คนญี่ปุ่นพูดอะไรก็เป็นกวีปรัชญาเมธีไปหมด และแน่นอนว่า Shōgun – โชกุน ซีรีส์ย้อนยุคของขุนนางญี่ปุ่นที่ห้ำหั่นชิงอำนาจอย่างดุเดือดทาง Disney+ เต็มไปด้วยบทสนทนาชวนขบคิดทุกอีพีที่ The Optimized เก็บมาฝากกัน
ประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนโฉมหน้าญี่ปุ่น
Shōgun – โชกุน ซีรีส์ที่สร้างมาจากวรรณกรรมขนาดยาวของ James Clavell (เจมส์ คลาเวลล์) แต่งขึ้นในปี 1975 อ้างอิงจากประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นยุคเซนโกคุ อันเป็นรอยต่อยุคของไดเมียวผู้เรืองอำนาจของญี่ปุ่นคือ โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ กับ โทกุงาวะ อิเอยาสุ (ผู้ที่ในเวลาต่อมาขึ้นเป็นโชกุนผู้ทรงอำนาจที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น) เน้นไปที่เหตุการณ์ก่อนจะเกิด ‘ยุทธการที่เซกิงาฮาระ’ มหาสงครามที่พลิกประเทศญี่ปุ่นไปตลอดกาล
ตัวนิยายสร้างจากเค้าโครงเรื่องจริงของ William Adams (วิลเลียม อดัมส์ ค.ศ.1564-1620) หรือชื่อที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า มิอุระ อันจิน พ่อค้าชาวอังกฤษที่เรือแตกไปขึ้นฝั่งญี่ปุ่น จนชีวิตพลิกผันได้ไปช่วยต่อเรือรบให้แก่โชกุนโทกุงาวะ เรียกว่าเป็นหนึ่งใน Western Samurai ซามูไรชาวตะวันตกอย่างแท้จริง
Photo: FX Networks
ในเวอร์ชั่นนิยายและซีรีส์ได้ดัดแปลงชื่อตัวละคร โดยเล่าเรื่องผ่านสายตา John Blackthorne (จอห์น แบล็คธอร์น) นักเดินเรือชาวอังกฤษที่เรือสินค้าไปอับปางแถบหมู่เกาะญี่ปุ่น โชคดีหรือร้ายไม่ทราบแน่ เมื่อเขาและลูกเรือกลุ่มหนึ่งรอดชีวิตมาได้ หากจอห์น ซึ่งต่อมาผู้คนเรียกเขาว่า ‘อันจินซัง’ ถูกดึงเข้าสู่เกมการเมืองของบรรดาไดเมียวที่คัดง้างคะคานอำนาจกันอยู่ โดยมี โยอิชิ โทรานางะ (หรือในเรื่องจริงก็คือ โทกุงาวะ อิเอยาสุ) เป็น ‘ฝ่ายธรรมะ’ ต่อกรกับโอชิดะ มิตสึนาริ ขุนนาง ‘ฝ่ายอธรรม’
วรรณกรรมเรื่องยาวนี้ให้รายละเอียดชีวิตของญี่ปุ่นในอดีตไว้หลายด้าน ทั้งชีวิตความเป็นอยู่ สังคม วัฒนธรรม ความเชื่อ ชนชั้น การเมือง ไปจนถึงกฎเกณฑ์ในครัวเรือนและการครองเรือน จึงอ่านสนุกชนิดวางไม่ลง และเมื่อถูกสร้างเป็นซีรีส์ก็ทำได้ดีชนิดดูรวดเดียว 6 อีพีในคืนเดียวก็เกิดขึ้นได้
5 ข้อคิดจากโชกุน
ซีรีส์เรื่องนี้แล้วมีไดอะล็อกที่กระตุกใจสะกิดต่อมความคิดเป็นระยะๆ ตามประสาชาวญี่ปุ่นผู้แยบคายลึกซึ้ง จึงพูดอะไรออกมาเป็นข้อคิดและปรัชญาไปเสียหมด เป็นต้นว่า
1.กลของมิตรและศัตรู
“เมื่อไรเจ้าจะเข้าใจ เจ้ายังคงเล่นกลของมิตรและศัตรู ทั้งที่มีเพียงตัวเจ้าเองในชีวิตนี้”
โยชิอิ โทรานางะ
Photo: FX Networks
เป็นคำสอนของ โยชิอิ โทรานางะ ที่มอบให้แก่นางาคาโดะ บุตรชายที่มักหุนหันพลันแล่นไปตามอารมณ์ ไม่มีสติจะคิดอ่านกลอุบายของใคร จึงโดนปั่นหัวจากคนนั้นทีคนนี้ทีได้ง่าย นิสัยเช่นนี้จะทำให้เราเสียเวลาไปกับการตกเป็นเบี้ยในเกมของคนอื่นจนหาจุดยืน หรือกระทั่งจะมีชีวิตของตัวเองไม่ได้
2.กำแพงใจ
“ท่านรู้จัก ‘กำแพงใจ’ หรือไม่ ตั้งแต่เด็กๆ เราต้องเรียนรู้ที่จะสร้างสิ่งนี้ขึ้นในตัวเอง กำแพงที่ไม่อาจจะทะลุทะลวงได้ ที่เราจะแอบอยู่เบื้องหลังเมื่อใดก็ได้ที่จำเป็น”
โทดะ มาริโกะ
โทดะ มาริโกะ หรือ ‘นางเอก’ ของเรื่อง ภรรยานักรบที่ทำหน้าที่ล่ามคอยเป็นภาษาอังกฤษ-ญี่ปุ่นให้กับจอห์นและประชาชนชาวญี่ปุ่นทั่วไป นางบรรยายธรรมให้แก่จอห์นที่โดนโทรานางะแต่งตั้งเป็น ‘ฮาตาโมโตะ’ ตำแหน่งซามูไรชั้นสูง ได้รับทั้งบ้าน เงิน คนงาน และภรรยา
จอห์นดีดดิ้นไม่รับยศถาบรรดาศักดิ์เหล่านี้ ขอเพียงคืนเรือและลูกเรือให้เขาได้กลับบ้าน มาริโกะจึงบอกเขาอย่างเรียบเย็นว่าการไม่รับรางวัลถือเป็นการหยามหมิ่นนายท่านโทรานางะอย่างรุนแรง และท่านหญิงฟูจิที่ถูกยกให้เป็นภรรยาของจอห์นนั้นเพิ่งสูญเสียสามีและลูกชายที่ได้รับใบสั่งให้ตาย หากยังมีแก่ใจสานต่อการต่อสู้ของผู้วายชนม์ จอห์นบอกว่าดูไม่ออกเลยนะว่านางเจอเรื่องแย่ๆแบบนั้น มาริโกะจึงอธิบาย ‘กำแพงใจ’ (Eightfold Fence) ให้จอห์นฟัง
Photo: FX Networks
“เราต้องฝึกฝนตนเองให้ฟังโดยไม่ได้ยิน เป็นต้นว่า ฟังเสียงดอกไม้ที่ร่วงหล่น หรือเสียงของก้อนหินที่ก่อตัว ถ้าตั้งใจฟังจริงๆ เสียงอื่นใดรอบตัวจะอันตรธานไป อย่าได้หลงไปกับความสุภาพ การโค้งคำนับ หรือสารพัดพิธีกรรมของเรา ในความเป็นจริงแล้ว เราอาจอยู่ห่างออกไปไกลแสนไกล ปลอดภัย และเดียวดาย” มาริโกะกล่าวแก่จอห์น
กำแพงใจคือกลไกปกป้องตนเองของชาวญี่ปุ่นจากความโศกเศร้า การสูญเสีย ความเจ็บปวด หรือกระทั่งความปรารถนาลึกลับที่สุดที่มีเพียงตัวเราเท่านั้นที่จะล่วงรู้ เมื่อซ่อนตนไว้หลังกำแพงใจนี้แล้ว ภายนอกเราจะดูเหมือนเป็นปกติ ไม่มีใครได้เห็นความคิดหรือความรู้สึกที่แท้จริงของเราได้ ขณะเดียวกันกำแพงใจยังเปรียบเสมือนห้องนิรภัยที่จะปกป้องเราไว้ไม่ให้พังทลาย และประคับประคองตนให้ยังดำเนินชีวิตต่อไปได้
3.สวนที่ไร้ก้อนหิน
“ถ้าไร้ก้อนหินดีๆสักก้อน สวนก็จะเป็นแค่สถานที่สำหรับปลูกพืชเท่านั้น”
อุเอจิโระ, คนสวน
อุเอจิโระ คนสวนในบ้านของท่านซามูไรจอห์นรำพึงรำพันขณะยกหินก้อนใหญ่วางตั้งในสวนหิน ซึ่งสวนหินของคนญี่ปุ่นนั้นไม่จำเป็นต้องมีพรรณไม้เลยก็ได้ จุดประสงค์แท้จริงของสวนหินมีไว้ให้พระนิกายเซนฝึกสมาธิหรือขบปริศนาธรรมจากการพินิจตำแหน่งและก้อนหินต่างๆภายในสวน
Photo: FX Networks
เป็นต้นว่า สวนหินลือชื่อภายในวัดเรียวอันจิในเมืองเกียวโตที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ภายในสวนหินมีก้อนหิน 15 ก้อนที่จัดวางไว้ให้มองเห็นหินทุกก้อนพร้อมกันได้ไม่ว่าจะมองจากมุมใด หากตีความตามคำสอนของเล่าจื่อแห่งลัทธิเต๋าซึ่งส่งอิทธิพลต่อนิกายเซนนั้น อาจหมายถึง ‘ความสัมบูรณ์’ ทุกสิ่งเกิดขึ้นและดับสูญพร้อมกัน จึงมีทุกอย่าง-แต่ก็ไม่มีอะไรเลย เป็นทุกสิ่ง-แต่ก็ไม่เป็นสิ่งใดเลย
- คำพูดคือนายของเรา
“นกนั่นไร้ความหมายต่อข้า” จอห์น
“แต่คำพูดของท่านทำให้มันมีความหมาย” มาริโกะ
เรื่องมีอยู่ว่าจอห์นได้ไก่ฟ้าที่โทรานางะล่ามาได้และมอบเป็นของขวัญ อารามดีใจจอห์นจึงเอาไก่ฟ้าไปแขวนไปที่ข้างฝาในสวน บอกทุกคนในบ้านว่าไก่ฟ้าจากโทรานางะต้องเป็นไก่ฟ้าที่ดีที่สุด ดังนั้น เขาจะแขวนมันไว้อย่างนี้ ก่อนประกาศอย่างมีอารมณ์ขันว่า “ใครแตะ…ตาย” ในความหมายว่าใครอย่ามายุ่งกับไก่ฉันนะเพียงเท่านั้นเอง
วันหนึ่งเมื่อจอห์นกลับมาบ้าน ไก่ฟ้าไม่อยู่ที่เดิม คนสวนหายไป ท่านหญิงฟูจิบอกกับจอห์นว่า อุเอจิโระตายแล้ว เมื่อปะติดปะต่อเรื่องได้ จอห์นถึงกับสติแตกแหกปากด่าท่านหญิงฟูจิ นายหญิงของบ้านว่า “ท่านทำอะไรลงไป ท่านฆ่าตาเฒ่า เพราะซากไก่ฟ้าไร้ค่าเน่าๆตัวหนึ่ง ท่านเป็นบ้าอะไรของท่าน” จอห์นด่ากราดจนความไปถึงหูโทรานางะที่ต้องเรียกมาคุย
Photo: FX Networks
“ข้ามีปัญหากับประเทศเส็งเคร็งนี่ พวกท่านไม่ให้ค่ากับชีวิต มีแต่พิธีกรรมไร้ความหมายที่พวกท่านสลัดไม่หลุด ก็เหมือนอุเอจิโระที่ตายไปเปล่าๆปลี้ๆ” จอห์นบอกกับโทรานางะ
“ข้าเข้าใจว่าเป็นคำสั่งของท่านว่าห้ามใครแตะต้องไก่ฟ้าตัวนั้น และตามกฎหมาย ครัวเรือนของท่านไม่อาจขัดคำสั่งนั้นได้ อีกทั้งต้องไม่ปล่อยให้ไก่ฟ้าเน่าทำลายความสงบสุขของหมู่บ้าน” มาริโกะอธิบาย
“นกนั่นไร้ความหมายต่อข้า” จอห์นกล่าว
“แต่คำพูดของท่านทำให้มันมีความหมาย ได้มีการเรียกประชุมกับมุราจิผู้ใหญ่บ้าน แต่เขายืนกรานว่ามันเป็นปัญหาในบ้านท่าน จึงต้องมีใครสักคนขโมยมันมาและเอาไปฝัง อุเอจิโระบอกว่าช่วงนี้เขาไม่สบาย และอาสาเอามันไปฝัง เขาตายเพื่อเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ นี่เป็นจุดจบที่สวยงามกว่าอะไรที่เขาจะฝันได้” มาริโกะกล่าว
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า อารมณ์ขันของวัฒนธรรมหนึ่งนั้นก็ไม่เก็ตในอีกวัฒนธรรมหนึ่ง ความตลกร้ายแบบอังกฤษของจอห์นไม่เป็นที่เข้าใจได้ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น (ยุคโบราณ) ที่ถือว่าคำพูดนายใหญ่ของบ้านคืออาญาสิทธิ์ เป็นกฎของบ้านที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และคนในบ้านจะถือเอาคำพูดของนายไปปฏิบัติอย่างแข็งขัน
จอห์นได้บทเรียนสำคัญว่าก่อนจะพูดคำใดออกไปต้องใคร่ครวญอย่างดี เพราะคำพูดจะกลายเป็นนายของผู้ใต้บังคับบัญชาของตน และเป็นนายของคนพูดเอง
5.มนุษย์มี 3 หัวใจ
“…อย่าลืมว่าไอ้ยุ่นนั้นเป็นมนุษย์ 6 หน้า 3 หัวใจ คำพังเพยของพวกมันมีว่า คนเรามีหัวใจปลอมอยู่ในปากให้คนทั้งโลกได้เห็น หัวใจที่สองอยู่ที่อกสำหรับแสดงต่อเพื่อนที่มีอะไรพิเศษ และหัวใจที่สามซึ่งเป็นหัวใจที่แท้จริงนั้น ไม่มีใครรู้นอกจากตัวคนนั้นเอง มันซ่อนไว้ในที่ลึกลับพระเจ้าเท่านั้นจึงจะรู้…”
ประโยคนี้มาจากนิยายของเจมส์ คลาเวลล์ ผู้ประพันธ์โชกุน กล่าวถึงคำพังเพยของคนญี่ปุ่นในคอนเซ็ปต์คล้ายกับ ‘กำแพงใจ’ หรือสามารถอธิบายได้ด้วยหลักจิตวิทยาของ Carl Jung (คาร์ล ยุง) จิตแพทย์ชาวสวิสที่พูดถึง ‘หน้ากาก’ (Persona) หรือตัวตน (Personality) ต่างๆที่เราใช้เผชิญกับตัวเองและโลก
Photo: FX Networks
ตัวตนของเราหาได้แข็งทื่อไม่เปลี่ยนแปลง แท้จริงแล้วมันมีหลายโฉมหน้า อยู่กับพ่อแม่-เราพูดจาแบบหนึ่ง อยู่ที่ทำงาน-เราแสดงออกอีกแบบหนึ่ง อยู่กับคนรัก-เราทำตัวอีกแบบ พูดกับลูกค้า-เรามีท่าทีต่างไป เป็นต้น
สิ่งเดียวที่จอห์น แบล็กธอร์นใฝ่ฝันคือขอสิทธิในการนำเรือกลับไปยังมาตุภูมิ ซึ่งต้องแลกมาด้วยการช่วยให้โทรานางะขึ้นเป็นโชกุน ซึ่งตามประวัติศาสตร์แล้ว – ในสองเหตุการณ์นี้ มีเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ หากอีกเรื่องไม่มีวันเกิดขึ้นจริง
โปรดติดตามตอนต่อไป…
Words: Sritala Supapong
ข้อมูลจาก
- https://www.vulture.com/article/shogun-recap-episode-4-the-eightfold-fence.html
- https://collider.com/shogun-eightfold-fence-meaning/#:~:text=The%20eightfold%20fence%20is%20a,they%20approach%20challenges%20in%20life
- https://www.salon.com/2024/02/26/shogun-hiroyuki-sanada/
- https://thepathwitcher.blog/2024/03/06/shogun-episode-3-review-tomorrow-is-tomorrow/
- https://americanaffairsjournal.org/2017/08/japans-eightfold-fence/