5 หมุดหมายที่ทำให้ OMEGA ได้จับเวลาในโอลิมปิกและพาราลิมปิก 31 ครั้งรวด

OMEGA แบรนด์นาฬิกาสวิสอายุ 176 ปีเป็นผู้จับเวลาอย่างเป็นทางการในโอลิมปิกและพาราลิมปิกไปแล้วถึง 92 ปี เรียกว่าอยู่เคียงข้างมหกรรมกีฬาของมนุษยชาติมาเกินครึ่งอายุขัยของแบรนด์เสียอีก อะไรที่ทำให้ OMEGA กับ(พารา)โอลิมปิกเป็นคู่จิ้นกันมาได้ยาวนานขนาดนี้ The Optimized ชวนไปหาคำตอบกัน

1.จดเวลาใส่กระเป๋านักกีฬา

ในโอลิมปิกยุคแรกๆ กรรมการแต่ละรายใช้นาฬิกาจับเวลาจากหลายแบรนด์ต่างกันไป แต่ไม่มีแบรนด์ใดเลยที่เที่ยงตรงหรือได้มาตรฐาน ทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากลหรือ IOC จึงเลือก OMEGA ซึ่งเป็นแบรนด์นาฬิกาหนึ่งเดียวที่ผ่านการทดสอบอิสระ และมีกลไกโครโนกราฟที่บอกเวลาได้ละเอียดเกือบถึงระดับ 1/10 ของวินาที

Photo: OMEGA

นาฬิกา OMEGA ปรากฏตัวครั้งแรกในโอลิมปิกปี 1932 ที่ลอสแองเจลิส ที่กรรมการใช้นาฬิกาจับเวลาของ OMEGA 30 เรือน ต่อมาในเบอร์ลินโอลิมปิกปี 1936 OMEGA ได้เพิ่มนาฬิกาจับเวลาเป็น 185 เรือน และได้แนะนำการจับเวลาแบบใหม่ โดยกรรมการที่จุดเริ่มต้นจะจดเวลาออกสตาร์ตในกระดาษ ส่วนอีกคนคอยจดเวลาที่เส้นชัย ซึ่งก็ไม่รู้ว่านักแข่งสกีออกตัวมาตอนไหน ต้องอาศัยดูกระดาษจดที่กรรมการยัดใส่ในกระเป๋านักกีฬาคนต่อไปเวลาสไลด์ตัวลงมานั่นแหละ จึงจะนำมาคำนวณเวลาได้ กว่าจะได้รู้ผลว่าใครแพ้ ใครชนะ นักกีฬาและคนดูต้องใช้น้ำอดน้ำทนกันน่าดู

2.นักกีฬาวิ่งผ่าน ‘ตาวิเศษ’

ในปี 1948 โอลิมปิกฤดูหนาวที่เซนต์มอริตซ์ สวิตเซอร์แลนด์ OMEGA ใช้เทคโนโลยีโฟโตอิเล็กทริกเซลล์เป็นครั้งแรก โดยนำมาใช้แทนที่การให้นักกีฬาพุ่งตัวเข้าหาแถบเส้นชัยแบบเก่า ซึ่งบางทีเทปก็อาจจะหย่อนย้วยไปบ้าง จึงขาดความเที่ยงตรง แต่หากใช้เทคโนโลยีโฟโตอิเล็กทริกเซลล์ เมื่อนักกีฬาคนใดวิ่งผ่านเส้นชัยก็เหมือนวิ่งผ่านลำแสงที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่นาฬิกาจะจับเวลาของ ‘สสาร’ หรือนักกีฬาแต่ละรายที่วิ่งผ่านลำแสง จึงจับเวลาได้ว่าใครเข้าเส้นชัยก่อน-หลัง เทคโนโลยีนี้จึงได้สมญาว่า ‘ตาวิเศษ’

Photo: OMEGA

ในปีเดียวกันนี้ OMEGA ได้พัฒนากล้องมาจับภาพควบคู่กับการใช้โฟโตอิเล็กทริกเซลล์ ยิ่งเพิ่มความแม่นยำแบบเห็นภาพกันจะจะขึ้นไปอีก แต่ด้วยความที่เป็นกล้องฟิล์ม กว่าจะรู้ผลแพ้-ชนะ นักกีฬาและคนดูก็ต้องเงก 2 ชั่วโมง ให้กรรมการนำฟิล์มไปล้างในห้องมืดกันเสียก่อน

ปี 1964 โอลิมปิกที่เม็กซิโกซิตี้เป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดสดโอลิมปิกไปทั่วโลก OMEGA พัฒนา Omega-Scope อุปกรณ์แสดงเวลาของนักกีฬาได้แบบเรียลไทม์ที่ด้านล่างของหน้าจอโทรทัศน์ ซึ่งบรรดาสถานีโทรทัศน์ก็ต้องอาศัยซอฟต์แวร์และกราฟิกจาก OMEGA ในการแสดงเวลาบนหน้าจออย่างฉับไวในเสี้ยววินาทีอีกด้วย เป็นทุกอย่างให้เธอแล้วจริงๆ โอลิมปิก

ในพาราลิมปิกจะมีลำแสงที่ 5 เพิ่มขึ้นมาช่วยตรวจจับรูปอวัยวะของนักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งที่มีแบบแผนการเคลื่อนไหวเป็นเอกลักษณ์แตกต่างไปจากนักกีฬาในโอลิมปิก

3.เหรียญเงินที่ทำเวลาดีกว่าเหรียญทอง?

แต่ OMEGA เจอดราม่าหลายครั้ง เช่น ในการแข่งขันว่ายน้ำฟรีสไตล์ 100 เมตรชายที่โรมโอลิมปิก 1960 Lance Larson จากทีมชาติสหรัฐ กับ John Devitt ทีมชาติออสเตรเลียเข้าเส้นชัยพร้อมกันจากนาฬิกาจับเวลา 3 เรือน แต่กฎการแข่งขันต้องมีผู้ชนะเหรียญทองได้คนเดียวเท่านั้น กรรมการมอบเหรียญทองให้จอห์น เดวิตต์จากออสเตรเลีย ส่วนแลนซ์ ลาร์สันจากสหรัฐได้เหรียญเงินไป จนกลายเป็นเหรียญรางวัลสุดอื้อฉาวในหน้าประวัติศาสตร์โอลิมปิก

ทางสมาคมว่ายน้ำสากลจึงร้องขอให้ OMEGA หาทางใช้เทคโนโลยีมากำจัดความผิดพลาดของมนุษย์

Photo: OMEGA

ในโอลิมปิกที่เม็กซิโกซิตี้ปี 1968 OMEGA จึงเปิดตัว ‘touch pad’ ซึ่งแปะไว้ที่ขอบสระ ให้นักว่ายน้ำแต่ละรายว่ายโผมาแตะแผ่นนาฬิกาจับเวลาด้วยตัวเองที่เส้นชัย ซึ่งเจ้าแผ่นพิเศษนี้ไวต่อการสัมผัสมาก ดังนั้นในปี 2008 Michael Phelps นักว่ายน้ำทีมชาติสหรัฐที่เหมือนปลาในร่างมนุษย์คว้าเหรียญทองที่ปักกิ่งโอลิมปิก 2008 โดยเข้าเส้นชัยเฉือนเหรียญเงินไปแค่ 1/100 วินาที ชนะกันแค่ปลายเล็บก็ว่าได้

4.ทำไมนักวิ่งออกตัวหลังเสียงปืน 100 วินาที

มาถึงโอลิมปิกปี 1984 ที่ลอสแองเจลิส OMEGA ขนนวัตกรรมใหม่ออกมาอีก ‘แท่นเหยียบออกสตาร์ต’ ซึ่งติดเซนเซอร์ตรวจจับแรงดันบริเวณที่วางเท้าของนักวิ่ง ซึ่งจะให้สัญญาณทันทีหากนักวิ่งออกสตาร์ตก่อนเวลา นักวิ่งจึงต้องอยู่ประจำตำแหน่งเดิม และออกวิ่งให้หลังสัญญาณปล่อยตัว 0.100 วินาทีตามปฏิกิริยาตอบสนองของมนุษย์

Photo: OMEGA

นักวิ่งที่อยู่ลู่ไกลสุดจะได้ยินเสียงยิงปืนออกสตาร์ตช้ากว่าคนที่อยู่ลู่ใกล้ ซึ่งส่งผลต่ออันดับได้ ในปี 1984 ที่แอลเอ OMEGA จึงติดตั้งลำโพงไว้ด้านหลังแท่นออกสตาร์ตของนักวิ่งแต่ละราย ให้มั่นใจว่านักวิ่งทุกคนได้ยินเสียงสัญญาณปล่อยตัวพร้อมกันแน่นอน ระบบนี้ยังนำไปใช้ในกีฬาว่ายน้ำอีกด้วย

พอในปี 2010 การยิงปืนออกสตาร์ตเปลี่ยนเป็นปืนไฟฟ้าซึ่งเชื่อมต่อกับลำโพงที่อยู่ด้านหลังนักวิ่งแต่ละราย เริ่มใช้ในการแข่งสปีดสเก็ตที่แวนคูเวอร์ ซึ่งนอกจากจะเที่ยงตรงกว่าแล้วยังปลอดภัยกว่าให้กรรมการพกปืนจริงเดินไปเดินมาในสนาม

5.นาฬิกาควอนตัม

ปักกิ่งโอลิมปิก 2022 มีลูกเล่นใหม่เป็นกล้องไฮสปีดที่จับภาพ 10,000 ภาพต่อวินาที ส่วนกล้องที่ใช้ในปารีสโอลิมปิก 2024 ยิ่งล้ำกว่า จับภาพคมชัดระดับ 4K ได้ 40,000 ภาพต่อวินาที

Photo: OMEGA

ส่วนนาฬิกาจับเวลาควอนตัวของ OMEGA จับเวลาได้ 1/1,000,000 วินาที ค่าความเบี่ยงเบนเพียง 23 นาโนวินาทีทุก 24 ชั่วโมงเท่านั้น ส่วนความละเอียดคมชัดของภาพดีกว่ารุ่นเก่า 100 เท่า เที่ยงตรงกว่า 5 เท่า

Photo: OMEGA

ในปารีส 2024 OMEGA ขนอุปกรณ์จับเวลาน้ำหนักกว่า 350 ตันมาติดตั้งในสนามแข่งต่างๆ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จับเวลา 550 รายที่เข้าพักในโรงแรมทั่วปารีส 30 แห่ง ในกรณีที่อุปกรณ์จับเวลาเกิดเสียขึ้นมา ทาง OMEGA มีระบบสำรอง 4 ระบบไว้กันเหนียว และมีแหล่งไฟฟ้าของตัวเอง ต่อให้ไฟตกก็ไม่กลัวว่าดาต้าจะหาย ต่อให้เครื่องจ่ายไฟที่เอามาเองเกิดพังขึ้นมาก็ยังมีแบตเตอรีสำรองไว้อีกแผน

Jerusa Geber Dos Santos จากทีมชาติบราซิล พร้อมด้วยไกด์นำทาง  Gabriel Aparecido dos Santos Garcia! ถ่ายรูปกับสถิติโลกที่เธอทำได้ในการแข่งวิ่ง 100 เมตร T11

Photo: FB Paralympic Games

เพราะมุ่งแก้ปัญหาเก่าควบคู่กับพัฒนานวัตกรรมใหม่ OMEGA จึงได้เป็นผู้จับเวลาอย่างเป็นทางการของโอลิมปิกมาตั้งแต่ปี 1932 และเข้ามาช่วยจับเวลาในพาราลิมปิกเมื่อปี 1992

โอลิมปิกครั้งต่อๆ ไปยังไม่รู้ว่าเมืองใดจะเป็นเจ้าภาพหลังจากแอลเอ 2028 แต่ที่แน่ๆ รู้แล้วว่าใครจะเป็นผู้จับเวลา เมื่อทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากลยังลงนามร่วมมือกับ OMEGA ไปจนถึงปี 2032

Words: Sritala Supapong

ข้อมูลจาก

you might like

Scroll to Top