นักกีฬามากกว่า 10,000 ชีวิต ตั๋วเข้าชมการแข่งขันมากกว่า 8 ล้านใบถูกจำหน่าย และผู้ชมทั่วโลกราวๆ 3,000 ล้านคนที่ชมมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติที่เรียกว่า ‘โอลิมปิก’
ทว่า ในแง่ธุรกิจ โอลิมปิกคือธุรกิจราคาแพงหูดับตับไหม้ ชนิดที่อาจทำให้เศรษฐกิจของประเทศเจ้าภาพล่มจมพังพินาศฟื้นไม่ขึ้นไปเป็นสิบปี…ดังกรณีที่เกิดขึ้นกับเอเธนส์ 2004 ที่กรีซ และริโอ 2016 ที่บราซิล
หรือล่าสุดในโตเกียว 2020 ซึ่งจัดในช่วงโควิด และต้องเลื่อนการจัดงานออกไปหนึ่งปี กลายเป็นโอลิมปิกที่ทำให้ญี่ปุ่นขาดทุนยับถึง 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 539,000 ล้านบาท
นั่นแปลว่า โอลิมปิกส่งผลเสียมากกว่าผลดีต่อประเทศเจ้าภาพหรือไม่?
นี่คือตัวเลขที่ประเมินว่าจะใช้และเงินที่ใช้จริงในการจัดโอลิมปิกของเมืองต่างๆ
แอตแลนต้า 1996 งบ $1.2 พันล้าน vs. ใช้จริง $3.6 พันล้าน
ซิดนีย์ 2000 งบ $3.2 พันล้าน vs. ใช้จริง $6.9 พันล้าน
เอเธนส์ 2004 งบ $3 พันล้าน vs. ใช้จริง $16 พันล้าน
ปักกิ่ง 2008 งบ $20 พันล้าน vs. ใช้จริง $45 พันล้าน
ลอนดอน 2012 งบ $5 พันล้าน vs. ใช้จริง $18 พันล้าน
ริโอ เด จาเนโร 2016 งบ $14 พันล้าน vs. ใช้จริง $20 พันล้าน
โตเกียว 2020 งบ $6.8 พันล้าน vs. ใช้จริง $32.7 พันล้าน
Photo: Youtube CNBC
ลอนดอน 2012 งบบานจากเดิมถึง 4 เท่า แต่งบบานปลายกลายเป็นทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจอยู่เป็นทุนเดิม อย่างบราซิลที่ต้องแบกรับหนี้ก้อนโตจนทุกวันนี้ หรือกรีซที่เป็นหนี้วินาศสันตะโรจนทางอียูต้องเข้ามาช่วยดูแลหลังจากเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกไปแล้วหนึ่งปี
จากบทเรียนเหล่านี้ ปารีส 2024 ไม่ขอย้ำซ้ำรอยเดิมอย่างไร The Optimized จะพาไปชำแหละต้นทุนของโอลิมปิกครั้งนี้กัน
ปารีสวางงบไว้ที่ $9.7 พันล้าน โดยค่าใช้จ่ายแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ค่าโครงสร้างพื้นฐาน $4.9 พันล้าน และค่าดำเนินงาน $4.8 พันล้าน
ดูจากงบที่ตั้งไว้ ปารีส 2024 อาจเป็นโอลิมปิกฤดูร้อนที่ราคาถูกที่สุดในศตวรรษที่ 21 เลยก็เป็นได้
ทำไมปารีสจึงใช้งบต่ำ?
Thomas Bach (โทมัส บาค) ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากลกล่าวเมื่อปี 2017 เมื่อครั้งที่ประกาศว่าปารีสจะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปี 2024 ว่า “เรายินดีที่ได้เห็นว่าแผนการของปารีสนั้นจะใช้สถานที่ที่มีอยู่แล้วและสถานที่ชั่วคราวในการจัดงาน”
ดังนั้น หัวใจสำคัญของปารีส 2024 จึงเป็นสถานที่เดิมและสถานที่ชั่วคราว
ปลาซ เดอ ลา กงกอร์ด์ และกร็องด์ปาเลส์ สถานที่ประวัติศาสตร์ในปารีสรวมถึงพระราชวังแวร์ซายส์จะเป็นสถานที่จัดการแข่งขันในโอลิมปิก 2024
Photos: Paris 2024
ก่อนอื่นมาดูงบค่าดำเนินงาน $4.8 พันล้าน เป็นค่าอะไรบ้าง ก็ได้แก่ ค่ารักษาความปลอดภัย ค่าขนส่งเดินทาง ค่าบริการการแพทย์ ค่าศุลกากร และอื่นๆ
ส่วนค่าโครงสร้างพื้นฐานซึ่งถือเป็นหนามยอกอกของประเทศต่างๆ ที่เป็นเจ้าภาพในอดีต เพราะตรงนี้แหละที่ทำให้งบบานปลายมหาศาล เพราะต้องดึงงบไปสร้างสนามกีฬาใหม่ หมู่บ้านนักกีฬา อาคารต่างๆ หรืออาจต้องขยายเส้นทางการเดินทางสาธารณะเพิ่มเติม
แล้วปารีสวางงบส่วนนี้ไว้แค่ $4.9 พันล้านจะพอหรือ?
ดังจะเห็นได้จากพิธีเปิดที่ผู้คนมากมายชมว่าฝรั่งเศสทำถึง ทำเกินไปมาก เพราะฉีกกรอบการจัดงานแบบเดิมๆ ที่จัดแค่ในสนามกีฬาขนาดใหญ่
แต่สถานที่จัดพิธีเปิดปารีส 2024 คือปารีสทั้งเมือง
เช่นเดียวกับการแข่งขันที่ปารีสมีสถานที่จัดงานอยู่แล้วถึง 95%
แค่สร้างใหม่ 3 แห่งเท่านั้น
หนึ่งในนั้นคือหมู่บ้านโอลิมปิกที่เป็นโครงการใหญ่ที่สุดในโอลิมปิกครั้งนี้ โดยในนั้นมีสระว่ายน้ำใหม่ด้วย ส่วนนี้ใช้งบน้อยกว่า $200 ล้าน
Photo: Paris 2024/Raphael Vriet
หลังจบการแข่งขัน หมู่บ้านโอลิมปิกจะกลายเป็นโครงการที่พักอาศัยของประชาชนและนักเรียน นักศึกษาราวๆ 2,800 ยูนิตใน 3 เมือง ได้แก่ แซ็งต์เดอนีส์, แซ็งต์อูน และลิล-แซ็งต์-เดอนีส์
ถามว่าเม็ดเงินจัดงานเหล่านี้มาจากไหน ก็มาจากภาคเอกชนและภาครัฐ เมื่อไรก็ตามที่ต้นทุนไปตกหนักที่รัฐเป็นคนจ่าย ประเทศเจ้าภาพก็จะล่มจมแบบที่เกิดขึ้นกับบราซิลและกรีซ
แต่หายนะ(ยัง)ไม่เกิดกับฝรั่งเศส อย่างน้อยก็ตอนนี้ เนื่องจากค่าดำเนินงาน 96% ได้คืนมาจากการจำหน่ายตั๋วเข้าชมและค่าโฆษณาจากแบรนด์ต่างๆ
โอลิมปิกทุกครั้งที่ผ่านมานับตั้งแต่ยุค 1960s ประเทศเจ้าภาพล้วนใช้งบเกินโดยเฉลี่ยถึง 172%
ริโอ 2016 ที่บราซิลแซงหน้าใครด้วยงบเกินถึง 352% เนื่องจากลงทุนสร้างรถไฟใต้ดินไปถึงสนามแข่งต่างๆ ส่วนนี้กินงบไปแล้วถึง $3 พันล้าน แถมยังสร้างเกินไปถึง 25% โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ในกรุงริโอกินไป $4.2 พันล้าน แถมยังสร้างไม่เสร็จทันใช้อีกต่างหาก
เหล่านี้ทำให้บราซิลเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยยาวนานเกือบทศวรรษ
ส่วนที่สร้างปัญหาหนักคือ สนามกีฬาและหมู่บ้านนักกีฬาใหญ่โตที่ทุ่มทุนสร้างไปแล้ว พอจบเกมก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร แถมต้องใช้งบอีกหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นค่าซ่อมบำรุงเรื่อยๆ ไปอีก
หมู่บ้านนักกีฬาจากเอเธนส์ 2008 หลังจบโอลิมปิกมีคนเข้าอยู่ไม่ถึงครึ่ง
Photo: Getty Images
ปารีสพยายามคุมงบไม่ให้ใช้จ่ายมากเกินไปจนทำให้ปารีส 2024 กลายเป็นโอลิมปิกสมัยใหม่ที่ราคาถูกที่สุดที่เคยจัดมา
งบ $9.7 พันล้านคิดเป็นจีดีพีของฝรั่งเศสแค่ 0.3% แถมปารีสยังมีนักท่องเที่ยวปีละกว่า 100 ล้านที่ช่วยเติมจีดีพีให้ฝรั่งเศส 8%
นอกจากนี้ปารีสยังมีโครงข่ายรถไฟใต้ดินทั่วถึง มีเส้นทางรถไฟครอบคลุม ไม่ต้องเสียงบมาสร้างใหม่ในจุดนี้ ซึ่งเป็นไปตามกฎใหม่ของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ที่อนุญาตให้ประเทศเจ้าภาพใช้สนามกีฬาเดิมที่มีอยู่จัดการแข่งขันโอลิมปิกได้ไม่ต้องสร้างใหม่
แต่ถึงกระนั้น มี 5 เมืองที่ขอถอนตัว จนในปี 2017 เหลือแค่ปารีสกับแอลเอแข่งขันเสนอตัวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก
IOC คาดว่าโอลิมปิกจะสร้างเม็ดเงินราวๆ 7.3 – $12.1 พันล้าน
แต่ผลการศึกษาบางสำนักประเมินว่าโอลิมปิกจะเพิ่มจีดีพีให้ประเทศเจ้าภาพได้ 0.5%
S&P Global ประเมินว่าโอลิมปิกจะเพิ่มรายได้จากการเก็บภาษีการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายต่างๆ ได้ 5%
แต่การเป็นเมืองเจ้าภาพโอลิมปิกและเป็นเมืองท่องเที่ยวเบอร์ต้นของโลกมีด้านลบที่ตามมาคือ การเดินทางสาธารณะจะแน่นขนัด ส่วนสายการบิน Air France ประเมินว่าจะเสียรายได้ $200 ล้านช่วงเดือนมิถุนายน – เดือนสิงหาคม เนื่องจากผู้คนจะหลีกเลี่ยงไม่ไปปารีส เพราะไม่อยากไปเบียดเสียดกับนักท่องเที่ยว
Phryges หรือฟรีจิส มาสคอตปารีส 2024
Photo: Paris 2024
ส่วน Andrew Zimbalist นักเศรษฐศาสตร์การกีฬาเชื่อว่า ความเสี่ยงสูงสุดจากการที่ปารีสคือโอลิมปิกที่ต้นทุนต่ำที่สุดก็คือ ‘ความปลอดภัย’
ผู้จัดงานเปิดตัวเลขว่าจะใช้งบค่ารักษาความปลอดภัยประมาณ $340 ล้าน ซึ่งไม่น่าจะใช่ตัวเลขตามความเป็นจริง เพราะตอนนี้มีการจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมากกว่า 50,000 ชีวิต มีค่าเครื่องไม้เครื่องมือทางทหาร และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องใช้ต่อต้านการก่อการร้ายหรือเหตุอื่นๆ
โอลิมปิกครั้งก่อนๆ นี้ใช้งบด้านความปลอดภัยราวๆ 1- $2 พันล้านทั้งนั้น
ซิมบาลิสต์สเสนอทางออกว่า ควรมีสถานที่เดียวใช้จัดโอลิมปิกแบบตายตัวถาวรไปเลย ประเทศต่างๆ จะได้ไม่ต้องถลุงงบจนประเทศชาติล่มจมอีกต่อไป
และต้องดูกันต่อไปว่า ปารีส 2024 จะเป็นโอลิมปิกที่เซฟงบที่สุดในประวัติศาสตร์จริงหรือไม่
Words: Sritala Supapong
ข้อมูลจาก
- https://www.youtube.com/watch?v=WveQVk9rd4A
- https://olympics.com/en/paris-2024/the-games/village
- https://www.cfr.org/backgrounder/economics-hosting-olympic-games
- https://www.spglobal.com/marketintelligence/en/mi/research-analysis/paris-2024-olympic-games-security-risks.html