หรือมือเราที่ไหวไป?: นักดาวซิ่ง เครื่องตรวจจับระเบิดและไอดีโอมอเตอร์  

ชายคนหนึ่งเดินช้าๆไปตามทุ่งโล่งเพื่อหาแหล่งน้ำบาดาล พนักงานประจำสนามกอล์ฟเคลื่อนตัวอย่างระมัดระวังไปตามเขตอุปสรรคน้ำเพื่อหาลูกกอล์ฟตกน้ำ เจ้าหน้าที่กองทัพในอิรักก้มๆเงยๆรอบรถที่จุดตรวจเพื่อค้นหาระเบิดที่อาจซุกซ่อนไว้ในมือของพวกเขาถืออุปกรณ์ที่หน้าตาอาจผิดแผกกันเล็กน้อย แต่โดยหลักการแล้วเหมือนกัน นั่นคือแท่งเหล็กรูปตัวแอลยาวประมาณหนึ่งฟุต เพื่อกระทำการ ‘ดาวซิ่ง’ (dowsing)

‘นักดาวซิ่ง’ หรือผู้ที่เชื่อว่า แท่งโลหะซึ่งเป็นวัสดุจากธรรมชาตินั้นจะปรับจูนเข้ากับพลังทางกายภาพของสิ่งของอื่นๆได้ ดังนั้นนักดาวซิ่งจึงถือแท่งเหล็กรูปตัวแอลสำรวจหาแหล่งน้ำบาดาล ชี้จุดที่ลูกกอล์ฟตกน้ำ ไปจนถึงตรวจหาระเบิด

Advanced Tactical Security and Communications – ATSC บริษัทสัญชาติอังกฤษที่ก่อตั้งโดย James McCormick ประดิษฐ์อุปกรณ์ตรวจจับขั้นสูง 651 (Advanced Detection Equipment – ADE 651) สำหรับเป็นอุปกรณ์พกพาไว้ตรวจจับระเบิดโดยเฉพาะ มีด้ามจับคล้ายเลื่อยมือ มีแท่งโลหะเหมือนเสาอากาศยาวยืดออกไปข้างหน้าที่หมุนไปมาได้ ใช้พลังงานไฟฟ้าสถิต วิธีการใช้งานก็ง่ายดายมาก แค่ถือเครื่องนี้ไว้แล้วเดินสัก 3 ก้าวเพื่อชาร์จเครื่อง แล้วเสาอากาศก็จะชี้ไปยังทิศทางที่มีระเบิด 

ทิศทางที่อาจมีระเบิดซุกซ่อนอยู่มากมายก็เช่น สหรัฐ ซีเรีย อิรัก ไนจีเรีย อัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดีย จีน และรัสเซีย หรือที่ไหนก็ได้ในโลกเพราะว่ามีเหตุก่อการร้ายเฉลี่ยปีละกว่า 10,000 ครั้ง หลายประเทศตั้งแต่ตะวันออกกลางจนถึงเอเชียจึงเป็นลูกค้าอุดหนุนเครื่อง ADE 651 อาทิ รัฐบาลอิรักที่คาดว่าซื้อเครื่องที่ว่านี้ไปราวๆ 52 ล้านปอนด์ บริษัท ATSC ผลิตเครื่องตรวจจับระเบิดไปกว่า 7,000 เครื่อง สร้างรายได้กว่า 50 ล้านปอนด์อย่างง่ายดายจากอุปกรณ์ที่ช่วยแก้ปัญหายุ่งยากได้ด้วยวิธีการง่ายๆ

ก่อนหน้าเจมส์ แม็คคอร์มิก จักรวาลแห่งการดาวซิ่งก็มี Wade Quattlebaum อดีตเซลส์ขายรถที่ประดิษฐ์ Quadro Tracker อุปกรณ์ตรวจหาลูกกอล์ฟที่หายไปอย่างไร้ร่องรอยในเขตอุปสรรคน้ำตามสนามกอล์ฟ ซึ่งอุปกรณ์นี้ก็ตรวจหาลูกกอล์ฟได้จริงๆ เพราะว่ามีลูกกอล์ฟเป็นพันๆลูกอยู่ใต้พื้นผิวเขตอุปสรรคน้ำ สุดท้ายแล้วอุปกรณ์สุดล้ำนี้ก็พัฒนาไปตรวจจับได้ตั้งแต่ลูกอล์ฟ กัญชา ระเบิดและอาวุธต่างๆ   

ตามจุดตรวจของตำรวจและทหารในอิรักมีเครื่อง ADE 651 ให้เจ้าหน้าที่คอยคัดกรองระเบิด ทว่าวันที่ 25 ตุลาคม ปี 2009 มือระเบิดพลีชีพนำระเบิดสองตันเข้าไปใจกลางกรุงแบกแดดและปลิดชีพพลเรือนผู้เคราะห์ร้าย 155 ราย บวกกับคณะรัฐมนตรีอีก 3 ราย ในภายหลังมีการตรวจภาพจากกล้องวงจรปิดที่โชว์ภาพมือระเบิดผ่านจุดตรวจ ADE ไปได้…อย่างไร

อันที่จริงเอฟบีไอทดสอบอุปกรณ์ดาวซิ่งพวกนี้ซึ่งรวมถึงเครื่อง ADE 651 และได้ข้อสรุปว่าห้ามผลิต ห้ามจำหน่ายอุปกรณ์ดาวซิ่งในฐานะที่เป็นเครื่องตรวจจับระเบิด เพราะว่ามันใช้การได้ผลอย่างบังเอิญทั้งสิ้น ส่วนเจมส์ แม็คคอร์มิก ผู้อยู่เบื้องหลังเครื่อง ADE 651 สุดท้ายแล้วถูกตัดสินให้จำคุก 10 ปีและจ่ายค่าปรับเกือบ 8 ล้านปอนด์โทษฐานฉ้อโกง  

แต่ก็ยังมีคนที่เชื่อเรื่องดาวซิ่งหลงเหลืออยู่

 Deepak Chopra นักเขียนชาวอินเดีย-อเมริกันซึ่งสร้างชื่อจากแนวคิดแบบนิวเอจ เช่น การใช้ควอนตัมฟิสิกส์ช่วยบำบัดอาการเจ็บป่วย การทำสมาธิเพื่อตั้งพลังจิตย้อนวัย และอื่นๆ ที่สุดแล้วดีพัคก็ได้ไปออกรายการทอล์กโชว์สุดดังของ Oprah Winfrey พิธีกรหญิงคนดังระดับโลก

ดีพัคให้โอปราห์ถือเชือกถ่วงลูกดิ่ง แล้ว ‘ใช้พลังจิต’ ทำให้ลูกดิ่งเคลื่อนไหวจนเชือกแกว่งไกวไปมา ปรากฏว่าเชือกในมือโอปราห์แกว่งจริงๆทั้งที่เธอถือเชือกแบบนิ่งสุดๆแล้ว แสดงว่าคนเราใช้พลังจิตเคลื่อนที่สิ่งของได้จริงหรือนี่

เครื่องตรวจจับระเบิด ADE 651 แท่งเหล็กหาแหล่งน้ำบาดาล และการใช้พลังจิตเคลื่อนที่สิ่งของ ทั้งหมดนี้อธิบายได้ด้วยปรากฏการณ์ไอดีโอมอเตอร์ (ที่อธิบายการเล่นผีถ้วยแก้วได้ด้วย) ลองถือสิ่งของอะไรที่ไวสัมผัสสูง เช่น ถือเชือกที่ถ่วงน้ำหนักแบบโอปราห์หรือถือแท่งโลหะบางๆที่หยอดสารหล่อลื่น คุณเชื่อว่ามือคุณไม่ได้ขยับแน่ๆ มือนิ่งมาก แต่สิ่งของในมือคุณกลับขยับไปเอง ทั้งที่จริงสิ่งของไวสัมผัสก็แค่ตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวแม้เพียงเล็กน้อยที่สุดของคุณก็เท่านั้น

การที่ความคิดและการชี้นำทางจิตใจทำให้เกิดปฏิกิริยาทางกล้ามเนื้อโดยไม่รู้ตัวนั้นมีอาการเหมือนเวลามือไปโดนหม้อร้อนๆแล้วกระตุกมือออกทันที แล้วค่อยรู้สึกตามมาว่าผิวไหม้ หรือเวลาเห็นตัวละครกินรามยอนในซีรีส์เกาหลีแล้วเราน้ำลายสอ นั่นก็คือปรากฏการณ์ไอดีโอมอเตอร์เช่นกัน

การเคลื่อนไหวที่คิดภาพไว้ซึ่งแปลออกมาเป็นการเคลื่อนไหวจริงๆได้ หรือเรียกว่าการตอบสนองแบบไอดีโอมอเตอร์นั้นอาจทำให้เราไขว้เขวไปได้ว่า พลังจิตของเราไปขยับของได้จริงๆ หรือพูดได้ว่ามีคนที่เชื่อโดยมิได้เสแสร้างว่าการดาวซิ่งเป็นของจริง แต่ความเชื่อนี้เองก็ทำให้คนเหล่านี้ปฏิเสธวิทยาศาสตร์ที่มีกระบวนการทดสอบและพิสูจน์อย่างเป็นระบบ

ในปี 1987 – 1988 ที่เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมัน นักดาวซิ่ง 500 คนเข้าร่วมทดสอบว่าการดาวซิ่งตรวจหาน้ำได้จริงหรือไม่ ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ The Munich Dowsing Experiments โดยผู้ทำการทดลองติดตั้งท่อน้ำที่ขยับไปตามความกว้างของพื้นชั้นล่างโรงนาได้ จากนั้นให้นักดาวซิ่งที่อยู่ชั้นสองใช้แท่งโลหะระบุตำแหน่งท่อน้ำ ซึ่งทำการทดลองเกือบหมื่นครั้ง นักดาวซิ่งแค่หลักสิบเท่านั้นที่หาน้ำเจอได้อย่างน่าอัศจรรย์ ทำให้ผู้ทดลองสรุปว่าการดาวซิ่งเป็นเรื่องจริง แต่การทดลองถูกวิพากษ์อย่างหนักว่าการทดลองไม่น่าเชื่อ จนเป็นที่รู้จักในภายหลังว่า The Failure of the Munich Experiments 

ความเชื่อของนักดาวซิ่งและคนที่เชื่อในอุปกรณ์ดาวซิ่งต่างๆนั้น เข้าข่ายว่ามี ‘ตรรกะวิบัตินักแม่นปืนชาวเท็กซัส’  (Texas sharpshooter fallacy) คนที่ยิงกระสุนกระจายเต็มผนัง แล้วก็วาดเป้ารอบรูกระสุน ป่าวประกาศว่าตนเป็นนักแม่นปืน ซึ่งใช้อธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ในขอบเขตเล็ก ที่ไปสร้างภาพลวงตาว่ามีเหตุผลเชื่อมโยงกันระหว่างสองสิ่ง ซึ่งในที่นี้ก็คือแท่งโลหะกับระเบิด ลูกกอล์ฟ แหล่งน้ำหรือสิ่งใดๆก็ตามที่ใจคุณปรารถนาจะหาเจอนั่นเอง

ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=bAbQUO9x_8g&ab_channel=OWN

http://www.dowsing-research.net/dowsing/articles/Enright__1-2%20-%20the%20Failure%20of%20the%20Munich%20Experiments.pdf

Origin of the Texas Sharpshooter

you might like

Scroll to Top