เมื่อ “Remote Work” อยู่ถาวร องค์กรต้องเตรียมพร้อมอย่างไร

การระบาดของโควิด 19 ตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา เปลี่ยนวิถีการทำงานของเราอย่างสิ้นเชิง การปิดพรมแดน การบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ ทำให้เราต้องทำงานจากที่บ้าน กลายเป็นชีวิตวิถีใหม่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งองค์กรแรงงานสากลคาดการณ์ว่า 4 ใน 5 ของแรงงาน หรือประมาณ 2,700 ล้านคนทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

บทวิเคราะห์ของดีลอยท์ ระบุว่า แรงงานในกลุ่มประเทศอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม มีศักยภาพในการเปลี่ยนไปทำงานจากระยะไกล (Remote Work) ในช่วงเวลาหลายปีต่อจากนี้ โดยสิงคโปร์ และมาเลเซีย จะเป็นผู้นำการทำงานระยะไกล คาดว่าจะมีสัดส่วน 45 และ 26% ตามลำดับ ขณะที่ไทยมีสัดส่วนประมาณ 15%

ดีลอยท์ เชื่อว่า ในอีก 2 ปีข้างหน้า จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญของระบบการทำงานระยะไกลในชาติอาเซียน เมื่อรัฐบาลมีการกำหนดเป็นนโยบาย การวางโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการพัฒนาทักษะการทำงานในรูปแบบใหม่ ๆ ออกมาเพื่อสร้างคุณประโยชน์ให้กับนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล

ดูเหมือนว่าการทำงานระยะไกล จะยังไม่มีข้อเสียที่ชัดเจนในตอนนี้ แม้จะลดการเข้าสังคมและการเดินทางท่องเที่ยว แต่ทำให้พนักงานได้มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น มีความยืดหยุ่น สร้างสมดุลให้กับชีวิตและการทำงาน ขณะเดียวกันได้มีเวลาในการลงทุนเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ

ด้านนายจ้างจะมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุน การเพิ่มความสามารถในการผลิต ความคล่องตัว ในที่สุดเมื่อการทำงานระยะไกลกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่สำหรับนายจ้าง จะลดข้อจำกัดในการเข้าถึงบุคลการ ผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางและอื่น ๆ

ขณะที่รัฐบาลจะได้รับประโยชน์จากการลดปริมาณการเดินทาง สภาพการจราจรที่เคยติดขัดบนท้องถนนจะลดน้อยลง ทำให้สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อมของเมือง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของระบบการผลิตและการบริโภคแบบดิจิทัล

ธุรกิจบริการมีศักยภาพสู่ Remote Work

ดีลอยท์ วิเคราะห์ต่อไปด้วยว่าอุตสาหกรรมบริการ จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญไปสู่การทำงานระยะไกลมากขึ้น โดยคาดว่าในระยะกลาง 1 ใน 4 หรือ 2 ใน 3 ของระบบการทำงานในอุตสาหกรรมบริการจะเปลี่ยนไปเป็นการทำงานระยะไกลอย่างถาวร โดยเฉพาะอาชีพที่ปรึกษา (67%) กลุ่มเทคโนโลยีและการสื่อสาร (66%) พนักงานประชาสัมพันธ์ (55%) บริการทางการเงิน (54%) และบริการด้านอสังหาฯ (51%) เป็นต้น ขณะที่ภาคผลิต แผนกสนับสนุนมีโอกาสที่จะเปลี่ยนไปสู่ Remote Work ในระยะต่อไป

 จากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้หลายองค์กรนำระบบการทำงานทางไกลมาใช้เป็นมาตรการฉุกเฉิน แต่อีกหลายองค์กรเริ่มมองหาวิธีการจัดการให้การทำงานทางไกลเป็นทางเลือกที่ถาวร ซึ่งองค์กรจำเป็นต้องคิดใหม่ ว่าจะทำอย่างไรให้การทำงาน การจัดการการทำงานร่วมกันของทีมบรรลุผลสำเร็จ ซึ่งวันนี้อาจต้องคิดเรื่องประสบการณ์การทำงานมากกว่าสถานที่ทำงาน

บริษัท วีเอ็มแวร์ จำกัด มีข้อแนะนำสำหรับองค์กรที่วางแผนทำงานระยะไกล จะต้องเปลี่ยนวิธีคิดและการทำงาน ดังนี้

1. แนวคิดแบบ Remote-First ผู้นำองค์กรจะต้องสร้างประสบการณ์การทำงานที่ดีอย่างเท่าเทียม ต้องมั่นใจว่าทีมสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับงานได้จากทุกที่ ไม่มีข้อจำกัดระหว่างระยะใกล้ หรือไกล ต้องมีความใกล้ชิดเสมือนทำงานอยู่ร่วมกัน

2. เมื่อต้องมีระยะห่าง ยิ่งต้องสื่อสารมากขึ้น เพื่ออธิบายการทำงาน และอัปเดตการทำงานได้อย่างต่อเนื่อง และมีส่วนร่วมกับเพื่อนร่วมงาน

3.จดบันทึกทุกอย่าง อย่างต่อเนื่อง การทำงานแบบรีโมท ทำให้ต้องประชุมบ่อยขึ้น และต่อเนื่อง การจดบันทึกจะทำให้ทีมเข้ามาใช้เวลาร่วมกันและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการจดบันทึก และจบลงด้วยการแบ่งงาน มอบหมายงาน จะช่วยให้การติดตามงานมีประสิทธิภาพ

4. แพลตฟอร์มวิดีโอเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งปัจจุบันพนักงานเริ่มคุ้นเคยกับแอปพลิเคชั่น Zoom หรือ Microsoft Team ซึ่งหากจำเป็นต้องใช้วิดีโอคอลล์ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้กับระบบการทำงานที่หลากหลาย และ

5. ต้อง Work-Life-Balance อย่างไรให้เฮลธ์ตี้ เมื่อไม่ได้มีสถานที่ทำงานเป็นกรอบการทำงานอีกต่อไป พนักงานจะต้องวางกรอบการทำงานว่าทำตอนไหนจึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุด ขณะเดียวกันการจัดการนอกเวลาทำงานเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อบาลานซ์ระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวได้มากยิ่งขึ้น

เมื่อโลกฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่ ‘ความปกติใหม่’ สำหรับการทำงานจะถูกรีเซ็ตใหม่ หลายคนจะเลือกหรือจำเป็นต้องทำงานทางไกล ขณะที่เงื่อนไขการทำงานจากที่บ้านและการปฏิบัติสำหรับการทำงานทางไกลจะดีขึ้น เกิดโซลูชันสถานที่ทำงานแบบใหม่ที่แพร่หลายมากขึ้น เช่น พื้นที่ทำงานที่ใช้ร่วมกันในเขตชานเมือง “ที่ทำงานใกล้บ้าน” จะเกิดขึ้นสอดคล้องกับความต้องการ และสภาพแวดล้อมการทำงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

#RemoteWork

you might like

Scroll to Top