เนื้อเทียมจากพืช มหัศจรรย์ธรรมชาติ ธุรกิจแสนล้านของโลก

ในอีกไม่ช้า เมนูอาหารเนื้อเทียมที่ทำมาจากพืช (plant-based meat) คงจะกลายเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายไม่แพ้รายการอาหารอื่นๆ เหตุผลเพราะอาหารทดแทนเนื้อสัตว์นี้ได้ถูกแปลงโฉมให้เป็นมื้ออาหารในหลากหลายรสชาติสุดแสนพิเศษ ไม่จืดชืดเหมือนแต่ก่อน และเทรนด์อาหารเนื้อเทียมที่ทำจากพืชนี้ก็กำลังเป็นกระแสมาแรงในตลาดเมืองไทยเช่นกัน ไม่เพียงในกลุ่มคนมังสวิรัติ แต่ยังได้รับความนิยมในกลุ่มคนรักสุขภาพและกลุ่มคนนักชิมรุ่นใหม่อีกด้วย

ข้อมูลจากเวบไซต์ marketsandmarkets ของบริษัทอเมริกัน ได้รวบรวมข้อมูลของตลาดผลิตภัณฑ์อาหารเนื้อเทียมที่ทำมาจากพืชระบุว่า ตลาดอาหารเนื้อเทียมที่ทำมาจากพืชทั่วโลกน่าจะมีมูลค่าถึง 8.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.49 แสนล้านบาท) ในปี 2568  หรือคิดเป็นการเติบโต 14% ระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว โดยเพิ่มจากปีที่แล้วที่คาดว่าอยู่ที่ราว 4.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (1.29 แสนล้านบาท) โดยผลิตภัณฑ์เนื้อเทียมที่ทำมาจากพืชก็ได้วัตถุดิบทั้งถั่วเหลืองและข้าวสาลีมาทำ ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ออกสู่ท้องตลาดให้ผู้บริโภคได้ลิ้มลองก็มีหลากหลาย  เช่น เบอร์เกอร์ ไส้กรอก และลูกชิ้น เป็นต้น

กระแสตอบรับที่ค่อนข้างดี เห็นได้จากผู้ประกอบการด้านอาหารจานด่วนระดับโลกที่พากันกระโดดเข้ามาเล่น ซึ่งรวมไปถึงเชนไก่ทอดยักษ์ใหญ่อย่าง KFC ก็ได้ออกเมนูไก่ทอดที่ทำมาจากพืชในปีที่ผ่านมาในประเทศบ้านเกิด ทำการทดลองจำหน่ายในเพียงบางสาขาเท่านั้น ก่อนที่จะขยายครอบคลุมไปทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมี Burger King, McDonald’s  และ Dunkin ก็ร่วมขบวนกับเขาด้วย โดยคิดค้นสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ ชิงส่วนแบ่งการตลาด เหล่านี้ได้ตอกย้ำให้เห็นความคึกคักของตลาดนี้ได้ดีทีเดียว

นอกจากนี้ ยังมีรายงานอีกว่า กองทุนธุรกิจการร่วมลงทุน หรือ วีซี ได้ให้ความสนใจกับธุรกิจนี้เป็นอย่างมาก คาดว่าจะเข้าลงทุนในธุรกิจอาหารที่ทำมาจากพืชผ่านบริษัทต่างๆทั่วโลกด้วยจำนวนเงินมหาศาล 8.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ – 1.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐในระยะเวลา 10-15 ปีข้างหน้า สำหรับประเทศไทยนั้น คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดน่าจะอยู่ที่ 28,000 ล้านบาท และจะมีอัตราการเติบโตราว 10% ต่อปีระหว่างปี 2020-2024

สาเหตุที่ตลาดอาหารเนื้อเทียมที่ทำมาจากพืชมีการเติบโตค่อนข้างสูงนั้น มีเหตุผลหลักๆ คือ คนหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น จึงได้หันมากินอาหารจากพืชมากกว่าเนื้อสัตว์ เพราะการบริโภคเนื้อสัตว์มากเกินไปได้ก่อให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของตลาดนี้ก็ยังมีให้เห็นโดยเฉพาะด้านราคา พบว่าราคาสินค้าเนื้อเทียมนั้น มีราคาแพงมากกว่าเนื้อสัตว์จริงๆ เพราะว่าการผลิตนั้นไม่ได้มีจำนวนมากพอที่จะทำให้ต้นทุนลดต่ำลงได้ ทว่า ผู้ผลิตก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในข้อจำกัดนี้ จึงพยายามหาหนทางลดราคาสินค้าลง เพราะพวกเขามองว่า หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป จะทำให้อุตสาหกรรมการผลิตเนื้อเทียมที่ทำจากพืชเติบโตได้ช้า

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆช่วยขับเคลื่อนตลาดเนื้อเทียมไปในทิศทางที่ดี คือการตระหนักถึงภาวะโลกร้อนมากขึ้น เพราะการทำฟาร์มปศุสัตว์นั้น เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมากเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ รวมถึงกระแสด้านสิ่งแวดล้อมและผู้คนทั่วโลกให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพสัตว์ ทั้งยังมีเหตุผลด้านความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากความต้องการการบริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคตและการขาดแคลนอาหารของประชากรบางภูมิภาคของโลก โดยเฉพาะในยามวิกฤตโรคโควิด-19 ระบาด เหล่านี้ได้ช่วยตอกย้ำถึงบทบาทของอาหารเนื้อสัตว์ที่ทำมาจากพืชมากยิ่งขึ้น เป็นอีกทางเลือกของการบริโภคในสังคม     

ในเชิงพาณิชย์นั้น ตลาดเนื้อเทียมที่ทำมาจากพืชเต็มไปด้วยโอกาส เห็นได้ว่า ผู้ผลิตต่างก็ออกกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อที่จะชักจูงให้ผู้บริโภคหันมาลิ้มลองอาหารประเภทนี้ เพื่อขยายฐานกลุ่มลูกค้าและสร้างความต้องการของสินค้าให้เกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการติดฉลากอย่างเป็นเรื่องเป็นราวสร้างบรรทัดฐานให้กับสินค้าเพื่อขับเคลื่อนตลาด โดยเฉพาะผู้ผลิตในอเมริกาเหนือและยุโรป และคาดว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็จะเดินตามรอยแนวทางนี้ ซึ่งท้ายสุดก็จะช่วยเร่งให้ตลาดโดยรวมเติบโตขึ้นตามมา

ผู้ประกอบการหลักๆ ในโลกที่ผลิตผลิตภัณฑ์เนื้อเทียมที่ทำมาจากพืชมีราว 20 แห่ง โดย 11 แห่งตั้งอยู่ในสหรัฐฯ ที่เหลือกระจายอยู่ในประเทศแคนาดา เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร ฟินแลนด์ นิวซีแลนด์และเยอรมนี ผู้ประกอบการที่รู้จักกันดี คือ Beyond Meat และ Impossible Foods ของสหรัฐฯ Yves Veggie Cuisine จากแคนาดา ฝั่งยุโรปก็มี The Vegetarian Butcher จากประเทศเนเธอร์แลนด์ และ Vbites Food Limited จากสหราชอาณาจักร

แต่ที่น่าสนใจก็คือ Impossible Foods ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ก่อตั้งขึ้นในปี 2554 โดยความคิดริเริ่มจากศาสตราจารย์ในแผนกชีวเคมีของมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดที่ชื่อ Dr. Patrick O. Brown ที่ได้ตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อนและความหลากหลายทางชีววิทยา เขามุ่งหวังที่จะทำให้ระบบอาหารของโลกมีความยิ่งยืนเพราะเห็นว่า การทำฟาร์มปศุสัตว์ของโลกใช้พื้นที่ไปเกือบครึ่งของผืนแผ่นดินบนโลกใบนี้ ทั้งยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศถึง 15% จากปริมาณทั้งหมดของโลกที่ปล่อยออกมาและใช้น้ำจืดถึง 25% จากทั้งหมดของโลกที่ใช้กัน ดังนั้น เขาจึงชักชวนบรรดานักวิทยาศาสตร์ผู้มากด้วยความรู้ เข้าร่วมทำให้พันธกิจนี้เป็นจริง โดยมุ่งเน้นผลิตเนื้อเทียมที่ทำมาจากพืชขึ้นมาทดแทน ปัจจุบัน Impossible Foods ได้ผลิตบริษัทเนื้อเทียมจากพืชที่รวมไปด้วย เนื้อหมูเทียม เนื้อปลาเทียม ไส้กรอกเทียม เบอร์เกอร์เนื้อเทียม ภายใต้แบรนด์ Impossible

ตัวอย่างความเคลื่อนไหวในปีที่ผ่านมา Impossible Foods ได้ขยายสินค้าเรือธงอย่าง Impossible Burger เข้าไปในตลาดแคนาดา โดยจำหน่ายผ่านร้าน Sobeys 600 แห่งและขายผ่านออนไลน์ด้วยการบริการแบบจัดส่ง  ขณะที่ Beyond Meat ได้ออกสินค้าใหม่ Beyond Meatballs จำหน่ายในร้านขายของชำทั่วสหรัฐฯ ซึ่งได้ช่วยเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภค ที่ต้องการสินค้าเนื้อเทียมที่มีคุณค่าทางโภชนาการและสามารถปรุงได้ง่ายที่บ้าน

มาดูตลาดเมืองไทยที่ก็มีความเคลื่อนไหวให้เห็นไม่แพ้กัน อย่างปีที่แล้ว บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) (NRF) เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อตอกย้ำถึงพันธกิจที่จะมุ่งหน้าเป็นผู้ผลิตอาหารโปรตีนจากพืชชั้นนำในระดับโลก รวมไปถึง บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (TU) บริษัทผู้ผลิตอาหารทะเลระดับโลก ได้ประกาศที่จะรุกเข้าสู่ตลาดผลิตภัณฑ์เนื้อเทียมที่ทำมาจากพืช โดยได้ออกสินค้ากลุ่มนี้ภายใต้แบรนด์ OMG Meat มีทั้งในรูปแบบอาหารทะเลที่ทำมาจากพืชเช่น หอยจ้อปู ขนมจีบปู และเนื้อปู ขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหารทะเล อย่างเนื้อหมูและไก่ที่ทำมาจากพืช ก็มี เช่น ซาลาเปาหมูแดง และนักเก็ตไก่ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีสตาร์ทอัพรายอื่นๆ ช่วยสร้างความคึกคักให้ตลาดอีกด้วย อย่างเช่น More Meat จำหน่ายเนื้อเทียมที่ทำจากพืชภายใต้ชื่อแบรนด์เดียวกับบริษัท  หรืออย่าง Meat Avatar สตาร์ทอัพของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ได้คิดค้นและวิจัยจนได้ผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด เช่น หมูกรอบ ไข่ดาว และหมูสับที่ทำมาจากพืช

อนาคต พวกเราคงมีทางเลือกในการบริโภคเพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงสนุกกับการสรรหาเมนูรับประทานในแต่ละวัน แต่ยังมีประโยชน์กับสุขภาพอีกด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก ttps://www.marketsandmarkets.com/Market-Reports/plant-based-meat-market-44922705.html

you might like

Scroll to Top