เหตุผลที่ ‘ฟรีน สโรชา’ ใส่ลายจุด เมื่อ VALENTINO ที่ไม่ได้มีแค่เดรสแดง

ตั้งแต่เห็น ฟรีน-สโรชา จันทร์กิมฮะ โพสต์ว่า Valentino เชิญไปเป็นฟรอนต์โรว์ชมแฟชั่นโชว์ Spring-Summer 2025 ก็เผลอคาดหวังว่าจะได้เห็นฟรีนในเดรสแดงแรงฤทธิ์ สีอันเป็นเอกลักษณ์ของห้องเสื้ออิตาลี จนมีสีแดงเป็นของตัวเองที่เรียกว่า Valentino red ทว่า ฟรีนก้าวมายืนหน้าแบ็กดรอปถ่ายรูปในเดรสสั้นแขนตุ๊กตาสีดำ คลุมระบายไหล่ลายจุด ขณะที่ทั้ง 85 ลุคในคอลเล็กชั่นมีเพียง 2  ลุคเท่านั้นที่เป็นเดรสแดง

เกิดอะไรขึ้นกับ Valentino หลังจากเปลี่ยนตัวครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์

เดรสสี Valentino red หายไปไหน

เหตุใดฟรีนจึงใส่เดรสลายจุด

The Optimized ชวนไปหาคำตอบกัน

Valentino Garavani แฟชั่นดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Valentino ในปี 1960 ที่กรุงโรม สร้างชื่อด้วยการเป็นดีไซเนอร์ชาวอิตาเลียนคนแรกที่ได้นำเสนอคอลเล็กชั่นโอตกูตูร์หรือเครื่องแต่งกายชั้นสูงที่ปารีส ทำให้ห้องเสื้อแห่งนี้มีชื่อเสียงว่าทำเดรสหรูหรา

เมื่อครั้งยังเป็นเด็กน้อย วาเลนติโนไปชมโอเปร่าเรื่อง Carmen กับบิดา นักเต้นทุกคนบนเวทีล้วนใส่ชุดแดงกรีดกรายไปมา เมื่อมองไปยังที่นั่งชั้นบน เขาเห็นสุภาพสตรีผทสีเทาในเดรสกำมะหยี่สีแดงสด เขาไม่เคยเห็นผู้หญิงคนใดสวยสง่าขนาดนี้มาก่อนเลย จึงบอกตัวเองว่า หากวันหนึ่งได้เป็นดีไซเนอร์จะทำเดรสสีแดงเยอะๆ

วาเลนติโนทำเดรสสีแดงตัวแรกชื่อว่า ‘La Fiesta’ เดรสผ้าทูลล์เกาะอกยาวคลุมเข่าในคอลเล็กชั่น Spring-Summer 1959 เดรสตัวนั้นไม่มีสีอื่นใดนอกจากสีแดง ซึ่งต่อมาวาเลนติโนได้ทำเดรสแดงในแบบต่างๆ มากมาย จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ และผู้คนในวงการแฟชั่นต่างยกให้สีแดงสดเหมือนดอกป๊อปปี้ว่าเป็นสี Valentino red ซึ่งทางแบรนด์ร่วมกับสถาบัน Pantone คิดค้นส่วนผสมสีแดงของ Valentino red ประกอบไปด้วย สีมาเจนตา 100% สีเหลือง 100% และสีดำ 10%

สีแดงนี้เป็นภาพจำของแบรนด์มากเสียจนสามารถเปิดไลน์ใหม่ Red Valentino ในปี 2003 เน้นดีไซน์เยาว์วัยในราคาจับต้องได้มากกว่าแบรนด์แม่ Valentino

Photo: www.valentinogaravanimuseum

เดรสเกาะอกซ้ายมือของวาเลนติโนคือ La Fiesta เดรสแดงตัวแรกที่เขาออกแบบในปี 1959

หลังจากคร่ำหวอดในวงการแฟชั่นมา 45 ปี วาเลนติโน การาวานี ตัดสินใจโบกมือลาในช่วงที่ผู้คนยังปรบมือยกย่องให้อยู่ เขาส่งคอลเล็กชั่นสุดท้ายด้วยโอตกูตูร์ Spring 2008 ซึ่งจะมีการอำลาใดที่ช่างเป็น Valentino ได้ดีไปกว่าแคตวอล์กที่เต็มไปด้วยเดรสแดงที่โลกจดจำ

ในยุคของ Pierpaolo Piccioli (ซึ่งในปี 2008 เป็นครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์คู่กับ Maria Grazia Chiuri ก่อนที่มาเรียจะย้ายไปยิ่งใหญ่ที่ Dior ในปี 2016) พยายามทำให้ Valentino เป็นที่จดจำด้วยเอกลักษณ์อื่นๆ เช่น นำเสนอแบรนด์ในมุมโรแมนติกสวมเดรสฟรุ้งฟริ้งแต่มิดชิดเหมือนนางชีบนสวรรค์ ทำทั้งคอลเล็กชั่น Fall/Winter 2022-23 ในสีชมพูช็อกกิ้งพิงค์ ไปจนถึงพยายามยื่นขอจดเครื่องหมายการค้ารองเท้าตกแต่งหมุดโลหะ ROCKSTUD® ด้วยหลักฐานที่ว่าทางแบรนด์ใช้ดีไซน์นี้มานานกว่า 5 ปี และมียอดขายรองเท้าดีไซน์นี้กว่า 41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สุดท้ายคำร้องโดนปัดตก) ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้ช่วยให้ Valentino เป็นแบรนด์ยอดขายพันล้านยูโรต้นๆ มานานหลายปี

ปี 2019 ยอดขาย 1.22 พันล้านยูโร

ปี 2020 ยอดขาย 882 พันล้านยูโร

ปี 2021 ยอดขาย 1.23 พันล้านยูโร

ปี 2022 ยอดขาย 1.42 พันล้านยูโร

ปี 2023 ยอดขาย 1.35 พันล้านยูโร

Kering ยังเข้าซื้อหุ้นของ Valentino จาก Mayhoola บริษัทแม่จากกาตาร์มาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทางเลือกว่าจะซื้อหุ้นทั้งหมดของ Valentino ภายในปี 2028

ที่น่าสนใจคือ Kering คือบ้านใหญ่ของ Gucci แบรนด์เก่าที่ Alessandro Michele เพิ่งจะโบกมือลา แม้ยอดขายยังดี แต่เติบโตลดลงเรื่อยๆ จึงต้องแยกทางกัน และมิเคเลย้ายมาอยู่กับ Valentino ในปัจจุบัน

ชัดเจนมากว่า Valentino อยากได้อเลสซานโดร มิเคเลมาปลุกชีวิตให้กับ Valentino ที่ระยะหลังกลายเป็นแบรนด์ที่ทุกคนรับรู้ว่า อืม ยังอยู่นะ ทำสวยนะ แต่…เหมือนขาดอะไรไปนะ

Photo: X@MaisonValentino

โพสต์รูปฟรีนมียอดวิว ไลก์ แชร์ และคอมเมนต์มากที่สุดในโชว์ของ Valentino

มิเคเลย้ายมา Valentino พร้อมด้วยจิตวิญญาณวินเทจ ความเยาว์วัย กับแก๊งเพื่อนคนดังของเขา ไม่ว่าจะเป็น Harry Styles, Elton John และ Jared Leto บวกกับงานถนัดของมิเคเลคือตาเหยี่ยวไว้มองหาเอนเนอร์จีใหม่ๆ โดยเฉพาะอินฟลูเอนเซอร์จากแถบ APAC หรือเอเชียแปซิฟิกที่สร้างมูลค่าสื่อระเบิดให้กับทุกแบรนด์ในทุกซีซั่นที่ผ่านมา

โชว์แรกของเขาจึงเทียบเชิญคนดังชาวเอเชียมากมาย อาทิ จางหว่านอี้ กวนเสี่ยวถงและหยางจื่อ  ซุป’ตาร์นักแสดงสาวชาวจีน, ยุนอา จากวง Girls’ Generation ไปจนถึง ฟรีน-สโรชา จันทร์กิมฮะ ผู้หญิงไทยคนแรกที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในแฟชั่นโชว์เดบิวต์ของมิเคเลที่ Valentino

อย่างที่เกริ่นไว้ว่าคาดหวังจะได้เห็นฟรีนสวมเดรสแดง Valentino แต่เซอร์ไพรส์สุดที่ฟรีนเผยโฉมในเดรสตกแต่งลายจุด อันที่จริงไม่มีแขกวีไอพีรายใดที่สวมเดรสแดงด้วยซ้ำ เมื่อเห็นพื้นแคตวอล์กที่ปูด้วยกระจกร้าว ผลงานของศิลปิน Alfredo Pirri สื่อว่ามิเคเลจะทำลายภาพจำเดิมๆ แล้วพาทุกคนไปสู่ยุคใหม่ของ Valentino

Photo: IG@realmrvalentino

Angelica Huston สวมเดรสลายดอกจาก Valentino SS1972 โดยวาเลนติโน การาวานี ภาพโดย Gian Paolo Barbieri

เดรสลายดอกไม้จาก Valentino SS25 โดยอเลสซานโดร มิเคเล

Photo: maisonvalentino on Threads

ลายจุดใน Valentino SS 1971

Photo: IG@realmrvalentino

ลายจุดใน Valentino SS25

Photo: X@MaisonValentino

ยุคใหม่ของ Valentino ไม่ได้แตกแยกไปจากมรดกเดิม แต่ต่อยอดจากคลังผลงานเก่าที่วาเลนติโน การาวานีได้เคยทำไว้ทั้งสิ้น ในคอลเล็กชั่น SS25 หากดูให้ดีจะเห็นเอกลักษณ์ของห้องเสื้อที่มาสเตอร์วาเลนติโนใช้มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นลายจุด โบว์ ระบาย งานปักวิจิตร งานปักสไตล์ทาเพสทรี กลิ่นอายโลกตะวันออก (เช่น กางเกงแขกและเทอร์บัน หรือหมวกผ้าโพกศีรษะแบบที่ฟรีนใส่) โดยแทรกสีแดงสด Valentino red บ้างเป็นหย่อมๆ แต่กระจายน้ำหนักให้กับซิกเนเจอร์อื่นๆ ของแบรนด์ให้ทัดเทียมกันมากขึ้น

Jacqueline Kennedy สวมเดรสระบายสีแดงจาก Valentino ในยุค 1960s

Photo: IG@realmrvalentino

เดรสแดงแต่งระบาย Valentino เวอร์ชั่น SS25

Photo: maisonvalentino on Threads

ดังนั้น การที่ฟรีนปรากฏตัวในเดรสตกแต่งลายจุด ซึ่งเป็นหนึ่งในลายที่มาสเตอร์วาเลนติโนชื่นชอบ และสวมเทอร์บันที่วาเลนติโนออกแบบไว้เยอะช่วงยุค 1970s จึงเป็นการสลัดภาพจำเดิมๆ ไปพร้อมกับปูพรมศักราชใหม่ของ Valentino แบรนด์ที่มีขุมทรัพย์แฟชั่นให้เล่นสนุกได้มากมาย

วาเลนติโน การาวานีกับผลงานบุสติเยร์ปักยุ่บยั่บในโอตกูตูร์ปี 1989 – 1990

Photo: IG@realmrvalentino

งานปักพร้อยใน Valentino SS25

Photo: maisonvalentino on Threads

คอลเล็กชั่นแรกของมิเคเลแม้โดนเลิกคิ้วใส่เยอะมากว่า “ไม่ใช่ Valentino” ทว่ามิเคเลไม่ได้ทำนอกเหนือจากมรดกที่วาเลนติโนเคยทำไว้ เพียงแต่สไตลิ่งแบบฮิปปี้วินเทจที่เป็นลายเซ็นของมิเคเลต่างหากที่ทำให้คนคิดไปว่าเขาทำซ้ำเหมือนที่เคยทำกับ Gucci

ผลงานของมิเคเลในไม่ช้าย่อมถูกประเมินจากยอดขาย แต่สิ่งที่ประเมินได้ทันทีหลังโชว์จบก็คือมูลค่าสื่อ โดย Lefty ได้ประมวลผลปารีสแฟชั่นวีคฤดูกาล SS25 ปรากฏว่า Valentino สร้างมูลค่าสื่อ (EMV) ได้ 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 239% มาเป็นอันดับ 6 ของปารีสแฟชั่นวีค และครองอันดับ 12 ของฤดูกาล Spring-Summer 2025

 

Photo: Lefty

อินฟลูเอนเซอร์อันดับหนึ่งของ Valentino คือ ฟรีน-สโรชา จันทร์กิมฮะ จากไทยแลนด์ที่ทำมูลค่าสื่อได้ 4.9 ล้านเหรียญสหรัฐ พาให้ฟรีนเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่สร้างมูลค่าสูงสุดอันดับ 11 ของปารีสแฟชั่นวีคซีซั่นนี้

ฟรีนถ่ายรูปแบ็กสเตจกับอเลสซานโดร มิเคเล ครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์คนใหม่ของ Valentino

Photo: IG@srchafreen

นับเป็นการเดบิวต์ที่น่าตื่นตะลึงทั้งกับมิเคเลและฟรีน สองพันธมิตรที่ร่วมกันพา Valentino ยุคใหม่ให้พ้นจากเงื้อมเงาสีแดงของ Valentino red

Words: Sritala Supapong

ข้อมูลจาก

you might like

Scroll to Top