นอนไม่หลับ’ โรคยุคใหม่ที่กลายเป็นตลาดหมื่นล้าน ตั้งแต่แกดเจ็ตจนถึงการท่องเที่ยว   

ปัญหาการนอนหลับไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แต่กลายเป็นตลาดที่มีเม็ดเงินมหาศาล The Optimized ชวนอ่านสถิติน่าสนใจของอุตสาหกรรมการนอนทั่วโลก ประเทศไหนที่คนมีปัญหาการนอนมากที่สุด คนส่วนใหญ่นอนไม่หลับเพราะอะไร และจะทำอย่างไรให้นอนหลับได้ดีขึ้น

ลำพังแค่ตลาดตัวช่วยให้นอนหลับในปี 2024 มีมูลค่าถึง 5,240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โตขึ้นจากปีก่อน 4.87% สะท้อนว่าโลกเต็มไปด้วยคนไม่หลับมากขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาการนอนไม่ได้คุณภาพไม่ได้ส่งผลกระทบระดับปัจเจกเท่านั้น แต่ปัญหาการนอนไม่พอสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาปีละมากกว่า 411 ล้านเหรียญ  นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาชิ้นหนึ่งที่รายงานตัวเลขว่า โรคนอนไม่หลับทำให้เกิดความผิดพลาดและอุบัติเหตุในที่ทำงานคิดเป็นมูลค่าถึง 31,100 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ทุกวันนี้ แกดเจ็ตติดตามสุขภาพการนอนหรือ Sleep Tracker กลายเป็นแอ็กเซสเซอรีส์ที่คนใส่ติดตัวตลอดทั้งวันทั้งคืน จนคาดว่าตลาดแกดเจ็ตติดตามการนอนจะมีมูลค่าถึง 11,200 ล้านเหรียญในปี 2028

Photo: Samsung.com

Samsung Galaxy Ring มี Sleep Coaching ที่ประมวลการนอนพร้อมช่วยแนะนำวิธีการพัฒนาการนอนให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ตื่นขึ้นมาพร้อมกับความสดชื่นและพลังที่เต็มเปี่ยม ประเมินคุณภาพการนอน การหายใจระหว่างการนอนหลับ พร้อมฟีเจอร์ Magical Control ควบคุมการทำงานของสมาร์ตโฟนได้ง่ายๆ เพียงแค่การจีบนิ้วสองครั้ง เช่น การปิดนาฬิกาปลุกหรือการถ่ายภาพ

ผลสำรวจการนอนประจำปี 2024 ของ ResMed “The Global Sleep Crisis” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการตอบแบบสำรวจมากที่สุดในโลก 36,000 คนใน 17 ประเทศพบว่า ประโยชน์ที่ได้จากการนอนเต็มอิ่ม ได้แก่ ทำงานบ้านเสร็จ 43%, มีเวลาและมีแรงไปออกกำลังกาย 45% และทำงานอย่างมีผลิตภาพมากขึ้น 60%

โดยประเทศที่คนนอนเต็มอิ่ม หลับเต็มคืน ได้แก่ ไทย 88%, บราซิล 78% เม็กซิโก 77% และจีนแผ่นดินใหญ่ 64%

ตรงกันข้าม มีคน 4 ใน 10 คนที่นอนหลับเต็มอิ่มน้อยกว่า 3 คืนต่อสัปดาห์ สวนทางกับคำแนะนำของแพทย์ที่กล่าวว่า แต่ละคืน เราควรนอนหลับสนิทให้ได้ 7-9 ชั่วโมงต่อคืน เพราะหากนอนกลิ้งไปกลิ้งมาทั้งคืน ผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า เมื่อตืนเช้ามาจะมีอาการอ่อนเพลียระหว่างวัน 50%, อารมณ์ขุ่นมัว 40% และหงุดหงิด 39%

ประเทศที่มีประชากรอดนอนมากที่สุดในโลก โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 1 ใน 5 ที่กล่าวว่านอนหลับสนิทน้อยกว่า 2 คืนต่อสัปดาห์ ได้แก่ ญี่ปุ่น 57%, สหราชอาณาจักร 47%, นิวซีแลนด์ 46% และออสเตรเลีย 45%

Photo: g-nap.com

giraffenap ตู้นอนในออฟฟิศออกแบบโดยบริษัทญี่ปุ่น เพื่อมนุษย์ออฟฟิศผู้เหนื่อยล้าและง่วงเพลียระหว่างวันก็สามารถมางีบหลับได้ในที่ทำงาน ด้วยตู้ป้องกันเสียงรบกวนภายนอกที่ออกแบบมาให้นอนในท่ายืนตามหลักสรีระศาสตร์ เพราะหากเอนตัวนอนระหว่างวันจะลุกขึ้นได้ยาก พร้อมคำแนะนำว่าควรงีบระหว่างวันไม่เกิน 15-20 นาทีและไม่ควรงีบหลังบ่ายสาม เพราะตอนกลางคืนอาจนอนไม่หลับได้

ส่วนอินเดียกลายเป็นแดนสวรรค์ของการนอน โดยผู้ตอบแบบสอบถามชาวอินเดีย 27% ตอบว่านอนหลับสนิททุกคืน ตามมาด้วยไทย 18%

สาเหตุที่ทำให้คนนอนไม่หลับมากที่สุด ได้แก่ วิตกกังวลเรื่องส่วนตัว 42%, ความเครียดจากการทำงาน 27% และความกดดันทางการเงิน 25%

ผลวิจัยโดย McKinsey Health Institute และ The World Economic Forum ซึ่งนำเสนอที่การประชุม Davos 2024 เผยข้อมูลว่า ผู้หญิงทั่วโลกกว่า 3,900 ล้านคนมีปัญหาการนอนมากกว่า 7 วันต่อปี ตลอดช่วงชีวิต ผู้หญิงจึงเสียสุขภาพไปเพราะการนอนหลับไม่สนิทถึง 500 วัน โดยปัญหาที่กระทบการนอนของผู้หญิงมากที่สุดคือ ภาวะวัยทอง/ระยะก่อนหมดประจำเดือน 39%

นอกจากนี้ปัญหาการนอนที่พบบ่อยก็คือ อาการนอนกรน (snoring) และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (obstructive sleep apnea : OSA) โดยอาการนอนกรนเป็นอาการที่บ่งบอกถึงการอุดกั้นในทางเดินหายใจส่วนบน จนกระทั่งทำให้เกิดการหยุดหายใจเป็นช่วงๆขณะนอนหลับ ทำให้นอนหลับได้ไม่สนิท มีการสะดุ้งตื่นเป็นช่วงๆ เมื่อตื่นมาจึงทำงานได้ไม่เต็มที่ มีอาการง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน และมีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุมากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากการหลับในขณะขับขี่รถและขณะทำงานกับเครื่องจักรกล อีกทั้งยังมีอัตราเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคอื่นๆ ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคของหลอดเลือดในสมอง หรืออาจได้รับบาดเจ็บเนื่องจากรบกวนการนอนของคนข้างๆ

Photo: Freepik

แม้อาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับจะพบมากถึง 1 ใน 3 คน หรือคาดว่าจะมีผู้มีอาการเหล่านี้ราวๆ 936  ล้านคนทั่วโลก แต่ทว่าประชากรโลกถึง 80% ยังได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคดังกล่าว

Infographic: ResMed

ปัญหาการนอนที่พบมากขึ้นจึงส่งผลให้ การท่องเที่ยวเพื่อการส่งเสริมคุณภาพการนอน (Sleep Tourism) เติบโตขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยผู้ตอบแบบสอบถามของ ResMed 19% เคยไปเที่ยวเพื่อให้นอนหลับดีขึ้นมาแล้ว ส่วน 36% หันไปพึ่งแกดเจ็ตวิเคราะห์คุณภาพการนอน

Photo: www.hastens.com

Hästens แบรนด์ฟูกที่นอนสุดหรูจากสวีเดนหันมาเปิดโรงแรมบำบัดการนอนของตัวเองเสียเลยในชื่อ Hästens Sleep Spa ที่เมือง Coimbra ประเทศโปรตุเกส โดยแต่ละห้องจะมีฟูกดูดวิญญาณดูดหรูจากแบรนด์ Hästens ซึ่งฟูกเอ็กซ์คลูซีพบางอันมีมูลค่าถึง 395,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 13.6 ล้านบาท

แนวโน้มที่น่าสนใจคือ ผู้คนพึ่งพาตัวช่วยให้นอนหลับแบบเดิมๆ น้อยลง เช่น กินยานอนหลับ (10%) ขณะที่พยายามสรรหาวิธีต่างๆ ให้ตนเองหลับสนิท ไม่ว่าจะเป็นหันไปใส่ชุดนอนเนื้อผ้านุ่มลื่นสบายผิว ทำสมาธิหรือกำหนดลมหายใจ หลีกเลี่ยงไม่ดื่มคาเฟอีน อาบน้ำอุ่นก่อนนอน ผ่อนคลายด้วยการเล่นกับสัตว์เลี้ยงหรือใช้เวลากับคนที่รัก ดูแลปรนนิบัติตัวเอง หรือเขียนบันทึกระบายเรื่องกวนใจในแต่ละวันก่อนนอน

Words: Sritala Supapong

ข้อมูลจาก

you might like

Scroll to Top