไตล์งานปิดทองฝังลูกนิมิตตามงานวัดที่มาในสไตล์ ‘1 ป้าย 1 คำ’ แปะโปสเตอร์ข้างรถพุ่มพวงขายกับข้าว ทำโปสเตอร์สไตล์ศิลปินลูกทุ่งแต่ขึ้นจอวิ่งตามรถไฟฟ้า ปรากฏว่าเป็นไวรัลทันทีด้วยความแปลกใหม่

แถมเวลาปาล์มมี่ไปออกรายการเพื่อโปรโมตคอนเสิร์ต เธอก็ไม่ขอฝาก ไม่อยากเชิญชวน เพราะ “ไม่อยากคะยั้นคะยอ” ใครรู้ข่าวแล้วอยากไปก็ขอเชิญกดบัตรได้ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคมเป็นต้นไป ซึ่งต้องบนหลวงพ่อหลายวัดหน่อยก็อาจจะกดบัตรได้ เพราะดีมานด์สูงมาก

ทว่า แต่ละอย่างที่ปาล์มมี่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นงานวัด รถพุ่มพวงขายกับข้าว และพระเครื่องนี่ละคือซอฟต์พาวเวอร์อันทรงพลัง เข้าถึงคนได้ทุกชุมชน และเป็นธุรกิจไทยบ้านสร้างเม็ดเงินมหาศาล

Photos: FB: PALMY

ผังที่นั่งทรงพระเครื่องเลี่ยมทอง

ปาล์มมี่ชื่นชมในความงามของทรงพระ จึงเป็นผู้เช่าบูชาพระเครื่องตัวยงคนหนึ่ง…เช่นเดียวกับผู้คนมากมาย จนประเทศไทยกลายเป็นตลาดพระเครื่องที่ใหญ่ที่สุดในโลก

สำนักข่าว South China Morning Post เผยว่า ตลาดพระเครื่องของไทยมีเงินหมุนเวียนมากกว่า 45,000 ล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมสะสมพระเครื่องกันมิใช่น้อย จนพระเครื่องถือเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์แบบออร์แกนิก หาใช่ซอฟต์พาวเวอร์ที่รัฐไทยพยายามปั้นให้เป็น

ความนิยมพระเครื่องนั้นมาพร้อมกับการฉวยโอกาสทำพระปลอมมาหลอกขายกันมากมาย จึงทำให้เกิด SK Check แอปเช็กพระแท้แค่เพียงปลายนิ้ว ที่เข้ามาช่วยยกระดับวงการพระเครื่องด้วยการจับแมตช์เทคโนโลยีการสื่อสารและเซียนพระ ให้ส่องพระกันได้ทุกที่ทุกเวลา โดยส่งพระเครื่องไปให้ผู้รู้ช่วยตรวจสอบว่าแท้หรือไม่ ตรงรุ่นหรือเปล่า ราคาเท่าไร

ใน 3 เดือนแรกที่เปิดใช้ SK Check มียอดการใช้งานสูงถึง 100,000 องค์ โดยเกิดข้อผิดพลาดจากการตรวจสอบทั้งหมดไม่ถึง 50 องค์ (0.05%) และทุกการผิดพลาดชี้แจงได้ทั้งหมดทางเพจเฟซบุ๊ก ‘พระเครื่อง สันขวาน’ ที่มีผู้ติดตามกว่า 2.7 แสนคน

Photo: FB: PALMY

แปะโปสเตอร์ข้างรถพุ่มพวง

รถพุ่มพวงที่พ่วงถุงใส่ผักสารพัดจนโย้สองข้างรถ คือภาพอันคุ้นเคยสำหรับผู้คนตามหมู่บ้าน ชุมชน และตรอกซอกซอยต่างๆ จึงมีศักยภาพในการประชาสัมพันธ์และทำการตลาดสูงมาก แต่ไม่เคยมีมาก่อนที่ศิลปินคนไหนคิดจะใช้รถพุ่มพวงในการโปรโมตคอนเสิร์ตของตัวเองได้อย่างปาล์มมี่!

ในงานศึกษาวิจัยหัวข้อ สภาพการณ์ด้านสุขาภิบาลอาหาร และจัดทำเกณฑ์มาตรฐานอาหารของรถเร่ขายอาหาร โดย รัชชผดุง ดำรงพิงคสกุล และคณะ

  • พ่อค้าแม่ค้าเร่ขายอาหารสดและอาหารปรุงสำเร็จ ส่วนใหญ่เป็นคนกลุ่มอายุ 30-50 ปี
  • ใช้เงินทุนประกอบการเริ่มต้นเฉลี่ย 290,946.79 บาท ซึ่งเป็นการลงทุนซื้อยานพาหนะเป็นส่วนใหญ่
  • ใช้เงินทุนหมุนเวียนต่อวันเฉลี่ย 6,647.49 บาทไปกับการซื้อสินค้า

ส่วนสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดทำโครงการวิเคราะห์กลไกการทำธุรกิจรถพุ่มพวง และพฤติกรรมการใช้บริการรถพุ่มพวงของคนไทย พบว่า

  • เกือบร้อยละ 90 ของลูกค้ารถพุ่มพวงเป็นผู้หญิง
  • ลูกค้าเกินครึ่งจบการศึกษาระดับประถมศึกษาและประกอบอาชีพแม่บ้าน และมักอาศัยในบ้านเดี่ยว/บ้านแฝด
  • ลูกค้าใช้บริการเฉลี่ย 2-3 ครั้ง/สัปดาห์/คน
  • สินค้าขายดี ได้แก่ ผักสด รองลงมาคือ เนื้อสัตว์และผลไม้สด
  • ลูกค้าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครั้งประมาณ 160 บาท
  • และเกือบร้อยละ 80 ของลูกค้า ซื้ออาหารจากรถพุ่มพวง เพราะช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

Photo: FB: PALMY

ธีระยุทธ รื่นเริง พ่อค้ารถพุ่มพวงในจังหวัดสุรินทร์ที่ประกอบอาชีพรถพุ่มพวงขายกับข้าวมานานกว่า 10 ปี ขายของหลายอย่าง ทั้งของสด ผักและผลไม้ ราคาเริ่มต้น 10 บาท สามารถเพิ่มรายได้และลดเวลาในการตระเวนขายลงได้มาก หลังจาก เปลี่ยนถุงที่ใส่ของจากถุงหูหิ้วขุ่นมาเป็นถุงใส และจัดเรียงของให้มีความสวยงาม

จากเดิมรายได้ต่อวัน 10,000 บาทเพิ่มเป็น 15,000 – 20,000 บาท แต่ได้กำไรน้อยลงจาก 4,000-5,000 บาท เหลือ 2,000-3,000 บาท เพราะต้นทุนแพงขึ้น ทั้งค่าน้ำมันรถ ราคาสินค้า และราคาถุงใสแพ็กละ 50 บาท แพงกว่าถุงขุ่นราคา 12 บาทต่อแพ็กถึง 3 เท่า

แต่ขายของหมดเร็วขึ้น จากที่วิ่งรถ 10 หมู่บ้าน เหลือแค่ 5 หมู่บ้านก็ขายหมดตั้งแต่ช่วงเช้า จึงมีเวลาไปทำงานหารายได้ทางอื่นเพิ่มขึ้นอีก

พ่อค้ารถพุ่มพวงยังทำเพจเฟซบุ๊ก ‘รถกับข้าวซิ่ง’ ที่มีผู้ติดตามกว่า 90,000 คน และสรุปแผนการตลาดกระตุ้นบอดขายรายวันว่า เปลี่ยนถุงใส่สินค้าเป็นถุงใสให้เห็นสินค้าชัดเจน ดูสวยงามน่าซื้อ ร่วมกับทำเพจออนไลน์ให้ลูกค้ารู้จักเพิ่มขึ้น

ส่วนเงินติดล้อ ผู้ให้บริการเงินกู้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยแนะนำว่า รถพุ่มพวงสามารถแข่งขันกับร้านอาหารออนไลน์และแอปเดลิเวอรีอาหารด้วย “ลูกค้าประจำ”

  • เริ่มจากสร้างฐานลูกค้า โดยไปขายในแหล่งชุมชนนั้นๆ บ่อยๆ
  • หมั่นสังเกตว่าลูกค้าละแวกนั้นชอบซื้ออะไรเป็นพิเศษ เพื่อให้สินค้าขายออกได้
  • เพิ่มออปชันพิเศษ เช่น ให้บริการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์
  • รถพุ่มพวงสามารถทำตามคำขอของลูกค้าได้ทันทีเช่น พรุ่งนี้ขอเห็ดเข็มทองมาหน่อยนะ เจ้าของรถจัดสรรวัตถุดิบให้ได้เลย โดยลูกค้าไม่ต้องรอนาน และได้สินค้าที่ราคาไม่แพง เพราะรถพุ่มพวงไม่มีค่าส่ง
  • ลูกค้าต่อราคาได้ นี่ละคือแต่มต่อที่ทำให้รถพุ่มพวงได้เปรียบและได้ใจลูกค้า

Photos: FB: PALMY

ป้ายโปสเตอร์สไตล์งานวัด

ปาล์มมี่เกี่ยวข้องกับวัดหลายด้าน หนึ่ง ชอบไปกราบเกจิอาจารย์ สอง ชื่นชอบพระเครื่อง สาม ชอบเที่ยวบ้านๆ แทนที่จะเห็นปาล์มมี่ไปนั่งคาเฟ่เก๋ๆ ลูกเพจจะได้เห็นพี่มีของพวกเขาไปก่อเจดีย์ทรายตามวัดบ่อยครั้งกว่า งานป้ายโปรโมตแบบป้ายงานวัดจึงต้องมาในคอนเสิร์ตนี้

งานวัดไม่ใช่ธุรกิจไก่กา พ่อค้าแม่ขายที่ไปออกร้านตามงานวัด บางร้านสามารถทำรายได้ถึง 1 ล้านบาท

บริษัทงานวัดดอทคอม เจ้าแรกในประเทศไทยที่เป็นธุรกิจงานวัดที่จดทะเบียนเป็นบริษัทอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่ได้ไปจัดอีเวนต์รูปแบบงานวัดทั้งในเทศกาลดนตรีและงานอีเวนต์ใหญ่ๆ ตามห้างดังๆ ไปจนถึงงานแต่งงานของดาราคนดังมากมาย จนทำให้การจัดอีเวนต์รูปแบบงานวัดสร้างรายได้ให้บริษัทถึงปีละ 15 ล้านบาทเลยทีเดียว

คนที่ใช้ซอฟต์พาวเวอร์มาต่อยอดแบบสร้างสรรค์เขาทำกันแบบนี้

Words: Sritala Supapong

ข้อมูลจาก

you might like

Scroll to Top