หลายประเทศในเอเชียกำลังดำเนินการเพื่อเปิดการเดินทางท่องเที่ยวอีกครั้งหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ภายใต้โครงการ Travel Bubbles ระหว่างประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ เพื่อเร่งฟื้นฟูรายได้จากภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศในภูมิภาคนี้
จากรายงานล่าสุด Tourism Destination Market Insight- ASEAN (2021)’ ของ GlobalData คาดการณ์ว่าการเดินทางภายในประเทศอาเซียนจะมีอัตราการเติบโตประมาณ 5% ต่อปี จนถึงปี 2024 หรือมีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงถึง 56.6 ล้านคน เพิ่มจากปี 2019 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยว 44.3 ล้านคน ซึ่งการเดินทางท่องเที่ยวภายในภูมิภาคนี้อาจเป็นกุญแจสำคัญในการฟื้นตัวของภูมิภาค จากผลกระทบของโควิด-19
“การระบาดของโควิด – 19 ที่เกิดขึ้นทำให้การเดินทางภายในภูมิภาคลดลง 36.9% ในปี 2020 เหลือเพียง 27.9 ล้านคน” รายงานระบุ
ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา รัฐบาลประเทศสิงคโปร์ เริ่มโครงการ Travel Bubblesกับประเทศเยอรมนีและบรูไน โดยอนุญาตให้มีการเดินทางเป็นพิเศษสำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนครบถ้วน ในการเดินทางเพื่อการพักผ่อน ธุรกิจ หรือครอบครัว โดยนักท่องเที่ยวสามารถเข้าประเทศสิงคโปร์ได้โดยไม่ต้องกักตัวที่บ้าน
ทั้งนี้ รัฐบาลสิงคโปร์มีข้อกำหนดว่าผู้เดินทางยังคงต้องผ่านการทดสอบ RT-PCR โควิด-19 ก่อนออกเดินทางมาสิงคโปร์ 48 ชั่วโมง และจะต้องได้รับการทดสอบเมื่อเดินทางมาถึงสนามบิน และมีการทดสอบอีกครั้งในวันที่สาม และเจ็ดที่คลินิกที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนด
อิสมาอิล ซาบรี ยาค็อบ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวในการประชุมสุดยอดธุรกิจและการลงทุนจีน – อาเซียน ว่า โครงการ Travel Bubblesระหว่าง 10 ประเทศอาเซียนและจีน จะช่วยให้ธุรกิจและการท่องเที่ยวฟื้นตัวจากผลกระทบของการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัส โดยเฉพาะการเปิดให้นักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนครบแล้วได้เดินทางอีกครั้ง
มาเลเซีย กำลังวางแผนที่จะเปิดเกาะรีสอร์ทอีกครั้ง สำหรับนักท่องเที่ยวในประเทศในเดือนตุลาคมนี้ และหวังว่าจะเปิดประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ในปี 2565
“แผนดังกล่าวไม่เพียงแต่จะช่วยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังช่วยธุรกิจต่าง ๆ ในการรักษาและขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทานสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังเศรษฐกิจของเรา” อิสมาอิล ซาบรีกล่าว
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ได้เรียกร้องให้จีนร่วมมือออกใบรับรองวัคซีนสำหรับผู้ได้รับวัคซีนครบสองเข็มเพื่อเปิดให้มีการเดินทางท่องเที่ยวอีกครั้ง ปัจจุบันอาเซียนได้แซงหน้าสหภาพยุโรป และกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนไปแล้ว ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาเซียน – จีนให้เติบโตมากยิ่งขึ้น
สำหรับประเทศไทย ในเดือนตุลาคมนี้ รัฐบาลได้วางแผนเปิดเมืองเพิ่มขึ้น โดยจะใช้โมเดลภูเก็ต แซนด์บอกซ์ เพื่อการเปิดเมืองอย่างปลอดภัย ซึ่งโครงการภูเก็ต แซนด์บอกซ์ ที่เริ่มดำเนินการเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวจำนวน 26,000 คนที่ได้รับวัคซีนครบเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว และสร้างรายได้กว่า 1,600 ล้านบาท มีนักท่องเที่ยวจำนวนน้อยกว่า 1% ที่ติดเชื้อ และไทยยังไม่ได้เริ่มโครงการ Travel Bubbles กับประเทศใดเป็นพิเศษ
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความพยายามผลักดันโครงการ Travel Bubbles ในหลายประเทศ แต่ความท้าทายอยู่ที่การกลายพันธุ์ของไวรัสที่ยังคงมีความไม่แน่นอน แม้ล่าสุดผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนจะออกมาบอกว่าสถานการณ์ของโควิด – 19 จะไม่รุนแรงไปกว่านี้ และจะกลายเป็นโรคประจำฤดูกาลในที่สุด แต่เราก็ยังไม่สามารถประมาทได้
คนวงในรัฐบาลจีน กล่าวว่า จีนจะยังไม่มีแผนเปิดการเดินทางท่องเที่ยวจนกว่าจะถึงไตรมาสสองของปี 2565 ขณะที่ บิล บาร์เน็ตต์ ที่ปรึกษาด้านการบริการการท่องเที่ยวและอสังหาริมทรัพย์ในภูเก็ตของประเทศไทย กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ ทั้งสิงคโปร์และฮ่องกงได้ประกาศโครงการ Travel Bubbles ถึง 4 ครั้ง แต่ก็ยกเลิกไปในที่สุด
ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือการฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งในการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ได้มีการกำหนดกรอบการฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ Reopening Recovery และ Resilience แต่ละเฟสจะมีข้อกำหนดด้านการเดินทาง ตัวชี้วัดด้านสุขภาพ การตอบสนองทางเศรษฐกิจ และแผนการฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวในระยะยาว ซึ่งแต่ละประเทศยังต้องพิจารณาถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นของแต่ละประเทศเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อย้ำความมั่นใจว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง โดยแต่ละเฟสมีกรอบการทำงาน ดังนี้
Reopening: การเปิดเมืองอย่างปลอดภัย ลดความเสี่ยงต่อการกลับมาติดเชื้อให้น้อยที่สุด การท่องเที่ยวที่มีความเสี่ยงต่ำ ต้องเข้มงวดเรื่องมาตรฐานสุขภาพและความปลอดภัย ควบคุมการติดเชื้อได้ และมีจำนวนผู้ที่ยังไม่ฉีดวัคซีนน้อยมาก
Recovery: ช่วงฟื้นฟูจะเริ่มต้นหลังจาก WHO ประกาศสิ้นสุดการระบาดของโควิด – 19 ประชากรส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนครบถ้วน แต่ละประเทศยกเลิกข้อจำกัดในการเดินทาง และรายได้จากการท่องเที่ยวกลับมาเทียบเท่ากับช่วงก่อนโควิด
Resilience: อาเซียนต้องร่วมมือและวางวิสัยทัศน์เพื่อผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เติบโตอย่างยั่งยืน มีความแข็งแกร่ง พร้อมเตรียมพร้อมและสนองตอบต่อความท้าทายใหม่ ๆ ในอนาคต
โลกหลังโควิดคงไม่สามารถกลับไปเหมือนเดิมได้อีกแล้ว แม้หลายคนจะโหยหาการเดินทางท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เราก็ต้องปรับตัวเพื่อเข้าสู่การท่องเที่ยววิถีใหม่ เป็นการท่องเที่ยวที่จะสร้างคุณค่าให้กับชีวิต การดูแลแหล่งท่องเที่ยวให้ยังคงความงดงาม การอยู่กับธรรมชาติแบบพึ่งพาอาศัย และไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน จะช่วยทำให้การท่องเที่ยวเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต