Bangkok Design Week 2024 ชูแนวคิด ‘คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี’ ชวนทุกคนมาร่วมสร้างเมืองที่ ‘น่าอยู่’ยกระดับงานออกแบบ พัฒนา ‘คน วัฒนธรรม และเมือง’15+ ย่านทั่วกรุงเทพฯ 

เมื่อเมืองสร้างคน และคนก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเมืองให้มีศักยภาพทั้งในเชิงกายภาพ รวมถึงสุขภาพกายและใจได้เช่นกัน มาร่วมสำรวจว่า ‘เรา’ จะมีส่วนช่วยสร้างเมืองให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง ใน “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567” หรือ “Bangkok Design Week 2024” (BKKDW2024) ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 27 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ 2567 กับธีม ‘Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี’ ที่ท้าทายกว่าที่เคย เทศกาลฯ จัดขึ้นใน 15+ ย่านทั่วกรุงเทพฯ พร้อมชวนผู้อยู่อาศัยและผู้มาเยี่ยมเยือน มาผนึกกำลังทำกรุงเทพฯ ให้เป็น ‘เมือง’ ที่ ‘น่าอยู่’ ‘น่าลงทุน’ และ ‘น่าเที่ยว’ สำหรับทุกคน ผ่านความร่วมมือต่าง ๆ ทั้งกับผู้คนในพื้นที่ กลุ่มนักออกแบบ นักพัฒนาเมือง ธุรกิจท้องถิ่น ที่เชื่อมต่อกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคการผลิต และภาคเอกชน สร้างสรรค์งานออกแบบที่ตอบโจทย์ปัญหาและบริบทที่กรุงเทพฯ กำลังเผชิญ พร้อมปลุกบรรยากาศของ Bangkok Vibe เพื่อขับเคลื่อนเมืองไปข้างหน้าพร้อม ๆ กัน

 Bangkok Design Week แพลตฟอร์มในการพัฒนาคน ธุรกิจ ย่าน และเมืองสร้างสรรค์

‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ เป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยสามารถต่อยอดต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ให้ทันสมัย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและความแตกต่างให้แก่สินค้าและบริการ ฉะนั้นการสร้าง ‘ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์’ (Creative District) ให้เกิดขึ้นจริง โดยการหยิบของดีประจำย่านมาต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จึงเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA เมื่อมีการพัฒนาหลาย ๆ ย่านรวมกัน จึงทำให้เกิด ‘เมืองสร้างสรรค์’ (Creative City) ที่ส่งเสริมให้เศรษฐกิจท้องถิ่นขยายตัว นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเท

“Bangkok Design Week จึงทำหน้าที่เป็น ‘แพลตฟอร์ม’ ที่สื่อสารเรื่อง ‘คน ธุรกิจ ย่าน และเมืองสร้างสรรค์’ ไม่ใช่ ‘อีเวนต์’ ที่จัดขึ้นแล้วจบไป แต่มีการนำเสนอความคิดและการสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ โดยรวมไอเดียจากนักสร้างสรรค์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรุงเทพมหานคร (Bangkok Metropolitan Administration: BMA) ที่มาร่วมมือกันแก้ไขปัญหาความเป็นอยู่ของคนในเมืองที่เกิดขึ้นจริง ผ่านงานออกแบบหลากหลายศาสตร์ ซึ่งถูกคิดมาเพื่อทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ ‘น่าอยู่’ และ ‘น่ารัก’ ยิ่งขึ้น งานออกแบบเหล่านี้มีการนำไปทดลองใช้งาน และได้รับคำแนะนำและเพื่อปรับปรุง แก้ไข และพัฒนางานออกแบบให้สมบูรณ์และยั่งยืนในอนาคต ตลอดจนช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของแต่ละย่าน Bangkok Design Week ยังทำให้เกิดการพบปะเชื่อมโยงจนมีกิจกรรมต่อเนื่องต่อไปในอนาคตได้ ช่วยยกระดับเศรษฐกิจ และสร้างต้นแบบการพัฒนาเมือง โดยคาดการณ์ว่าปีนี้จะมีผู้ร่วมงานในประเทศและต่างประเทศมากกว่า 300,000 คน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 350 ล้านบาท”  กล่าว

 

BKKDW2024 ขยายพื้นที่จัดงาน 15+ ย่านทั่วกรุงเทพฯ

          ในปีที่ 7 ของ “Bangkok Design Week 2024” (BKKDW2024) เทศกาลฯ กลับมาในธีม ‘Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี’ การจัดงานทั้ง 9 วันนำเสนอกิจกรรมกว่า 500+ โปรแกรม ผ่านหัวใจสำคัญ 3 มิติ ได้แก่ (1) Hard Matters เมืองดีต่อกาย กายภาพดี เข้าถึงง่าย เชื่อมโยงผู้คน ให้อยู่สบาย มีสุขภาพดี (2) Heart Matters เมืองดีต่อใจ ใส่ใจผู้คน กิจกรรมหลากหลาย วัฒนธรรมแข็งแรง และ (3) Design Matters เมืองออกแบบดี ชีวิตดี หัวใจในการพัฒนาพื้นที่ ชุมชน และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับกรุงเทพมหานคร หน่วยงานภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ และภาคีเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์

          “Bangkok Design Week 2024” ปีนี้พิเศษกว่าปีที่ผ่านมา โดยมาพร้อมโจทย์ใหม่อย่าง ‘HACK BKK’ ที่ CEA ได้พัฒนาขึ้นร่วมกับกรุงเทพมหานคร เพื่อท้าทายเหล่านักสร้างสรรค์ให้ได้ทดลองออกไอเดียแก้ปัญหาเมืองจากโจทย์ที่มีอยู่จริง โดยหวังว่าแนวทางแก้ปัญหาเหล่านี้จะถูกนำไปต่อยอดและปรับใช้งานจริงในเมืองต่อไป

          นอกจากนี้ เทศกาลฯ ยังขยายพื้นที่จัดงานไปเป็น 15 ย่านและพื้นที่อื่น ๆ ทั่วกรุงเทพฯ ได้แก่ (1) เจริญกรุง – ตลาดน้อย (2) พระนคร (3) ปากคลองตลาด (4) นางเลิ้ง (5) เยาวราช (6) หัวลำโพง (7) อารีย์ – ประดิพัทธ์ (8) บางโพ – เกียกกาย (9) วงเวียนใหญ่ – ตลาดพลู (10) เกษตรฯ – บางบัว (11) พร้อมพงษ์ (12) สยาม – ราชเทวี (13) บางกอกใหญ่ – วังเดิม (14) พระโขนง – บางนา (15) บางมด และพื้นที่อื่น ๆ เช่น ศรีนครรินทร์ – Seacon Square และบางกะปิ – ซอยโยธินพัฒนา ฯลฯ โดยแต่ละพื้นที่ได้หยิบยกดีเอ็นเอประจำย่าน มาต่อยอดเพื่อนำเสนออย่างสร้างสรรค์ ประกอบด้วย

  1. เจริญกรุง – ตลาดน้อย โดยผู้ขับเคลื่อน CEA นักออกแบบนักสร้างสรรค์ และชุมชนคนในพื้นที่ มาพร้อมการเปิดเวทีแห่งความเป็นไปได้ในย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต้นแบบแห่งแรกของไทย โดยส่งเสริมการเปิดพื้นที่ให้ผลงานใหม่ได้เข้ามาจัดแสดง เช่น Pocket Oasis Garden งานออกแบบเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวขนาดเล็ก และ Street Furniture ที่เคลื่อนย้ายได้สะดวก เหมาะกับพื้นที่ย่านที่มีพื้นที่สีเขียวค่อนข้างน้อย และโปรเจ็กต์ที่ตอบโจทย์ HACK BKK เช่น ระบบป้ายนำทางจักรยานและจุดจอดที่อาจจะนำมาสู่โมเดลทดลองที่ถูกนำไปมาใช้งานจริงในอนาคต
  2. พระนคร โดยผู้ขับเคลื่อน ศูนย์มิตรเมือง (Urban Ally) กลุ่มนักออกแบบนักสร้างสรรค์ และชุมชนคนในพื้นที่ ที่ผสานความเก่าเข้ากับความล้ำสมัย เพื่อสร้างพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของย่านเมืองเก่า ทั้งการเพิ่มประสบการณ์การใช้งานและการเดินทางในพื้นที่สาธารณะ การพัฒนาเส้นทางเดินเท้า การใช้งานสวนสาธารณะยามค่ำคืน การใช้งานสถานที่ราชการ (นอกเวลาทำการ) เพื่อขยายโอกาสในการใช้งานสาธารณะ นอกจากนี้ย่านยังนำเสนอกิจกรรม Projection Mapping และ Moving Image ที่จะมาสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ในพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ ทั้งที่ประปาแม้นศรี สวนรมณีนาถ ป้อมมหากาฬ รวมถึงคอร์ตข้างในศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ฯลฯ 
  3. ปากคลองตลาด โดยผู้ขับเคลื่อน Human of Flower Market by Arch SU และมนุษย์ปากคลองฯ ที่ต่อยอดอัตลักษณ์ ‘ตลาดดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย’ ผ่านการสร้างประสบการณ์ใหม่ด้วยงานออกแบบ เช่น ต้นแบบขยายพื้นที่ Display หน้าร้านของแม่ค้าปากคลองฯ บนทางเท้าให้ดูมีเสน่ห์น่าเดิน การปรับอาคารเก่าที่เป็นโรงงานน้ำตาลปี๊บ ‘โล้วเฮียบเส็ง’ ให้กลายเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะ ‘In Progress is Progress’ และไปรสนียาคาร อาคารไปรษณีย์แห่งแรก ที่จัดกิจกรรมหน้าอาคารเพื่อเพิ่มจำนวนคนสัญจร และทดสอบให้กลายเป็นพื้นที่เดินเชื่อมต่อในย่าน ฯลฯ
  4. นางเลิ้ง โดยผู้ขับเคลื่อน Urban Studies lab และ Community Lab ชุมชนในย่านนางเลิ้ง ต่อยอดภูมิปัญญาในย่านวัฒนธรรมมีชีวิต ผ่านความร่วมมือระหว่างผู้อยู่อาศัยดั้งเดิมกับนักออกแบบผู้ย้ายเข้ามาใหม่ ที่สื่อสารความเป็นนางเลิ้งในมุมมองใหม่ผ่านงานออกแบบ ให้นางเลิ้งเป็นย่านที่ ‘บันเทิงทุกวัน’ ย่านมีพื้นที่จัดแสดงหลักคือ ‘โรงเรียนสตรีจุลนาค’ โรงเรียนเก่าแก่ที่ก่อตั้งโดยเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ผู้บุกเบิกการศึกษาสมัยใหม่ของไทย และ ‘บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี’ (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ซึ่งทั้งสองสถานที่นี้เป็นอาคารเก่าแก่ที่อยู่ร่วมกับชุมชนในย่านนางเลิ้งมาอย่างยาวนาน 
  5. เยาวราช โดยผู้ขับเคลื่อน SATARANA (สาธารณะ) และชุมชนคนในพื้นที่ สานต่อตำนานย่านสตรีทฟู้ดระดับโลกที่โดดเด่นด้วยเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมจีนจากรุ่นสู่รุ่น พร้อมขยายเรื่องราวไปสู่เจเนอเรชันที่หลากหลาย ด้วยการเจาะกลุ่ม ‘เด็กวัยมัธยมต้น’ ผ่านหนังสือการ์ตูน และ Street Art ในธีมของกิจการเสื่อผืนหมอนใบภายในถนนทรงวาด และโปรเจ็กต์ Go Go Bus! ที่พัฒนาระบบขนส่งขนาดเล็กเพื่อเชื่อมต่อย่าน และเพื่อลดภาระของการจราจรบนถนนเส้นหลัก จากโจทย์ HACK BKK ที่มีแผนจะปรับใช้กับพื้นที่ของทางกรุงเทพมหานคร
  6. หัวลำโพง โดยผู้ขับเคลื่อน RTUS-Bangkok (ริทัศน์บางกอก) ผลักดันย่านสร้างสรรค์รอบสถานีรถไฟใจกลางเมือง จากเรื่องราวในอดีตที่ไม่เคยถูกบันทึก อันเป็นพื้นที่เชื่อมต่อจากเจริญกรุง – ตลาดน้อย ที่นอกจากจะมีแลนด์มาร์กสำคัญอย่างสถานีรถไฟหัวลำโพง ยังมีโครงการ ‘Made in Hua Lamphong’ ที่ร่วมกับ 6 ผู้ประกอบการเก่าแก่ x 5 นักสร้างสรรค์ สร้าง Branding ภาพจำใหม่ของหัวลำโพง โปรแกรมทัวร์สำรวจย่าน และนิทรรศการปาจื้อ: คน/ดวง/เมือง การสื่อสารเรื่องธาตุประจำตัวจากโหราศาสตร์จีน เพื่อให้เกิดการรับรู้ของผู้ชมและทดลองสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน ฯลฯ
  7. อารีย์ – ประดิพัทธ์ โดยผู้ขับเคลื่อน AriAround ที่จะมาร่วมถักทอสายสัมพันธ์ในย่าน ผ่านพื้นที่สาธารณะที่ทําให้ผู้คนได้มาอยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออารี เช่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้สวนสาธารณะกรมประชาสัมพันธ์ การสร้างพื้นที่จัดกิจกรรมของชุมชนสร้างสรรค์ในอารีย์ ฯลฯ 
  8. บางโพ – เกียกกาย โดยผู้ขับเคลื่อน Bangpho Wood Street และ Creative Soul Studio กับการสร้างคุณค่าใหม่ให้ถนนสายไม้กลายเป็นย่านสร้างสรรค์ ผ่านการออกแบบและไอเดียของคนในพื้นที่ พร้อมขยายพื้นที่ไปยัง ‘เกียกกาย’ โดยทดลองเปิดพื้นที่กองทัพบกให้เป็นพื้นที่สันทนาการและจำหน่ายสินค้าสำหรับชุมชน  
  9. วงเวียนใหญ่ – ตลาดพลู โดยผู้ขับเคลื่อน คณะการออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ที่เชื่อมโยงคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่เพื่อต่อยอดวัฒนธรรมฝั่งธนฯ บนพื้นที่สองย่านที่เชื่อมโยงกันโดยเส้นทางรถไฟ ย่านได้นำสินทรัพย์ในพื้นที่มานำเสนอในรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ทั้งการจัดแสดง ทัวร์ลงรถไฟ การดึง Sense of Place มาจัดนิทรรศการที่นำเสนอเรื่องราววิถีชีวิตของผู้คนและสีสันของตลาดพลู ฯลฯ

10.เกษตรฯ – บางบัว โดยผู้ขับเคลื่อน คณะก่อการย่านเกษตร SC ASSET และมหาวิทยาลัยศรีปทุม (SPU) ร่วมกับเพื่อนบ้าน สร้างสรรค์ย่านให้น่าอยู่และเป็นมิตรต่อคนทุกกลุ่ม โดยเปิดโอกาสให้ศิษย์เก่าและนักศึกษา มาร่วมกันออกแบบที่นั่งสาธารณะและที่นั่งรอมอเตอร์ไซค์รับจ้าง (Street Furniture) ตรงบริเวณสถานีบีทีเอสบางบัว นอกจากนี้พื้นที่บริเวณคลองบางบัวและริมถนนพหลโยธิน จะถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่ทดลองสำหรับฉายภาพยนตร์ ตลาด การแสดงดนตรี Projection Mapping ฯลฯ

  1. พร้อมพงษ์โดยผู้ขับเคลื่อน 49 & FRIENDS ที่พร้อมลงมือพัฒนาย่านเศรษฐกิจใจกลางเมืองให้กลายเป็นพื้นที่ที่ดีต่อกายดีต่อใจ สําหรับผู้มาอยู่และผู้มาเยือน ในซอยสุขุมวิท 26 ที่เป็นแหล่งรวมนักสร้างสรรค์สาขาสถาปัตยกรรม การตกแต่งภายใน บริษัทเฟอร์นิเจอร์ และวัสดุ แบบครบวงจร โดยมีไฮไลต์เป็น ‘บ้านนก บ้านกระรอก’ ส่วนหนึ่งของระบบนิเวศบนต้นไม้ริมทาง ที่นักออกแบบในย่านต้องการให้เกิดความรื่นรมย์ในระหว่างการเดินเท้า รวมถึงการออกแบบที่นั่งพักคอยของมอเตอร์ไซค์รับจ้างท้ายซอยสุขุมวิท 26 ฯลฯ
  2. สยาม – ราชเทวีโดยผู้ขับเคลื่อน สถาบันอาศรมศิลป์ เครือข่ายนักพัฒนาเมือง และชุมชนบ้านครัว มาพร้อมการเปิดประตูสู่การรับรู้เรื่องราวของชุมชนประวัติศาสตร์สร้างสรรค์ที่ถูกซุกซ่อนไว้ใจกลางกรุงเทพฯ ผ่านการส่งเสริมวัฒนธรรมอาหารในชุมชนบ้านครัว ชุมชนมุสลิมเก่าแก่ โดยนักสร้างสรรค์นำเสนอเรื่องราวผ่านสำรับอาหาร และกิจกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ยังนำเสนอพื้นที่สาธารณะ ทางเดินเท้า โครงการลัดเลาะในซอย การนำงานศิลปะมาซ่อมแซมพื้นที่และกำแพงที่แตกร้าว ฯลฯ 

13.บางกอกใหญ่ – วังเดิม โดยผู้ขับเคลื่อน บริษัทครอส แอนด์ เฟรนด์ จำกัด และยังธน มาพร้อมการหยิบต้นทุนทางวัฒนธรรมเดิมมาเพิ่มเติมความหมายใหม่ เพื่อฟื้นคืนชีวิตให้พื้นที่ประวัติศาสตร์ริมคลองบางกอกใหญ่ เช่น แลนด์มาร์กสำคัญอย่างวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารและชุมชนรอบด้าน โดยนักสร้างสรรค์ได้จัดทำโปรแกรมที่เปิดให้คนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ เช่น Sound of Bangkok Yai นิทรรศการเสียงที่ชวนทุกคนมาทำความรู้จักย่านบางกอกใหญ่ผ่าน ‘เสียง’ ฯลฯ

14.พระโขนง – บางนา โดยผู้ขับเคลื่อน South Sukhumvit ก่อร่างสร้างย่านสุขุมวิทใต้ให้น่าอยู่และเป็น Creator Hub ที่ผสานความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ผ่านการรวมกลุ่มของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่และสตูดิโอนักสร้างสรรค์ในพื้นที่ โปรแกรมที่น่าสนใจ เช่น การทดลองพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะภายในย่านให้เป็น ‘สวนเคลื่อนที่’ (Pop-Up Park) และแหล่งการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังมี ‘บ้านต้นไม้’ ในซอยสุขุมวิท 95 ที่ฟื้นคืนความมีชีวิตชีวาของพื้นที่สาธารณะที่ถูกทิ้งร้าง ด้วยการปรับปรุงพื้นที่และจัดกิจกรรมสำหรับชุมชน ฯลฯ

15.บางมด โดย กลุ่มผู้ขับเคลื่อนย่านบางมด นำเสนอเรื่องราวการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลของธรรมชาติ ผู้คน ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่ไหลไปพร้อมกับกระแสน้ำของคลองบางมด ด้วยการส่งเสริมย่านท่องเที่ยวสร้างสรรค์ ผ่านพื้นที่เพาะปลูกผลไม้ดั้งเดิมและวิถีชีวิตริมคลองที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ย่านนำเสนอทั้งโปรแกรมทัวร์และกิจกรรมพัฒนาพื้นที่เพื่อให้รองรับความเป็นแหล่งท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น

          นอกจากนี้ยังมีพื้นที่อื่น ๆ ทั่วกรุงเทพฯ ที่ ‘คน’ ในย่านได้เริ่มลงมือ ‘ทำ’เพื่อสร้างสรรค์ให้เมืองยิ่งดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ศรีนครรินทร์ – ห้างซีคอนสแควร์ ที่ร่วมกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) และ Happening เปิดพื้นที่สำหรับการแสดงและตลาดนัดศิลปะ และบางกะปิ ซอยโยธินพัฒนา ที่เริ่มต้นรวมกลุ่มผู้ประกอบการด้านคอนเทนต์ โดยมีทีวีบูรพาเป็นผู้ริเริ่ม ฯลฯ

ใครแพลนไปจุดไหน เข้าถึงทุกโปรแกรมได้สะดวกและสนุกยิ่งขึ้นไปกับ happining.city แพลตฟอร์มแผนที่แบบอินเทอร์แอ็กทีฟ (Interactive) ได้ที่ https://www.bangkokdesignweek.com/…/guide/venues-bkkdw

ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ Website: www.bangkokdesignweek.com, Facebook/Instagram: bangkokdesignweek, Twitter: @BKKDesignWeek, Line: @bangkokdesignweek

#BKKDW2024 #BangkokDesignWeek #LivableScape แล้วพบกัน 27 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ 2567 ตั้งแต่เวลา 11:00 – 22:00 น.

you might like

Scroll to Top