ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดจาก พุฒิพงษ์ นาคทอง ผู้กำกับ 4Kings ทั้ง 2 ภาค ที่ขนนักแสดงชายไทยชุดดรีมทีมทั้ง ณัฏฐ์ กิจจริต, เป้ อารักษ์, จ๋าย ไททศสมิธ ไปจนถึงเอม ภูมิภัทร ในโปรเจกต์ในฝันของผู้กำกับพุฒิพงษ์ นาคทอง ที่บอกเล่าเรื่องราวของคุก จึงเขียนบทหนังเรื่องนี้ขึ้นมาก่อน 4Kings ด้วยซ้ำในชื่อโปรเจกต์ว่า ‘บ้านเมตตา’
เมื่อชีวิตของคนหนุ่มที่พลิกตาลปัตรทันทีที่ตัดสินใจพลาดครั้งเดียว จากโลกภายนอกที่วิ่งหนีคู่อริเด็กช่างต้องเอาชีวิตรอดไปวันๆ ในดินแดนภายใต้ระบอบยุติธรรมที่โดนกำกับด้วยระบบศาลเตี้ยที่เรียกว่า ‘คุก’ ในหนัง วัยหนุ่ม 2544
ณัฏฐ์ กิจจริต รับบท เผือก สังกัด: บ้านฝั่งธน ตำแหน่ง: แรกเข้า
เผือกเติบโตมาในครอบครัวที่มีแม่เลี้ยงเดี่ยว (แสงทอง เกตุอู่ทอง) ทำให้สิ่งใดก็ตามที่มีความใกล้เคียงกับ ‘ความเป็นแม่’ กลายมาเป็นจุดอ่อนเดียวของเผือก เผือกเป็นเด็กช่างที่ใช้ชีวิตในแต่ละวันด้วยความคิดว่าอยากพาแม่และจิตสุภา (อรัชพร โภคินภากร) คนรักออกไปจากสลัมให้เร็วที่สุด แต่เพราะตัดสินใจพลาดครั้งเดียว ความฝันทั้งหมดของเผือกต้องดับไปเมื่อโดนโยนเข้าซังเต
รอยสัก: รอยสักริบบิ้นบริเวณหน้าอกด้านซ้าย (ก่อนเข้าคุก) และข้อมือซ้าย (สักตอนอยู่ในคุก)
ความหมาย: สิ่งที่เชื่อมโยงตัวละครเผือกกับผู้เป็นแม่ และสัญลักษณ์ย้ำเตือนว่า “ฉันยังเหมือนเดิม”
บังกัส (รับบทโดย จ๋าย – อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี) พ่อบ้านฝั่งธนหน้าโหดแต่กลับปกครองคนในบ้านแบบครอบครัว เขาเคยเป็นหนุ่มเลือดร้อนที่ระหองระแหงกับคนในครอบครัว และความพลุ่งพล่านของอารมณ์ผลักเขาเข้าสู่ชีวิตหลังกำแพงคุกในที่สุด
รอยสัก: รอยสักมังกรพันรอบขาทั้งสองข้าง (มีมาตั้งแต่อยู่สถานพินิจ)
ความหมาย: แสดงความเป็นขาใหญ่ประจำถิ่น
แผลเป็น: บริเวณเหนือคิ้วซ้าย
ความหมาย: ได้มาตอนที่คุณแม่เสีย เป็นการแสดงออกถึงความเจ็บปวดของตัวละคร
กอล์ฟ (รับบทโดย เบนจามิน โจเซฟ วาร์นี) ตัวเปิดแห่งบ้านฝั่งธน ทุกคนเรียกขานว่า ‘ฝรั่ง’ เพราะหน้าตาลูกครึ่งของเขา กอล์ฟบูชาบังกัสเป็นเสมือนพ่อคนที่สอง แต่ชีวิตจริงกอล์ฟไม่ค่อยลงรอยกับพ่อและต้องเติบโตมาแบบปากกัดตีนถีบ ใช้สัญชาตญาณในการเอาตัวรอดอยู่ทุกวัน
รอยสัก: รอยสักคาบูกิ (บริเวณไหล่ซ้าย) – แสดงออกถึงความนิยมด้านแก๊งสเตอร์และซามูไรญี่ปุ่น
รอยสักจระเข้ (บริเวณหน้าอกซ้าย) – บ่งบอกว่าถึงจะหน้าฝรั่งจริง ๆ เป็นคนไทย
รอยสัก Made in Thailand (บริเวณสันมือซ้าย) – บ่งบอกว่าจริง ๆ แล้วเขาเป็นคนไทย
รอยสักหน้ายักษ์ (บริเวณด้านหลังส่วนล่างเหนือก้น) – ป้องกันตัวจากการโดนจ้องตอนอาบน้ำ
เป้ อารักษ์ อมรศุภศิริ รับบท เบียร์ สังกัด: บ้านคลองเตย ตำแหน่ง: พ่อบ้าน
พ่อบ้านคลองเตยที่ปกครองลูกน้องด้วยการกดขี่ให้กลัว เบียร์ใช้ชีวิตในคุกราวกับราชา ไร้ความกลัวเกรงสิ่งใด นอกจากการอยู่อย่างสุขสบายของตัวเอง เป็นเพราะเขาผ่านชีวิตมาอย่างโชกโชน จึงมั่นใจในฝีมือบู๊และเล่ห์เหลี่ยมกลโกงของตัวเองมาก ทว่าก่อนมาอยู่ในคุก เบียร์ต้องอยู่อย่างดิ้นรน เอาชีวิตรอดด้วยการขายยา ความข้นแค้นทำให้เขากลายเป็นคนเจ้าเล่ห์และเอาเปรียบคนอื่นจนพลาดท่าโดนจับในที่สุด“มันเป็นเรื่องทรัพยากรครับ ในคุก ทรัพยากรทุกอย่างที่มันเข้ามา ที่ทำให้เราสบายขึ้นมันมีค่า เพราะฉะนั้นพอแบ่งแบ่งเป็น 2 บ้านแล้วจะมีการแก่งแย่งทรัพยากรกัน แก่งแย่งที่ แก่งแย่งอาหาร แก่งแย่งพลังงาน และอภิสิทธิ์บางอย่าง เช่น ไม่ต้องทำกองงาน กินข้าวอร่อยกว่า ได้กินส้มในกอง พอคนต้องการสิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้ตีกันครับ” – เป้ อารักษ์
รอยสัก: รอยสักมังกร (บริเวนหน้าอกซ้ายพันรอบตัวมาจนถึงเอว)
ความหมาย: แสดงถึงความเป็นรุ่นใหญ่
บอย (รับบทโดย ท็อป – ทศพล หมายสุข) ยอดบ้าคลองเตย มือขวาของเบียร์ ชีวิตของบอยหมดไปกับการปล้นยา และใช้ชีวิตวัยหนุ่มหมดไปกับการเสพติดความเร้าใจ ความเจ็บปวด และความหวาดกลัวของคนอื่นเพื่อความสะใจของตัวเอง หรือว่าเป็นกลไกป้องกันตัวเองที่พยายามปกปิดความขลาดกลัวของตัวเองกันแน่
รอยสัก: อุณาโลม(บริเวณลำคอ) – กลไกการปองกันตัวและเสริมสร้างความน่ากลัวของตัวละคร
สังวาล (รอบคอ) – กลไกการปองกันตัวและเสริมสร้างความน่ากลัวของตัวละคร
สักใต้ตา – กลไกการป้องกันตัวและเสริมสร้างความน่ากลัวของตัวละคร
สมอ (แขนขวา) – สัญลักษณ์บ่งบอกว่าอยู่บ้านคลองเตย
กร (รับบทโดย ต้น – อรุณพงค์ นราพันธ์) ตัวซื้อเรื่องแห่งบ้านคลองเตย หนึ่งในสามขาใหญ่ แม้จะตัวเล็กแต่เก๋าเกินใคร พร้อมบวกตลอดเวลาแบบไม่สนใจลูกใคร กรเป็นคนกร้านโลกของแทร่ที่พร้อมทำทุกวิถีทางเพื่อเอาตัวรอดทั้งในและนอกกำแพงคุก
จริงๆ แล้วตัวละครกร เป็นตัวละครที่ไม่มีบท จึงทำให้ต้น อรุณพงค์ ต้องออกแบบและตีความตัวละครในวันถ่ายทำ โดยออกแบบให้กรเป็นตัวละครที่อยู่ในคุกตั้งแต่แรก ก่อนจะมาเป็นนักแสดง ต้น อรุณพงค์เคยเป็นช่างสักมาก่อน ด้วยความที่มีรอยสักเพียบอยู่แล้ว ตัวละครกรจึงไม่ต้องสักเพิ่มเติมจากของเดิม
ฟลุ๊ค (รับบทโดย เอม – ภูมิภัทร ถาวรศิริ) วัยรุ่นที่วุ่นวายกับการพื้นที่ของตัวเองในยุคที่เรื่องเพศสภาพยังไม่เปิดกว้าง ฟลุ๊คเป็นตัวแทน LGBT เพียงหนึ่งเดียวของเรื่องที่จะพาคนดูไปสำรวจชีวิตความเป็นอยู่ของของ LGBT ในเรือนจำ แต่ละวัน ฟลุ๊คต้องทนทุกข์ที่ต้องแยกจากคนรัก เขาต้องรบกับจิตใจตัวเองทุกชั่งขณะว่าความรักกับเรือนจำ อันไหนจะชนะ ศรัทธากับความสิ้นหวัง อันไหนจะแพ้พ่าย ไปจนถึงการต้องรักษาหัวใจตัวเองไม่ให้โดนความดิบเถื่อนของแดนคุกมาทำให้แปรเปลี่ยนไป เพื่อจะถนอมไว้ในวันที่เขาได้รับอิสรภาพอีกครั้ง
ความสมจริงที่เกิดจากการถ่ายทำในสถานที่จริง
ผู้กำกับพุฒิพงษ์ นาคทอง พะยี่ห้อว่าหนังทุกเรื่องของเขาต้องมาพร้อมความเดือดดาล และความกล้าที่จะหยิบเรื่องราวที่ไม่มีใครพูดถึง โดยในวัยหนุ่ม 2544 ผู้กำกับอยากให้นักแสดงได้สัมผัสบรรยากาศแบบเรียลที่สุด จึงถ่ายทำในคุกจริง ใช้ นักแสดงประกอบที่มีประสบการณ์ในเรือนจำจริงๆ โดยยกกองไปถ่ายทำที่ เรือนจำกลางเพชรบุรีที่มีอายุกว่า 100 ปี และ เรือนจำกลางเขาบิน
“มนุษย์เกิดมาพร้อมกับอิสรภาพครับ ถ้าวันหนึ่งอิสรภาพเราสูญสิ้น วันนั้นเราจะได้เจอตัวเองมากที่สุด เราจะได้รู้เลยว่ามันไม่ใช่เรื่องที่สวยงาม มันไม่ใช่เรื่องที่น่าทดลองครับ คือผมเข้าไปถ่ายทำ ผมยังรู้ว่าผมได้ออกมานะ แต่ในทุกๆ มุมของการใช้ชีวิตข้างในมันโคตรหดหู่เลยแม้กระทั่งอากาศที่หายใจ
“มีซีนหนึ่งที่มีนักแสดงรวมทั้งหมดในห้อง 44 คน รวมทีมงานต่างๆ แล้วมีคนประมาณ 100 คน แค่นั้นผมยังหายใจไม่ออกเลย รู้สึกว่า โอ้โห! อยู่กันยังไงวะ มีคนที่เคยนอนตรงนี้ด้วยซ้ำก่อนที่จะยกเลิกเรือนจำนี้ไป เขาบอกว่าห้องนี้อยู่กันจริงๆ คือ 200 คน ต้องนอนขาสลับฟันปลา บางคนนอนตะแคง บางคนต้องนั่ง มันโหดร้ายมากครับ มันไม่ใช่สิ่งที่เอาไว้วัดความเป็นสุภาพบุรุษของเรา หรือความเป็นชายชาตรีว่าเราเคยผ่านสิ่งนี้มาแล้ว
“ผมว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ต้องลองก็ต้องรู้ครับ มีตัวอย่างให้เห็นเยอะแยะไปหมด อย่าเข้าไปเองเลย คนที่เข้าไปข้างในสิ้นอิสรภาพแล้ว คนที่สิ้นไปกับคุณด้วยก็คือญาติ ญาติคุณก็ติดคุกไปด้วยครับ เพราะว่าเขาปล่อยคุณไม่ได้ เขาต้องมาหาคุณ ใจมันติดกันอยู่แบบนี้ มันวนเป็นมวลรวม” – ท็อป ทศพล
มุมมองก่อนและหลังเข้าเรือนจำ
“ข้างในรวมคนไว้เยอะมาก ต่างที่มา ต่างที่ไป บางคนตั้งใจ บางคนไม่เจตนา บางคนโดนถามว่าเข้าคุกกี่ครั้งแล้ว ในความรู้สึกผมคือ เราตัดสินคนไม่ได้เลยครับว่าเรารู้สึกยังไงกับพี่ๆ ที่เคยผ่านประสบการณ์นี้มา แต่ผมหน้าชา…รู้อย่างหนึ่งว่า ถ้าเลือกได้ไม่มีใครอยากเข้ามาหรอกครับ แล้วการที่ก้าวพ้นคำว่าเลือกได้ไม่เข้ามา มันเป็นเรื่องเสี้ยววินาทีทั้งนั้นเลย แค่เสี้ยววินาที” – ท็อป ทศพล
“ถ้าเป็นกูไม่ยิงหรอก ถ้าเป็นกูจะทำอย่างนี้อย่างนั้น…แต่สุดท้ายแล้วโมเมนต์ก่อนจะกดไกยิงมันแค่เสี้ยววินาที เผือกเป็นคนที่ไม่รู้เท่าทันตัวเอง แล้วเขาพยายามเก็บกวาดผลกระทบหลังจากนั้น มันเลยยากที่จะบอกว่าสุดท้ายแล้วตัวละครเผือกสอนอะไร ผมอยากชวนมาดูมากกว่า เพราะทุกคนดูแล้วคงมีคำตอบของตัวเองกันว่าอยากจะจัดการชีวิตตัวเองกันยังไงต่อไป” – ณัฏฐ์ กิจจริต
‘วัยหนุ่ม 2544’ เข้าฉาย 28 พฤศจิกายนนี้ในโรงภาพยนตร์
Words: Sritala Supapong
Photos: เนรมิตรหนัง ฟิล์ม