การสอบเข้ามหาวิทยาลัย เป็นอีกก้าวสำคัญของจุดเริ่มต้นในการเลือกเส้นทางอาชีพของตนเอง และจากกระแสข่าวการเปลี่ยนแปลงระบบ TCAS65 เป็นอีกความท้าทายของ Dek65 ในการเตรียมตัวและเตรียมความพร้อมเป็นอย่างมาก
ในงานเสวนา “ผ่าทางตันการศึกษาไทย Unlock TCAS65” ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการ “สหพัฒน์แอดมิชชั่น” ครั้งที่ 24 เป็นการเปิดเวทีให้เหล่าบรรดาติวเตอร์สถาบันกวดวิชาชั้นนำได้มาร่วมกันแลกเปลี่ยนความเห็นพร้อมกับช่วยปลดล็อกให้น้อง ๆ Dek65 ได้รู้ทันว่า TCAS65 มีการเปลี่ยนแปลงแค่ไหน มีแนวข้อสอบอย่างไร เพื่อช่วยให้น้อง ๆ ได้เตรียมรับมือได้อย่างถูกทาง
“อ.นพ.วีรวัช เอนกจำนงค์พร” หรือ “ครูพี่วิเวียน” จาก OnDemand กล่าวว่า “ข้อจำกัดของหลักสูตรคณะแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัช มีความชัดเจนว่า หากน้อง ๆ ยืนยันสิทธิ์คณะแพทย์ในรอบ1 และ2 ไปแล้ว จะไม่สามารถไปใช้สิทธิ์ในรอบ3 ของมหาวิทยาลัยรัฐ แต่สามารถข้ามหลักสูตรไปเลือกคณะเภสัชหรือทันตแพทย์ได้ ซึ่งเป็นระบบที่ไม่เอื้อกับการเผื่อเลือกมหาวิทยาลัย และต้องการเอื้อให้กับคนที่ตั้งใจเข้าเรียนจริง ๆ และเลือกเป้าหมายชัดเจนเท่านั้น การเรียนการสอนในทุกมหาวิทยาลัยแพทย์เรียนหลักสูตรเดียวกัน อยากให้น้อง ๆ ไม่ยึดติดกับสถาบัน โดยในส่วนข้อสอบความถนัดแพทย์มีการบีบเวลาให้กระชับ โครงสร้างแนวข้อสอบไม่เคยเปลี่ยนแต่จะมีการเติมไม้ตายใหม่ ๆ เข้าไปทุกปี หากน้อง ๆ แก้จุดไม้ตายได้ก็จะรอด ตัวข้อสอบจะเล่นกับเหตุการณ์ปัจจุบันและประเด็นสังคมค่อนข้างเยอะและสอดแทรกความเป็นแพทย์ในเนื้อความของข้อสอบ โดยข้อสอบจริยธรรมจะมีความยากที่สุดเพราะอิงกับวุฒิภาวะและทัศนคติของมนุษย์ สำคัญคือ มุมมองของผู้ใหญ่กับมุมมองของเด็กไม่เหมือนกัน ดังนั้นขอให้เรียนรู้และทำความเข้าใจให้ดี”
“อ.สุรเชษฐ์ พิชิตพงศ์เผ่า” หรือ “ครูพี่ยู” จาก We by The Brain กล่าวว่า “มี 3 ประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่ ประเด็นการเปลี่ยนมาใช้เกณฑ์ของแต่ละมหาวิทยาลัยแทนการใช้เกณฑ์กลาง ทุกคนต้องรอติดตามข่าวและเตรียมพร้อมอย่างหนักที่สุด เนื่องจากคะแนนสอบจะมีความสำคัญมากขึ้น หากมีการประกาศว่า G-PAT ไม่ได้ใช้เลย ส่วนประเด็นการไม่ใช้คะแนน O-NET มีทั้งข้อดีทำให้น้อง ๆ ลดความกังวลในการเตรียมบททบทวนไป1สนาม จะสอบหรือไม่นั้นอยู่ที่วิจารณญาณของน้อง ๆ แต่มีข้อที่น่าเสียดายในมุมDek65และเด็กซิ่ว จะไม่สามารถพึ่งพาคะแนน O-NET ได้เลย ต้องไปทุ่มเทให้สนามอื่นที่เหลือ นอกจากนี้ในประเด็นการจัดการสิทธิ์เป็นเรื่องใหม่ที่ทุกคนต้องเพิ่มสติในการตัดสินใจ เน้นทำให้ถูกต้อง ครบถ้วนทุกขั้นตอน เพียงเท่านี้น้อง ๆ ก็จะทรงพลังแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ตาม ในส่วนของข้อสอบ GAT เชื่อมโยงของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) หากอนุมานว่ายังคงออกเนื้อหารูปแบบเดิม การปรับแนวคำถามในบางวิชา เน้นที่การคิดและนำไปใช้ ซึ่งข้อสอบ GAT เชื่อมโยงของ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทศ.) ก็เน้นการคิดวิเคราะห์เช่นกัน นับว่าตรงตามแนวทางเดียวกัน การเอาข้อสอบเก่ามาทำยังคงมีประโยชน์ เพียงแต่เราต้องไปดูการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ซึ่งต้องอ่านคำชี้แจงในวันสอบให้ดี ส่วนภาษาไทยแนวคำถามจะเน้นที่การคิดวิเคราะห์และนำไปใช้ แนวคำถามการวัดความรู้ความจำอาจจะปรับตัดออก ดังนั้นอยากให้น้อง ๆ มีความรอบคอบให้มากที่สุด และคอยติดตามข่าวที่จะออกมาในช่วงต้นเดือนธันวาคมปีนี้”
“อ.กรกฤช ศรีวิชัย” หรือ “ครูติ่ง” จาก KRU CLUB กล่าวว่า “ระบบการสอบมีการเปลี่ยนแปลงมาทุกยุคทุกสมัย ถ้าคนที่เตรียมความพร้อมให้กับตนเองตลอดเวลา ไม่ว่าระบบการสอบจะเป็นอย่างไร เชื่อว่าน้อง ๆ จะมีการปรับตัวและสามารถผ่านไปได้ สำหรับวิชาวิทยาศาตร์ แม้ว่าจะมีการเปลี่ยน O-NET มาเป็นวิชาสามัญเท่ากับไม่เปลี่ยน เพราะจุดแข็งของวิชาวิทยาศาสตร์คือ เรามีแบบเรียนของ สสวท.ที่ตายตัวและใช้เหมือนกันทั้งประเทศ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานกระบวนการเรียนรู้ ความรู้ ความเข้าใจ การประยุกต์ใช้ การวิเคราะห์ องค์ความรู้ของวิชาวิทยาศาสตร์คือข้อเท็จจริง ดังนั้น คนที่จำได้ เข้าใจได้ วิเคราะห์ได้ ทำได้ ซึ่งข้อสอบวิชาวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่จะอยู่ในหลักสูตร สิ่งที่นักเรียนมักจะหลงกลตั้งแต่เริ่มแรกคือ จำไม่ได้ตั้งแต่กระบวนการแรก และตามมาด้วยความไม่เข้าใจ ทำให้ประยุกต์ใช้ไม่เป็น”
“อ.สุวคนธ์ อินป้อง” หรือ “ครูเลดี้เก๋เก๋” กล่าวว่า “การปรับยกเลิกเกณฑ์แอดมิชชั่น2 น้อง ๆ อาจจะเตรียมตัวลำบากขึ้นเนื่องจากในแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีเกณฑ์เฉพาะ แต่ระบบใหม่นี้จะดีสำหรับน้อง ๆ ที่มีคณะหรือมหาวิทยาลัยในใจอยู่แล้วทำให้เราได้รู้เกณฑ์อย่างชัดเจน ในส่วนของภาษาอังกฤษอัตราการออกสอบวิชาสามัญจำนวนข้อสอบจะเยอะมากในเวลาที่เท่ากัน วิชาสามัญจะยากกว่าในเรื่องของ Reading ที่มีจำนวนมากกว่า ไม่ว่าจะเป็น GAT หรือ วิชาสามัญ มีหลักการง่าย ๆ หัดทำข้อสอบเยอะ ๆ จะช่วยได้ ดังนั้นอยากให้กำลังใจกับน้อง ๆ ถึงเกณฑ์จะเปลี่ยนแต่ถ้าน้อง ๆ เตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ต้องปัง ๆ ฟาดคะแนนได้แน่นอนค่ะ”
นับเป็นมุมมองและคำแนะนำดี ๆ ในการช่วยปลดล็อกให้กับน้อง ๆ ได้เตรียมพร้อมและรับมือกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยนอกจากการเสวนาดังกล่าวแล้ว ยังมีการเปิดตัว โครงการสหพัฒน์แอดมิชชั่น ครั้งที่ 24 อีกด้วย
“ชัยลดา ตันติเวชกุล” รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงการจัดโครงการสหพัฒน์แอดมิชชั่น ครั้งที่ 24 ว่า “เป็นที่ทราบกันดีว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของประเทศไทย ยังไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าจะคลี่คลายเมื่อใด แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร สหพัฒน์ โดยผลิตภัณฑ์ มาม่า บิสชิน มองต์เฟลอ และริชเชส ยังคงให้ความสำคัญต่อการศึกษาของเยาวชนไทย โดยในปีนี้เราได้จัดโครงการสหพัฒน์แอดมิชชั่น ครั้งที่ 24 เป็นการเปิดโอกาสให้น้อง ๆ ได้เข้าถึงการเตรียมความพร้อมและทบทวนความรู้เข้าสู่มหาวิทยาลัยโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ นับเป็นครั้งที่ 2 ที่เราจัดให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเป็นการติวสดออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ Sahapat Admission มีการติวสดทั้งหมด 6 วันเต็ม โดยติวเตอร์ชั้นนำของประเทศ ครอบคลุม 11 วิชา มีการจำลองบรรยากาศห้องเรียนให้เหมือนจริง น้อง ๆ สามารถโต้ตอบกับติวเตอร์ได้ทาง Live Chat นอกจากนี้ยังมีการแนะแนวเพิ่มความเข้าใจระบบสอบ TCAS65 และเพิ่มเติมให้เข้มข้นขึ้นปีนี้จะมีการจำลองทดสอบออนไลน์ฟรีและรู้คะแนนทันทีหลังการสอบ พร้อมดูคลิปเฉลยจากติวเตอร์ จึงขอเชิญชวนน้อง ๆ เข้ามาสมัครติวสดออนไลน์ เพื่อให้น้อง ๆ ได้ทบทวนและทดสอบความรู้หลังจากที่ได้เรียนไปแล้ว”
โครงการ “สหพัฒน์แอดมิชชั่น” ครั้งที่ 24 ติวสดออนไลน์จัดเต็ม 6 วัน ในรูปแบบ “Live Streaming Class” บนเว็บไซต์ Sahapat Admission ด้วยระบบทันสมัยเหมือนติวอยู่ในห้องเรียนจริง มีติวเตอร์ชื่อดังระดับประเทศมาถ่ายทอดความรู้ วิชาสามัญ GAT และ PAT พร้อมแนะแนวระบบสอบ TCAS65 รูปแบบใหม่ เพิ่มเติมด้วยการจำลองทดสอบออนไลน์ฟรีและรู้คะแนนทันทีหลังการสอบ พร้อมใบรายงานผลการสอบ โดยน้อง ๆ นักเรียนที่สนใจสมัครได้ที่ www.sahapatadmission.com และสอบถามเพิ่มเติมได้ทาง FB : Sahapat Admission https://www.facebook.com/SahapatAdmission หรือ โทร. 061-163-3449, 061-851-8646
#unlockTCAS65 #Tcas65 #Dek65 #SahapatAdmission #ติวฟรีสหพัฒน์ #SahapatAdmissionUnlock