7 แบรนด์เก้าอี้ฝีมือคนไทย ใช้ความยูนีกเจาะตลาดเฟอร์นิเจอร์ 4 หมื่นล้าน

‘เก้าอี้’ เฟอร์นิเจอร์ที่มีคนกลุ่มหนึ่งในประเทศไทยแย่งกันนั่ง โดยหารู้ไม่ว่าเก้าอี้ดีๆ ขาแข็งแรงไม่ต้องระแวงว่าจะโดนเลื่อยขา มีพนักพิงแน่นหนาไม่หวั่นโดนแทงข้างหลัง และยังมีหลากหลายไม่ต้องแย่งชิงเป็นเล่นเกมเก้าอี้ดนตรีใส่กัน พบกับเก้าอี้ 7 แบรนด์ไทยคุณภาพระดับส่งออกที่ The Optimized รวบรวมมาให้เลือกสรรตามชอบ

YOTHAKA

‘โยธกา’ แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไทยอายุกว่า 30 ปีที่ส่งออกในหลายประเทศทั่วโลก โกยรางวัลจากยุโรปและญี่ปุ่นมาแล้วมากมาย ชนิดที่เห็นชื่อแบรนด์นี้แล้วแบรนด์ระดับโลกซื้อเลยแบบไม่ต้องถามให้มากความ ไม่ว่าจะเป็น Louis Vuitton, Fendi หรือ Hermès

แม้จะอายุ 70 กว่าเข้าไปแล้ว แต่ฝีมือออกแบบของอาจารย์สุวรรณ คงขุนเทียน ไดเรกเตอร์แห่งโยธกาไม่มีตก เขาทำให้โยธกาไม่เหมือนใครด้วยวิธีการขึ้นรูปที่ไม่มีในตำรางานออกแบบ จึงทำให้เก้าอี้ของโยธกาไม่เหมือนใครมาจนทุกวันนี้

Photo: FB PDM Brand

ยกตัวอย่าง ‘เก้าอี้คาร์เวียร์’ ที่เป็นเสมือน Accent chair หรือเก้าอี้ในดีไซน์แบบตัวเดียวเอาอยู่ วางตรงไหนก็สวย โครงสร้างทำจากอลูมิเนียมพ่นดำคาร์บอนเนี้ยบกริบ แล้วใช้เทคนิคพัน ถัก และทอด้วยมือจากเชือกทั้งตัวตั้งแต่พนักพิงยันขาเก้าอี้ จึงเป็นงานคราฟต์ที่เครื่องจักรทำไม่ได้ และใครอื่นก็ทำเลียนแบบไม่ได้ ควบคุมการผลิตโดยทีมช่างผู้เชี่ยวชาญของโยธกาที่ทำงานส่งออกมาตรฐานที่ดีไซน์เนอร์ในยุโรปเลือกใช้ ราคาจึงอยู่ระดับเดียวกับเฟอร์นิเจอร์ระดับโลก ตกตัวละ 17,000 บาท

PDM Brand

แบรนด์เฟอร์นิเจอร์มาแรงที่แจ้งเกิดจากการทำ ‘พรมเมืองร้อน’ หรือพลิกเสื่อบ้านๆ ที่คนไทยใช้ให้เป็นงานดีไซน์ จึงขายเสื่อได้ผืนละ 2,000 – 4,000 บาท เสื่อไทยราคาแรงขนาดนี้ แต่ขอโทษ! ขายไปแล้วกว่า 1 แสนผืน

Photo: PDM Brand

โปรดักต์อื่นของ PDM ชื่อแบรนด์ที่ย่อมาจาก ‘Product Design Matters’ ยังน่าสนใจไม่น้อยหน้า อาทิ เก้าอี้ Monobloc classy (All Black) ทำจากวัสดุโพลีโพรไพลีนรีไซเคิล (PP  Recycle) 100% ซึ่งก็คือพลาสติกที่ผ่านการใช้งานโดยผู้บริโภค แล้วนำไปผ่านกระบวนการทําความสะอาด ปรับปรุงคุณสมบัติด้วยเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมให้สามารถนํากลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง เช่น ขวดน้ำ PET ที่นำมารีไซเคิล เป็นต้น

เป็นอีกครั้งที่ PDM สร้างเรื่อง เมื่อคืนศักดิ์ศรีให้ ‘เก้าอี้ปั๊ดติก’ ได้สำเร็จ โดยเปลี่ยนภาพจำเก้าอี้งานวัดสีแดง สีน้ำเงินที่มักจะสีตกเก่าซีดเซียว ให้เป็นเก้าอี้สีดำสุดคูลที่ใครๆ ก็อยากนั่งและตั้งโชว์ ไม่อยากซ้อนเป็นชั้นๆ ไปกองๆ ไว้มุมห้องอีกต่อไป

Sculpture

เก้าอี้ของแบรนด์นี้ได้ออกสื่อระดับหนังฮอลลีวูดมาแล้ว ‘Sexy Dining Chair’ มีดีไซน์เตะตาจนถูกยกไปเข้าฉากหนังเรื่อง The Hunger Games ได้ออกรายการ Extreme Makeover Home Edition ของสถานี ABC ในอเมริกา ได้ประดับบ้านของซูเปอร์โมเดล Kylie Jenner และตำนานนักบาส Michael Jordan ทั้งยังสอยรางวัลทั้งในไทยและสากล เช่น รางวัล DEmark 2020 และ PM Award 2020

Photo: FB ScultureBangkok

คุณนัษฐพงษ์ เจริญกิติวรากร ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Sculpture ออกแบบ Sexy Chair ได้แรงบันดาลใจมาจากเส้นสายโค้งเว้าของสรีระผู้หญิง เกิดขึ้นจากแนวคิดงานศิลปะที่นั่งได้ ผลิตโดยใช้ที่ไม่มีใครเคยใช้ทำเฟอร์นิเจอร์มาก่อน เพราะเจ้าของทำโรงงานผลิตสายกระเป๋า จึงใช้ Cotton Straps วัสดุที่ใช้ทำสายสะพายกระเป๋าที่ผลิตจากเส้นใยฝ้ายมาใช้ทำเก้าอี้ ซึ่งพิเศษตรงที่สั่งทอใหม่ให้เนื้อผ้าหนานุ่มเหมาะกับนั่งพิง

Photo: FB ScultureBangkok

นอกจากนี้ยังออกแบบให้มีสองสีในเส้นเดียว และใช้วิธีการสานแบบใหม่ สร้างแถบไขว้เข้ากับโครงไม้ CARB P2 ที่ได้มาตรฐานงานส่งออกและเป็นไม้ที่ไม่มีสารพิษตกค้างใดๆ ร่วมกับเหล็กให้กลายเป็นรูปทรงเก้าอี้ทรงโค้งสะดุดตา ให้เฉดสีแตกต่างกันในเส้นเดียวกัน มีให้เลือกหลายเฉดสีทั้งสีขาว เทา ดำ แดง ฟ้า ม่วง ส้ม น้ำตาล และเขียว

FLO

FLO แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไทยที่เพิ่งอายุครบหนึ่งทศวรรษในปีนี้ ก่อตั้งโดยคุณนรุตม์ ปิติทรงสวัสดิ์ ทายาทธุรกิจเกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากเหล็ก ซึ่งใช้สกิลจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พัฒนาเก้าอี้เหล็กพับในร้านข้าวแกงให้กลายเป็นเก้าอี้ที่ใครๆ ก็อยากนั่ง

Photo: FB FloFurniture

เก้าอี้เหล็กพับนั้นใช้นานไปแล้วฝืดบ้างพับยาก สีกะเทาะบ้างดูเก่าเก็บ แต่ FLO ปรับใหม่ให้กลายเป็น Blend เก้าอี้เหล็กผสมผสานไม้ และงานหุ้มเบาะ จนเป็น Hero Product ส่งให้ FLO ส่งออกต่างประเทศ ทั้งอเมริกา เนเธอร์แลนด์ อินเดีย ญี่ปุ่น ฮ่องกง จนถึงไต้หวัน และบริษัทมีรายได้หลายสิบล้านบาท ผ่านไป 10 ปี ทุกวันนี้ Blend หรือเก้าอี้ผสม (เหล็ก ไม้ เบาะ) ก็เป็นเก้าอี้ในดวงใจของคนรักเฟอร์นิเจอร์

DEESAWAT

เดิมทีดีสวัสดิ์ที่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2515 คือโรงงานเฟอร์นิเจอร์ที่เน้นงานไม้แกะสลักฝังมุก และธุรกิจรับจ้างผลิต (OEM) คือรายได้หลักมากว่า 30 ปี จนมาถึงทายาทรุ่นสองได้เริ่มผลิตเฟอร์นิเจอร์ของตัวเองในชื่อแบรนด์ DEESAWAT โดยที่ยังรับงาน OEM แต่ลูกค้าไม่ต้องสั่งผลิตครั้งละมากๆ ได้ด้วย

Photo: www.deesawat.com

At noon Armchairs collection จากดีสวัสดิ์ เป็นเก้าอี้ที่นั่งกลางแจ้งก็ได้ ตั้งในร่มก็เข้าที และยังรักษาเอกลักษณ์ของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไม้อายุ 40 ปีของไทยไว้เช่นเดิม

ดีสวัสดิ์ฉีกตัวเองไปจากแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไม้อื่นๆ โดยใช้ไม้สักอายุ 5-10 ปี ที่ปลูกขึ้นในสวนป่าของตัวเอง เพื่อลดการใช้ไม้จากแหล่งอื่นๆ และนำเศษไม้สักและไม้ประดู่ ซึ่งเป็นไม้สูงค่าที่เหลือจากกระบวนการผลิตหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ เช่น ออกแบบผลิตภัณฑ์ Mosaic Eco Flooring วัสดุปูพื้นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสชิ้นเล็กๆ มาต่อกัน มีทั้งโมเสสทำจากโพลีเอทิลีนและฟอยล์อลูมิเนียมจากกล่องเครื่องดื่มรีไซเคิล และโมเสสที่เป็นเศษไม้เนื้อแข็ง

ดีสวัสดิ์มีลูกค้าหลักในอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป ซึ่งเห็นค่าของเฟอร์นิเจอร์ไม้กันมาก และแบรนด์เองก็อยากเป็น Rolex ของวงการเฟอร์นิเจอร์ ที่เป็นของมีคุณค่า ใช้งานได้ยาวนาน ส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่นได้

KITT. TA. KHON

ฆิต-ตา-โขน แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไทยที่เกิดจากงานหัตถกรรมไร้พรมแดนของ พีท-ธีรพจน์ ธีโรภาส ผู้ก่อตั้งแบรนด์เคยเป็นหนึ่งในทีมนักออกแบบของ Ayodhya แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไทยระดับสากล รวมทั้งมีประสบการณ์ทำงานพื้นถิ่นกับชุมชนกว่า 50 แห่งทั้งในไทยและต่างประเทศ

Photo: www.kitt-ta-khon.com

Rojjarnar เก้าอี้ที่โครงสร้างทำจากพลาสติก PE รีไซเคิล 100% และไม้ยางพาราเคลือบขี้ผึ้ง แล้วใช้เทคนิคสานกระติ๊บข้าวเหนียวในแถบอีสานมาสานเชือกไนลอนด้วยมือทำเป็นที่นั่ง

KITT. TA. KHON จึงประกอบงานหัตถกรรมทั่วโลกมาเป็นงานคราฟต์สดใหม่ ใช้สีสันและเส้นสายมาสร้างลายกราฟิกสะดุดตา จนได้ไปโชว์ผลงานในอีเวนต์ใหญ่ เช่น Style Bangkok Fair ในไทย ไปจนถึง Maison & Objet ที่ฝรั่งเศส

Photo: www.kitt-ta-khon.com

BoaBoa เก้าอี้ผสมสีสนุกจากงานสายคอตตอนรีไซเคิลด้วยมือ ฟินิชให้แข็งแรงด้วยเชือกไนลอน

Rumba Bor

ไลฟ์สไตล์แบรนด์ที่มีโปรดักต์แรกที่สุดจะ ‘เฌย’ เก้าอี้กลมไม่มีพนักพิงที่ลูกหลานบ้านคนจีนคุ้นเคยกันดี ซึ่ง รัมภา ปวีณพงษ์พัฒน์ ที่เรียนจบด้านไฟน์อาร์ตและอยากออกแบบข้าวของเครื่องใช้ที่แก้ Pain Point ด้านสิ่งแวดล้อม จึงนำเก้าอี้จีนมาปรับดีไซน์ใหม่ให้เพิ่มคุณค่าและมูลค่าเข้าไป และเปลี่ยนวัสดุเป็นพลาสติกรีไซเคิล หรือโพลีโพรไพลีนรีไซเคิล (PP Recycle) ที่แตกต่างไปจากเก้าอี้แบบเก่าที่มีลวดลายแสนเชย ทำมาจากพลาสติก PVC ที่ย่อยสลายไม่ได้ ขายไม่ออก แถมไม่ดีกับสิ่งแวดล้อมอีกต่างหาก

Photo: www.rumbabor.com

แต่ด้วยความที่รัมภาชอบ ‘ความเสร่อ’ หรือศิลปะ Kitsch ที่เหมือนจับนั่นผสมนี่มั่วซั่ว จึงจงใจให้เก้าอี้รุ่นแรกของแบรนด์เป็นความเชยที่ดูเก๋ สมกับชื่อ เฌย (Choei)

เก้าอี้เฌยเกิดจากการนำพลาสติกรีไซเคิลมาฉีดลงไปในแม่พิมพ์ ออกแบบสีเองตามชอบ ได้ออกมาเป็น เฌยกะทิ-เก้าอี้สีขาว, เฌยสาคู-เก้าอี้สีใส หรือเฌยรวมมิตร-เก้าอี้ไล่สีที่เกิดจากแม่สีสามสีมาผสม ตวง และหยอดสีเฉพาะแต่ละตัว

เหล่านี้คือแบรนด์ไทยส่วนน้อยในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ในไทยที่มีเงินหมุนเวียนถึง 4 หมื่นล้านบาท และต่อให้เป็นเก้าอี้ดีกรีรางวัลระดับโลก เคยไปอยู่ในเวทีอินเตอร์สักแค่ไหน แต่ก็ยังทำในราคาเข้าถึงได้ตั้งแต่หลักพันจนถึงหมื่นปลายๆ ที่สำคัญ แต่ละแบรนด์เขาทำมาเยอะ ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีเก้าอี้ของตัวเอง

Words: Sritala Supapong

ข้อมูลจาก

you might like

Scroll to Top