เมื่อตกปากไปเล่นเกมที่ล่อใจด้วยเงินรางวัลจำนวนที่จะเปลี่ยนชีวิตไปตลอดกาล เพียงเพื่อจะพบว่ามันคือเกมง่ายๆที่เราเคยชนะในวัยเด็ก แต่มาวันนี้ เราเล่นยังไงก็แพ้
Squid Game ซีรีส์ขนาด 9 ตอนที่โด่งดังไปทั่วโลก (ถึงขนาดที่ผู้ให้บริการบอร์ดแบนด์ในเกาหลีใต้ยื่นฟ้อง Netflix Korea โทษฐานที่คนดูเยอะเกินจนระบบปั่นป่วน) ทำให้คนดูย้อนทบทวนเกมชีวิตที่เจอด่านแล้วด่านเล่าดาหน้ากันเข้ามา ว่าเพราะอะไรเราถึงแพ้พ่ายหรือรอดตายได้อย่างหวุดหวิด
ผู้ตอบรับเข้าร่วม Squid Game ทั้ง 456 คนล้วนแต่ถูกคัดสรรคุณสมบัติมาอย่างถี่ถ้วน มีตั้งแต่โชเฟอร์ที่แทงม้าจนเป็นหนี้ท่วมหัว บัณฑิตจาก Seoul National University-SNU (มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติสูงสุดของเกาหลีที่ลูกบ้านไหนสอบเข้าได้ คนทั้งจังหวัดจะดีใจไปด้วย) ที่ใช้ความฉลาดยักยอกเงินบริษัทไปลงทุนแล้วเจ๊ง เด็กสาวบ้านแตกจากเกาหลีเหนือ หนุ่มเอเชียใต้ที่มาค้าแรงงานในเกาหลีใต้ นักเลงทวงหนี้ สาวใหญ่นักต้มตุ๋น ไปจนถึงหมอเจ้าของโรงพยาบาลที่บริหารโรงพยาบาลเจ๊ง ฯลฯ พูดง่ายๆว่าใครชีวิตเจ๊ง ให้มากองกันที่ Squid Game
ทั้ง 456 คนต้องเล่นเกมต่างๆเพื่อคัดคนออกและกรองคนที่จะได้ไปต่อ ซึ่งทางผู้จัด Squid Game ตั้งใจเลือกมาแต่เกมขวัญใจวัยเด็กของคนรุ่น Baby boomer และ Gen X อาทิ เกมเอ อี ไอ โอ ยู, ชักเย่อ, ตั้งเต หรือเกมลูกแก้ว อย่างเกมที่หนึ่ง เอ อี ไอ โอ ยู ที่ตอนแรกผู้เล่นรู้ว่าต้องเล่นเกมนี้ก็เหวอกันไป ระหว่างที่หุ่นยนต์เด็กผู้หญิงหันหลังพูดว่า ‘เอ อี ไอ โอ ยู’ แล้วฉันก็ต้องวิ่งไปแตะหุ่นก่อนที่มันจะพูดว่า ‘หยุด’ เนี่ยนะ ง่ายเว่อร์ จะรออะไร ก็วิ่งสิ!
หรือเกมที่ให้ทุกคนเลือกรูปที่ชอบซึ่งมีให้เลือก 4 แบบ ได้แก่ ดาว สามเหลี่ยม ร่มและวงกลม ใครเลือกรูปไหนก็จะได้รับแจกขนมน้ำตาลทัลโกนาแผ่นกลมแบนที่กดพิมพ์รูปนั้นๆ จากนั้นใช้เข็ม (หรือจะไม่ใช้ก็ได้) ที่แนบมาให้สกัดแผ่นน้ำตาลออกจนเหลือแต่รูปที่เลือกภายในเวลาที่กำหนด ใครเลือกรูปสามเหลี่ยมก็จะไปได้สวย ใครเลือกรูปร่มก็จะบรมซวยสุดๆ ใครทำแผ่นน้ำตาลหักหรือแกะไม่ทันก็จะไม่ผ่านด่าน
แต่คำว่า ‘ไม่ผ่านด่าน’ ในที่นี้ ผู้เล่นไม่ได้แค่เก็บของกลับบ้าน แต่โดนยิงตายกลับบ้านเก่า ณ ตรงจุดที่เล่นเกมแพ้นั่นแหละ
เกมง่ายๆเด็กๆเหล่านี้เองที่ทำให้คนดูส่วนหนึ่งเฉยๆหรือไม่ชอบ Squid Game ยิ่งถ้าใครเคยดู Alice in Borderland, Liar Game หรือซีรีส์แนวเกมแข่งขันประชันจิตของญี่ปุ่นจะยิ่งเปรียบเทียบได้ชัดเจนว่า เกมของญี่ปุ่นยากกว่า ระทึกกว่า มีชั้นเชิงกว่า หลอนกว่า
แต่ความง่ายของเกมใน Squid Game ชวนให้น่าชอกช้ำใจยิ่งกว่า ผู้เล่นทั้ง 456 คน (และอนุมานคนดูบางคนด้วย) รู้อยู่ว่ากฎของแต่ละเกมต้องเล่นอย่างไร ตัวละครโจซังอู – พ่อหนุ่ม SNU พูดเองด้วยซ้ำว่ามันเป็นเกมเด็กๆ ฉะนั้นมันจึงต้องง่าย ไม่ซับซ้อน แต่ต่อให้ง่ายปานนั้น บางคนก็ยังแพ้อยู่ดี มันจึงเป็นภาวะที่น่าตระหนกเมื่อพบว่าสิ่งเล็กๆง่ายๆที่เราเคยทำได้ มาวันนี้เราทำมันไม่ได้อีกแล้ว
ในเมื่อเป็นเกมที่เล่นแล้วชีวิตปลิดปลิวง่ายดายเช่นนี้แล้ว แต่ทำไมทุกคนยังสมัครใจจะเล่นต่อได้ลงคอต่อไป เพราะผู้เล่นทั้งหมดรู้ซึ้งดีว่าสิ่งที่น่ากลัวกว่าความตายคือการมีชีวิตอยู่อย่างทุกข์ทรมาน ซึ่งทำให้ตายอย่างช้าๆ แต่ความเมตตากว่านั้นคือความตายอันรวดเร็วฉับไว อันเป็นความตายแบบยิงโป้งเดียวดับในสนามเด็กเล่นของ Squid Game
และในเมื่อทุกเกมล้วนมีกฎกติกาง่ายๆ แต่คนที่แพ้ แพ้เพราะอะไร
ดวง โชค ฟ้าลิขิต กรรมเก่า จังหวะ สติปัญญา ความสามารถ ฯลฯ
หรือว่าแพ้เพราะไปเล่นเกมที่ถูกออกแบบมาให้เล่นยังไงก็แพ้ เป็นความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับและดับสูญอย่างรวดเร็ว (แต่ละเกมกินเวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น) ต่อให้เป็นหมอ เป็นคนที่เรียนจบสถาบันอันดับหนึ่งของประเทศ เป็นนักเลง แม่บ้าน หนุ่มโรงงาน คนตกงาน ชนชั้นกลาง ชนชั้นแรงงาน ฯลฯ ผู้เล่นจากทุกอาชีพและทุกกำพืด ล้วนพบพานกับความแพ้พ่ายอย่างเท่าเทียมกัน
โครงสร้างของเกมถูกออกแบบมาให้เอื้อต่อความพ่ายแพ้อย่างไร เช่น ความจงใจของผู้จัดที่ให้อาหารผู้เล่นน้อยนิด ขนมปัง 1 ก้อน นม 1 กล่อง ทั้งวันได้กินแค่นี้ เพื่อให้หิว พอหิวแล้วก็จะหน้ามืด แว้งกัดกันง่าย หรือความจงใจออกแบบกติกาสั้นๆ เปิดทางให้ผู้เล่นใช้จินตนาการได้ตามใจ จะโกง โกหก ทำร้ายร่างกาย แม้กระทั่งดอดไปฆ่าผู้เล่นคนอื่นๆตอนนอนก็ยังได้ ทีนี้ก็ไม่เป็นอันหลับอันนอนกัน ทุกคนจึงแบกกายหยาบที่อ่อนล้าและหิวโหยไปเล่นเกมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ก็เพื่อให้ได้ชัยชนะโดยไม่สนวิธีการใดๆทั้งสิ้น
และความจงใจโชว์เจ้าหมูออมสินใสแจ๋วห้อยไว้กลางโรงนอน ให้ผู้เล่นแหงนมองเงินรางวัลที่จะเพิ่มขึ้น 100 ล้านวอนต่อความตายของผู้เล่น 1 คน ทำให้ผู้ชนะคนสุดท้ายจะได้เงินรางวัลถึง 45.6 พันล้านวอน หรือเกือบๆ 1,300 ล้านบาทเลยทีเดียว
นอกจากสถานการณ์จะบีบคั้นให้ผู้เล่นฆ่ากันเองบ้าง โกงบ้าง แต่พวกเขาเล่นทุกเกมอย่างสุดพลังจริงๆ เป็นผลจากกระบวนการคัดสรรผู้เล่นที่ล้วนเป็นคนจำพวก ‘คนที่ไม่มีอะไรจะเสีย’ ซึ่งทำให้ทุกคนเล่นเกมแบบไม่มีกั๊ก ไม่มีออมแรงไว้ก๊อกสอง เพราะพลาดครั้งเดียวอาจตายได้เลย
ความกระเสือกกระสนราวกับเกมที่เคยมอบความทรงจำแสนหวานให้ในวัยเยาว์คือความหวังเฮือกสุดท้ายของชีวิต ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นตัวสะกดผู้ชม – ทั้งคนออกแบบเกม ผู้ชมวีไอพีและคุณๆเหล่าผู้ชมทางบ้าน ให้จดจ่อเฝ้ามองความพ่ายแพ้ที่ถูกพิพากษาไว้แล้วให้เกิดขึ้นและเป็นเช่นนั้นครั้งแล้วครั้งเล่า (Squid Game จัดต่อเนื่องกันมาหลายทศวรรษแล้ว) ว่าเป็นเพียงความบันเทิงอย่างหนึ่ง
มิใช่หรือ?
ซองกีฮุน ชายวัย 47 ที่ทั้งจิ๊กเงินแม่แก่ๆ ขายเบี้ยประกันเอาเงินไปแทงม้า หลังจากได้เป็นผู้ชนะได้เงินรางวัล 45.6 พันล้านวอน ทว่าสภาพเขากลับดูแย่ยิ่งกว่าจุดต่ำสุดในชีวิตนอกเกมเสียอีก มันคือคำยืนยันว่า เกมนี้เล่นยังไงก็แพ้ ด้วยเกมที่ถูกออกแบบมาให้ผู้เล่นสูญเสียสิ้นแม้จะคิดว่าตัวเองไม่มีอะไรจะเสียแล้วก็ตาม ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่เปรียบดังฟางเส้นสุดท้ายที่ยึดโยงเขาไว้กับความเป็นมนุษย์ แต่สุดท้ายกีฮุนก็สูญเสียสิ่งนั้นไปในเกมสุดท้าย เหลือไว้เพียงภาวะ PTSD ที่เขายังคงช็อกกับสิ่งที่ตัวเองทำและถูกกระทำในเกม กระหน่ำซ้ำด้วยความรู้สึกผิดมหาศาลยิ่งกว่าเงินรางวัลก้อนโตที่เขาใช้ไปแค่ 10,000 วอน…
ตอนจบของ Squid Game เปิดทางให้ทำซีซั่น 2 ได้สบายและความฮิตระดับที่มันขึ้นอันดับ 1 ใน 90 ประเทศทั่วโลกจนกลายเป็นคอนเทนต์ที่มีผู้ชมสูงสุดตลอดกาลของ Netflix ก็รับรองได้ว่าซีซั่น 2 มาแน่นอน
กีฮุนได้นามบัตรจาก Squid Game อีกเป็นคำรบสอง แทนที่เขาจะก้าวขึ้นเครื่องบินไปหาลูกสาวและเริ่มผลาญเงินรางวัลนั่นเสียที แต่กีฮุนได้ค้นพบในวินาทีนั้นว่า เขาไม่ได้สูญสิ้นไปเสียทั้งหมด เขายังเหลือคุณสมบัติอีกข้อหนึ่งของความเป็นมนุษย์ นั่นคือการตั้งคำถาม
ซองกีฮุน ผู้เล่นหมายเลข 456 และผู้ชนะประจำปี 2021 กลับคืนสู่สนามเด็กเล่นสยองของ Squid Game อีกครั้ง ด้วย mindset ใหม่ที่จะไม่ยอมเป็นแค่หมากที่ถูกชักลากในเกมอีกต่อไป แต่หมากตัวเล็กๆนี้จะล้มและรื้อกระดาน
#Squidgame #Netflix #วิจารณ์ซีรีส์ #วิจารณ์หนัง