อย่าเชื่อผู้เชี่ยวชาญ (ไปเสียทุกอย่าง)

มีหลายสถานการณ์ที่ชีวิตเจอเรื่องไม่คาดคิดมาให้เราต้องฝ่าฟัน บางครั้งก็เป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ในสถานการณ์เช่นนั้น ที่พึ่งที่จะช่วยฟันธงให้เราได้ก็คือ กูรูผู้เชี่ยวชาญ…เหรอ ?

สามีภรรยาคู่หนึ่งต้อนรับสมาชิกใหม่ เป็นเบบี๋เพศชายตัวจ้ำม่ำแข็งแรง ครั้นผ่านไปจนเจ้าหนูอายุครบหนึ่งขวบ ญาติ ๆ ที่เวียนมาเยี่ยมทักขึ้นว่า ทำไมเจ้าหลานยังไม่พูดสักแอะ

พ่อแม่อุ้มลูกชายไปหาหมอในบัดเดี๋ยวนั้น ซึ่งหมอกล่าวอย่างระมัดระวังหลังจากตรวจเจ้าหนูอย่างละเอียดว่า ‘ลูกชายของคุณหูหนวกสนิท’

คำว่าสนิทในที่นี้หมายถึง profound hearing loss ที่หมายถึงการไม่ได้ยินเสียงทุกคลื่นความถี่ บางคนที่หูหนวกอาจอยู่ในระดับที่พอจะได้ยินเสียงบ้าง หรือ severe hearing loss ยังพอจะใช้เครื่องช่วยฟังช่วยขยายเสียงให้ดังขึ้นได้ แต่ในรายของเจ้าหนูนี้ เขาได้ยินเพียงความเงียบงัน

ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา พ่อกับลูกชายออกเดินทางไปหลายสถานที่ ไปไหว้พระตามวัดต่างๆ ไปบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลายที่ ไปพบหมอโรงพยาบาล A หมอโรงพยาบาล B ไปสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ไปสมาคมคนหูหนวกแห่งสหรัฐอเมริกา ไปสมาคมผู้ใช้ภาษามือ

การเดินทางครั้งสุดท้ายคือ พ่อลูกพากันไปพบหมอที่ออสเตรเลีย ซึ่งยินยอมผ่าตัดประสาทหูเทียมให้ลูกชาย ซึ่งส่งผลให้เขาได้ยินเสียงในที่สุด เพียงแต่ไม่ได้ยินเสียงอย่างคนหูปกติ แต่ได้ยินเป็นเสียงคลื่นวิทยุ เด็กชายจึงต้องใส่เครื่องแปลงสัญญาณที่แนบไปกับศีรษะเขาราวกับเป็นอวัยวะใหม่

ก่อนจะมาถึงจุดที่เรื่องราวคล้ายว่าจะลงเอยอย่าง happy ending แต่พ่อแม่ต้องฝ่าฟันด่านอันท้าทายมากมาย

พ่อแม่อุ้มลูกชายไปหาหมอ แต่มิได้ยกดาบแห่งการตัดสินใจให้หมอ พ่อแม่ต้องขวนขวายอ่านข้อมูลบานตะไทควบคู่กันไป ความรู้ช่วยให้ทั้งคู่เป็นฝ่ายตั้งคำถามหรือกระทั่งข้อถกเถียงกับหมอได้ มิใช่ทำตัวเป็นภาชนะว่างที่หมอจะเติมข้อมูลใดลงไปก็ได้ เมื่อไม่มีความรู้ก็จะยกหน้าที่ฟันธงชีวิตลูกชายให้กับผู้เชี่ยวชาญ แต่คนที่เชี่ยวชาญชีวิตลูกชายดียิ่งกว่าใครคือพ่อแม่ที่เลี้ยงดูเขามาอย่างใกล้ชิด และก็เป็นพ่อแม่ที่ต้องอยู่กับผลพวงการตัดสินใจนั้นไปจนตลอดชีวิต ขณะที่หมอหรือผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัยให้ก็จริง แต่ไม่ได้รับผิดชอบใด ๆ ในชีวิตของเด็กชาย

ในมรสุมแห่งการตัดสินใจยังมีแรงต้านเข้ามา ทำให้เรื่องที่ยากอยู่แล้วยิ่งสาหัสขึ้น แรงต้านนั้นมาในรูปของเสียงทัดทานจากผู้ประสงค์ดีทั้งหลาย จะดีหรือให้ลูกผ่าตัด เสี่ยงเกินไปไหมลูกยังเล็กอยู่ พ่อแม่อย่าไปตัดสินใจแทนลูก หมอไม่แนะนำให้ผ่าก็ยังจะดื้อผ่า ฯลฯ

พ่อแม่จึงทำหูดับต่อเสียงต้าน แล้วบ่ายหน้าไปรับฟังเสียงจากพ่อแม่รายอื่นที่ผ่านประสบการณ์เดียวกันนี้มาก่อน ซึ่งกลายเป็นทั้งข้อมูลประกอบการตัดสินใจและเป็นที่เยียวยาจิตใจที่ช่วยให้ไม่รู้สึกว่าเผชิญปัญหานี้ตามลำพัง มีคนที่เจอเรื่องยากเหมือนกับครอบครัวเรา

ทั้งหมดนี้ทำให้พ่อแม่พาลูกชายบินไปผ่าตัดที่ออสเตรเลีย เนื่องจากองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่มีในเมืองไทยเมื่อหลายสิบปีก่อนทำให้หมอแนะนำว่าอย่าผ่าเลย เสี่ยงเปล่าๆ

สมาคมคนหูหนวกในอเมริกาแนะนำให้ลูกชายฝึกภาษามือ เพราะการผ่าตัดเพื่อให้คนหูหนวกกลับมาได้ยินเสียงจะเป็นการลดทอนจำนวนผู้ใช้ภาษามือลงไปจนสูญพันธุ์

ส่วนหมอที่ออสเตรเลียบอกเลยว่าผ่าตัดได้ มีเคสที่ผ่าตัดแล้วกลับมาได้ยินเสียงนับพันราย

พ่อแม่ตัดสินใจแทนลูกชายว่าให้ผ่าตัด แต่ขอผ่าตัดหูข้างเดียวก่อนเผื่อว่าในอนาคตอาจมีเทคโนโลยีใหม่ และเลือกให้ลูกผ่าตัดหูข้างซ้ายเพราะพ่อแม่อุ้มลูกด้วยแขนขวา ลูกน่าจะได้ยินเสียงใกล้ปากพ่อแม่ได้ชัดขึ้น

พ่อแม่ไม่ได้ให้ลูกเรียนภาษามือเพราะจะกลายเป็นข้อจำกัดในการสื่อสาร แต่การผ่าตัดประสาทหูเทียมที่ช่วยให้ได้ยินสอดคล้องกับวิธีการคิดของคนที่จะคิดเป็นภาพหรือคิดเป็นเสียง ถ้าลูกไม่ได้ยินก็ต้องคิดเป็นภาพอย่างเดียว แต่ถ้าคิดได้ทั้งเป็นภาพและเป็นเสียงน่าจะดีกว่า

พ่อแม่เลือกให้ลูกชายเรียนภาษาแรกเป็นภาษาอังกฤษ ด้วยความที่ความรู้ส่วนใหญ่ในโลกเป็นภาษาอังกฤษ และเครื่องแปลงสัญญาณวิทยุรับเสียงภาษาอังกฤษได้ดีกว่าภาษาไทย เช่น ถ้าพูดว่า บลา บล่า บล้า บล๊า บล๋า เครื่องแปลงสัญญาณจะทำให้ลูกชายได้ยินว่า บลา บลา บลา บลา บลา

หลังจากผ่าตัดประสาทหูเทียมเมื่อหลายสิบปีก่อน ลูกชายเติบโตเป็นชายหนุ่มที่แข็งแรง แต่เพราะเขาไม่ยอมผ่าตัดประสาทหูเทียมอีกข้าง จึงได้ยินเสียงทางเดียว เขาขับรถไม่ได้ ไม่ถนัดเล่นกีฬาประเภททีม และชอบทำกิจกรรมที่อยู่คนเดียว เช่น ขี่จักรยาน (แน่นอนว่าไม่ใช่บนถนนทั่วไป) และอ่านหนังสือ

เมื่อใดก็ตามที่เขาหน่ายกับเสียงของโลก หรือกระทั่งเสียงบ่นของพ่อแม่ เขาก็แค่ถอดเครื่องแปลงสัญญาณออก แล้วจักรวาลของเขาก็จะมีแต่ความเงียบสนิท

ถ้าการที่เขาหูหนวกจะมีข้อดีอยู่บ้าง สิ่งนั้นก็คือความเงียบ มันเงียบจริงๆ นะ ลูกชายบอก มันไม่เหมือนความเงียบเวลาที่เราออกไปเดินป่า ไปนั่งริมทะเล หรือไปนั่งสมาธิ นั่นเรียกว่าความเงียบสงบ ความเงียบที่ไร้สุ้มเสียงเขามองว่าคือของขวัญอันมีค่า

และมันกลายเพื่อนสนิทของเขา

Natasha K หญิงชราวัย 90 นางตัดสินใจไปพบแพทย์หลังจากพบว่า วันหนึ่งเมื่อ 2 ปีก่อน จู่ๆ นางที่เคยเป็นคนขี้อาย กลับมีอาการระริกระรี้เมื่อเห็นหนุ่มๆ นางรู้สึกซาบซ่าเซี้ยวซนอย่างกับสาวรุ่น นางไปพบหมอก็จริงแต่วินิจฉัยตัวเองให้หมอฟังว่านางน่าจะเป็น ‘โรคคิวปิด’ หรือในทางการแพทย์เรียกว่าโรคซิฟิลิส ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

เรื่องของเรื่องคือเมื่อ 70 ปีก่อน คุณนาตาชาเคยทำงานเป็นหญิงงามเมืองในซ่องที่เมืองซาโลนิก้า ประเทศกรีซ สาวๆร่วมอาชีพหลายคนเป็นซิฟิลิส และพวกนางก็เรียกเจ้าโรคนี้ด้วยชื่อใหม่ว่า ‘โรคคิวปิด’  

คุณหมอตรวจแล้วก็พบว่าจริงดังคำนางว่า เชื้อซิฟิลิสไม่ได้หายไปไหน แต่แฝงตัวอยู่ในร่างกายและสำแดงอาการขึ้นมาหลังจาก 70 ปีผ่านไป และที่คุณนาตาชามาหาหมอในวันนี้ นางมาขอว่าหมอช่วยไม่ให้อาการเลวร้ายลง แต่ก็อย่าให้โรคนี้หายไปจากนางจะได้ไหม

คุณหมอฟังแล้วหะแรกก็งง หากเข้าใจในเวลาต่อมาเมื่อฟังเหตุผลของคุณนาตาชาที่บอกว่า โรคคิวปิดคือความป่วยไข้ก็จริง แต่ในทางหนึ่งมันทำให้นางรู้สึกถึงความมีชีวิตเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษในชีวิตอันยืนยาวของนาง ชีวิตหญิงชราที่เสมือนดอกไม้อันโรยราก็กลับเบ่งบานสะพรั่งขึ้นมาได้ นางรู้สึกว่าโรคนี้คือพรที่มาสู่นางในบั้นปลายชีวิต

ในความเป็นหมอแล้ว หน้าที่ก็คือรักษาความป่วยไข้ให้หายไปถ้ามันเป็นโรคที่รักษาได้ แต่คุณนาตาชาผู้นี้นางรู้จักชีวิตตนเองดีกว่าใคร นางจึงแจ้งความจำนงต่อคุณหมอไปเช่นนั้น

คุณหมอจึงจัดให้ตามปรารถนาของคุณนาตาชา คือประคับประคองอาการไม่ให้เลวลง และอยู่ในระดับที่ทำให้หญิงวัย 90 รู้สึกกิ๊วก๊าวกับชีวิตต่อไป

บางอย่างทำให้ขาดหาย บางคราวเกิดความล้นเกิน อาจเป็นความผิดปกติในสายตาคนนอก แต่ในบางกรณีมันอาจเป็นสหายคู่ยากหรือเป็นชีวิตใหม่ของใครบางคนก็เป็นได้

 Oliver Sacks คุณหมอเจ้าของไข้บันทึกเรื่องราวของคุณนาตาชาเอาไว้ในหนังสือ The Man Who Mistook His Wife for a Hat หรือฉบับแปลเป็นไทยโดยชัยภัทร ชุณหรัศมิ์ คุณหมอโรคสมองที่ให้ชื่อภาษาไทยแก่หนังสือเล่มนี้ในคราวแรกว่า นี่หมวกหรือนี่เมีย ซึ่งบรรณาธิการเปลี่ยนใหม่ทันทีเป็น ชายผู้เห็นภรรยาเป็นหมวก: โรคพิศวงของโรคสมอง  

อะไรกันแน่คือความปกติและความผิดปกติ ใครกันแน่คือผู้เชี่ยวชาญ

คุณพ่อของลูกชายที่เกิดมาหูหนวกแต่แรกเกิดบอกว่า “ชีวิตของเรา เราต้องรู้จักให้มากที่สุด เราจะได้เป็นนายแห่งโชคชะตาและเป็นกัปตันแห่งจิตวิญญาณของตัวเองได้”

you might like

Scroll to Top