9 ข้อคำบอกใบ้ นัยยะที่แฝงใน ‘อย่ากลับบ้าน Don’t Come Home’

SPOILER ALERT บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของซีรีส์

แม้จะออกมาในช่วงฮาโลวีน แต่ อย่ากลับบ้าน Don’t Come Home ไม่ใช่ ‘แค่’ ซีรีส์ผีอย่างที่คิด เพราะผีออกแค่เอพิโซดแรกๆ ช่วงหลังเปลี่ยนเป็นอีก genre ไปเลย ซึ่งการหักมุมพลอตทวิสต์ไปมาสุดฤทธิ์นี้ ต้น-วุฒิดนัย อินทรเกษตร ผู้กำกับ/เขียนบท และ อมราพร แผ่นดินทอง นักเขียนบท (จากซีรีส์ที่เราชอบมากอย่าง Analog Squad รวมถึงสาธุ) ได้โปรยคำบอกใบ้มาตลอดทาง ตั้งแต่ชื่อเรื่อง ‘อย่ากลับบ้าน’

และนี่คือนัยยะ ‘บางส่วน’ จากอย่ากลับบ้าน ซีรีส์ที่ทำให้คนดูวนลูปกลับไปดูซ้ำหลายรอบ

1.ชื่อตัวละคร

ดูแค่ชื่อตัวละครก็สนุกแล้ว วารี (นุ่น-วรนุช  ภิรมย์ภักดี) มาจากวลี “เวลา และวารี ไม่เคยรอใคร” บ่งบอกถึงวัฏจักรของน้ำที่ไหลวนเป็นวงกลม (จึงเป็นพลังงานหมุนเวียนที่ใช้ได้ไม่มีวันหมด)

ส่วนชื่อลูกสาว มิน คือปลา น้ำเป็นแหล่งกำเนิดของปลา ปลาต้องอยู่ในน้ำ สื่อถึงการเป็นแม่ลูกที่ต้องอยู่คู่กันไปตลอด แยกขาดจากกันไม่ได้…ราวกับเป็นคนคนเดียวกัน ซึ่งก็ใช่แหละ วารีกับมินคือคนคนเดียวกัน

สารวัตรฟ้า (แพร-พิชชาภา พันธุมจินดา) ฟ้าเป็นคู่ขนานกับน้ำ (ซึ่งก็คือวารี) ที่ไม่อาจบรรจบกันได้ ในขณะที่วารีและมินไม่อาจออกมาจากลูปการเกิดซ้ำๆ วนไปนี้ได้ ฟ้าเป็นคนนอกที่เข้ามาเห็นลูปนี้ เปรียบเหมือนท้องฟ้าที่สะท้อนผืนน้ำ

พนิดา (สิรินยา บิชอพ) ชื่อพนิดาแปลว่า ผู้หญิง ส่วนชื่อคุณตำรวจ ดนัย แปลว่า ผู้ชาย  

2.พ.ศ. ในเรื่อง

ที่เสาประตูบ้านมีป้ายแขวนไว้ว่า บ้านจารึกอนันต์ พ.ศ. 2475 มินและวารีย้อนเวลากลับไปปี 2535 ช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬพอดี วารีได้เจอกับยุทธชัย สามีในปี 2557 ช่วงรัฐประหารพอดีอีก ส่วนเหตุการณ์ในเรื่องเกิดขึ้นช่วงเดือนตุลาคม ตรงกับกรณีคนหายเดือนตุลาฯ จะมีอะไรวนลูปได้เท่าการปกครองของประเทศนี้อีกไหม

3.วงกลมวนลูป

การวนลูปถูกแทนที่ด้วยสัญญะหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเวลาตายของวารี ตี 3.14 เวลาเกิดของมินคือ 3.14 น. วันตายของวารี(ตัวจริง)และพ่อคือวันที่ 14 เดือน 3 ซึ่ง 3.14 คือค่าพาย (Pi) ที่ใช้หาพื้นที่วงกลมกับเส้นรอบวง

นอกจากนี้ยังมีสัญญะของบันไดวนในบ้าน วารีเต้นบัลเลต์หมุนรอบตัวเองเป็นวงกลม น้องมินใช้ไม้บรรทัดวาดรูปวงกลมที่เหมือนกับเส้นวนๆ ช่วง title sequence ตอนต้นที่แนะนำนักแสดง ไปจนถึงงาน CG ใยแมงมุมที่เกาะอยู่บนเครื่องปั่นไฟด้านหน้าบ้านจารึกอนันต์ ก็ออกแบบให้เป็นวงกลมเหมือนกับรอยร้าวบนกระจกในบ้าน

   

4.อาชีพตัวละครชาย

ยุทธชัย สามีของวารีเป็นนายทหารใหญ่…ตบตีภรรยา และเป็นสาเหตุที่ทำให้วารีหน้าปูดตาม่วงต้องหอบมิน ลูกสาวหนีออกมาและกลับไปบ้านเก่าของครอบครัว โดยจำไม่ได้ว่าพนิดาเคยเตือนแล้วว่า ‘อย่ากลับบ้าน’ เพราะนั่นจะทำให้ลูปเดิมๆ เกิดขึ้นซ้ำซากต่อไป

สามีของสารวัตรฟ้าก็เป็นนายตำรวจยศใหญ่…มีเมียน้อย

อาชีพที่ผู้กำกับและนักเขียนบทใส่มาให้ตัวละครชายในเรื่องมันคุ้นๆ นะ

5.ผีตัวสูง

ช่วงต้นๆ วิญญาณของวารีโผล่มานึกว่าเป็นเปรต ด้วยความสูงชะลูดดูผิดสัดส่วน ซึ่งผู้กำกับใส่คำเฉลยไว้ในฉากวารีเล่านิทานเรื่อง Alice in Wonderland ให้มินฟัง เพราะในนิทานเรื่องนี้มีฉากที่อลิซตัวสูงจนหัวติดเพดาน “เธอน่าจะสูงประมาณ 9 ฟุตได้” แท้จริงแล้วพวกเธอไม่ได้ตัวสูงผิดปกติ แต่เป็นเพราะคนที่มองพวกเธอหรือพวกเธอมองเห็นตัวเองต่างหากที่ผิดปกติไป อันเป็นผลมาจาก Alice in Wonderland Syndrome อาการทางระบบประสาทที่บิดเบือนการรับรู้ ทำให้วัตถุปรากฏเล็กลงหรือใหญ่ขึ้น ซึ่ง Lewis Carroll ตัวคนเขียน Alice in Wonderland (หรือ Alice’s Adventures in Wonderland (1865)) เองก็อาจจะมีอาการมองเห็นวัตถุผิดสัดส่วนด้วยเช่นกัน

6.สารวัตรฟ้าท้อง

ตัวละครสารวัตรฟ้าที่รับบทโดยแพร พิชชาภา (ซึ่งแสดงเรียลเป็นธรรมชาติมาก) อุ้มท้องโย้มาปฏิบัติหน้าที่แบบไม่ขาดตกบกพร่อง คาแรกเตอร์นี้ชวนให้นึกถึง Frances McDormand ในหนังปี 1996 เรื่อง Fargo ผลงานขึ้นหิ้งของพี่น้อง Coen Brothers ที่ทำให้ฟรานเชสได้ออสการ์จากบท Marge Gunderson สารวัตรท้องแก่แสนดีอยู่คนเดียวท่ามกลางอาชญากรเต็มเรื่อง ในซีรีส์อย่ากลับบ้านให้สารวัตรฟ้าอุ้มท้องมาทำงาน เป็นภาพสะท้อนว่าผู้หญิงท้องก็ทำงานเก่งได้ ขณะเดียวกันทารกในครรภ์คือตัวแทนการเกิดใหม่ที่พ้นไปจากลูปเดิมๆ ก็เป็นได้

7.เพลงประกอบติดหูติดลูป

ผู้กำกับใส่เพลงประกอบไว้ช่วงเอพิโซดกลางๆ เหมือนจะบอกคนดูว่า เอาละนะ จะเปลี่ยน genre ละนะ และเพลงความทรงจำ ผลงานของ Musketeer ในเวอร์ชั่นของ วี – วิโอเลต วอเทียร์ ก็มีการปรับเนื้อเพลงเล็กน้อย เพื่อให้ถ่ายทอดเรื่องราวของวารีได้ดีขึ้น โดยเพิ่มคำว่า “ติด” เข้าไปในท่อนฮุค เพื่อเป็นการย้ำว่า นี่คือช่วงเวลาที่วารีต้องติดอยู่ “ติดอยู่ในช่วงเวลา จะนานจะช้ายังยืนที่เก่า ข่มตาสักเท่าไหร่ไม่ลืมภาพเรา ยิ่งทำให้เหงาจนทนไม่ไหว” ท่อนนี้เหมือนเป็นเสียงคร่ำครวญดวงวิญญาณวนลูปของวารี ขณะเดียวกันเป็นเสมือนเสียงเพรียกของพนิดาที่คิดถึงลูกจนทนไม่ไหว จนต้องไปกดสวิตช์เครื่องกำเนิดพลังไฟฟ้าย้อนเวลากลับไปพาตัวลูกสาวที่ตายไปแล้วคืนมา อันเป็นต้นกำเนิดชะตากรรมวนลูปที่น่าเศร้านี้ และยังมีการสอดแทรกเพลง “ย้อนเวลา” ของ Moderndog ไว้ในเอพิโซด 3 เพื่อเป็นสัญญะให้คนดูได้สังเกตระหว่างทาง

8.คนอิกนอแรนต์

ผู้กำกับเจตนาใส่ฉากรัฐประหาร(ในทีวี) เพื่อจะสื่อถึงประชาธิปไตยแบบไทยไทยที่วนลูปมายาวนานพอๆ กับบ้านจารึกอนันต์ ขณะเดียวกันก็อาจจะสื่อถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นลุงนทีที่ต้องจำวารีได้สิ เพราะลุงเคยเจอวารีในอดีตมาแล้ว และรู้ว่าเธอตายไปแล้ว แต่เมื่อเจอวารีอีกครั้งในปัจจุบัน ลุงนทีกลับเพิกเฉย ปล่อยให้เป็นไป แม้ว่าตัวแกจะเป็นพยานรับรู้เรื่องการวนลูปนี้ก็ตาม หากแกมี moral courage หรือความกล้าหาญทางศีลธรรมสักนิดก็อาจหยุดลูปชะตากรรมนี้ได้ หรือว่าลุงนทีคือตัวแทนของคนตัวเล็กตัวน้อยมือเปล่าที่ถูกกดขี่จนไม่กล้าฝันว่าตนเองจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ จนกลืนกลายเป็นอิกนอแรนต์ และจำนนอยู่ในลูปประชาธิปไตยดังเช่นที่เป็นอยู่นี้

พนิดาเองก็รู้ทั้งรู้เรื่องลูปเวลา จึงบอกลูกแล้วว่า “อย่ากลับบ้าน” แต่เธอสามารถทำได้มากกว่านี้เพื่อไม่ให้ลูกต้องกลับไปผจญชะตากรรมอันน่าเศร้า แต่เพราะในใจพนิดามัวแต่ยึดติดกับความรู้สึกผิดในอดีตที่เป็นคนฆ่าลูก แทนที่จะลุกขึ้นมาป้องกันลูกหลาน ก็กลับพะวงอยู่แต่เรื่องของตนเอง ในแง่หนึ่งพนิดาจึงเป็นเหมือนอิกนอแรนต์ที่ตามน้ำ พวกลากมากไป จนกลายเป็นผู้สนับสนุนการรัฐประหาร จึงเท่ากับว่าพนิดาฆ่าอนาคตลูกหลานของตนเอง และความรู้สึกผิดของเธอได้เติบใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นความหลงผิด บ้าคลั่ง จนสั่งการให้ลุงนทีฆ่าวารี แปลงร่างเป็นเผด็จการไปเสียเอง

ความเพิกเฉยเป็นอิกนอแรนต์นี้คือธีมใหญ่ในนิยายที่ดัดแปลงเป็นหนังชื่อเดียวกันคือ The Reader (2008) หนังที่ทำให้ Kate Winslet ได้ออสการ์จากบท Hanna หญิงชนชั้นแรงงานชาวเยอรมันวัย 30 ที่มีสัมพันธ์ทางเพศกับ Michael เด็กหนุ่มวัย 15 โดยก่อนจะมีเซ็กซ์ เธอต้องให้เขาอ่านหนังสือให้ฟังก่อน จนเวลาผ่านไป 8 ปี ไมเคิลที่เรียนกฎหมายได้เจอฮันนาอีกครั้งระหว่างที่เธอขึ้นศาลในคดีที่เธอเป็นอดีตผู้คุมของฝ่ายนาซีที่มีส่วนทำให้ชาวยิว 300 คนโดนไฟคลอกตายในโบสถ์ ไมเคิลสามารถช่วยลดโทษให้ฮันนาได้ ถ้าเขาเป็นพยานบอกศาลไปว่า ฮันน่าไม่ได้เป็นคนเซ็นคำสั่งให้ล็อกโบสถ์ เพราะเธออ่านเขียนไม่ได้ ลายเซ็นฮันนาในเอกสารนั่นเป็นของปลอม แต่เขากลับไม่ยอมปริปากบอกเรื่องนี้ เพราะอับอายอดีตของตนที่เคยหลับนอนกับนาซี และปล่อยให้เธอรับโทษทัณฑ์

The Reader วิพากษ์การทำตัวไม่รู้ไม่เห็นของชาวเยอรมันที่ไม่พยายามมากพอจะหยุดยั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวกว่า 4 ล้านคน

หากอย่ากลับบ้านมีซีซัน 2 ก็อยากดูว่าความเป็นอิกนอแรนต์ในสังคมไทยจะพาบ้านเมืองไปถึงจุดไหน

9.วารีให้กำเนิดตัวเอง?

ยุทธชัยเริ่มตบตีวารีตอนที่เธอตั้งท้อง เพราะยุทธชัยกับวารีอาจแต่งงานโดยไม่มีอะไรกัน หรือเขารู้ตัวว่าตนเองเป็นหมัน แล้ววารีจะท้องได้อย่างไร หรือเพราะมินไม่มีดีเอ็นเอของพ่อเลย จึงคิดไปว่าวารีมีชู้

การที่วารีกับมินมีดีเอ็นเอเหมือนกันก็เท่ากับว่าเป็นคนคนเดียวกันเป๊ะๆ เรื่องนี้เป็นปมปริศนาอยู่มาก เพราะการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง หรือเกิดโดยไม่มีสเปิร์ม (Parthenogenesis) พบเป็นเรื่องธรรมดาในสิ่งมีชีวิตหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นพืช แมลง ปลา สัตว์เลื้อยคลาน และนก ส่วนสัตว์ตระกูลต่อแตนบางประเภท สัตว์พวกกุ้งกั้งปู และกิ้งก่าก็สืบพันธุ์ผ่านการสร้างตัวเองขึ้นใหม่

ในมนุษย์ไม่เคยพบหลักฐานว่ามี virgin birth คือ(ยัง)เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้ในทางวิทยาศาสตร์

แล้ววารีจะคลอดมินออกมาเองได้อย่างไร ก็อาจเป็นไปได้ว่า พลังงานไฟฟ้าจากเครื่องของพนิดาอาจส่งผลต่อร่างกาย จนทำให้เธอท้องได้เองโดยไม่ต้องมีสเปิร์ม เหมือนต้นกำเนิดซูเปอร์ฮีโร่ทั้งหลายที่เจอเรื่องผิดธรรมชาติจนกลายเป็นยอดมนุษย์

อนิจจาที่วารีกลายเป็นยอดมนุษย์วนลูป พลังวิเศษที่วารีไม่ได้อยากได้

อีกทฤษฎีหนึ่งที่อาจอธิบายการคลอดตัวเองของวารีได้ก็คือ Bootstrap Loop คือการที่วัตถุหรือข้อมูลบางอย่างถูกส่งกลับไปยังอดีต จนเกิดเป็นลูปนิรันดร์ เหตุและผลเกิดขึ้นพร้อมกัน ไม่ใช่เกิด A แล้วค่อยมี B แต่ A และ B เกิดขึ้นพร้อมกัน เหตุการณ์จึงเกิดขึ้นด้วยตัวมันเอง โดยไม่มีผู้สร้าง (creator) เช่น มีคนเดินทางย้อนเวลากลับไปบอกข้อมูลเรื่องทฤษฎีสัมพันธภาพให้ไอน์สไตน์ในอดีต แต่ตัวคนที่เดินทางย้อนเวลาก็ได้อ่านทฤษฎีนี้ที่ไอน์สไตน์ได้เขียนไว้

ดูซีรีส์เรื่องนี้แล้วสนุกสนานไปกับปมต่างๆ ที่ผู้กำกับและนักเขียนบทได้วางเอาไว้ และขอเชียร์ให้ผู้สร้างเปิดซีรีส์ใหม่เป็นจักรวาลการสืบสวนของสารวัตรฟ้า ตัวละครหญิงแกร่งที่แพรแสดงได้ดีเยี่ยม

ใครดูแล้วอ่านระหว่างบรรทัดหรือจับ hint อะไรที่ผู้กำกับและนักเขียนวางไว้ให้อีกบ้าง?

Words: Sritala Supapong

Photos: NetflixTH

you might like

ห้างเซ็นทรัล ในเครือเซ็นทรัล รีเทล เผยโฉมใหม่ที่ครบครันของ “แผนกบ้าน” ห้างเซ็นทรัลชิดลม พร้อมแท็กทีม ดุ๊ก – ภาณุเดช นักแต่งบ้านชื่อดัง และลูกค้าคนสำคัญร่วมอินสไปร์ 5 สไตล์การแต่งบ้านสุดครีเอท ในแคมเปญ “CENTRAL HOME INSPIRER”

Scroll to Top