สำรวจพบพฤติกรรมรักสิ่งแวดล้อมเพิ่มสูงช่วงโควิดระบาด ชี้แนวโน้มการลงทุนควรหันมาอิงเรื่อง eco conscious

ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ผู้บริโภคได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหลายด้าน นักธุรกิจต่างสงสัยว่าพฤติกรรมเหล่านั้น ถูกเร่งให้เกิดขึ้นโดยสถานการณ์ของโรคระบาด จะยังคงอยู่ต่อไป หรือจะหายไปเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง

ผลสำรวจ Global Consumer Insights Pulse Survey ของ PwC ประจำเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งได้ทำการสำรวจผู้บริโภคจำนวน 8,681 คนใน 22 ประเทศและอาณาเขต รวมทั้งประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างน่าทึ่งของผู้บริโภค โดย 56% ให้ความสำคัญกับเรื่องราคาเป็นหลัก แต่อีก 50% ให้ความสำคัญกับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขณะที่ผู้บริโภคชาวไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ถึง 76%

ช่วงระยะเวลาเพียง 6 เดือน จากการสำรวจครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2564 พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก พวกเขาก้าวเข้าสู่ดิจิทัลมากขึ้น และให้ความสำคัญกับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องราคา สุขภาพ ข้อมูลและผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคทั่วโลกที่น่าสนใจ  ได้แก่ 50% ให้ความสำคัญกับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 56% ให้ความสำคัญกับเรื่องราคา 54% บอกว่าจะเก็บออมมากขึ้น 36% ยังมีมุมมองเชิงบวกในด้านเศรษฐกิจ และ 46% ให้ความสำคัญกับเรื่องข้อมูล

คนไทยใส่ใจสิ่งแวดล้อมสูง

สำหรับการให้ความสำคัญกับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตะวันออกกลางให้ความสำคัญกับแนวทางนี้สูงกว่าภูมิภาคอื่น ซึ่งในประเทศไทย พบว่า ผู้บริโภคชาวไทยต้องการซื้อสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือใช้บรรจุภัณฑ์น้อยที่สุด 76% (เปรียบเทียบกับการสำรวจในเดือนมีนาคมที่ 74%) ขณะที่ 78% เลือกซื้อเฉพาะผลิตภัณฑ์จากบริษัทที่มีจิตสำนึกและสนับสนุนการปกป้องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น (เปรียบเทียบกับเดือนมีนาคมที่ 77%)

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า 79% ของผู้บริโภคไทยยังต้องการเลือกซื้อสินค้าที่ระบุแหล่งที่มาอย่างชัดเจนและสามารถตรวจสอบหาต้นกำเนิดได้ (เปรียบเทียบกับเดือนมีนาคมที่ 77%)

“วันนี้เทรนด์ผู้บริโภคเปลี่ยนไปสู่อะไรที่ eco-conscious มากขึ้น คนยอมที่จะจ่ายมากขึ้น หากสินค้าและบริการที่ได้รับกลับมาจะมีคุณภาพ และช่วยลดการสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมให้กับสังคมได้บ้าง ไม่เหมือนกับอดีตที่ราคาเป็นปัจจัยอันดับแรกในการเลือกซื้อ” ชาญชัย ชัยประสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทยกล่าวถึงผลสำรวจผู้บริโภคชาวไทย

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคชาวไทยหันมาใส่ใจกับแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนที่คำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, Governance: ESG) มากกว่าเดิม โดยผู้บริโภคต้องการแสดงความรับผิดชอบในการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมในฐานะพลเมืองที่ดีผ่านการสนับสนุนองค์กรและหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง

“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งกระตุ้นให้คนไทยหันมาให้ความสำคัญกับสินค้าและบริการที่บริโภคมากกว่าเดิม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะผลักดันให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการต้องผนวกแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนเข้ากับกลยุทธ์ขององค์กร เพื่อตอบรับกับเทรนด์รักษ์สิ่งแวดล้อมที่จะยิ่งมีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคมากขึ้น” ชาญชัย กล่าวเพิ่มเติม

แนวโน้มการลงทุนเปลี่ยน

นอกเหนือจากผู้บริโภคที่หันมาให้ความสนใจกับสินค้าและบริการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นแล้ว ปัจจุบันการลงทุนอย่างยั่งยืนมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง จาก รายงานข่าวอ้างอิงข้อมูลของ Morningstar ระบุว่า ในปี 2563 นักลงทุนในสหรัฐอเมริกาได้ลงทุนในกองทุน ESG มีมูลค่าสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 5.1 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือเติบโตกว่าเท่าตัวเปรียบเทียบกับปี 2562

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังมีส่วนกระตุ้นให้หลายผู้นำประเทศและบริษัทชั้นนำทั่วโลกออกมาแสดงจุดยืนเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ถึงเวลาแล้วที่บริษัทไทยควรหันมาศึกษาและผนวกประเด็นด้าน ESG เข้ากับกลยุทธ์ทางธุรกิจ รวมทั้งจัดทำรายงานความยั่งยืนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค นักลงทุน และสังคมส่วนรวม

สำหรับในประเทศไทย การลงทุนอย่างยั่งยืนกำลังได้รับความสนใจจากผู้ลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ลงทุนสถาบันและผู้จัดการกองทุนที่นำผลการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) มาใช้เป็นองค์ประกอบในการพิจารณาคัดเลือกหลักทรัพย์ในการลงทุนมากขึ้น 

ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ชี้ว่า มูลค่าตามราคาตลาดของหุ้นกลุ่มดัชนีความยั่งยืน (SETTHSI Index) ณ สิ้นเดือนพฤษภาคมปีนี้อยู่ที่ 11.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 ที่ 9.8 ล้านล้านบาท เปรียบเทียบกับมูลค่าตามราคาตลาดรวมของ SET ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2564 อยู่ที่ 18.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 ที่ 16.1 ล้านล้านบาท

“ต้องยอมรับว่า บริษัทไทยยังไม่ตื่นตัวกับการนำแนวคิด ESG มาใช้ในการดำเนินธุรกิจมากเท่ากับในต่างประเทศ จะมีก็แต่บจ.ขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เท่านั้นที่สนใจในเรื่องนี้ และสามารถจัดทำรายงานความยั่งยืนได้ตรงตามมาตรฐานสากล ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์และการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว รวมถึงยังดึงดูดความสนใจจากนักลงทุน โดยเฉพาะกองทุนทั่วโลกที่จะยิ่งหันมาใช้แนวคิดนี้ประกอบการตัดสินใจลงทุนควบคู่กับการพิจารณาผลประกอบการในวงกว้างมากขึ้น” ชาญชัยกล่าวทิ้งท้าย 

#รักษ์โลก #ecoconscious

you might like

Scroll to Top