มาตรการแก้หนี้ระลอกใหม่ ต่อลมหายใจลูกหนี้

แม้โควิด-19 จะมีแนวโน้มดีขึ้น จากการเริ่มทยอยฉีดวัคซีน แต่สถานการณ์การระบาดโดยรวมยังมีความไม่แน่นอนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจช้าออกไป โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้หลักของไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงออกมาตรการเพื่อช่วยฟื้นฟูธุรกิจระลอกใหม่ รับมือเศรษฐกิจที่คาดว่าจะซึมยาวไปอีก 4-5 ปี

            มาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ประกาศเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมบริการ โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวเป็นหลัก เนื่องจาก ธปท. ประเมินว่า กว่าที่จำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นปกติที่ 40 ล้านคนต่อปีเหมือนช่วงก่อนโควิด-19 ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4 – 5 ปี มาตรการทางการเงินที่ออกไปก่อนหน้านี้ ไม่สามารถรองรับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนนี้ได้ จึงต้องออกมาตรการใหม่ ซึ่งมี 2 มาตรการด้วยกัน ดังนี้

มาตรการแรก เป็นมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ วงเงิน 250,000 ล้านบาท โดยเน้นช่วยเหลือ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตแต่ยังมีศักยภาพ และต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวนาน ซึ่งมาตรการนี้ จะเน้นการปลดล็อกสำคัญ ๆ จาก พ.ร.ก.เดิม ให้ลูกหนี้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น เพื่อประคองกิจการให้ดำเนินต่อไปได้ ประกอบไปด้วย

1. การขยายขอบเขตของลูกหนี้ โดยครอบคลุมลูกหนี้เดิม และลูกหนี้ใหม่ ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยลูกหนี้เดิม สามารถกู้เงินได้ 30% ของวงเงิน ส่วนลูกหนี้ใหม่กู้เงินได้ ไม่เกิน 20 ล้านบาท

2. ขยายเวลาให้ยาวขึ้น จากเดิม 2 ปี เป็น 5 ปี

3. ขยายวงเงิน ลูกหนี้เดิมสามารถกู้เพิ่มได้

4. กำหนดดอกเบี้ยให้เหมาะสม และเอื้อต่อการปล่อยสินเชื่อ อัตราดอกเบี้ยตามมาตรการใหม่ เฉลี่ยที่ 5%ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 5 ปี) โดย 2 ปีแรก คิดอัตราดอกเบี้ยที่ 2% ต่อปี ภาครัฐชดเชยดอกเบี้ยให้ในช่วง 6 เดือนแรก

5. ขยายการชดเชยหรือค้ำประกันความเสี่ยงที่สูงขึ้น จากเดิมภาครัฐให้บรรษัทสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (บสย.) ค้ำประกัน 2 ปี ขยายเป็น 10 ปี คิดค่าธรรมเนียม 1.75% โดยภาครัฐจะชดเชยให้

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าว จะช่วยให้ลูกหนี้เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น เพิ่มวงเงินที่ลูกหนี้จะได้รับสูงขึ้น เงื่อนไขต่างๆ ถูกปรับให้สะท้อนความเสี่ยงและรองรับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น


มาตรการที่สอง เป็นมาตรการ “พักทรัพย์ พักหนี้” (Asset Warehousing) หรือโกดังพัก

หนี้ วงเงิน 100,000 ล้านบาท มาตรการนี้จะช่วยให้ลูกหนี้สามารถตีโอนทรัพย์ โดยมีสิทธิ์ซื้อคืนในราคาตีโอนบวกกับ carrying cost ซึ่งมีประโยชน์คือ 1. ช่วยลดภาระให้กับลูกหนี้ 2. ให้โอกาสลูกหนี้ในการประกอบธุรกิจต่อ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการจ้างงาน  3. ลดความเสี่ยงที่จะต้องขายทรัพย์สินในราคาที่ต่ำเกินไปหรือ fire sale และ 4. ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินการต่อ หลังสถานการณ์คลี่คลาย

มาตรการพักทรัพย์ พักนี้ ต้องการช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจที่มีทรัพย์สินที่สามารถตีโอนชำระหนี้ได้ และธุรกิจยังมีศักยภาพ ทำให้ลูกหนี้ไม่ต้องรับภาระต้นทุนทางการเงินชั่วคราว และมีโอกาสกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกในอนาคต ขณะเดียวกันไม่ถูกกดราคาทรัพย์ แต่ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวใช้หลักการ กลไกการสมัครใจทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ และเป็นธรรมกับทุกฝ่ายในการคำนวณราคา ค่าเช่า และค่าดูแลสินทรัพย์ โดยจะให้สิทธิแรกกับผู้ประกอบธุรกิจรายเดิมในการซื้อทรัพย์คืน หรือสามารถเช่าทรัพย์ได้ตามราคาที่ใกล้เคียงกับต้นทุนที่รับโอน หากผู้ประกอบการเช่าทรัพย์ดำเนินธุรกิจต่อ สามารถนำค่าเช่ามาลดต้นทุนการโอนทรัพย์สินได้

ทั้งนี้ ธปท. จะสนับสนุนการรับตีโอนทรัพย์ โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0.01% ภาครัฐ โดยกระทรวงมหาดไทยจะสนับสนุนสิทธิประโยชน์ทางภาษีและค่าธรรมเนียมการตีโอนทรัพย์รับชำระหนี้ ทั้งขารับโอนและขาซื้อคืนทรัพย์ โดยลดหย่อนค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนจำนองอสังหาริมทรัพย์และอาคารชุด และการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจในอัตรา 0.01% เช่นเดียวกัน

          มาตรการช่วยเหลือครั้งนี้ จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจของประเทศ ให้สามารถผ่านช่วงเวลาที่มีความไม่แน่นอนสูงได้ โดยที่ผู้ประกอบธุรกิจ จะได้ประโยชน์ในการเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งลดภาระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย ช่วยประคองกิจการและรักษาการจ้างงาน ผู้ประกอบธุรกิจมีโอกาสกลับมาเปิดกิจการอีกครั้งในอนาคต และไม่ถูกกดราคาทรัพย์สิน จนทำให้ราคาในตลาดโดยรวมลดลง

          สำหรับสถาบันการเงินจะได้ประโยชน์เช่นเดียวกัน เพราะจะมีทางเลือกเพิ่มเติมในการดูแลลูกหนี้กลุ่มต่างๆ ได้มากขึ้น และจูงใจให้ปล่อยสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องรอบใหม่ได้

ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าถ้ามองไปข้างหน้า จะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกค่อนข้างชัดเจน แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย อาจต้องใช้เวลา หากดูตัวเลขคาดการณ์ GDP เศรษฐกิจไทย คาดว่าจะกลับมาสู่ระดับก่อนโควิด-19 ได้ในไตรมาส 3 ปี 2565 แต่ไม่ใช่ทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติได้พร้อมกันหมด ทั้งสภาวะการจ้างงาน รวมถึงรายได้ประชาชน ทำให้เราจะเห็นการฟื้นตัวยังไม่เท่าเทียม มาตรการใหม่ทั้ง 2 ส่วน จะมาตอบโจทย์ปัญหาในปัจจุบัน และช่วยประคองสถานการณ์ธุรกิจ และเศรษฐกิจไทยให้เดินไปข้างหน้าได้

          ผู้ประกอบการที่สนใจ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 022836112 หรือ FinRehab@bot.or.th

you might like

Scroll to Top