Parasyte: The Grey ปรสิตและเอเลียนที่รบกวนให้มนุษย์มารักกัน  

ใน Train to Busan คือสถานการณ์ที่เกิดในพื้นที่จำกัดว่าจะทำอย่างไรหากซอมบี้ขึ้นรถไฟขบวนเดียวกับคุณ, Hellbound อสูรกายร่างยักษ์ที่โผล่มาดูดวิญญาณ ‘คนบาป’ และล่าสุดปรสิตจากนอกโลกฝังตัวในร่างมนุษย์เพื่อหวังควบคุมมนุษยชาติใน Parasyte: The Grey ซีรีส์ที่นั่งแช่อันดับ 1 ใน Netflix นานหลายสัปดาห์

ผู้อยู่เบื้องหลังซอมบี้เกาหลี อสูรจากนรก และเอเลียนปรสิตคือ ยอนซังโฮ ผู้กำกับและนักเขียนบทผู้หลงใหลในความ ‘ความกลัว’

Train to Busan: คนที่ถูกมองข้าม

ผลงานที่จุดกระแสซอมบี้เกาหลีให้ดังไปทั่วโลก จนตามมาด้วย K-Zombie ระบาดทั้งแบบย้อนยุคในซีรีส์ Kingdom (2019-2020) ซอมบี้ในรั้วโรงเรียนใน All Of Us Are Dead (2022) ไปจนถึงซอมบี้ในครัวเรือนอย่าง Sweet Home (2020, 2023)

ต้นตอของ Train to Busan มาจากหนังอนิเมชันเรื่อง Seoul Station ที่ฉายภาพซอมบี้ครองกรุงโซล จุดประกายให้ผู้กำกับยอนสงสัยว่า แล้วหากซอมบี้ตนหนึ่งเกิดโดดไปขึ้นรถไฟจากโซลมุ่งหน้าไปยังเมืองปูซานล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น?

Photo: Netflix

‘ซอมบี้’ ในหนังทั้งสองเรื่องนี้ แท้จริงแล้วคือภาพตัวแทนของ ‘คนไร้บ้าน’ ที่ใช้สถานีรถไฟเป็นดั่งที่พักพิง พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่คลาคล่ำด้วยผู้คน หากก็แปลกที่กลับไม่มีใครมองเห็นพวกเขา หรือจงใจมองข้ามพวกเขาไป ราวกับไม่รับรู้การดำรงอยู่ของคนไร้บ้านเหล่านี้ ดังนั้น ผู้กำกับยอนจึงเล่นกับการมองข้ามอย่างเจตนานี้ด้วยการจับเอาคนไร้บ้านที่มีหน้าเหลือแค่ซีกเดียวเดินเตร่ไปมาในสถานีรถไฟ ใครจะสังเกตเห็นไหมว่าเขาผู้นี้มีอะไรผิดแผกไป?

Photo: Netflix

อันที่จริง ผู้กำกับยอนใช้ซอมบี้เป็นเพียงเครื่องมือทดลองจิตใจคนธรรมดาทั่วไปว่าจะมีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อต้องเผชิญหน้ากับ ‘ทางเลือก’ เช่น คนที่เลือกจะไม่ช่วยเหลือคนอื่นเพราะอยากช่วยครอบครัวและพวกพ้องตัวเอง หรือคนที่ไม่ช่วยใครเลยเพราะกลัวตาย จะมองว่าคนแบบนี้ดีหรือเลว?  

ซอมบี้ของผู้กำกับยอนจึงเป็นตัวกระตุ้นให้คนมองกลับเข้าไปในใจตนเอง เพื่อจะมองออกไปเห็นคนรอบข้างให้มากขึ้น

Hellbound: ความกลัวที่มนุษย์ไม่กล้าตีความ

นรกไม่ได้อยู่ในมิติหลังความตาย แต่มันปรากฏขึ้นต่อหน้าต่อตาเราได้แม้ในขณะซื้อกาแฟ หรือดูทีวีอยู่ในบ้าน เมื่ออสูรกายไซซ์คิงคองโผล่มาไหนไม่รู้มาดูดวิญญาณทำลายร่างของ ‘ผู้โดนลงทัณฑ์’ ให้หายวับไปในเสี้ยววินาที        

ตอนอายุ 20 ผู้กำกับยอนฝันว่าตัวเองโดนตัวอะไรไม่รู้วิ่งไล่ล่า เขานำความกลัวจับใจต่อสิ่งที่ไม่อาจอธิบายได้นั้นถ่ายทอดมาเป็นอนิเมชันสั้นเรื่อง The Hell ที่ต่อยอดมาเป็นซีรีส์ Hellbound

Photo: Netflix

โลกที่เรารับรู้และอาศัยอยู่นี้ เป็นโลกที่มนุษย์เชื่อกันว่าเต็มไปด้วยตรรกะและเหตุผล ทว่าโลกใน Hellbound นั้นหมุนได้ด้วยเหตุผลอีกชุดหนึ่ง ซึ่งเป็นชุดเหตุผลของความเถื่อน ความเป็นเหตุเป็นผลกับความดิบเถื่อนนั้นย้อนแย้งกันราวกับเป็นโลกคู่ขนาน หากก็ไม่ต่างกันเลยที่ความเชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติกับมนุษย์ผู้เต็มไปด้วยตรรกะดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างที่เป็นมา

ผู้กำกับยอนสร้างแก๊งอสูรคิงคองให้เป็นสัญลักษณ์ของสิ่งเหนือธรรมชาติที่ทำก่อให้เกิดความกลัวที่ไม่อาจอธิบายได้ และเป็นตัวบดขยี้ให้มนุษย์รู้สึกว่าตนช่างเล็กจ้อยราวกับฝุ่นลงในจักรวาลอันไพศาล หรือเป็นแนว Cosmic Horror/Lovecraft Horror

แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง มนุษย์ผู้เปราะบางกลับแข็งแกร่งอย่างเหลือเชื่อเมื่อมีสิ่งที่รักให้ปกป้อง และนั่นคือพลังตามธรรมชาติของมนุษย์

Parasyte: The Grey: ยิ่งรู้จัก – ยิ่งไม่รู้จัก   

ซูนี แคชเชียร์สาวในซูเปอร์มาร์เก็ตถูกลูกค้าทำร้ายบาดเจ็บเจียนตาย แต่เมื่อตำรวจไปถึงสถานที่เกิดเหตุ นอกจากเธอจะรอดตายแล้ว บาดแผลสดๆกลับกลายเป็นรอยแผลที่เกิดเมื่อนานแสนนานมาแล้ว และคนร้ายที่ทั้งแข็งแรงและมีอาวุธกลับตายเพราะรอยฟันผ่าร่างอย่างเฉียบคม หรือว่าในที่เกิดเหตุ ไม่ได้มีแค่ซูนีกับคนร้าย แต่มี ‘คนอื่น’

Photo: Netflix

ผู้กำกับยอนดัดแปลงมังงะญี่ปุ่นเรื่องโปรด Parasyte โดยจินตนาการถึงเรื่องราวที่ต่างไปจากต้นฉบับว่า ถ้าเหตุการณ์ ‘ปรสิตจากนอกโลก’ มาเป็นกาฝากในร่างมนุษย์เพื่อหวังจะครอบงำมนุษยชาติเกิดขึ้นที่เกาหลี เรื่องราวจะเป็นเช่นไร

นอกจากเอเลียนปรสิตที่มีหัวบานแฉ่งเหมือนดอกไม้ไว้งาบกินคนแล้ว สิ่งมีชีวิตจากต่างดาวมีปัญญาเหนือกว่ามนุษย์มาก ทั้งยังมีตรรกะเป็นเลิศ ช่างคิดวิเคราะห์ ทว่าต้องแปลกใจกับความอ่อนแออย่างเหลือเชื่อของมนุษย์อันเกิดจากอารมณ์ความรู้สึกต่างๆที่ทำให้มนุษย์ละวางตรรกะและเป็นสิ่งมีชีวิตที่ทำตามอารมณ์ พวกมนุษย์ทรยศหักหลังกันเอง โลภโมโทสัน ริษยา โกรธเกรี้ยว มีอารมณ์ขัน ห่วงใย ใส่ใจ และรัก

Photo: Netflix

ปรสิตเอเลียนสามารถเลียนแบบพฤติกรรมมนุษย์ด้วยการรวมตัวกันในรูปแบบนิกายศาสนาได้ ซึ่งความสามารถในการรวมกลุ่มกันนี้เองที่ทำให้มนุษย์โฮโมเซเปียนส์ครองโลก เปรียบได้กับมดที่หากแยกตัวอยู่ลำพังก็เป็นสิ่งมีชีวิตเล็กๆที่อ่อนแอ แต่เมื่อมดรวมพลังกัน มันสามารถสร้างอาณาจักรอันสลับซับซ้อนยิ่งใหญ่ใต้พิภพขึ้นได้

แม้ปรสิตเอเลียนจะฉลาดมากตรรกะ แต่พวกมันก็ไร้ซึ่งความสลับซับซ้อนทางอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งสิ่งนี้เองที่บางครั้งทำให้มนุษย์ทรงพลัง และบางคราวกร่อนทำลายตัวมนุษย์เสียเอง

Parasyte: The Grey ให้คนดูได้มองความเป็นมนุษย์ผ่านการเลียนแบบพฤติกรรมมนุษย์ของปรสิตเอเลียนอีกที ขณะเดียวกันก็ใช้ปรสิตนอกโลกเป็นตัวแทน ‘สิ่งแปลกปลอม’ หรือ ‘ความรู้สึกแปลกแยก’ ที่เกิดขึ้นกับตัวเราเอง มันน่ากลัวมิใช่หรือที่เรากลายเป็นคนที่ตัวเราเองไม่รู้จัก เรากลืนกลายไปเป็นคนที่เราคิดว่าเราเป็น แต่จริงๆแล้วเราไม่ได้เป็น ศัตรูและมิตรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือตัวเรา

Photo: Netflix

ยอนซังโฮสร้างสัญชาตญาณความกลัวของมนุษย์ให้มีรูปโฉมแตกต่างกันไป มันอาจมีใบหน้าเหมือนซอมบี้ตายซาก เหมือนอสูรหน้าเหมือนคิงคองยักษ์ หรือมีใบหน้าเหมือนคนธรรมดาที่เดินสวนกันในชีวิตประจำวัน แต่เมื่อถึงทีเผลอ อาจมีเอเลียนหัวดอกไม้กินคนโผล่ออกมาจากใบหน้าของเราหรือเขาก็เป็นได้

Hellbound 2 มีกำหนดฉายปลายปี 2024

Parasyte: The Grey 2 ผู้กำกับยอนซังโฮกล่าวว่าคิดพลอตเรื่องไว้หมดแล้ว แต่ทาง Netflix ยังไม่ตกลงใจว่าจะให้มีซีซั่นต่อไปหรือไม่

 

Words: Sritala Supapong

ข้อมูลจาก

you might like

Scroll to Top