ในปัจจุบันการตรวจคัดกรองโรค มีความสำคัญอย่างยิ่งในการจำแนกผู้ที่มีโรคให้ได้รับการวินิจฉัยและรับการรักษาก่อนที่จะแสดงอาการของโรค โดยผู้ป่วยในบางครั้งเริ่มมีอาการของโรคเกิดขึ้น แต่ยังไม่แสดงอาการ การตรวจคัดกรองจึงเป็นวิธีการตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือการทดสอบอื่น ๆ การจัดให้มีการตรวจคัดกรองโรค ควรพิจารณาจากลักษณะจำเพาะของโรคนั้น ๆ ได้แก่ โรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศ มีวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ สามารถตรวจพบได้ในระยะก่อนมีอาการ วิธีการตรวจคัดกรองจะต้องปลอดภัย มีประสิทธิผลต่อต้นทุนและควรพิจารณาถึงผลดี ผลเสียของการตรวจคัดกรองโรค ตลอดจนประเด็นทางจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการตรวจคัดกรองโรค
นพ.ศิระ เลาหทัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ศัลยศาสตร์ทรวงอกเฉพาะทางด้านโรคปอด โรงพยาบาลวชิรพยาบาล กล่าวว่าโรคมะเร็งปอดยังคงเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ และ เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของประชากรโลก โดยตั้งแต่ปีค.ศ. 1950 พบว่า มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบบ่อยมากที่สุดในโลก จนกระทั่งในปีล่าสุด โดยในปีค.ศ. 2019 พบว่า มีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดมากถึง 140,000 คน ในสหรัฐอเมริกา โดยโอกาสรอดชีวิตที่ 5 ปีของโรคมะเร็งปอดขณะพบโรคนี้มีเพียงแค่ 19 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากผู้ป่วยส่วนมากพบในระยะแพร่กระจายเป็นหลักถึงแม้ว่าจะมีผู้ป่วยหลายรายที่ตรวจสุขภาพเป็นประจำ แต่ไม่สามารถคัดกรองโรคมะเร็งปอดในระยะต้น ๆ ได้อาจเป็นเพราะการตรวจสุขภาพนั้นเป็นแบบกว้าง ซึ่งอาจไม่ละเอียดเพียงพอหรืออาจเกิดจากผู้ป่วยไปตรวจตอนที่มีอาการแล้ว เช่น ไอหรือเหนื่อย ซึ่งมักจะพบในโรคมะเร็งปอดระยะท้าย ๆ ทำให้โอกาสการรอดชีวิตค่อนข้างต่ำ จากข้อเท็จจริงนี้ส่งผลให้เริ่มมีการส่งเสริมการคัดกรองความเสี่ยงมะเร็งปอดมากขึ้น
จากรายงานการวิจัยของสมาคมนานาชาติมะเร็งปอด ( international association for the study of lung cancer: IASLC) ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการทำเอ็กซเรย์ปกติ ( Chest x-ray) กับเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ( Low dose Computed tomography chest screening: LDCT ) ในกลุ่มประชากรที่ความเสี่ยงพบว่าการทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (LDCT) สามารถพบมะเร็งปอดได้ดีกว่าการทำเอ็กซเรย์ปกติ ( rate ratio 1.13: 95% confidence interval, 1.03 to 1.23) และยังสามารถทำให้ลดอุบัติการณ์การเสียชีวิตจากมะเร็งปอดในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยง ได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์
โดยข้อดีของการทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ( Low dose Computed tomography chest screening: LDCT ) นั้นคือ 1.ปริมาณรังสีน้อยกว่าเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ปกติน้อยกว่าปกติ CT chest 5 เท่า ( เท่ากับเอ็กซเรย์ปกติ 15 ใบ ) 2.ใช้เวลาทำน้อยกว่า 1 นาที 3. ไม่มีการฉีดสี 4. ไม่ต้องตรวจค่าไต และ 5.ระดับรังสีจะลงมาเป็นปกติภายใน 6 เดือน ทั้งนี้จากคำแนะนำจากสมาคมกลุ่มโรคมะเร็งปอดนานาชาติ ( National comprehensive cancer network; NCCN ) ในปีค.ศ. 2021 ได้แนะนำว่าให้กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงควรทำ เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ปอด (LDCT) เป็นประจำปี ปีละ 1 ครั้ง จนถึง อายุ 77 ปี และไม่แนะนำให้ทำการเอ็กซเรย์ปอดปกติในการคัดกรองความเสี่ยงของมะเร็งปอด
ดังนั้นกลุ่มที่ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดกรองอาการได้แก่ กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง High risk group คือ 1.คนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป 2.กำลังสูบบุหรี่ หรือเคยสูบบุหรี่ระยะเวลาเฉลี่ยมากกว่า 20 ปีและมากกว่า 1 ซองต่อวัน ยกตัวอย่างเช่น สูบบุหรี่มา 10 ปี เฉลี่ยวันละ 2 ซอง หรือสูบบุหรี่มา 20 ปี เฉลี่ยวันละ 1 ซอง หรือ มีประวัติเสี่ยง เช่น ทำในโรงงานโลหะหนักหรือมีประวัติครอบครัวสายตรงเป็นโรคมะเร็งปอด
สำหรับประโยชน์ของการคัดกรองความเสี่ยงมะเร็งปอด นอกจากจะลดโอกาสการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดแล้ว ยังสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและเพิ่มโอกาสการเจอโรคอื่น ๆ นอกจากมะเร็งปอดที่ต้องได้รับการรักษา “เพราะสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งตรวจพบได้เร็ว ยิ่งเพิ่มโอกาสการรอดชีวิต”
#มะเร็งปอด