เจาะความสำเร็จของ Blood Free บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพที่ก้าวมาเป็นเจ้าตลาด ‘เพาะเซลล์ในห้องแล็บ’ ที่ผลิตได้ทุกอย่างจากจานเพาะเนื้อเยื่อ ตั้งแต่เนื้อวัว หมู ไก่ ปลา อาหารทะเล ไปจนถึงหนังและเฟอร์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมแฟชั่น
เนื้อ หนัง ขนสัตว์ที่ไม่มีสัตว์ตัวไหนต้องตาย
“เนื้อแบบไหนที่คุณอยากกิน?”
นั่นคือคำถามต่อผู้บริโภคของ ยุน จายู ซีอีโอของ BF ที่ไม่ได้ย่อจาก Beef แต่ย่อจาก Blood Free เพราะบริษัทเทคโยโลยีชีวภาพสัญชาติเกาหลีแห่งนี้ผลิตเนื้อหมู เป็ด ไก่ได้จากการเพาะเซลล์ เพื่อให้ผู้บริโภคได้กินเนื้อสัตว์แบบไม่ต้องสังเวยชีวิตสัตว์
ตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมา เหล่าคนรักเนื้อทั่วโลกตอบรับกับ ‘เนื้อสัตว์’ ของ BF ซึ่งประสบความสำเร็จในการเพาะเนื้อห้องแล็บจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้เป็นครั้งแรก
ต่อมา BF ได้ขยายไปสู่การเพาะหนังสัตว์และเฟอร์ในห้องแล็บ ด้วยวัตถุประสงค์เดียวกันคือ ให้ผู้บริโภคได้ใช้หนังและเฟอร์โดยไม่ต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้อของจระเข้ ตัวมิงค์ ลูกวัว แกะ หรือสัตว์ชนิดใดที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมแฟชั่น
Photo: Krungthai COMPASS
หลังจากก่อตั้งขึ้นเมื่อ 15 ปีก่อน ปัจจุบัน BF ได้ครองส่วนแบ่งการตลาดเนื้อสัตว์ห้องแล็บถึง 72%
และ BF ทำให้เนื้อสัตว์ที่มาจากการฆ่าสัตว์คืออดีตไปเสียแล้ว
ยุน จายูกล่าวว่าเพื่อจะผลิตเนื้อสัตว์ในปริมาณเท่ากัน การเพาะเซลล์เนื้อสัตว์ใช้พื้นที่ในการผลิตเพียง 1% ของพื้นที่ที่ใช้ในการทำปศุสัตว์และพื้นที่กสิกรรมปลูกอาหารสัตว์ทั่วโลก การเลี้ยงวัว 1 ตัวนั้นปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่ารถ 1 คัน
Photo: Krungthai COMPASS
และ BF ร่วมทำสงครามกับโลกรวนด้วยการขยายธุรกิจไม่เพียงบนภาคพื้นดินเท่านั้น แต่ยังผลิตอาหารจากท้องทะเลที่มีการบริโภคสูงสุด 4 ชนิด ได้แก่ ทูน่า แซลมอน แมคเคอเรล และกุ้ง โดยอาหารทะเลของแบรนด์ BF มีข้อได้เปรียบ 3 ประการ ได้แก่ ปลอดพยาธิ ไร้ไมโครพลาสติก ไม่มีสารปรอท จึงไม่เพียงปลอดการฆ่าสัตว์เท่านั้น แต่ยังปลอดอันตรายทั้งปวง และผลิตเนื้อสัตว์และอาหารทะเลได้ไม่จำกัดปริมาณ
Photo: Krungthai COMPASS
ในอีก 6 เดือนข้างหน้า BF จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ธัญพืชและพืชอาหาร (ได้แก่ พืชผัก ไม้ผล พืชไร่ พืชสมุนไพร และเครื่องเทศ) ไม่ว่าจะเป็นข้าว มันฝรั่ง หรือแม้กระทั่งปาล์มน้ำมันที่เป็นหนึ่งในตัวการทำลายป่าไม้
ธุรกิจของ BF เติบโตอย่างก้าวกระโดดเพราะบุกตลาดเป็นเจ้าแรกๆ จนกลายเป็นเจ้าตลาด ‘เพาะเลี้ยงเซลล์ในห้องแล็บ’ ในปี 2025…
อ่านไม่ผิดหรอก นี่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปี 2025 ของ ‘Blood Free’ ซีรีส์เกาหลีเรื่องใหม่ทาง Disney+ ที่นำธุรกิจมาแรงที่จะเติบโตถึงปีละ 82% และคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าตลาดในปี 2030 ถึง 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐมาซ้อนกับเรื่องราวแนวสืบสวนสอบสวนผสมแอ็กชั่น นำแสดงโดย จูจีฮุนจาก Kingdom และฮันฮโยจูจาก Moving
Photos: Disney+
ไทม์ไลน์ของ ‘เนื้อสัตว์ห้องแล็บ’
เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงมีหลายชื่อเรียก อาทิ lab-grown meat, cultured meat, cultivated meat, in vitro meat, synthetic meat, clean meat หรือ cell-based meat ‘งอก’ ขึ้นมาอย่างไร ไปดูไทม์ไลน์กัน
1931: Winston Churchill อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษเคยเขียนความเรียงเรื่อง ‘Fifty Years Hence’ ที่ตั้งคำถามว่าเราจำเป็นต้องฆ่าไก่ทั้งตัว แต่กินแค่อกหรือปีก แล้วเราจะเพาะเอาสองส่วนนี้แยกออกมาเป็นอาหารได้หรือไม่
1950s: แนวคิดเรื่องการผลิตเนื้อสัตว์ในห้องแล็บเป็นข้อถกเถียงจริงจังครั้งแรกจากแนวคิดของนักวิจัยชาวดัตช์ Willem van Eelen ผู้ได้รับฉายาว่า “บิดาแห่งเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง”
Photo: Krungthai COMPASS
มีนาคม 2002: นักวิทยาศาสตร์ของ NASA เพาะเนื้อปลาขึ้นในแทงค์เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของแหล่งอาหารสำหรับนักบินอวกาศ โดยได้ข้อสรุปว่าเป็นไปได้ที่จะเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์ขึ้นได้ตามต้องการโดยไม่ต้องฆ่าสัตว์
สิงหาคม 2013: เบอร์เกอร์ไส้เนื้อเพาะเลี้ยงชิ้นแรกของโลกถูกปรุงและโดนง่ำจริงๆเป็นครั้งแรก นำโดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์แห่ง Maastricht University ในเนเธอร์แลนด์ที่นำเซลล์จากวัวไปเพาะเลี้ยง และเนื้อชิ้นนี้ถูกนำไปปรุงเป็นเบอร์เกอร์ที่งานสัมมนาในลอนดอน สนนราคาเบอร์เกอร์ไส้เนื้อเพาะเลี้ยงอยู่ที่ 330,000 ดอลลาร์สหรัฐ
ธันวาคม 2020: สิงคโปร์เป็นประเทศแรกในโลกที่ผ่านกฎหมายให้จำหน่ายเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงได้ และ Eat Just ก็เป็นร้านแรกที่ขายเนื้อส่งตรงจากห้องแล็บ
ธันวาคม 2021: Upside Foods บริษัทเทคโนโลยีในแคลิฟอร์เนียคิดค้นนวัตกรรมใหม่ที่สร้างเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงขึ้นโดยไม่ใช้องค์ประกอบใดๆจากสัตว์จริงๆเลย
Photo: Krungthai COMPASS
กรกฎาคม 2022: SciFi Foods สตาร์ตอัปในแคลิฟอร์เนียสามารถลดต้นทุนการผลิตเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงลงได้ 1,000 เท่า
มีนาคม 2023: Tim Noakesmith ผู้ก่อตั้ง Vow บริษัทผลิตเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงในออสเตรเลียเปิดตัว ‘มีตบอลเนื้อแมมมอธ’ ที่เพาะเลี้ยงจากดีเอ็นเอในขนแมมมอธที่ NEMO Science Museum ในอัมสเตอร์ดัม ซึ่งมีรสชาติคล้ายเนื้อจระเข้และเพาะเลี้ยงเซลล์กว่า 40,000 ล้านเซลล์ขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ
Photo:Reuters
เหตุผลที่เลือกสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่สูญพันธุ์ไปเมื่อ 4,000 ปีก่อนก็เพราะถ้าเป็นเนื้อสัตว์อื่นๆก็ไม่เป็นกระแสน่ะสิ และแมมมอธก็เป็นดั่งอุทาหรณ์ว่า สิ่งมีชีวิตทั้งหมดอาจโดนภาวะโลกรวนกวาดล้างจนสิ้นซากไปในไม่อีกปี หากมนุษย์ยังคงกินอาหารอย่างที่กินกันอยู่ทุกวันนี้ ดังนั้นจึงใช้แมมมอธ สัญลักษณ์ของการสูญพันธุ์มาเป็นสัญลักษณ์ของความหวัง
Words: Sritala Supapong
ข้อมูลจาก
- https://www.bbc.com/news/business-65784505
- https://www.fooddive.com/news/from-prediction-production-timeline-cultivated-meat-industry/689441/
- https://www.cbc.ca/radio/thecurrent/3d-printed-fish-fillet-1.6867095
- https://www.cbc.ca/radio/asithappens/mammoth-meatball-cultured-meat-company-1.6794972
- https://labgrownmeat.com/lab-grown-meat-future/#:~:text=In%202024%2C%20lab%2Dgrown%20meat,investors%20are%20making%20wise%20decisions.