เคยสงสัยไหมว่า……ทำไมรายการวาไรตี้ของเกาหลีถึงมีผู้ชมมหาศาล ??

ทำไมรายการวาไรตี้โชว์เกาหลีจึงมีคนดูไปทั่วโลก ตั้งแต่ไทย เวียดนาม บราซิล ฝรั่งเศส อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น อเมริกา ฯลฯ เขาทำรายการกันอย่างไรจึงก้าวข้ามพรมแดนภาษาและวัฒนธรรม โดยที่คนดูไม่ต้องเข้าใจภาษาหรือวัฒนธรรมเกาหลีก็ดูเพลินได้

K-Variety จึงเป็นหนึ่งในซอฟเพาเวอร์อันทรงพลังได้ไม่แพ้ K-Pop ซึ่งมีเพลงขึ้นอันดับหนึ่งในบิลบอร์ดชาร์ต (เพลง Dynamite ของวง BTS ในปี 2020) หรือ K-Movie ที่มีหนังและนักแสดงได้ออสการ์ (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเรื่อง Parasite ปี 2020 และ ยุนยอจอง นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากหนัง Minari ปี 2021) และผลิตสร้างซีรีส์ครองแชมป์คนดูของ Netflix (Squid Game ที่ฉายในปี 2021 ป่านนี้ยังไล่รับรางวัลกันไม่เสร็จ จนถึง Extraordinary Attorney Woo)

นายองซอก โปรดิวเซอร์/ผู้กำกับรายการวาไรตี้โชว์ที่ครองใจผู้ชมชาวเกาและชาวต่างชาติมาตั้งแต่ยุคสถานีโทรทัศน์รุ่งเรืองจากรายการ 2 Days 1 Night ทางสถานี KBS ในปี 2007 ซึ่งมีเอพิโซดที่สามารถกวาดเรตติ้งสูงถึง 32% มาจนถึงยุคเคเบิลเข้ามาแบ่งตลาด โปรดิวเซอร์ก็ย้ายไปอยู่ช่องเคเบิล TvN ผลิตรายการดังๆ เช่น Grandpas Over Flowers รายการดาราสูงวัยออกท่องเที่ยวที่ทำได้ 5 ซีซั่น หรือ Three Meals a Day รายการที่จับดาราดังไปอยู่บ้านนอกและวันๆก็ทำอาหารสามมื้อสมชื่อรายการ แต่ดังมากจนทำได้ยาวถึง 10 ซีซั่น และเมื่อถึงยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ โปรดิวเซอร์ก็ทำรายการในช่องยูทูบ Full Moon Channel ซึ่งเจาะกลุ่มคนดูเจนวายและเจนซีที่ชาวเกาหลีเรียกสั้นๆว่า Gen MZ ที่มีทั้งรายการแฟชั่น (Mapo Hipster) ที่ให้ไอดอลดังเพื่อนสนิทที่ชอบแต่งตัวมาประชันความแฟต่างสไตล์กัน รายการอาหารที่เอาดาราดังมานั่งกินรามยอนหรือมาม่าเกาหลี (The Ramyeonator) หรือเอาไอดอลวงดังอย่าง Super Junior นั่งซดโชจูแล้วก็คุยกับแขกรับเชิญ (Things That Make Me Groove) ไปจนถึงรายการที่เน้นเล่นเกมกันตะบี้ตะบัน (The Game Caterers ซึ่งเอพิโซดที่ไปเล่นเกมกันที่ YG ต้นสังกัดของ Blackpink รวม 4 ตอน มียอดวิว 35 ล้านวิว) ขณะที่ทางช่องเองมียอดสับตะไคร้ 4.4 ล้าน และยอดวิวรวมเกือบ 1,000 ล้าน นายองซอกจึงกลายเป็นโปรดิวเซอร์รายการวาไรตี้อันดับ 1 ทั้งความนิยมและรายได้ของเกาหลีใต้ไปอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งตัวเขาเองวิเคราะห์สูตรสำเร็จที่ทำให้รายการวาไรตี้ของเขาเป็นซอฟต์เพาเวอร์ขวัญใจคนดูทั่วโลกไว้ดังนี้

  1. ต้องปรับตัวตามโลก : ตอนแรกผมเป็นโปรดิวเซอร์ประจำสถานีโทรทัศน์ ต่อมาย้ายไปอยู่เคเบิล ปัจจุบันอยู่บนแพล็ตฟอร์มออนไลน์ ผมก็ไม่ได้อยากเปลี่ยนที่ทำงานนะ แต่เทคโนโลยีการแพร่ภาพมันวิวัฒนาการไปแบบนี้ ผมเองอยากทำงานต่อไปอีกนานๆ ไม่ได้อยากจะเกษียณก็เลยต้องปรับเปลี่ยนตัวเองไปตามนั้น
  2. เลือกคนที่ใช่ให้คนอยากดู : อันดับแรกต้องดูคาแรกเตอร์ก่อนว่าเข้ากับรายการหรือเปล่า และพูดตรงๆก็ต้องเป็นคนมีชื่อเสียง แต่สำคัญสุดคือบุคลิกภาพ มีตัวตนที่น่าติดตาม เพราะมันเป็นสิ่งที่ตัดต่อไม่ได้ ถ้าคนๆนั้นนิสัยแย่ ยังไงก็จะออกมาให้คนดูทางบ้านเห็นอยู่ดี ต่อให้พยายามตัดต่อหนักแค่ไหนก็ตาม
  3. ทำเนื้อหาที่ดูได้ทุกยุคสมัย: ผมคิดว่าความชอบของคนในการเดินทางหรืออาหารก้าวข้ามกาลเวลาได้ ผมเลยจับคุณค่าและความสนใจพื้นฐานของมนุษย์ 2 เรื่องนี้มากกว่าจะทำเนื้อหาตามกระแส
  4. ข้อจำกัดของยุคสมัย : แต่ก็มีรายละเอียดบางอย่างที่มีข้อกำจัดด้านยุคสมัยด้วย เช่น รายการ Noona Over Flowers ที่นักแสดงชายวัยหนุ่มทำหน้าที่เป็น ‘เด็กยกระเป๋า’ ในทริปเดินทางกับนักแสดงหญิงรุ่นเดอะและคอยดูแลรับใช้ เนื้อหาแบบนี้ ‘ไม่เป็นไร’ ในช่วงเวลามันออกอากาศ แต่ถ้าเอามาดูตอนนี้ก็จะ ‘เป็นอะไร’ ขึ้นมาละ เพราะคนยุคนี้ให้คุณค่ากับเพศที่เท่าเทียมกัน ค่านิยมหรือบรรทัดฐานของยุคสมัยก็เป็นสิ่งที่ควรตระหนักด้วย
  5. ทำรายการข้ามกำแพงภาษาและวัฒนธรรม : พูดอย่างสัตย์จริงแล้ว ผมไม่ได้ตั้งใจทำรายการให้คนต่างชาติดู แต่กลายเป็นว่าคนประเทศต่างๆชอบดูรายการที่ผมทำ แม้จะมีแฟนๆต่างชาติมากขึ้นเรื่อยๆ ผมก็ไม่ได้เจาะกลุ่มเป้าหมายว่าจะทำรายการให้คนทุกชาติทุกภาษาดูได้แบบ 100% อยู่ดี เพราะความตั้งใจแรกเริ่มของผมคือทำรายการให้ชาวเกาหลีดู นั่นต่างหากที่ทำให้ผมมีคนดูต่างชาติ ซึ่งเขาก็ชอบดูรายการที่ผมทำ ก็เลยใช้วิธีการเดิมมาตลอด เวลาผมได้เจอผู้ชมชาวต่างชาติ ผมชอบถามว่าอยากให้ผมปรับรายการให้ดูสนุกมากขึ้นยังไงได้บ้างไหม ทุกคนก็จะตอบว่า ไม่ต้องปรับ ทำเหมือนเดิมไปนั่นแหละ ชอบแบบที่คุณทำอยู่ ผมก็เลยจะรักษาสไตล์ของตัวเองเอาไว้ต่อไปครับ
  6. รายการวาไรตี้เกาหลีดูบันเทิงขึ้นมากด้วยข้อความแคปชั่น : ผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ของแคปชั่น แต่ก็พอจะตอบได้ว่ามีต้นกำเนิดมาจากญี่ปุ่นสัก 20 -30 ปีก่อน ญี่ปุ่นกับเกาหลีก็ใกล้ชิดกันมากในหลายๆทาง เกาหลีก็เลยรับขนบการใส่แคปชั่นในรายการทีวีมาอย่างธรรมชาติ เหตุผลที่เราใส่แคปชั่นก็คือ วิธีการถ่ายรายการแบบด้นสดด้วย เราจำเป็นต้องอธิบายให้ผู้ชมเข้าใจบริบทว่าเกิดอะไรขึ้น อะไรเป็นอะไรด้วย
    *แคปชั่นในรายการวาไรตี้โชว์เริ่มต้นในยุค 1990 ที่ญี่ปุ่น เรียกว่า Telop มาจากคำว่า Television Opaque Projector เนื่องจากยุคนั้นรายการวาไรตี้มักออกอากาศตอนดึกๆ คนดูจึงต้องปรับวอลุ่มให้เบา การใส่แคปชั่นจึงช่วยให้ผู้ชมอ่านบริบทและชมรายการได้เข้าใจขึ้น นอกจากนี้ตัวอักษรคันจิของญี่ปุ่นอ่านได้หลายแบบ ซึ่งก็จะมีความหมายต่างกันไป แคปชั่นจึงช่วยอธิบายความหมายที่ถูกต้องในบริบทนั้นๆให้คนดูรับสารได้อย่างถูกต้อง และแคปชั่นยังเป็นตัวเพิ่มอรรถรสในการรับชม เป็นกลเม็ดอย่างหนึ่งที่โปรดิวเซอร์ใช้เพื่อจับความสนใจคนดู
  7. ทำรายการแบบด้นสด : การทำงานระบบเกาหลีไม่มีสคริปต์ ส่วนระบบอเมริกันจะวางแผนและเขียนสคริปต์ทุกอย่างเป๊ะๆ ซึ่งไม่มีแบบไหนผิดหรือถูก แต่มีอาจารย์ที่สอนเรื่องเกาหลีศึกษาในอเมริกาให้นักศึกษาอเมริกันดูรายการ Grandpas Over Flowers ทั้งเวอร์ชั่นเกาหลีและอเมริกัน ปรากฏว่านักศึกษาชอบเวอร์ชั่นเกาหลีมากกว่า เพราะสัมผัสได้ถึงความเรียล ขณะที่บอกว่าเวอร์ชั่นอเมริกันดูเป็นการแสดง ดูเสแสร้งพูดและทำไปตามสคริปต์ ก็แสดงว่าความเรียลมันทะลุจอและทะลวงผ่านวัฒนธรรมได้

you might like

Scroll to Top