ARV หรือ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี เป็นบริษัทในเครือบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ เพื่อต่อยอดสร้างองค์ความรู้และธุรกิจใหม่ ๆ ให้กับริษัทในเครือและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในประเทศไทย โดยมี ภาคภูมิ เกรียงโกมล เป็น Robotic Team Lead
ARV เป็นบริษัทลูกของปตท.สผ. ก่อตั้งปี 2561 ดำเนินธุรกิจ เอไอ หุ่นยนต์ มุ่งนำเทคโนโลยีมาสร้างมูลค่าเพิ่ม มาสร้างเป็นแหล่งรายได้ใหม่ให้กับปตท.สผ. ทั้งภาคการเกษตร โทรคมนาคม โครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการแพทย์ เริ่มจากบุคลากรเพียง 4 คน วันนี้มีทีมพนักงานทั้งหมด 240 คน และมีแผนเพิ่มเป็น 400 คน ในปี 2565 เพื่อสร้างธุรกิจให้เติบโตขึ้น เป็นสตาร์ทอัพสัญชาติไทย ที่มีเป้าหมายสร้างยูนิคอร์นเช่นเดียวกัน
เร่งขยายธุรกิจโดรนหมืนล้าน
ภาคภูมิ กล่าวว่า ARV ประเดิมเร่งเครื่องบุกเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับหรือโดรน เป็นเทคโนโลยีที่มีความโดดเด่น ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดประมาณ 12,000 ล้านบาท ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในงานอุตสาหกรรมที่หลากหลายและแพร่หลายมากขึ้น เนื่องจากสามารถช่วยเพิ่มทั้งประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงของบุคลากรในการปฏิบัติงาน ไปจนถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในเหตุฉุกเฉินและทำให้การช่วยเหลือสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี แต่ข้อจำกัดสำคัญของการบินโดรน คือจะต้องถูกควบคุมโดยนักบิน UAV ที่มีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในการบิน
ARV จึงมีแนวคิดในการพัฒนา “Horrus: Fully Automated Drone Solution” ขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพให้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับให้สามารถทำงานได้ด้วยการขับเคลื่อนตัวเองอย่างเป็นอิสระ (Unmanned Aerial Vehicle – UAV) อย่างสมบูรณ์แบบเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยสามารถตั้งโปรแกรมการปฏิบัติภารกิจได้แบบอัตโนมัติ และปฏิบัติภารกิจซ้ำได้อย่างเป็นกิจวัตรผ่านแพลตฟอร์มการควบคุมระยะไกล (Remote controlled) โดยไม่ต้องใช้นักบิน (UAV) นับเป็นก้าวสำคัญของการปฏิวัติวงการอากาศยานไร้คนขับ (Drone) ครั้งสำคัญในประเทศไทย
“Horrus เกิดจาก Pain Point ของการใช้โดรน ซึ่งปัจจุบันมีผู้เชี่ยวชาญในการบังคับโดรนน้อยมาก จึงมีค่าตัวสูง 60,000 – 140,000 บาทต่อวัน และด้วยจำนวนที่น้อย แต่ละคนจึงต้องใช้เวลาทำงานนาน ทำให้เกิดคความล้า ทีมวิศวกรของ ARV จึงคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีบังคับโดรนอัจฉริยะ โดยไม่ต้องใช้นักบิน” ภาคภูมิกล่าว
สำหรับเทคโนโลยี “Horrus: Fully Automated Drone Solution” มีส่วนประกอบหลัก 3 ส่วน คือ 1. โดรนไร้คนขับ แบบ 4 ใบพัด บินต่อเนื่องได้ประมาณ 30 นาที ต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง 2. แพลตฟอร์ม ควบคุมการทำงานจากระยะไกลเพื่อควบคุม Horrus และ3. Ground control station เป็นฐานในการรับคำสั่งการบิน และชาร์จไฟ ในการปฏิบัติภารกิจ ซึ่งเมื่อ 3 ส่วนนี้ทำงานร่วมกัน ผู้ใช้งาน (User) Horrus จะสามารถตั้งโปรแกรมการปฏิบัติภารกิจล่วงหน้าได้จากผ่านการควบคุมระยะไกล เช่น การใช้โดรนตรวจสอบแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเล ปกติถ้าใช้พนักงาน จะต้องใช้เวลา 8 ชั่วโมง แต่หากใช้โดรนจะใช้เวลา 5 – 10 นาที สามารถบรรุเป้าหมายการทำงานได้เช่นกัน
ปลดล็อกข้อจำกัดธุรกิจโดรนโตหลายเท่า
ภาคภูมิ กล่าวว่า ปัจจุบัน “Horrus: Fully Automated Drone Solution” ถูกนำร่องใช้งานจริงแล้วในศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ. (PTTEP Technology and Innovation Centre – PTIC) รวมถึงใช้ในการสำรวจแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมตรวจสอบอย่างเป็นกิจวัตร (Routine inspection) แทนการส่งพนักงานโดยสารเรือออกไปสำรวจ เพื่อบินออกไปเก็บภาพถ่าย วิดีโอ ตลอดจนใช้คลื่นความร้อนเพื่อสำรวจ ตรวจ จับ รอยแตก รอยร้าวภายในและภายนอกของปล่องท่อเชื้อเพลิง ได้อย่างรวดเร็ว ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับพนักงาน ทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และลดต้นทุนให้กับองค์กรได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ARV เตรียมผลักดันเทคโนโลยี “Horrus: Fully Automated Drone Solution” เพื่อให้บริการเชิงพาณิชย์แก่หน่วยงานธุรกิจ และภาครัฐทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่ ที่มีความสนใจนำเทคโนโลยีโดรนไร้คนขับไปต่อยอดเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและลดต้นทุนให้กับธุรกิจของตนเอง โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตพลังงาน อุตสาหกรรมการก่อสร้าง,นิคมอุตสาหกรรมการผลิต, อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน, อุตสาหกรรมด้านโทรคมนาคม, ธุรกิจภาคการเกษตร, ธุรกิจขนส่ง, การสำรวจสาธารณูปโภคและสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ ที่ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ยกระดับศักยภาพทางธุรกิจ
ได้เตรียมต่อยอดการใช้งานไปในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตพลังงานในเครือ ซึ่งนอกเหนือจากประโยชน์ในมิติของธุรกิจแล้วยังเตรียมนำไปใช้ประโยชน์ในการช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ การรักษาความปลอดภัยชายฝั่ง และการบรรเทาสาธารณภัย ช่วยลดปัญหาด้านอัคคีภัยและไฟป่า ผ่านเทคโนโลยีโดรนดับเพลิง ซึ่งเป็นโครงการของ บริษัท สไกลเลอร์ โซลูชั่นส์ จำกัด หรือ สไกลเลอร์ หนึ่งในบริษัทในเครือของ ARV ที่สามารถตรวจจับสัญญาณไฟ และดับไฟป่า ซึ่งจะมีการเปิดตัวเร็วๆ นี้
“ปัจจุบัน การใช้โดรนยังมีข้อจำกัดด้านกฎหมาย ซึ่งหากสามารถปลดล็อกเรื่องระบบได้เราเชื่อว่าจะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมโตแบบก้าวกระโดด โดยทาง ARV มีเทคโนโลยีและสินค้าที่จะทยอยเปิดตัวออกมาอีกในอนาคตอันใกล้ซึ่งน่าตื่นเต้นไม่แพ้ Horrus และเป็นการพัฒนาโดยทีม ARV ซึ่งเป็นคนไทยทั้งหมด” ภาคภูมิกล่าวทิ้งท้าย
นี่ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติไทย ที่สามารถคิดค้นพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อช่วยยกระดับการดำเนินธุรกิจ อุตสาหกรรมของไทยไปสู่อุตสาหกรรมอัจฉริยะในอนาคต ด้วยฝีมือของทีมคนไทย ที่มีความสามารถในการแข่งขันไม่แพ้ต่างชาติ