ประโยคที่ว่า “คนไทยอ่านหนังสือปีละ 7 บรรทัด” แทบจะกลายเป็นชุดความคิดฝังหัวของคนไทยมาช้านาน และพยายามสื่อว่าคนไทยอ่านหนังสือน้อย ทว่า ยุคนี้มีช่องทางการอ่านมากกว่าหนังสือกระดาษแบบเดิม และจำเป็นไหมที่ ‘หนังสือ’ จะต้องอ่านเพื่อต้องการความรู้
The Optimized พาไปเปิดรายงานพฤติกรรมการอ่านของคนไทย
สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ร่วมกับ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำรวจความคิดเห็นและพฤติกรรมการอ่านผ่านแบบสอบถามออนไลน์ ในกลุ่มตัวอย่างอายุ 12 ปีขึ้นไปจาก 5 ภูมิภาคทั่วไทย รวม 2,550 คน ได้บทสรุปที่น่าสนใจ ดังนี้
การอ่านโดยรวมทุกรูปแบบ เนื้อหาและแพลตฟอร์มในกลุ่มตัวอย่างพบว่า คนไทยอ่านอย่างน้อย 5 วันขึ้นไปต่อสัปดาห์ ส่วนใหญ่ 44% อ่านทุกวัน ระยะเวลาที่อ่านเฉลี่ยวันละ 93 นาที
98% อ่านเนื้อหาในภาษาไทย ส่วน 60% อ่านภาษาอังกฤษ คนอายุน้อยอ่านภาษาอังกฤษมากกว่า
ส่วนใหญ่ 58% อ่านในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ส่วน 42% อ่านบนกระดาษ
เหตุผลหลักๆ คืออ่านเพื่อความบันเทิง พักผ่อน แก้เหงา โดยเฉพาะในกลุ่มคนอายุน้อย
รองลงมาคือ อ่านเพื่อเรียนรู้เรื่องที่สนใจและอยากพัฒนา ติดตามข่าวสาร และเตรียมสอบ
จำนวนผู้ชมงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ
อินโฟกราฟิกจาก pubat.or.th
Photo: X@GmmtvShop
คนล้นหลามที่งาน Fansign ของเต-นิวที่ Book Expo Thailand 2024
เต-นิว ทักทายแฟนๆ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติในเดือนตุลาคม 2024
Photo: X@jollyli666
ในกลุ่มที่อ่านเองโดยสมัครใจ มักจะอ่านหนังสือเล่มหรือนิยายรายตอน โดย 1 ใน 3 อ่าน 5 วันขึ้นไปจนถึงอ่านทุกวันต่อสัปดาห์ ค่ากลางอยู่ที่อ่าน 10 เล่มต่อปี
แต่ละครั้งที่อ่านหนังสือเล่มหรือนิยายรายตอน จะอ่านได้ต่อเนื่องเฉลี่ย 34 นาที มีเพียง 9% ที่อ่านได้ 60 นาทีต่อเนื่อง สะท้อนว่ามีสิ่งรบกวนการอ่านมากขึ้น
ดังนั้น การปรับให้มีเนื้อหาสั้นกระชับให้อ่านต่อเนื่องได้จบในคราวเดียวจึงอาจเป็นแนวทางสำหรับคนทำคอนเทนต์ หรืออาจแบ่งตอนให้อ่านจบได้ช่วงเวลา 15-30 นาที
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 66% รู้สึกว่าในปีที่ผ่านมาอ่านหนังสือได้น้อยกว่าที่อยากอ่าน สิ่งที่เป็นอุปสรรคมากที่สุดคือ ไม่มีเวลา และมีกิจกรรมอื่นที่น่าสนใจกว่า เช่น ดูซีรีส์ ส่องโซเชียลมีเดีย เล่นเกม รวมทั้งหายืมหนังสือที่อยากอ่านไม่ได้
คนส่วนใหญ่อ่านแบบกระดาษ 50% พอๆ กับอีบุ๊ค 47% และหนังสือเสียง 3%
ยอดขายหนังสือในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ
อินโฟกราฟิกจาก pubat.or.th
บรรยากาศกิจกรรม Fansign ของ เจมีไนน์-โฟร์ท ในงาน Book Expo Thailand 2024
Photo: X@GmmtvShop
เจมีไนน์-โฟร์ท แม่เหล็กดึงดูดคนและเม็ดเงินในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ
Photo: X@AeGreenAe
หนังสือส่วนใหญ่ที่อ่านคือ หนังสือเล่ม นิยายรายตอนภาษาไทย และหนังสือภาษาอังกฤษ
กลุ่มคนอายุน้อยในวัยเรียนเพศหญิงที่อ่านหนังสือแนวเรื่องจริง (non-fiction) มักอ่านตำราเรียน คู่มือเตรียมสอบ และหนังสือแนวพัฒนาตนเอง
ส่วนเยาวชนชายมักอ่านหนังสือประวัติศาสตร์
ส่วนกลุ่มผู้ใหญ่เพศหญิงมักอ่านหนังสือแนวพัฒนาตนเอง ท่องเที่ยว สุขภาพ
ผู้ชายกลุ่มผู้ใหญ่มักอ่านประวัติศาสตร์ เทคโนโลยี และการพัฒนาตนเอง
ส่วนคนอายุ 50 ปีขึ้นไปสนใจอ่านหนังสือสุขภาพ ท่องเที่ยว สารคดี ประวัติศาสตร์ ธรรมะและปรัชญา
มาถึงหนังสือแนวเรื่องแต่ง (fiction) ผู้ชายทุกกลุ่ม ยกเว้นกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป ชอบอ่านมังงะญี่ปุ่นมากที่สุด ส่วนผู้หญิงในกลุ่มอายุน้อยชอบอ่านวรรณกรรมเยาวชน นิยายสืบสวนสอบสวน ความรักความสัมพันธ์ เช่น นิยายโรแมนติก นิยายวาย
Photo: X@GmmtvShop
ปอนด์-ภูวินทร์ ถ่ายภาพร่วมกับกองทัพแฟนคลับในงาน Fansign ที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติในเดือนตุลาคม 2024
Photo: X@phuwintang
ปอนด์-ภูวินทร์ โพสต์รูปขอบคุณแฟนๆ ที่มาเจอกันในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ
ทุกกลุ่มอายุซื้อหนังสือต่อปีไม่เกิน 5,000 บาท โดยซื้อหนังสือกระดาษเป็นหลัก เพราะอีบุ๊คอาจหาดาวน์โหลดฟรีได้จากอินเทอร์เน็ต
ปัจจัยที่ทำให้ตัดสินใจซื้อหนังสือ ส่วนใหญ่ดูจากหน้าปก รองลงมาคือภาษาที่เข้าใจง่ายในกลุ่มอายุน้อย ส่วนกลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไปดูจากภาษาสละสลวย
แหล่งข้อมูลให้ซื้อหาหนังสือ ส่วนใหญ่มักค้นเรื่องที่สนใจด้วยตัวเอง รองลงมาคือ ดูหนังหรือซีรีส์ที่สร้างจากหนังสือทำให้หาหนังสือเรื่องนั้นๆ มาอ่าน ตามด้วยโฆษณาบนเว็บไซต์หรือสื่อของสำนักพิมพ์
ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนว่า คนไทยอ่านหนังสือเกินปีละ 7-8 บรรทัดไปมาก และสิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อวัฒนธรรมวายและยูริกลายเป็นกระแสหลักก็ไม่เพียงสร้างจักรวาลคนดูซีรีส์ที่กว้างขวางเท่านั้น แต่ยังสร้างกลุ่มนักอ่านหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์กิจกรรมและสินค้าต่างๆ ให้เป็นสื่อกลางระหว่างนักแสดงซีรีส์และคนอ่านหนังสือที่นำไปสร้างเป็นซีรีส์เรื่องนั้นๆ จนทำให้งานสัปดาห์แห่งชาติคึกคักน่าสนใจขึ้นทุกปี และสูบฉีดเอนเนอร์จีสดใหม่ๆ ให้กับวงการหนังสือไทยต่อไป
Reading Never Dies!
Words: Sritala Supapong
ข้อมูลจาก
- รายงานการศึกษาพฤติกรรมการอ่านและการซื้อหนังสือของคนไทย ปี 2567 โดย สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ร่วมกับ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย https://pubat.or.th/statistics2567/