4 จังหวัดนครชัยบุรินทร์ นครราชสีมา-ชัยภูมิ-บุรีรัมย์-สุรินทร์ พร้อมรับมือโควิดในพื้นที่

ต่อยอดความสำเร็จของนครปฐมโมเดล “นครชัยบุรินทร์” ประกอบด้วยจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ลุยจัดระบบรับมือโควิด-19 ระดับพื้นที่ “โคราช” สานพลังประชาชนสร้างกลไกระดับจังหวัดทำงานเชื่อมต่อราชการ พร้อมนำร่องตั้งศูนย์ปฏิบัติการสานความร่วมมือการช่วยเหลือ รับจิตอาสากระจายงานเสริมมาตรการภาครัฐให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เน้นความสำคัญดูแลผู้ป่วยให้ได้ในระดับตำบล หมู่บ้าน และป้องกันกลุ่มเปราะบางผู้สูงอายุ

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัด และภาคียุทธศาสตร์ด้านสังคม สุขภาพ และฝ่ายสงฆ์ขยายการมีส่วนร่วมระดับพื้นที่เพื่อหนุนเสริมมาตรการรัฐในการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กำลังกระจายตัวออกจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ โดยจะใช้ “นครปฐมโมเดล” เป็นต้นแบบและประยุกต์ใช้ตามบริบทของแต่ละพื้นที่

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้โควิด-19 ได้กระจายตัวออกจาก กทม. ไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไวรัสสายพันธุ์เดลตาแพร่ขยายได้เร็วและมีความรุนแรง รวมทั้งนโยบายกระจายผู้ติดเชื้อกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนาแบ่งเบาภาระของระบบบริการสุขภาพใน กทม. ที่ตกอยู่ในสภาพวิกฤตหลังแอ่น คือเกินศักยภาพที่จะรองรับไหวแล้ว และรัฐได้ปรับแนวทางด้วยการสนับสนุนการพักรักษาที่บ้าน หรือ Home Isolation (HI) และการจัดตั้งศูนย์พักคอยชุมชน หรือ Community Isolation (CI) ซึ่งหลังจากนี้จะเกิดขึ้นย่อยๆ ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ จึงจำเป็นที่ประชาชนต้องมีความรู้และมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหา และรับมือกับโควิด-19 ที่เข้าใกล้ตัวมากขึ้นทุกขณะ

นพ.ประทีป กล่าวว่า ทุกฝ่ายต้องเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะในระดับตำบล-ชุมชน ซึ่งถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการรับมือโควิด-19 โดยที่ผ่านมา สช. และองค์กรภาคีได้เข้าไปทำงานร่วมกับพื้นที่ เกิดการสานพลังของชาว จ.นครปฐม เพื่อจัดระบบการจัดการโควิด-19 ของจังหวัดขึ้น และได้รับการสนับสนุนจากผู้ว่าราชการจังหวัด นายก อบจ. ผู้บริหารองค์กรส่วนท้องถิ่น ภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงจิตอาสาภาคประชาชนอย่างดียิ่ง เกิดเป็นรูปธรรมการจัดการ กิจกรรม และนวัตกรรมระดับพื้นที่ที่หลากหลาย ทาง สช. จึงต่อยอดเพิ่มเติมด้วยการชักชวนแกนนำเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัด 22 จังหวัด ร่วมประชุมออนไลน์ เมื่อวันที่ 26 กค.ที่ผ่านมา และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนของนครปฐมโมเดลเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตัวเองต่อไป

“รูปธรรมที่เกิดขึ้นจากการสานพลังของ จ.นครปฐม เป็นทั้งองค์ความรู้และต้นแบบให้กับจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศได้นำไปขับเคลื่อนเพื่อจัดระบบดูแลผู้ป่วยโควิด-19 อย่างมีส่วนร่วมระดับพื้นที่ขึ้น ซึ่งล่าสุดมี 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ หรือ นครชัยบุรินทร์ ได้เตรียมนำไปขยายผลแล้ว” นพ.ประทีป กล่าว

ศ.พิเศษ ดร.นพ.สำเริง แหยงกระโทก ประธานคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขต 9 (นครชัยบุรินทร์) กล่าวในการประชุมสานพลังคนโคราชรวมใจต้านภัยโควิด-19 จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2564 ตอนหนึ่งว่า การปล่อยให้ภาครัฐแก้ปัญหาโควิด-19 เพียงฝ่ายเดียวคงไม่เพียงพอ สิ่งสำคัญคือภาคประชาชนจะต้องเข้าไปมีบทบาทในการขับเคลื่อนด้วยการบูรณาการร่วมกับภาคราชการ ดังตัวอย่างของ จ.นครปฐม ที่ภาคประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกลไกคณะกรรมการควบคุมโรค และกิจกรรมอื่นๆ ในระดับจังหวัด

ทั้งนี้ ชาว จ.นครราชสีมา มีความพร้อมที่จะร่วมเป็นจิตอาสา ซึ่งจากนี้จะมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการประชาชนสู้ภัยโควิดจังหวัดนครราชสีมาขึ้นมา ทำหน้าที่เป็นพื้นที่กลางในการสานพลังภาคประชาชนให้เข้ามาหนุนเสริมในจุดต่างๆ ที่ราชการอาจเข้าไม่ถึง เพื่อร่วมกันเดินหน้าตามเป้าหมาย “หาเชื้อให้ไว รักษาชีวิตให้ทัน สร้างภูมิคุ้มกันให้ครบ” และจะขยายไปอีก 3 จังหวัดของเขตนครชัยบุรินทร์

“วันนี้ที่ประชุมเห็นด้วยที่จะเสนอกลไกภาคประชาชน เข้าไปเชื่อมกับระบบราชการในระดับจังหวัด เพื่อระดมพลังต่างๆ ในส่วนที่จะช่วยทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนอุปกรณ์ การจัดตั้งศูนย์พักคอย การสื่อสารความรู้ความเข้าใจ จัดตั้งกองทุนลมหายใจ หรือการนำแพลทฟอร์ม ไทยแคร์-โคราช มาใช้เพื่อสื่อสารงานด้านจิตอาสา ซึ่งหากโคราชทำสำเร็จก็จะขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ในพื้นที่เขต 9 ต่อไป” ศ.พิเศษ ดร.นพ.สำเริง กล่าว

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา อดีตเลขาธิการ สปสช. และเป็นสมาชิกชาวโคราช กล่าวว่า เนื่องจาก จ.นครราชสีมา เป็นจังหวัดใหญ่ จึงอาจต้องจัดลำดับชั้นในการบริหารจัดการผู้ป่วย โดยให้ตำบลเป็นพื้นที่หลักในการดูแลผู้ป่วยสีเขียว เพราะมีความเหมาะสมในการจัดตั้ง CI ส่วนอำเภอให้ดูแลผู้ป่วยสีเหลือง และระดับอำเภอใหญ่หรือจังหวัดทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยสีแดง

“ภาคส่วนต่างๆ อาจต้องเข้าไปเสริมกระบวนการในระดับตำบล ซึ่งตำบลก็มีความตั้งใจพร้อมแต่อาจยังขาดแคลนความรู้ความเชี่ยวชาญ คืออยากช่วยแต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ดังนั้นจึงควรเริ่มต้นให้เกิดการขับเคลื่อนจากตำบล และหาทางป้องกันประชาชนกลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ โดยใช้ข้อมูลที่หน่วยบริการมีอยู่และจัดระบบให้วัคซีนเชิงรุกขึ้นในพื้นที่” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

#นครชัยบุรินทร์

you might like

Scroll to Top